w©rld

“มหาวิทยาลัยไม่ใช่พระเจ้า”

ประโยคนี้คงจะไร้น้ำหนัก ถ้าไม่ได้ออกจากปาก ธเนศ วงศ์ยานนาวา นักวิชาการอิสระที่เพิ่งเกษียณอายุเมื่อ พ.ศ.2560 หลังจากเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มานานกว่า 33 ปี

นอกจากจะไม่ใช่พระเจ้าแล้ว ธเนศยังบอกอีกว่า “มหาวิทยาลัยนั้นคือสถาบันแห่งความฉิบหาย” เพราะทำให้ทุกสิ่งหยุดนิ่ง ตายตัว และคับแคบ ด้วยการสร้างมาตรฐานบางอย่างขึ้นมา แทนที่จะเปิดกว้างสร้างทางให้เกิดนวัตกรรม

แม้จะฟังดูสิ้นหวัง แต่ในวงสนทนาที่ประกอบด้วยอาจารย์รุ่นใหม่สองคนที่กำลังตั้งคำถามกับการเรียนการสอนในโลกยุคใหม่ และกังวลใจกับอนาคตของตัวเอง กับอีกหนึ่งอดีตฝ่ายทรัพยากรบุคคลรุ่นเก๋าของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านฝนมาไม่น้อยกว่าธเนศ ที่มาร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนถึงโลกการทำงานในอนาคต

ธเนศได้ชี้ให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ว่าถึงที่สุดมนุษย์ต้องกลับมาสู่สิ่งสามัญ ซึ่งเป็นสัจธรรมของสิ่งมีชีวิต

“สิ่งมีชีวิตมันต้องปรับตัว แม้กระทั่งปูเสฉวนยังปรับใช้ขวด”

แล้วอะไรล่ะคือ ‘ขวด’ ที่ธเนศมองเห็น…

ธเนศ วงศ์ยานนาวา การศึกษา อนาคต ทักษะ เด็กรุ่นใหม่ ปรับตัว ไทยแลนด์ 4.0

ทุกคนต้องขวนขวาย

“ผมว่านะสุดท้ายคนทุกคนมันเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยเพราะมันคิดว่ามหาวิทยาลัยเป็นศาลเจ้าที่เนรมิตได้ทุกอย่าง แต่มหาวิทยาลัยไม่ใช่พระเจ้า เพราะมหาวิทยาลัยให้เพียงพื้นฐานอะไรบางอย่างเหมือนกับพ่อแม่ที่ให้อะไรบางอย่างกับคุณ แต่ถ้าคุณไม่ขวนขวายมันก็ไม่มีทางมันก็จบ เพียงแต่ว่าท้ายที่สุดโครงสร้างมหาวิทยาลัยไทยมันเป็นโครงสร้างที่ทำให้ทุกคนคิดว่านี่คือที่สุดแล้ว ออกัสซั่มแล้ว กูเข้าธรรมศาสตร์ กูเข้าจุฬา

“แต่จริงๆ มันไม่ใช่ ฉะนั้นคุณต้องไปต่อยอด แต่คนจะคิดว่ามันเป็นสูตรสำเร็จเพราะอะไร เพราะว่าเสาหลักของสังคมไทยมันต้องการ ready made มันไม่มีหรอกในโลกนี้ที่ ready made

“ทุกคนมันต้องต่อสู้ สร้างโอกาส มันไม่ได้ตกมาจากฟ้า มันใช้เวลาทั้งนั้นกว่าคนมันจะคิดยิงจรวดไปดวงจันทร์ มันใช้เวลากี่ร้อยปีวะ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ตกมาจากฟ้า”

ธเนศ วงศ์ยานนาวา การศึกษา อนาคต ทักษะ เด็กรุ่นใหม่ ปรับตัว ไทยแลนด์ 4.0

จงพูดคุยสนทนา

“สำหรับผม ผมคิดว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของโลกในปัจจุบันเราต้องกลับมาคิดว่าเราไม่ได้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว สมมติว่าเราเรียนคณะรัฐศาสตร์ก็ต้องไปร่วมกับวิศวะ เพราะฉะนั้น networking มันถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ นักวิชาการสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มันเป็นโลกแห่งปัจเจกมันถึงได้ฉิบหาย ซึ่งผมก็ถูกสอนมาแบบนั้นว่าโลกของเราแม่งมีแต่นักปรัชญา แม่งมีอยู่คนเดียวในโลกนี้ แม่งเขียนหนังสืออยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว แต่สาย science มันไม่มี science มันทำงานเป็นทีม เพราะฉะนั้นคณะเราหรือสาขาสังคมศาสตร์มันต้องเพิ่มการให้เกียรติคนอื่นมากขึ้น พูดง่ายๆ sense of individualism แบบเดิม มันไม่เวิร์คอีกแล้ว”

