‘บ้านผีสิง’ ในสวนสนุก หรือ ‘หนังผี’ ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ คือไม้เบื่อไม้เมาของคนขวัญอ่อน
แต่ถ้าหากกำลังมีความรักหรือคบหาดูใจกับใครสักคนอยู่ด้วย คงต้องคิดทบทวนเรื่องนี้ใหม่ เพราะความน่ากลัวของผีที่ชวนให้ตกใจจนอกสั่นขวัญแขวน อาจช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนให้เบ่งบานหวานชื่นได้มากกว่าหนังรักโรแมนติกเสียอีก ราวกับว่า ‘ผี’ ที่ดูดุอาฆาตเพราะไม่มีใครคาดเดาความร้ายกาจของมันได้ ทำหน้าที่เป็น ‘กามเทพ’ ผู้น่าชังที่พร้อมแผลงศรใส่อกให้คนหลงรักกันโดยไม่ทันจะได้ตั้งตัว
ปกติในชีวิตประจำวัน มนุษย์เราย่อมเลือกทำแต่สิ่งที่นำพาความสุขหรือความรู้สึกดีมาสู่ใจของตนเอง แล้วหลีกเลี่ยงสิ่งสุ่มเสี่ยงที่ก่อให้เกิดปัญหาหรือความร้อนรนกระวนกระวายใจ แต่ความน่าฉงนกลับอยู่ตรงที่มนุษย์มีแรงจูงใจบางอย่างภายในคอยผลักดันให้กล้าได้กล้าเสีย จึงไม่ได้ตัดขาดกับสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกไม่สบายใจเสมอไป
เพราะความเจ็บปวดและความหวาดกลัวในระดับที่ทนไหวหรือยอมรับได้โดยสมัครใจ (หมายถึงว่า ต้องไม่ใช่ภัยคุกคามเข้าขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต) จะยิ่งทำให้รู้สึกดี ช่วยปลุกเร้าร่างกายให้ตื่นเต้นตื่นตัว เกิดเป็นความสุขที่พึงพอใจ จะเรียกความรู้สึกนี้ว่า ‘ฟิน’ ก็ยังได้
ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเข้าบ้านผีสิง ดูหนังสยองขวัญ หรือพยายามตามจีบตามตื้อใครสักคนที่ถูกใจหวังได้คบเป็นแฟน จึงตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่คล้ายคลึงกันมากๆ คือ เป็นการท้าทายความรู้สึกของตัวเองอยู่ ซึ่งเราไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ว่าระหว่างทางจะต้องเจอกับเหตุการณ์หรือจุดพลิกผันใด เข้าทำนอง ‘รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง’
แล้วทำไมดู ‘หนังผี’ ถึงดีกว่าดู ‘หนังรักโรแมนติก’ โดยเฉพาะกับคนที่กำลังเริ่มมีความรัก?
หนึ่งในข้อได้เปรียบที่ชี้ขาดให้หนังผีชนะหนังรักแบบขาดลอย คือ ‘ความน่ากลัว’ ขณะที่หนังรักมักจะทำให้รู้สึกดี อบอุ่น เบิกบานใจ เป็นอารมณ์บวกชวนให้ผ่อนคลาย แต่หนังผีและบ้านผีสิงกลับให้ความรู้สึกตรงกันข้าม เป็นอารมณ์ลบที่รบเร้าให้หัวใจเต้นแรง ฝ่ามือชุ่มเหงื่อ ขนลุกชัน ส่วนภายในร่างกาย สมองจะสั่งการให้หลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีนออกมา ทั้งหมดเป็นผลจากความตื่นเต้นเพราะกลัวและรู้สึกไม่วางใจทุกอย่างรอบตัว
แต่เมื่อเปรียบเทียบกลไกการทำงานของสมองและตอบสนองของร่างกายที่เกิดขึ้นระหว่างขวัญหนีดีฝ่อเพราะกลัว กับ ประหม่าเพราะตกหลุมรักหรือกำลังมีความรัก ปรากฏว่าแทบจะไม่แตกต่างกันเลย
เมื่อความกลัวสร้างผลลัพธ์ได้เหมือนกับการตกหลุมรัก ร่างกายที่ถูกกระตุ้นเพราะผี ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศใดๆ กลับเปลี่ยนการรับรู้ของเราให้เข้าใจใหม่ว่า ความหวั่นวิตกและความตื่นกลัวต่อผีในบางสถานการณ์ ซึ่งทำให้ใจเต้นรัว จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกดึงดูดทางเพศกับคนรักที่นั่งดูอยู่ข้างๆ ได้ ทั้งๆ ที่เป็นเพียงความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนหลังประสบกับสิ่งเร้าที่ทำให้ร่างกายตื่นตัว ในทางจิตวิทยาจึงสรุปเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Misattribution of Arousal
