life

“ฉันไม่กลัวตายหรอก ฉันยังสุขใจเสมอที่ได้อยู่กับพวกเธอ”

แม่ชีอังเดร (Sister André) หญิงชราชาวฝรั่งเศสวัย 118 ปี (เกิดปี 1904) เปิดเผยความในใจ หลังจากเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจนหายดี เพราะก่อนหน้านี้เธอติดเชื้อโควิด-19 แต่ร่างกายกลับไม่แสดงอาการป่วยหรือผิดปกติใดๆ

Photo: Nicolas Tucat / AFP

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ร้ายแรง ตลอดชีวิตของเธอผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วมากมาย ทั้งสงครามโลกทั้งสองครั้ง และการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปนในปี 1918 ซึ่งเธอรักษาชีวิตของตนให้อยู่รอดปลอดภัย กลายเป็นผู้หญิงอายุยืนที่สุดในยุโรป และครองอันดับที่สองของโลก รองจาก คาเนะ ทานะกะ (Kane Tanaka) หญิงชราชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีอายุมากกว่าเธอ 1 ปี

คาเนะ ทานะกะ
Photo: JIJI Press / AFP

คนสูงอายุส่วนใหญ่ในประเทศฝรั่งเศสมักเลือกใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านพักคนชรา อย่างน้อยพวกเขาก็มั่นใจได้ว่าจะไม่รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว เพราะมีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ที่สำคัญคือมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิด ซึ่งปลอดภัยและช่วยเพิ่มความอุ่นใจได้มากกว่าอยู่บ้านหรือห้องพักธรรมดา

ส่วนลูกๆ และคนในครอบครัวต่างก็แวะเวียนมาเยี่ยมได้ตลอดเวลาตามที่ต้องการ แต่กรณีของแม่ชีอังเดรนั้นแตกต่าง เธอตัดสินใจไม่มีครอบครัว แล้วบวชเป็นชีในปี 1944 ขณะอายุ 40 ปี เมื่อเวลาผ่านไป พ่อ แม่ และพี่ชายของเธอต่างเสียชีวิตไปตามวัยที่ร่วงโรย จนตอนนี้เหลือเธอตัวคนเดียวที่ยังมีลมหายใจ และใช้ชีวิตอย่างปกติสุขอยู่ใน EHPAD (Housing Establishment for Dependant Elderly People) หรือสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุประจำเมืองตูลง (Toulon) ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส

Photo: Nicolas Tucat / AFP

เธอยืนยันว่าหากถึงคราวที่ต้องสิ้นอายุขัย เธอไม่รู้สึกกลัวใดๆ และยังปรารถนาอยู่ลึกๆ ด้วยว่า ถ้าวันนั้นมาถึง “ฉันคงจะได้ไปพบกับพี่ชายอีกครั้ง”

นอกจากแม่ชีอังเดร ในประเทศฝรั่งเศสยังมีคนชราอายุยืนอีกจำนวนมาก

แอร์มีน ซัวบียอน (Hermine Saubion) หญิงชราวัย 110 ปี (เกิดปี 1911) อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชราหลังเกษียณอายุประจำเมืองบานง (Banon) เป็นธรรมเนียมประจำทุกปี ที่ลูกๆ และบรรดาเครือญาติจะมารวมตัวกันเพื่อจัดงานฉลองวันเกิดให้เธอ

Photo: Nicolas Tucat / AFP
Photo: Nicolas Tucat / AFP

งานนี้เองที่คอยมอบพลังใจให้ซัวบียอนรู้สึกว่าเธอยังเป็นที่รักและที่ระลึกถึงของทุกคนในครอบครัว แม้จะไม่ได้เห็นหน้าค่าตากันทุกวัน เมื่อเธอมองไปยังภาพถ่ายใบเล็กๆ นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะคลายความคิดถึงของเธอต่อลูกๆ ลงได้เยอะ

Photo: Nicolas Tucat / AFP

อลีน เบลน (Aline Blain) หญิงชราวัย 110 ปี (เกิดปี 1911) พักอยู่ในสถานบริบาลประจำเมืองวัลเรอัส (Valréas) เธอใช้ชีวิตเป็นปกติไม่ต่างกับตอนอาศัยอยู่บ้านกับลูกสาว เธออ่านนิตยสารสลับกับดูข่าวและรายการบันเทิงผ่านช่องโทรทัศน์ พร้อมกับดื่มชาร้อนแก้วโปรดที่เธอขาดไม่ได้

Photo: Nicolas Tucat / AFP
Photo: Nicolas Tucat / AFP

สาเหตุที่ลูกสาวตัดสินใจย้ายเธอมาพักถาวรที่สถานบริบาล เพราะเป็นห่วงความปลอดภัยของแม่ เมื่อแม่อายุมากขึ้น จึงไม่ควรปล่อยให้อยู่บ้านโดยลำพัง หากเกิดอุบัติเหตุคงไม่มีใครทันเห็นหรือช่วยเหลือได้ทันการณ์

Photo: Nicolas Tucat / AFP
Photo: Nicolas Tucat / AFP

สองแม่ลูกผูกพันกันมาก ลูกจึงมาเยี่ยมแม่สม่ำเสมอ ทุกครั้งที่ลูกมาหา มักจะชวนแม่ทำกิจกรรมที่ทั้งคู่เคยทำเป็นปกติเหมือนตอนยังอยู่บ้านด้วยกัน พร้อมกับโอบกอดและหอมแก้มแสดงถึงความรักที่ไม่เคยเจือจาง

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า อายุขัยเฉลี่ยของผู้สูงอายุในประเทศฝรั่งเศส คือ 82.7 ปี ถือว่าค่อนข้างสูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน อินเดีย รวมถึงประเทศไทย