ธเนศ วงศ์ยานนาวา การศึกษา อนาคต ทักษะ เด็กรุ่นใหม่ ปรับตัว ไทยแลนด์ 4.0

เสพสุนทรียะ แลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่น

“ความอร่อยหรือสุนทรียะต่างๆ เป็นเรื่องที่ subjective มากๆ แต่ว่าสิ่งพวกนี้มันทำให้เรามีความรู้สึกว่าสุนทรียะมันเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราแชร์กับคนอื่น

“ยกตัวอย่างเหมือนกับการดื่มไวน์ ไวน์เป็นสิ่งที่คุณต้องกินร่วมกันคนอื่นนะ บางคนอาจมีความสามารถในการดื่มไวน์หนึ่งขวดสองขวดโดยไม่เมาได้ ก็โอเค อันนั้นเป็นความสามารถพิเศษของคุณ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วการดื่มไวน์คือการที่คุณต้องแชร์กับคนอื่น ถ้าคุณกินคนเดียวคุณจะเป็นแอลกอฮอลิซึ่ม หรือมีแนวโน้มที่จะเป็น เพราะฉะนั้นทุกคนมันต้องแชร์ ถ้าคุณแชร์ในไวน์ขวดนี้ แชร์ในงานศิลปะชิ้นนี้ มันคือการที่คุณได้แลกเปลี่ยนความคิด เพียงแต่ผมกำลังคิดว่าเรากำลังเอาเป็นเอาตายกับสิ่งพวกนี้ เช่น คุณต้องไปเข้าโรงเรียนทำไวน์ คุณต้องเทไวน์ขนาดนี้ ผมว่าอันนี้มันกลายเป็นเรื่องที่ทำให้อะไรบางอย่างมันกลายเป็นสถาบัน ผมคิดว่าสิ่งอันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วอันตรายมาก”

ธเนศ วงศ์ยานนาวา การศึกษา อนาคต ทักษะ เด็กรุ่นใหม่ ปรับตัว ไทยแลนด์ 4.0 สัตตะ

เปิดกว้าง ไม่หยุดนิ่ง ไม่ยึดติด

“หันมามองมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยคือสถาบันที่ทำให้ทุกสิ่งมันหยุดนิ่งและตายตัวด้วยการสร้างมาตรฐานที่มันถูก institutionalize เช่น มึงต้องเล่นดนตรีแบบนี้หรืออะไรแบบนี้ จะเห็นได้เลยว่าคนที่เข้าโรงเรียนมาบางกลุ่มมันจะยึดติดเลยนะว่าต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น ต้องเป็นแบบนี้แบบนี้ แล้วผมคิดว่านั่นคือส่ิงที่อันตรายมาก เพราะถ้าคุณกลับไปดูในสมัยศตวรรษที่ 19 สิ่งที่มันเกิดขึ้นมันไม่ได้เกิดขึ้นผ่านมหาวิทยาลัย สำหรับผม ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยนั้นคือสถาบันแห่งความฉิบหาย คุณไม่ได้เปิดทางในนวัตกรรมใหม่เลย แล้วผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องใหม่

“เพราะว่า institutionalize กันจนแบบว่าอันนี้ไม่ได้อันนั้นไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น หมอลำที่ถูกดึงเข้ามาในมหาวิทยาลัย จะถูกดึงแค่บางส่วน ถ้าในเรื่องลามกจกเปรตสองแง่สองง่ามเข้ามาในสถาบันศึกษาแม่งตัดทิ้งหมด การตัดมันทิ้งมันทำให้คุณเล่นกับความคิดที่ถูกต้องตามหลักศีลธรรมของคนเมืองใช่ไหม

“นี่คือสิ่งที่พวกคุณคิดว่ามันลามกจกเปรต แต่จริงๆ แล้วมันคือการทำให้คนมีความสนุกสนานของคนชนบท แล้วพอมันถูกทำให้เป็นเรื่องของชนชั้นกลาง คนเมือง ในพื้นที่รั้วมหาวิทยาลัยก็ต้องมีศีลธรรม อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่คือคนที่ไต่เต้าขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางก็เป็นอีกเรื่อง ด้วยความเป็นชนชั้นกลางคุณก็ไปไม่ถึงชนชั้นสูง แล้วก็กลัวที่จะตกลงไปอยู่ด้านล่าง เพราะฉะนั้นก็ต้องมีสิ่งอะไรบางอย่างที่จะต้องทำตัวให้รู้สึกว่าถูกต้อง พร้อมกับปิดบังสิ่งดั้งเดิมเหล่านี้ไว้ เพราะฉะนั้นก็จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันตายด้านเหมือนไม่มีชีวิต แล้วนี่คือสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วย ไม่ใช่มหาวิทยาลัยมันไม่มีคุณค่า แต่ว่าคุณ institutionalize มันมากเกินไป

