pe©ple

นอกจากมีชีวิต ‘ต้นไม้’ ไม่ต่างจากคนตรงที่ต่างมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง ต้นไม้ที่ยืนต้นสูงในเมืองใหญ่ล้วนแต่มีที่มาให้ค้นหา ถึงอย่างนั้น ต้นไม้กับคนก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะว่าเรื่องราวของต้นไม้ที่ว่า ล้วนเกิดจากคนเป็นผู้สร้าง

ตลอดหนึ่งเดือนเต็ม ตั้งแต่มีนาคมถึงเมษายนของทุกปี ทั่วทั้งเม็กซิโกซิตี เมืองหลวงของประเทศเม็กซิโกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดูแปลกตา เพราะเป็นช่วงเวลาที่ดอกของต้น Jacarandas (ออกเสียงว่า แจกกาแรนดาส์ ในประเทศไทยเรียกว่า ต้นศรีตรัง) กำลังบานสะพรั่งเต็มต้นต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ เกิดเป็นคำถามชวนให้หาคำตอบว่า เหตุใดต้นไม้ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับต้นซากุระของประเทศญี่ปุ่น จึงมาอยู่ที่นี่ได้

Photo: Courtesy of Embassy of Mexico in India

เมื่อมองดูอย่างผิวเผิน จะเห็นว่าต้น Jacarandas กับต้นซากุระต่างกันแค่สี แต่ความจริงแล้วต้นไม้ทั้งสองไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ ต่อกัน เพราะเป็นพืชต่างสายพันธุ์และถิ่นกำเนิด ต้น Jacarandas เป็นพืชประจำถิ่นแอฟริกาใต้ ส่วนต้นซากุระเป็นพืชประจำถิ่นญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีนตอนใต้ หากจะมีสักแง่มุมที่ข้องเกี่ยวถึงกัน เห็นจะเป็นจุดเริ่มต้นในอดีต เพราะคนที่ทำให้เมืองเม็กซิโกซิตีมีดอกของต้น Jacarandas บานทั่วเมือง คือผู้อพยพย้ายถิ่นฐานชาวญี่ปุ่น

ย้อนกลับไปในปี 1912 ยุกิโอะ โอะซะกิ (Yukio Ozaki) นายกเทศมนตรีกรุงโตเกียวมอบต้นซากุระ 3,000 ต้นให้กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีของทั้งสองเมือง เพียงหนึ่งปีให้หลัง กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ปกคลุมไปด้วยดอกซากุระรวมกันหลายล้านดอก เปลี่ยนเมืองเป็นสีชมพูอ่อนดูสวยงามอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

Photo: Joyce Naltchayan / AFP

เมื่อ ปัสกวล ออร์ติซ รูบิโอ (Pascual Ortiz Rubio) ประธานาธิบดีของเม็กซิโกในขณะนั้นรู้เข้า จึงติดต่อรัฐบาลญี่ปุ่นบ้าง หวังให้ช่วยส่งต้นซากุระมาปลูกตามถนนสายหลักในเมืองหลวงเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนมิตรภาพระหว่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นจึงไม่รอช้า รีบวางแผนและเตรียมการส่งมอบต้นซากุระให้ประเทศเม็กซิโก จึงติดต่อ ทะสึโกะโระ มะสึโมะโตะ (Tatsugoro Matsumoto) อดีตคนสวนผู้เคยดูแลต้นไม้ในพื้นที่ของจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศเม็กซิโก เพื่อขอคำปรึกษาถึงความเป็นไปได้และศึกษาสภาพธรรมชาติของที่นั่น

Photo: courtesy of Matsumoto Family Collection

หลังจากใช้เวลาศึกษาระยะใหญ่ทะสึโกะโระพบว่า ต้นซากุระไม่อาจเจริญเติบโตจนผลิดอกและขยายพันธ์ุต่อ เพราะเงื่อนไขธรรมชาติของประเทศเม็กซิโกไม่เอื้ออำนวย ความตั้งใจของรัฐบาลญี่ปุ่นจึงจบลงตรงนั้น แต่ความตั้งใจของทะสึโกะโระไม่ได้ล้มเลิกตามไปด้วย เขาพยายามใช้ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้หวังคิดหาวิธีปลูกต้นซากุระในเม็กซิโกให้ได้

เดิมทีทะสึโกะโระไม่ได้เปลี่ยนถิ่นฐานจากญี่ปุ่นมาเม็กซิโกโดยตรง แต่เขาเป็นหนึ่งในผู้อพยพชาวญี่ปุ่นกลุ่มแรกๆ ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมายังประเทศแถบละตินอเมริการาวปี 1897 และเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ประเทศเปรู ก่อนจะย้ายมาอยู่เม็กซิโก

