pe©ple

เขาคือนักเขียนที่มีผลงานตีพิมพ์ 9 จาก 10 หมวดของการจำแนกหนังสือในห้องสมุดด้วยระบบทศนิยมดิวอี้ (ขาดเพียงหมวดหมู่ปรัชญา)

เขามีผลงานตีพิมพ์มากกว่า 500 ชิ้น ว่ากันว่าหากจะเขียนผลงานให้ได้มากเทียบเท่าเขา นักเขียนทั่วไปจำเป็นต้องเขียนเรื่องสั้น 1 เรื่องให้จบภายใน 2 สัปดาห์ตลอดระยะเวลา 25 ปีโดยไม่หยุดพัก เพราะจากหนังสือส่วนใหญ่ที่มีจำนวนราวๆ 70,000 คำ นั่นหมายถึงเขาเขียนตัวอักษรที่ได้รับการตีพิมพ์มากถึง 5,000 คำต่อวันเลยทีเดียว ทว่านอกเหนือไปจากนั้น เขายังฝากมรดกตกทอดไว้ให้โลกอีกจำนวนมหาศาล…

หน้าปกหนังสือชุด Foundation

ซีรีส์ไซไฟ Foundation จาก Apple TV+ ซึ่งออนแอร์ตอนแรกไปเมื่อปลายเดือนกันยายน 2021 กำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในระดับปรากฏการณ์ นี่คือซีรีส์ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายไซไฟในชื่อเดียวกัน หรือที่ถูกแปลในภาษาไทยด้วยชื่อ ‘สถาบันสถาปนา’ โดยนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) ซึ่งถูกรวมเล่มตีพิมพ์ในฐานะนิยายครั้งแรกเมื่อปี 1951 หรือราว 70 ปีก่อน

หลายคนที่เติบโตมากับการอ่านนิยายเรื่องนี้และเฝ้าฝันจินตนาการถึงอวกาศอันกว้างใหญ่ไปกับตัวอักษรของอาซิมอฟมาตั้งแต่สมัยวัยเยาว์ แต่ไม่ได้เป็นสมาชิก Apple TV+ มาก่อน ถึงขั้นต้องสมัครสมาชิกเพื่อเข้ามาดูซีรีส์เรื่องนี้โดยเฉพาะ แค่นี้ก็พิสูจน์ให้เห็นได้ว่างานเขียนอาซิมอฟนั้นทรงพลังเพียงใด

Isac Asimov, 1969 ภาพจาก Boston Public Library

Foundation ฉบับนิยายพัฒนามาจากเรื่องสั้นทั้งสิ้นจำนวน 5 เรื่องที่มีความเชื่อมโยงกัน เริ่มต้นเรื่องราวใน ‘พิภพแทรนทอร์’ ศูนย์กลางของจักรวรรดิกาแลกติกอาญาจักรอันยิ่งใหญ่ของจักรวาลที่มีอายุยืนยาวมานานกว่า 12,000 ปี อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรยืนยงคงกระพันได้ตลอดกาล เมื่ออยู่ๆ นักคณิตศาสตร์นาม ฮาริ เซลดอน (Hari Seldon) ผู้คิดค้นศาสตร์แห่งการทำนายอนาคตที่รวมคณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และจิตวิทยาเขาไว้ด้วยกันอย่าง ‘อนาคตประวัติศาสตร์’ (Psychohistory) ได้ทำนายว่า จักรวรรดิกำลังจะล้มสลายในระยะเวลา 500 ปี และจะเข้าสู่ยุคมืดที่ยาวนานถึง 30,000 ปี 

ทว่า ฮาริ เซลดอน ก็ดันถูกขุมขังด้วยข้อหาก่อความวุ่นวายให้รัฐ พร้อมๆ กับตัวละครหลักผู้เก่งกาจในด้านคณิตศาสตร์อีกคนอย่าง กาอัล ดอร์นิค (Gaal Dornick) ผู้เพิ่งจะมาถึงทรานทอร์เพื่อพบกับฮาริ เซลดอนได้ไม่นาน

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากตรงนี้ ฮาริ เซลดอนชี้แจ้งต่อคณะสอบสวนว่า ยังมีตัวเลือกอื่นๆ สำหรับอนาคต นั่นคือการก่อตั้ง Foundation หรือ สถาบันสถาปนา เพื่อรวบรวมความรู้ทั้งมวลของจักรวาลไว้ในสารานุกรม ที่จะช่วยทำให้ยุคมืดหดตัวลงเหลือแค่ราวหนึ่งสหัสวรรษเมื่อคนในอนาคตข้างหน้าสามารถใช้ความรู้เหล่านี้ในการฟื้นฟูจักรวรรดิได้