“มันเหมือนเอาง่ายๆ คนบางคนแม่งคิดแผน 20 ปีแล้ว แผน 20 ปี ไอ้ห่า  จะรู้หรือว่า 20 ปีนั้นอนาคตมันจะเป็นอย่างไร ด้วยความเร็วของเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นแผน 20 ปีจึงเป็นการสร้าง stress jacket ให้กับตัวเอง เพราะโลกสมัยคุณต้องการ set goal เพื่อจะไปถึงจุดจุดนั้น”

ธเนศ วงศ์ยานนาวา การศึกษา อนาคต ทักษะ เด็กรุ่นใหม่ ปรับตัว ไทยแลนด์ 4.0

ธเนศ วงศ์ยานนาวา การศึกษา อนาคต ทักษะ เด็กรุ่นใหม่ ปรับตัว ไทยแลนด์ 4.0

ยืดหยุ่น!!!

“ผมยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งให้ฟัง เพื่อนผมเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจคือเขาเป็นนักคณิตศาสตร์แล้วก็ไปทำให้ LSE (London School of Economics) แล้วเขาถามกันว่าในช่วงต้น 1990 มันประสบปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป ทำไมอิตาลีถึงอยู่รอด คำตอบอย่างเดียวที่เพื่อนผมได้ก็คือ อิตาลีมันไม่มีแพลน แล้วด้วยความที่มันไม่มีแพลนที่มัน fix ตายตัว และมันก็ไม่ได้เป็นเรือที่ใหญ่มากก็เลยไปของมันได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันมีข้อดีข้อเสียของมัน คุณมี fix plan 20 ปี คุณอาจจะพร้อมที่จะฉิบหายก็ได้ ในการที่คุณไม่มีแพลนหรือเป็นแพลนสั้นๆ คุณอาจจะอยู่รอดได้ด้วยเงื่อนไขที่คุณตอบไม่ได้ ทุกๆ การตัดสินใจก็ไม่ได้ rational อยู่ตลอดเวลา การตัดสินใจของมนุษย์เต็มไปด้วยความซับซ้อน มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องปรับตัว ใครปรับตัวเร็วก็มีชีวิตรอด ผมถึงเกลียดมากเรื่องสอนให้คนมีความกล้า นี่ถ้าลูกกูมีความกล้าหาญ ลูกกูตายห่าไปหมดแล้ว เพราะว่ามันเห็นตึกสามชั้นแล้วต้องกระโดดลงมาเพราะมันคือความกล้าหาญ ความกลัวต่างหากที่ทำให้สิ่งมีชีวิตรอด และนี่คือสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่าคุณสอนเด็กนั้นผิด เพราะคุณไปเชื่อในวิธีคิดของการเป็นชนชั้นนักรบ คือมึงต้องกล้าหาญ ต้องไปตายในสนามรบ ระบบแบบนี้มันไม่เวิร์คแล้ว”

เปิดหูและเปิดตา

“ตอนนี้ผมไม่เชียร์ให้ลูกศิษย์ทุกคนไปเรียนอเมริกาเลย ผมไม่ได้บอกว่าอเมริกาไม่ดี แต่ตราบใดที่ประเทศไทยเรามี standard ตามแบบอเมริกัน เราก็จะถูกทำให้ต้องไปผูกกับวิถีปฏิบัติและความคิดแบบเดียว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาคุณก็จะแก้ลำบาก เพราะว่าคุณไปได้แนวคิดมาจากอเมริกาแบบเดียว

“เช่น คุณพัฒนาประเทศโดยใช้รถยนต์ตามแบบอเมริกาแล้วเกิดอะไรขึ้น ประเทศเราเป็นประเทศเล็ก คุณไม่ได้ต้องการรถหกสูบแปดสูบแบบอเมริกัน คนอเมริกันเขาขับรถไปเที่ยวเทือกเขา Rocky กัน โมเดลของคุณควรจะเป็นโมเดลยุโรปที่เป็นประเทศเล็ก แต่คุณก็ถูกครอบงำโดยแนวทางอเมริกัน แล้วญี่ปุ่นก็เข้ามาแทนที่รถยนต์อเมริกัน ทุกอย่างก็ดำเนินตามแนวทางการใช้รถยนต์ส่วนตัว รถยนต์คือ auto+mobile คืออัตตาแบบที่เคลื่อนที่ได้ ซึ่งสะท้อนสำนึกความเป็นปัจเจกชนที่มีเสรีภาพแบบอเมริกัน ทั้งหมดนี่ผมคิดว่าไม่ได้บอกว่ามันไม่ดี แต่ผมคิดว่าเราต้องหยุดตามเส้นทางเดินเส้นทางเดียว”