ด้วยภูมิหลังเป็นคนสวนที่มีความรู้เรื่องการดูแลต้นไม้ เมื่อ ออสการ์ ฮีเรน (Oscar Heeren) นักการทูตและนักธุรกิจชาวเปรูรู้เขา จึงว่าจ้างให้เขาช่วยจัดสวนแบบญี่ปุ่นภายในคฤหาสน์ส่วนตัว ผลงานที่โดดเด่นของเขาเปิดโอกาสให้ทะสึโกะโระเริ่มเป็นที่รู้จัก เขาจึงมักได้รับการว่าจ้างจากบรรดาผู้มั่งคั่งให้สร้างสวนรูปแบบต่างๆ ทั้งในเปรูและเม็กซิโก

Photo: https://www.rumbosdelperu.com/cultura/28-02-2020/quinta-heeren-una-huella-arquitectonica-que-se-resiste-a-desaparecer/

โดยเฉพาะในเม็กซิโก ชื่อเสียงของทะสึโกะโระกลายเป็นที่เลื่องลือในหมู่ชนชั้นนำในเวลาอันสั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่านิยมโอ้อวดความร่ำรวยและความภูมิฐานของคนใหญ่คนโต เกือบทุกบ้านในเขตโรมา (Roma) ที่ถือเป็นย่านหรูหราที่สุดในเมืองหลวง ต่างว่าจ้างให้ทะสึโกะโระเป็นคนดูแลสวนเพียงผู้เดียว เพราะทุกคนเชื่อมั่นในฝีมือของเขา กลายเป็นว่าสวนของทะสึโกะโระช่วยปรับเปลี่ยนทัศนียภาพในเมืองให้น่ามองได้อย่างถนัดตา การงานที่มั่นคงทำให้เขาตัดสินใจลงหลักปักฐานใช้ชีวิตที่นั่นนับแต่นั้น กลายเป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ย้ายถิ่นฐานมายังเม็กซิโก

พอร์ฟิริโอ ดิอาซ

ผลจากความตั้งใจทำงานที่ตัวเองได้รับมอบหมาย ทำให้ The Mexican Herald หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในเม็กซิโก ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 1900 ตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับสวนจากฝีมือของทะสึโกะโระ และเขียนขอบคุณในฐานะบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสวยงามของสวนเหล่านี้ ทั้งๆ ที่เขาเป็นเพียงผู้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากญี่ปุ่น ทำให้ พอร์ฟิริโอ ดิอาซ (Porfirio Díaz) ประธานาธิบดีของเม็กซิโกในสมัยนั้นจ้างเขาให้ดูแลต้นไม้และสวนในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล และยังมอบหมายให้เขาเป็นคนดูแลเรื่องดอกไม้รวมถึงการตกแต่งต้นไม้ในพิธีการใหญ่ๆ ที่ทางการเป็นฝ่ายจัดงาน เช่นพิธีฉลองครบรอบร้อยปีของการประกาศอิสรภาพ

ทะสึโกะโระสร้างผลงานไว้มากมาย หนึ่งในผลงานที่เป็นที่จดจำมากที่สุด คือสวนจำลองภายใน Crystal Palace (ปัจจุบันคือ Chopo Museum) ในปี 1910 ซึ่งตอนนั้นสถานกงสุลญี่ปุ่นในเม็กซิโกสร้างอาคารนี้ขึ้นสำหรับจัดแสดงสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต

Crystal Palace
Photo: https://mxcity.mx/2018/04/museo-del-chopo-la-historia-cultural-de-un-recinto-urbano/

จนกระทั่ง ซันชิโระ มะสึโมะโตะ (Sanshiro Matsumoto) ลูกชายของทะสึโกะโระ เดินทางมายังเม็กซิโกในปีเดียวกัน เพื่อตามหาพ่อที่ขาดการติดต่อไปนานตั้งแต่ปี 1897 แต่เขารู้ว่าพ่อของตนเป็นคนสร้างสวนจำลองนั้นขึ้นมา ทั้งคู่จึงได้พบกันอีกครั้ง ลูกชายพยายามสร้างธุรกิจหวังใช้ชีวิตอยู่กับพ่อ แต่ทะสึโกะโระไม่สนใจ เพราะสิ่งเดียวที่เขารักและต้องการทำไปตลอดชีวิต คือ การดูแลต้นไม้ให้เติบโต