เรื่องนี้ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว โดยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชาวอเมริกันอย่าง โดนัลด์ จี ดอตตอน (Donald G. Dutton) และ อาเธอร์ แอรอน (Arthur Aron)
ทั้งคู่ร่วมกันออกแบบการทดลองที่น่าสนใจมาก พวกเขาเลือกสถานที่ทดสอบบน Capilano Bridge เป็นสะพานไม้แขวนในประเทศแคนาดา ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความน่าหวาดเสียวที่สุดในโลก เพราะสูงจากแม่น้ำถึง 230 ฟุต เทียบเท่าตึกสูง 23 ชั้น และทอดยาวเป็นทางเดินแคบๆ ราว 460 ฟุต หรือ 140 เมตร ไม่ว่าใคร หากได้ขึ้นไปเดินบนสะพานจะรู้สึกทันทีว่าแกว่งไกวตลอดเวลา ต่างจากสะพานไม้ปกติที่มั่นคงและไม่สั่นไหว
การทดสอบเริ่มต้นจากกำหนดเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวผู้ชายที่มาคนเดียวแล้วกำลังเดินอยู่บนสะพานแต่ละประเภท จากนั้นพวกเขาจะส่งเจ้าหน้าที่ผู้หญิงซึ่งเป็นหน้าม้า ทำทีเดินเข้าไปชวนคุยแล้วให้กรอกแบบสอบถามพอเป็นพิธี ก่อนจากกันเธอบอกทิ้งท้ายว่า นี่คือเบอร์ติดต่อส่วนตัว หากมีข้อสงสัยให้โทรมาคุยได้
ลองเดาดูไหมว่า ผู้ชายบนสะพานประเภทไหน เลือกโทรกลับหาเจ้าหน้าที่ผู้หญิงมากกว่ากัน?
ใช่แล้ว คำตอบคือ ผู้ชายบนสะพานไม้แขวน ส่วนผู้ชายบนสะพานไม้ธรรมดาโทรกลับมาไม่กี่คนเท่านั้น
ดอตตอนและแอรอนอธิบายว่าบนสะพานไม้แขวนทำให้รู้สึกกลัว หัวใจเต้นรัว เลือดสูบฉีดไปทั่วร่างมากกว่าสะพานไม้ธรรมดา ผู้ชายบนสะพานไม้แขวนจึงหลงเข้าใจว่าตนชอบและสนใจในตัวของเจ้าหน้าที่ผู้หญิง เป็นความรู้สึกราวกับตกหลุมรัก แต่แท้ที่จริงคือปรากฏการณ์ Misattribution of Arousal ที่มีต้นเหตุมาจากความกลัวต่างหาก
ในทำนองเดียวกัน เมื่อคู่รักหรือคู่เดตร่วมกันทำกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้หัวใจเต้นแรงหรือรู้สึกกลัว เช่น เข้าบ้านผีสิง ดูหนังระทึกขวัญ หรือเล่นกีฬาผาดโผน เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสและความเป็นไปได้ให้แต่ละฝ่ายรู้สึกดึงดูดกันและอยากใกล้ชิดกันมากกว่าเดิม
แม้ว่า ‘ผี’ อาจทำให้หลายคนรู้สึกหวาดหวั่นจนต้องปิดตาดูไปบ้าง แต่ถ้าหากทำให้รักสุกงอมขึ้นมาได้ ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการเผชิญหน้ากับความกลัว เพราะอย่างน้อยที่สุด ยังมีหนึ่งคนที่อยู่เคียงข้าง ซึ่งไม่ปล่อยให้เรากลัวหรืออยู่อย่างโดดเดี่ยว
อ้างอิง
- Amie M. Gordon. Is It Love, or Just a Scary Movie?. https://bit.ly/3okx5JH
- Dutton, D. G., & Aron, A. P. (1974). Some evidence for heightened sexual attraction under conditions of high anxiety. Journal of personality and social psychology, 30(4), 510–517. https://doi.org/10.1037/h0037031