อย่างไรก็ตามฮาริ เซลดอน และ กาอัล ดอร์นิค ก็ถูกเนรเทศสู่พิภพอันห่างไกลนาม ‘ทอร์มินัส’ พร้อมกับทีมที่สามารถช่วยให้เขาสร้างสารานุกรมขึ้นมาได้ นี่เป็นทั้งจุดเริ่มต้นของ Foundation ฉบับหนังสือและซีรีส์ในตอนแรก

ภาพจากซีรีส์ Foudation

Foundation กลายเป็นนิยายของ ไอแซค อาซิมอฟ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเล่มหนึ่ง มันได้รับรางวัล Hugo Award สำหรับนิยายที่ดีที่สุดตลอดกาลในปี 1966 แต่นอกไปจากนั้น นักเขียนและศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีผู้ถือกำเนิดในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย เมื่อราวๆ ปี 1919 หรือไม่ก็ 1920 (วันเกิดที่แท้จริงของเขาไม่แน่ชัด) และอพยพมาปักหลักจนกลายเป็นประชากรของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1923 ผู้นี้ ได้สร้างผลงานไว้แก่โลกมากมาย ความคิดและผลงานของอาซิมอฟถูกนำไปต่อยอด กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เรื่องราวต่างๆ นับไม่ถ้วน

เขาถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนักเขียน ‘บิ๊กทรี’ หรือนักเขียนผู้ทรงอิทธิพลสามคนในประเภทนิยายแนวไซไฟ ร่วมกับ โรเบิร์ต เอ. ไฮน์ไลน์ (Robert A. Heinlein) และ อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก (Arthur C. Clarke) ด้วยความที่พวกเขาได้นำพานิยายวิทยาศาสตร์ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เข้าสู่ ‘ยุคทอง’ อันรุ่งเรือง

ตลอดอาชีพการทำงาน 50 ปี นักเขียนผู้สอนตัวเองให้อ่านหนังสือได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบเขียนนิยายไว้ทั้งสิ้น 40 เล่ม เรื่องสั้นอีก 383 เรื่อง และงานเขียนแนวสารคดีอีก 280 เล่ม ซึ่งเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะสรุปออกมาได้หมดว่าผลงานของเขาประกอบด้วยความรู้และความคิดอันซับซ้อนใดบ้างภายในไม่กี่ย่อหน้า เพราะทั้งเรื่องแต่ง และเรื่องราวเชิงความรู้ที่เขาเขียนขึ้น แทบจะเรียกได้ว่าเป็น ‘สหวิทยาการ’ ที่ครอบคลุมความรู้อันหลากหลายของโลก นักเขียนอย่าง เจมส์ แอล. คริสเตียน ถึงขั้นเคยยกย่องอาซิมอฟโดยเขียนว่า

Isaac Asimov, 1985 โดย Yousuf Karsh

“มีคนเพียงไม่กี่คนที่จะเข้าใจถึงความรู้ทั้งหมดโดยสังเขปของอาซิมอฟ หนังสือของเขากว่า 500 เล่ม ที่เขาเขียนขึ้นทั้งในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงภูมิปัญญา หรือแค่คนธรรมดา ค่อนข้างครอบคลุมหัวข้อที่พอจะนึกออกได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ศาสนา และแน่นอน นิยายไซไฟ”

ส่วนอาซิมอฟเองก็เขียนถึงความสนใจที่หลากหลายของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องวิทยาศาสตร์ และศิลปะ ที่มักถูกจัดให้อยู่คนละฝากฝั่งไว้ในหนังสือของเขา ชื่อ The Roving Mind อย่างน่าสนใจว่า

