life

ย้อนไปในปี 1990 ศาลชั้นต้นประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย รื้อคดีฆาตกรรมเด็กหญิงเมื่อ 20 ปีก่อนกลับมาไต่สวน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวสุดอื้อฉาวในกระบวนพิจารณาคดีของสหรัฐอเมริกา

ภายในห้องสอบสวน เอลีน แฟรงคลิน (Eileen Franklin) หญิงชาวอเมริกันวัย 29 ปี กำลังให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ถึงเหตุการณ์สะเทือนใจเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก เธอกล่าวหาพ่อตัวเอง จอร์จ แฟรงคลิน (George Franklin) ว่าเป็นคนข่มขืนและลงมือฆ่า ซูซาน เนสัน (Susan Nason) เพื่อนสนิทของเธอ

เอลีนจำได้ว่าเป็นเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 22 กันยายน 1969 ขณะที่พ่อกำลังขับรถออกจากบ้าน เธอเห็นซูซานพอดีจึงชวนขึ้นรถเพื่อจะไปโรงเรียนพร้อมกัน พ่อของเธอขับรถมาถึงหน้าโรงเรียนจริงแต่ไม่ยอมจอด เพราะเขาบอกว่าจะพาไปเที่ยวแทน เธอและเพื่อนหลงดีใจโดยไม่รู้ว่า อีกไม่กี่อึดใจชีวิตของทั้งคู่จะเปลี่ยนไปตลอดกาล

Photo: Franklin, Eileen. & Wright, William. (1993). Sins of the Father: A Daughter, a Memory, a Murder. New York : Macmillan.

พ่อขับรถมาจอดกลางป่าที่เงียบสงัด บริเวณโดยรอบมีแต่ต้นไม้ขึ้นสูง เอลีนและซูซานไร้เดียงสาเกินกว่าจะรู้ทันอันตราย ทั้งคู่ลงจากรถมาวิ่งเล่นด้วยกันอย่างสนุกสนาน จนกระทั่งเอลีนเห็นพ่อของเธอเดินเข้ามาอุ้มซูซานไปที่หลังรถ ภาพที่เธอเห็นตอนนั้น คือ ร่างกายใหญ่โตของพ่อขึ้นคร่อมอยู่บนร่างอันบอบบางและอ่อนแอ่กว่าของเพื่อนวัยเพียง 8 ขวบ เขากำลังขืนใจซูซาน เอลีนสับสนสุดชีวิตจนทำอะไรไม่ถูกนอกจากร้องไห้ด้วยความกลัว

เวลาผ่านไปไม่นาน พ่อก็ปล่อยตัวซูซาน เพื่อนของเธอรีบวิ่งออกมานั่งร้องไห้ใต้ต้นไม้ สักพักเอลีนเห็นพ่อเดินตามไปหา แล้วยกก้อนหินขนาดใหญ่ทุ่มลงบริเวณหัวของซูซานสุดแรง เพื่อนของเธอสิ้นใจในทันที

ภาพเหตุการณ์วันนั้นยังคงเด่นชัดในความทรงจำของเอลีนไม่เปลี่ยน แม้พ่อของเธอยืนยันว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ต้องจำนนต่อหลักฐาน เพราะคำให้การของเอลีนตรงกับข้อมูลในอดีตทั้งหมด ศาลจึงตัดสินให้พ่อของเธอได้รับโทษสถานหนักที่สุด คือ จำคุกตลอดชีวิต เมื่อเอลีนรู้ผลพิจารณาคดี เธอโล่งอกอย่างบอกไม่ถูก คนทำผิดได้รับโทษอย่างสาสม เธอทวงคืนความยุติธรรมให้ซูซานได้สำเร็จ ไม่ต้องกล้ำกลืนฝืนทนอยู่กับความทรงจำอันโหดร้ายอีกต่อไป

ดูเหมือนว่าทุกอย่างได้คลี่คลายไปในทางที่ถูกที่ควร แต่คนในครอบครัวเดียวกันโดยเฉพาะ เจนิซ แฟรงคลิน (Janice Franklin) พี่สาวของเอลีนกลับเห็นแย้ง เธอเชื่อมั่นว่าพ่อไม่ได้เป็นคนทำ โดยตั้งขอสังเกตไปที่ตัวเอลีน เพราะพี่สาวสงสัยว่า ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ทำไมน้องสาวของเธอเพิ่งมาเอาผิดพ่อตัวเองหลังผ่านไปนานถึง 20 ปี

