©ulture

“หากจิตของเธอว่าง มันก็พร้อมสำหรับทุกสิ่ง มันย่อมเปิดกว้างต่อทุกอย่าง”

450 คน คือจำนวนผู้เล่นในลีกบาสเกตบอลอันดับหนึ่งของโลกอย่าง NBA—ลีกที่เป็นความฝันของนักบาสเกตบอลจากทั่วโลกที่มีจำนวนรวมๆ กันมากถึง 450 ล้านคน นั่นหมายความว่าโอกาสในการจะกลายมาเป็นผู้เล่นในลีกที่โหดหินแห่งนี้ยากเป็นอย่างยิ่ง เมื่อความฝันอันสูงสุดสามารถคำนวณเป็นตัวเลขออกมาได้แค่ 1 ในล้าน หรือ 0.0001 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น…

ยูตะ วาตานาเบะ / Photo: Gregory SHAMUS / POOL / AFP

แต่แล้วหลังจากทำงานหนักต่อเนื่องยาวนานหลายปี หลังบูชายัญความฝันด้วยการลงมือฝึกฝนนับครั้งไม่ถ้วน ชายหนุ่มจากญี่ปุ่นนาม ยูตะ วาตานาเบะ (Yuta Watanabe) ก็ทำได้สำเร็จ เขากลายเป็นนักบาสเกตบอลชาวญี่ปุ่นอีกคนที่จารึกชื่อลงในหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อได้จรดปากกาเซ็นสัญญาระดับมาตราฐานของการเป็นผู้เล่นให้แก่ทีม Toronto Raptors ในเดือนเมษายน 2021 จนสามารถเรียกตัวเองว่าเป็นนักบาสเกตบอล NBA ได้เต็มปากเต็มคำ หลังจากวนเวียนอยู่ทั้งในลีกรองอย่าง G League และเป็นผู้เล่นที่มีสัญญาไม่แน่ไม่นอนอยู่ราว 2-3 ปี

ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เขาก้าวมาสู่จุดนี้ มีหลักคิดของเซนที่ชื่อ ‘โชชิน’ (Shoshin – 初心) หรือ ‘จิตวิญญาณของผู้เริ่มต้น’ เป็นส่วนประกอบสำคัญ…

หลังเรียนจบมัธยมปลายในญี่ปุ่น วาตานาเบะตัดสินใจมุ่งหน้าสู่ดินแดนแห่งบาสเกตบอลอย่างอเมริกา ทั้งๆ ที่เขาพูดภาษาอังกฤษแทบจะไม่ได้ ตอนนั้นเขาเป็นดาวรุ่งผู้เป็นความหวังของวงการบาสเกตบอลญี่ปุ่นก็จริง แต่การตัดสินใจของเขาก็ไม่อาจหลีกหนีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดา ‘กูรู’ หลังคีย์บอร์ดพ้น

“ผมต้องเผชิญกับคำคอมเมนต์มากมายจากนักวิจารณ์: กำแพงของลีก NBA สูงเกินไปสำหรับผม หรือ ผมแก่เกินแกงที่จะเริ่มต้นในอเมริกา หรืออื่นๆ อีกเยอะแยะเต็มไปหมด” วาตานาเบะเขียนไว้ในบทความของเขาชื่อ ‘The Power of Words’ ที่ลงเผยแพร่ใน yahoo!sports เมื่อปลายเดือนเมษายน 2021 หลังจากเขาเซ็นสัญญาได้ไม่นาน

Photo: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/85/Ukiyo-e_woodblock_print_by_Katsushika_Hokusai%2C_digitally_enhanced_by_rawpixel-com_8.jpg