“ผู้คนมักพูดถึงวิทยาศาสตร์และศิลปะราวกับว่ามันเป็นสองสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงโดยไม่อะไรเชื่อมโยงกัน ศิลปินเป็นพวกใช้อารมณ์ พวกเขาคิดโดยใช้เพียงสัญชาตญาณของตน เขามองเห็นทุกสิ่งพร้อมๆ กัน และไม่ต้องการเหตุผล ส่วนนักวิทยศาสตร์ก็เป็นพวกเย็นชา พวกเขาคิด โดยใช้เพียงแค่เหตุผลเท่านั้น พวกเขาโต้เถียงอย่างระมัดระวังทีละขั้นทีละตอน และไม่ต้องการจินตนาการ ทั้งหมดนี้ผิด ศิลปินที่แท้จริงเป็นคนที่ค่อนข้างมีเหตุผลมากพอๆ กับมีจินตนาการ และรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ตลอดเวลา ถ้าเขาไม่ได้เป็นคนเช่นนั้น งานศิลปะของเขาก็จะต้องทุกข์ทรมาน ส่วนนักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงก็มักมีจินตนาการที่สูงพอๆ กับการมีเหตุผล เพราะบางครั้งพวกเขาก็จำต้องกระโจนไปสู่ข้อสรุปที่เหตุผลตามมาได้อย่างเชื่องช้า ถ้าไม่ทำเช่นนั้น วิทยาศาสตร์ของเขาก็จะต้องทุกข์ทรมานเช่นกัน”

Isac Asimov, 1969 ภาพจาก Boston Public Library

สิ่งที่อาซิมอฟทิ้งไว้ให้แก่โลกจึงมีอยู่มากมาย แต่ในที่นี่เราจะขอสรุปออกมาเป็น 3 เรื่องเด่นที่ถูกนำไปต่อยอดให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ดังนี้ 

กฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์ (Asimov’s Three Laws of Robotics)

คนที่เคยดูหนังหรืออ่านนิยายไซไฟเกี่ยวกับหุ่นยนต์ หรือปัญญาประดิษฐ์หลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องกฎของหุ่นยนต์มาบ้าง แต่ก็คงมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันเริ่มต้นมาจากไอเดียของอาซิมอฟ

อาซิมอฟคิดกฎ 3 ข้อขึ้นเพื่อใช้ในผลงานของตนในปี 1950 นาม I, Robot โดยเปิดเผยครั้งแรกในเรื่องสั้น Runaround อันประกอบด้วย

1.หุ่นยนต์ไม่อาจกระทำอันตรายต่อมนุษย์ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้ผู้ที่เป็นมนุษย์ตกอยู่ในอันตราย

2.หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งจากมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นขัดแย้งกับกฎข้อแรก

3.หุ่นยนต์ต้องปกป้องสถานะความมีตัวตนของตนไว้ ตราบเท่าที่การกระทำนั้นไม่ขัดแย้งต่อกฎข้อแรกหรือกฎข้อที่สอง

และได้มีการเพิ่มกฎอีกข้อในภายหลัง นั่นคือกฎข้อ 0.หุ่นยนต์มิอาจกระทำอันตรายต่อมนุษยชาติ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้มนุษยชาติตกอยู่ในอันตรายได้ (โดยทั้งกฎข้อ 1-3 จะต้องไม่ขัดกับกฎข้อ 0.)

หน้าปกหนังสือ I, Robot

แม้ว่ากฎเหล่านี้จะเป็นเรื่องแต่ง และนำไปใช้จริงไม่ได้ (ดังที่เรื่องสั้นของอาซิมอฟจะแสดงให้เห็นในภายหลัง) แต่นักวิทยาศาสตร์รุ่นต่อๆ มาก็ยอมรับว่ามันส่งอิทธิพลและคล้ายเป็นสารตั้งต้นสำคัญต่อการศึกษาในเรื่อง ‘จริยธรรมในปัญญาประดิษฐ์’ (Ethics of artificial intelligence) ในปัจจุบัน

 

อนาคตประวัติศาสตร์ (Psychohistory)

Psychohistory เป็นแกนกลางสำคัญในปฐมบทของ Foundation แน่นอนว่าศาสตร์ที่ว่าด้วยการทำนายอนาคตอย่างแม่นยำ โดยใช้คณิตศาสตร์ จิตวิทยา และประวัติศาสตร์มาผสมผสานนั้นมันมาจากจินตนาการของอาซิมอฟล้วนๆ โดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับศาสตร์ในโลกแห่งความจริง