เอลีนให้การเพิ่มเติมว่า หลังจากเกิดเหตุ พ่อขู่จะฆ่าเธออีกคน หากเอาเรื่องนี้ไปบอกใครก็ตาม เธอจึงปิดปากเงียบจนลืม แต่แล้ววันหนึ่ง ระหว่างที่ลูกสาวของเธอกำลังเล่นสนุกก็หันหน้ากลับมามองเอลีน วินาทีนั้นเธอเห็นหน้าลูกสาวเป็นหน้าซูซานที่เคยจ้องหาเธอขณะถูกข่มขืน ความทรงจำทุกอย่างจึงกลับคืนมาในทันใด

ศาลรับฟังเอลีนในฐานะพยานปากสำคัญผู้เห็นเหตุการณ์จึงไม่กลับคำพิพากษา เจนิสจึงพยายามสืบหาความเป็นไปได้อื่นๆ แทน จนในที่สุดก็ค้นพบหลักฐานสำคัญที่พิสูจน์ได้ว่าพ่อเป็นผู้บริสุทธิ์

อลิซาเบธ ลอฟทั​ส
Photo: Jodi Hilton/REX/SHUTTERSTOCK

ก่อนหน้านี้ อลิซาเบธ ลอฟทั​ส (Elizabeth Loftus) นัก​จิตวิทยาการรู้คิดชาวอเมริกัน และศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความจำ ค้นพบว่า ความทรงจำของคนเราไม่ใช่ความจริงแท้ตายตัวเสมอไป เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนที่สุด ความจำทำงานคล้ายกับวิกิพีเดีย แม้ว่าเราเป็นคนแรกที่สร้างความทรงจำนั้นขึ้น แต่ก็เปิดโอกาสให้ทั้งเราและผู้อื่นย้อนกลับไปแก้ไขได้ ความทรงจำของเราจึงอาจไม่ตรงกับความจริงในอดีต

หมายความว่า มีโอกาสที่มนุษย์ทุกคนจะจดจำสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง คล้ายลวงตัวเองให้หลงเชื่อเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนว่าเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำในช่วงชีวิต ดังนั้น ความทรงจำใดๆ ก็ตามที่ประกอบสร้างขึ้นจากความผิดพลาด คลาดเคลื่อน หรือถูกบิดเบือนโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่กลับเชื่ออย่างสนิทใจว่าเคยเกิดขึ้นจริงๆ ล้วนเรียกว่า false memory หรือ ความทรงจำเท็จ ทั้งสิ้น

เมื่อเจนิซรวบรวมหลักฐานและพยานใหม่ได้ครบถ้วน จึงยื่นอุทธรณ์ เป็นเหตุให้ศาลนำคดีนี้กลับมาพิจารณาอีกครั้งในปี 1996

เจนิซให้การว่า คำพูดของเอลีนเชื่อถือไม่ได้ เพราะช่วงที่น้องสาวเล่าเรื่องจากความทรงจำเกี่ยวกับพ่อและเพื่อนสนิทที่ตายไป เป็นช่วงเดียวกันกับที่เขารับการบำบัดรักษาอาการนอนไม่หลับด้วยวิธีสะกดจิต เท่ากับว่าคำให้ของเอลีนในอดีตเริ่มไม่มีน้ำหนัก

เรื่องนี้ยืนยันโดยอลิซาเบธ เธอเข้าร่วมให้การในชั้นศาลด้วย โดยอธิบายว่า เอลีนปะติดปะต่อระหว่างเนื้อหาข่าวของคดีฆาตกรรมในหน้าหนังสือพิมพ์กับชีวิตจริงจนกลายเป็นความทรงจำเท็จที่เอลีนเข้าใจว่าเธออยู่ในเหตุการณ์นั้นเอง ซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนจากการสะกดจิต

ศาลอุทธรณ์จึงพิจารณาคำตัดสินใหม่ คืนความยุติธรรมให้พ่อเพราะเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้ทำความผิดใดๆ แต่ต้องถูกจองจำเป็นเวลานานถึง 6 ปี เพราะความทรงจำเท็จของลูกสาวตัวเองที่กล่าวหาเขาว่าเป็นฆาตกร