ทว่าวาตานเบะก็แค่ยักไหล่ ปล่อยให้เสียงวิจารณ์เป็นเพียงเสียงวิจารณ์ สิ่งที่เขาหยิบมาเตือนตัวเองอยู่เสมอคือคำสอนของโค้ชอย่าง อาจารย์ชิกามะ (Shikama-sensei) ผู้มองเห็นความมุ่งมั่นในตัววาตานาเบะมาตั้งแต่สมัยมัธยม หลังจากวาตานาเบะเริ่มต้นเข้าสู่วงการบาสเกตบอลด้วยการถูกปฏิเสธจากโรงเรียนชั้นนำที่มีชื่อเสียงในด้านบาสเกตบอลของญี่ปุ่นครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งคำสอนนั้นคือ ‘โชชิน’ หรือ ‘จิตวิญญาณของผู้เริ่มต้น’ นั่นเอง

อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ถ้ายึดตามสำนวนไทยมันก็น่าจะเป็นเรื่องการอย่าทำตัวเป็น ‘น้ำเต็มแก้ว’ และแนวคิด ‘โชชิน’ ที่เป็นส่วนหนึ่งในคำสอนของปรัชญาแบบเซนก็ดำรงอยู่บนโลกมานานนับร้อยนับพันปี แต่เรื่องที่ดูจะเฉิ่มเฉย และแสนจะเป็นพื้นฐานนี้ กลับเป็นสิ่งสำคัญของการใช้ชีวิตที่บางครั้งเมื่อถึงจุดหนึ่งเราก็มักหลงลืมมันไป

Shoshin เป็นการรวมตัวของคำในภาษาญี่ปุ่นสองคำคือ sho (初) ที่แปลว่า เริ่มต้น และ shin (心) ที่แปลว่า จิตใจ มันเป็นคำสอนที่พูดถึงเรื่องภาวะแห่งการเรียนรู้ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ด้วยความไร้เดียงเหมือนเด็กน้อยที่ได้เรียนรู้บางสิ่งครั้งแรกอยู่เสมอ มันคือเรื่องการโต้ตอบกับโลกโดยปราศจากอคติ ประหนึ่งเรายังไม่มีประสบการณ์และไม่รู้ประสีประสาในเรื่องนั้นๆ

ชุนริว ซุสุกิ / Photo: https://www.lionsroar.com/wp-content/uploads/2020/09/ZMBM-Katherine-Thanas-cSan-Francisco-Zen-Center.jpg

ในช่วงศตวรรษ 1960 วิธีคิดแบบโชชินนี้ ถูกเผยแพร่ในโลกตะวันตกจนแพร่หลายโดยพระญี่ปุ่นในพุทธนิกายโซโตเซนนาม ชุนริว ซุสุกิ (Shunryū Suzuki) เขาเป็นผู้ก่อตั้งวัดเซนนอกภูมิภาคเอเชียแห่งแรกที่ชื่อ Tassajara Zen Mountain ในสหรัฐอเมริกา ในปี 1970 เขาเขียนตำราคำสอนเซนยอดนิยมอย่าง Zen Mind, Beginner’s Mind โดยขึ้นต้นประโยคแรกในหน้าบทนำว่า

“ในจิตวิญญาณของผู้เริ่มต้นนั้นมีความเป็นไปได้มหาศาล แต่ในจิตวิญญาณของผู้เชี่ยวชาญความเป็นไปได้กลับน้อยอย่างยิ่ง”

เรียบง่าย คมคาย และแทบจะสรุปเรื่องราวของหนังสือที่กินพื้นที่เพียง 132 หน้าได้แทบทั้งหมด ทั้งนี้ในหนังสือ ชุนริว ซุสุกิยังวางคำสองคำไว้เคียงข้างกันอย่างน่าสนใจ หนึ่ง—คือ ‘จิตใจที่ว่าง’ หรือ ‘empty mind’ อีกหนึ่ง—คือ ‘จิตใจที่พร้อม’ หรือ ‘ready mind’ โดยเขาเขียนอธิบายว่าสองสิ่งนี้แทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

“หากจิตของเธอว่าง มันก็พร้อมสำหรับทุกสิ่ง มันย่อมเปิดกว้างต่อทุกอย่าง”