ไม่นานหลังจากนั้น เม็กซิโกเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งและสงครามกลางเมือง ซึ่งกินเวลายาวนานถึง 10 ปี นำไปสู่การปฏิวัติและเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจในประเทศ แต่ทั้งคู่กลับยังคงทำงานของตนต่อไปได้อย่างราบรื่น

Photo: courtesy of Newberry Digital Collections, Newberry Library

เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองสิ้นสุดลง ชีวิตของผู้คนกลับสู่ปกติ สภาพสังคมที่เพิ่งผ่านความเจ็บปวดและบอบช้ำทำให้ทะสึโกะโระเสนอต่อ อัลบาโร โอเบรกอน (Álvaro Obregón) ประธานาธิบดีคนใหม่ ให้ปลูกต้นไม้บนถนนสายหลักของเมืองหลวง ทำให้เขาคิดย้อนกลับไปนึกถึงความพยายามนำต้นซากุระมาปลูกในอดีตแต่ไม่สำเร็จ จึงแนะนำให้เปลี่ยนพันธ์ุไม้ใหม่เป็นต้น Jacarandas ซึ่งมีลักษณะใกล้กับต้นซากุระ ต่างกันแค่สีดอกและเติบโตได้ในสภาพอากาศของประเทศเม็กซิโก

ทะสึโกะโระจึงนำต้น Jacarandas ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศใกล้เคียงอย่างบราซิล เพราะในเม็กซิโกไม่มีต้นไม้พันธุ์นี้มาก่อน แล้วเริ่มเพาะต้นกล้าในเรือนเพาะชำของตัวเอง เขาพบว่าดอกของต้น Jacarandas จะบานตั้งแต่ต้นฤดูใบไม้ผลิและคงอยู่นานเป็นเดือนกว่าจะร่วงจากช่อ ทันทีที่ลูกรู้ความตั้งใจของพ่อถึงเข้ามาช่วยดูแลต้นไม้อีกแรง และลงปลูกต้น Jacarandas ริมถนนได้สำเร็จเป็นครั้งแรกราวปี 1920

Photo: courtesy of Matsumoto Family Collection

สำหรับทะสึโกะโระผู้รักต้นไม้มากกว่าสิ่งใด ต้น Jacarandas ทุกต้นที่เขาปลูกจึงเท่ากับการสานต่อความตั้งใจที่สองประเทศเคยหวัง เสมือนอนุสรณ์แทบคำขอบคุณเม็กซิโกที่รับรองเขาและคนญี่ปุ่นจำนวนมากเป็นผู้อพยพ รวมถึงเป็นเครื่องเตือนใจว่าความสุขที่เกิดขึ้นในเม็กซิโกกำลังเติบโตและแผ่ขยายต่อไปได้ไม่รู้จบ

Photo: Courtesy of Imagine-Mexico Magazine

ตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตในเม็กซิโก ทะสึโกะโระและครอบครัวจึงดูแลต้น Jacarandas อย่างทะนุถนอม เพราะเป็นต้นไม้ที่แฝงความหมายลึกซึ้งต่อใจ ซึ่งงดงามมากกว่าสีม่วงของดอกที่บานสะพรั่งเต็มต้น ด้วยความหวังว่า หากใครก็ตามมีโอกาสเกินทางไปยังเม็กซิโกซิตีในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ พวกเขาจะสัมผัสได้ถึงความงามและความมีชีวิตชีวาของต้น Jacarandas แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว

 

อ้างอิง

  • Imagine-Mexico Magazine. Mexico’s Jacaranda Tree – A Gift from a Japanese Immigrant. https://bit.ly/3jxLq2C
  • Sergio Hernández Galindo. Tatsugoro Matsumoto and the Magic of Jacaranda Trees in Mexico. https://bit.ly/2WDYfzo

Did You Know?

  • ชื่อต้น Jacarandas มาจากภาษาพื้นเมืองของแอฟริกาใต้ แปลว่า กลิ่น เพราะดอกของต้น Jacarandas จะส่งกลิ่นเฉพาะตัวดึงดูดสัตว์บางชนิดอย่างผึ้งและฮัมมิงเบิร์ดให้เข้ามาตอมเกสรเพื่อช่วยผสมพันธุ์
  • ปัจจุบัน ทั่วเม็กซิโกซิตี มีต้น Jacarandas ยืนตรงสูงคอยให้ร่มเงาและออกดอกตามฤดูกาลไม่ต่ำกว่า 400 ต้น ทุกต้นถูกระบุตำแหน่งที่อยู่อย่างชัดเจนเพื่อการอนุรักษ์