ในสหรัฐอเมริกา ผู้บริสุทธิ์จำนวนไม่น้อยถูกตัดสินลงโทษในคดีอาชญากรรมจากความทรงจำเท็จของพยานผู้กล่าวอ้างว่าเห็นเหตุการณ์จริง ภายหลังในกระบวนการพิจารณาคดีและระบุตัวผู้กระทำผิดจึงเลือกใช้วิธีการตรวจดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมร่วมด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้

ความทรงจำเท็จกลายเป็นประเด็นที่วงการจิตวิทยาให้ความสำคัญมากขึ้นนับตั้งแต่นั้น ทำให้เกิดการทดลองที่เผยความไม่น่าไว้วางใจของความจำ และชี้ให้เห็นด้วยว่าความทรงจำเท็จจับต้องได้ง่ายและเกิดขึ้นใกล้ตัวกว่าที่หลายคนคาดคิด โดยเฉพาะการทดลองในปี 2002 เพื่อตอบคำถามว่าแท้จริงแล้วความทรงจำของมนุษย์ที่เราต่างยึดมั่นเก็บจำตั้งแต่จำความได้ เชื่อถือได้หรือไม่

นักวิจัยให้คนจำนวนหนึ่งที่เคยไปเที่ยวสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ในวัยเด็กดูภาพโฆษณาแล้วถามว่า เคยเห็นตัวการ์ตูน บักส์ บันนี (Bugs Bunny) ที่สวนสนุกไหม

Photo: Mike Nelson / AFP

ผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 62% หรือมากกว่าครึ่งหนึ่ง จำได้ว่าเคยจับมือกับบักส์ บันนี รองลงมา 46% บอกว่าเคยเข้าไปกอดบักส์ บันนี แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุด คือ มีคนยืนยันว่าเขาเคยป้อนแครอตให้บักส์ บันนีด้วย

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะบักส์ บันนีเป็นตัวการ์ตูนในเรื่องลูนีย์ตูนส์ (Looney Tunes) ของค่ายวอร์เนอร์บราเธอส์ (Warner Bros.) ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งกับค่ายวอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) จึงไม่มีทางเป็นไปได้อย่างเด็ดขาดที่จะเห็นบักส์ บันนีในดิสนีย์แลนด์

ภาพโฆษณาสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ที่ใช้ในการทดลอง จึงเป็นภาพปลอมที่ทำขึ้นมาตรวจสอบความทรงจำเท็จโดยเฉพาะ

อีกหนึ่งการทดลองที่น่าสนใจคือ การทดลองในปี 2003 นักวิจัยนำภาพถ่ายในอดีตของผู้เข้าร่วมการทดลองไปตัดต่อใหม่ แล้วถามว่าเคยขึ้นบอลลูนมาก่อนหรือไม่ ทั้งๆ ที่ผู้ร่วมทดสอบทุกคนไม่เคยขึ้นบอลลูน

Photo: Wade, K. A., Garry, M., Read, J. D., & Lindsay, D. S. (2002). A picture is worth a thousand lies: using false photographs to create false childhood memories. Psychonomic bulletin & review, 9(3), 597–603. https://doi.org/10.3758/bf03196318

แต่ผลการทดลองพบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองมากกว่าครึ่ง จดจำได้ว่าตนเคยขึ้นบอลลูนตอนเด็ก

ในโลกแห่งความจริง การให้และกระจายข้อมูลผิดๆ มีอยู่ทุกที่ ทำให้ทุกคนได้รับข้อมูลผิดๆ ไปด้วย ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ถูกตั้งคำถามชี้นำ แต่ถ้าเราฟังพยานคนอื่นๆ ที่อาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจให้ข้อมูลที่ผิดพลาดแก่เรา หรือถ้าได้ดูข่าวเกี่ยวกับบางเหตุการณ์ที่เราอาจจะเคยเจอมาก่อน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เปิดโอกาสให้ความทรงจำของเราเป็นเท็จ

 

อ้างอิง

  • Elizabeth Loftus. How reliable is your memory?. https://bit.ly/3qegfLq
  • Loftus E. (2003). Our changeable memories: legal and practical implications. Nature reviews. Neuroscience, 4(3), 231–234. https://doi.org/10.1038/nrn1054
  • Loftus, E.F. & Ketcham, K. (1994). The Myth of Repressed Memory: False Memories and Allegations of Sexual Abuse. New York : St. Martin’s Press.
  • Stephanie Denzel. George Franklin. https://bit.ly/3cWoZ3G