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่คำพูดลอยๆ ที่ไม่มีหลักฐาน ในปี 2015 มีวิจัยหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเยล ที่ขอให้ผู้จบการศึกษาประเมินความรู้ในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาของตน ก่อนจะทดสอบความสามารถที่แท้จริงเกี่ยวกับหัวข้อเหล่านั้น โดยงานวิจัยพบว่า ผู้เข้าร่วมมักประเมินระดับความรู้ความความใจของตนเกินจริง 

การประเมินความรู้ความเข้าใจของตนที่สูงเกินจริงนี้ ส่งผลให้ผู้คนไม่ยอมพิจารณามุมมองใหม่ๆ อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ยกตัวอย่างชัดๆ ก็เช่น ‘มุมมองทางการเมือง’ ที่ผู้คนต่างยึดมั่นถือมั่น อันมีให้เห็นบ่อยครั้งในโลกปัจจุบัน โดยนักวิจัยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘earned dogmatism effect’ หรือแปลให้เข้าใจง่ายก็น่าจะเป็น ‘ผลกระทบจากความยโสทางปัญญา (ตำรา)’

ในภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง Star Wars ที่น่าจะได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากคำสอนแบบเซน ซึ่งถูกนำไปปรับใช้กับ ‘วิถีแห่งเจได’ ไม่มากก็น้อย มีคำกล่าวหนึ่งสะท้อนหลักคิดแบบ ‘โชชิน’ ได้อย่างแยบคาบ โดยในฉากหนึ่ง ปรจารย์เจไดระดับตำนานนาม ‘โยดา’ ได้กล่าวว่า “เจ้าต้องลืมสิ่งที่เจ้าเคยเรียนรู้มาทั้งหมด” ซึ่งนั่นคือวิธีการที่แสนเรียบง่ายในการเปิดประตูแห่งความเป็นไปได้สู่สิ่งใหม่

เหมือนเรื่องราวในชีวิตของวาตานาเบะ หลังถูกปฏิเสธจากโรงเรียนชื่อดังหลายโรง เขาต้องไปเริ่มต้นกับโรงเรียนที่ไม่มีชื่อเสียงมากนัก ทว่าด้วยการบ่มเพาะของอาจารย์ชิกามะในเรื่อง ‘จิตวิญญาณแห่งผู้เริ่มต้น’ นี้เอง ที่ทำให้วาตานาเบะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เขาฝึกหนักในทุกวัน จนกระทั่งขึ้นมัธยมปลายปีที่ 2 เขาก็กลายมาเป็นนักบาสเกตบอลทีมชาติญี่ปุ่นที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ กระนั้น สิ่งที่เขาเตือนตัวเองก็คือคำพูดของโค้ชชิกามะที่ว่า “จงถ่อมตนเข้าไว้ อย่างกลายเป็นพวกยโส เพียงเพราะแค่เจ้าติดทีมชาติ”

Zen Mind, Beginner’s Mind

หลายปีหลังจากย้ายมาผจญภัยในอเมริกา วันที่ 10 เมษายน 2021 วาตานาเบะก็สามารถโชว์ฝีมือทำคะแนนสูงสุดในอาชีพการเป็นนักกีฬา NBA ด้วยสกอร์ 14 แต้มจากการชู้ต 7 ครั้งลง 6 ครั้ง และส่องไกลยิงสามคะแนน 2 ครั้ง ลงห่วงทั้ง 2 ครั้ง แม้มันจะเป็นตัวเลขไม่มากนัก แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เขาได้เซ็นสัญญาการเป็นนักกีฬาอาชีพที่สำคัญมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2021

ทั้งหมดนั้นก็ด้วยจิตวิญญาณของผู้เริ่มต้น ของคนที่เตือนตัวเองว่าตนยังไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องใดๆ เพื่อเปิดพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ใหม่ๆ อยู่เสมอ

เพราะจิตใจที่ว่างก็คือจิตใจที่พร้อมจะเรียนรู้

“เมื่ออยู่ในสนาม ผมเล่นอย่างสุดความสามารถเสมอ มันเรียบง่ายเช่นนั้น” วาตานาเบะจบบทความของตนด้วยประโยคนี้

 

อ้างอิง