แต่จินตนาการและเรื่องแต่งที่พ้องพานกับการมองโลกแบบกลไกอย่างเป็นระบบนี้เอง ที่ช่วยทำให้นักวิทยาศาสตร์ผู้เติบโตขึ้นมาจากการอ่านนิยายของอาซิมอฟหลายคนนำมันมาเป็นแรงบันดาลใจและต่อยอดสู่สิ่งใหม่ๆ ยกตัวอย่างก็เช่นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2008 อย่าง พอล ครุกแมน (Paul Krugman) จากผลงานเด่นอย่าง ‘ทฤษฎีการค้าใหม่’ (new trade theory) และ ‘ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจใหม่’ (new economic geography) ที่กล่าวว่า Foundation คือพื้นฐานสำคัญสำหรับเศรษฐศาสตร์ของเขา และเขาได้แรงบันดาลใจอยากเป็นนักเศรษฐศาสตร์จากความคลั่งไคล้เรื่องราวของ Psychohistory และมีตัวละครอย่าง ฮาริ เซลดอน เป็นไอดอล

ภาพจากซีรีส์ Foudation

“หนังสือที่อยู่กับผมยาวนาน 4 ทศวรรษครึ่งคือ ‘ไตรภาคสถาบันสถาปนา’ ของ ไอแซค อาซิมอฟ ที่ถูกเขียนขึ้นไม่นานหลังจากอาซิมอฟก้าวขาพ้นวัยรุ่น” ครุกแมนเขียนไว้ในบทความชิ้นยาวของเขา ซึ่งตีพิมพ์ลงใน The Guardian “ผมเติบโตขึ้นมาด้วยความต้องการที่จะเป็นอย่างฮาริ เซลดอน ผมอยากใช้ความเข้าใจของผมในเรื่องคณิตศาสตร์และพฤติกรรมมนุษย์ช่วยรักษาอารยธรรมของเรา” 

 

คำทำนายและแรงบันดาลใจถึงอารยธรรมที่กำลังล่มสลาย

เรื่องแต่งหลายเรื่องของอาซิมอฟบอกผู้อ่านผ่านความผิดพลาดของตัวละครในเรื่องเล่า ราวกับเป็นคำเตือนจากอดีตถึงใครก็ตามที่หยิบเรื่องราวของเขาขึ้นมาอ่านในเวลาปัจจุบัน ในห้วงขณะที่โลกกำลังเผชิญวิกฤติอันไม่แน่ไม่นอน

ยกตัวอย่างเช่น นิยายรางวัล Nebula Prize เรื่อง The Gods Themselves ที่ถูกเขียนขึ้นเมื่อปี 1972 ซึ่งอาซิมอฟได้บรรยายภาพอย่างชัดเจนราวเห็นอนาคตถึงภาวะที่โลกกำลังถูกเผาผลาญทรัพยากรไปจนมากเกินควร จนเกิดปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่ และผูกสัมพันธ์กลายเป็นปัญหาระหว่างจักรวาลคู่ขนานแบบนิยายไซไฟ

The Gods Themselves

หรือกระทั่งใน Foundation เองที่พูดถึงอาณาจักรอันศิวิไลซ์ที่ไม่อาจรักษาสถานะอันสง่างามของตนได้อีกต่อไป และกำลังเดินเข้าสู่ยุคมืดอย่างเชื่องช้า ซึ่งนิยายเรื่องนี้เองก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้เซเลบนักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจคนดังอย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) อ้างว่ามันทำให้เขาอยากสร้างหลายๆ นวัตกรรมของตนขึ้นมาเพื่อรักษาอารยธรรมของเราเอาไว้ หรือกระทั่งพามันหลุดออกจากวัฏจักรของประวัติศาสตร์แบบเดิมๆ สู่วัฏจักรที่เหนือกว่า โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งขึ้นปกนิตยสาร Rolling Stone ในปี 2017 ไว้ว่า

“อาซิมอฟมีอำนาจในการชักจูงอย่างมาก เขาเล่าเรื่องโดยการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์แห่งการเสื่อมถอยและการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน’ (The History of the Decline and Fall of the Roman Empire) ของ เอ็ดเวิร์ด กิบสัน (Edward Gibbon) ได้อย่างจริงจัง เขาพัฒนาให้มันกลายเป็นโลกสมัยใหม่ของจักรวรรดิกาแลกติก บทเรียนที่ผมได้เรียนรู้จากเรื่องราวของอาซิมอฟคือ คุณควรพยายามที่จะกระทำอะไรบางอย่างเพื่อทำให้อารยธรรมของเราขยายเวลาออกไป หรือลดความเป็นไปได้ของการเกิดยุคมืดให้มากสุด และควรลดระยะเวลาของยุคมืดให้ได้หากยุคมืดได้เกิดขึ้นแล้ว”

ภาพจาก biography.com

อ้างอิง