ธเนศ วงศ์ยานนาวา การศึกษา อนาคต ทักษะ เด็กรุ่นใหม่ ปรับตัว ไทยแลนด์ 4.0

ธรรมดาของสิ่งมีชีวิตคือการปรับตัว

“สำหรับผมนี่ สิ่งมีชีวิตคือสิ่งที่ต้องปรับตัว ไม่เช่นนั้นมันจะไม่มีคนรุ่นใหม่ มันไม่มีคนรุ่นเขา ยุงมันก็ปรับตัว สิ่งมีชีวิตอ่ะแม้กระทั่งต้นไม้ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมากลับไปสู่สิ่งที่ผมพูด ในอดีตที่ผ่านมาเราสร้างให้คนมีคาแรคเตอร์อะไรบางอย่างที่มันเป็นตัวของตัวเอง แล้วเนี่ยคือจุดยืนของกู กูจะไม่เปลี่ยนอะไร ผมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ผมคิดว่าเป็นไอเดียของคนตะวันตก แต่ว่ามันก็เปลี่ยนแปลงไปเพราะมันไม่มีหรอก ไม่มีมนุษย์คนไหนหรอกที่ไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งมีชีวิตมันต้องปรับตัวแม้กระทั่งปูเสฉวนยังปรับใช้ขวดในการที่จะเป็นบ้านหรืออะไรก็แล้วแต่

“ปัญหาที่ผ่านมาของเราคือเราไปคิดว่าเราต้องไม่ flexible เช่น เราต้องมีอุดมการณ์ยึดมั่นในอุดมการณ์แล้วผมว่าคนรุ่นพวกเรา เติบโตมากับกรอบคิดแบบนี้ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ถึง 20 ต้องตายเพื่ออุดมการณ์ ก่อนหน้านั้นก็ตายเพื่อศาสนา เป็นมรณาสักขี ผมว่าสำหรับผมแล้วเนี่ยคือการสร้างพลังความกล้าให้คนพร้อมที่จะตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐประชาชาติ อุดมการณ์บวกความกล้าหาญแบบพร้อมที่จะตายมันจบไปแล้ว คนจำนวนมากในปัจจุบันเป็นคนที่กลัวอุดมการณ์ที่นำพาไปสู่ความตาย การยึดมั่นมีอุดมการณ์ที่ตายตัวไม่เหมาะสมสำหรับโลกที่ต้องการความยืดหยุ่น เราต้องการคนแบบที่ flexible สิ่งมีชีวิตมัน flexible อยู่แล้ว

“ฉะนั้นผมคิดว่าไม่ต้องถามคำถามนี้ โดยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตมัน flexible อยู่แล้ว”.

ธเนศ วงศ์ยานนาวา การศึกษา อนาคต ทักษะ เด็กรุ่นใหม่ ปรับตัว ไทยแลนด์ 4.0

*หมายเหตุ: เนื้อหาในบทความนี้เรียบเรียงจากบทสนทนาหัวข้อ ‘ทรัพยากรมนุษย์ 4.0: มนุษย์คุณภาพ VS มนุษย์จินตภาพ’ ในหนังสือ จักรญาณวิทยา ธเนศ วงศ์ยานนาวา กับบทสนทนารอบตัว จัดพิมพ์โดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยได้รับการอนุญาตจาก ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้เป็นบรรณาธิการ และภาพ ธเนศ วงศ์ยานนาวา เอื้อเฟื้อโดยทีมงานรายการ สัตตะ

 

FACT BOX

หนังสือ จักรญาณวิทยา ธเนศ วงศ์ยานนาวา

  • จักรญาณวิทยา ธเนศ วงศ์ยานนาวา กับบทสนทนารอบตัว คือหนังสือที่รวบรวมบทสนทนาของอาจารย์ธเนศกับผู้คนหลายสาขาอาชีพในหลากหลายมิติ ไม่ว่าเรื่องทักษะและการเรียนรู้ของมนุษย์ อาหารการกิน วัฒนธรรมการดูหนัง หนังสือและการอ่านในทศวรรษที่ 2010 รวมถึงปรัชญาการเมืองในโลกที่ถูกดิสรัป นับเป็นหนังสือที่อ่านสนุก ได้สาระ และเพลิดเพลินอย่างยิ่ง ใครที่รู้จักอาจารย์ธเนศ คงไม่ต้องแนะนำว่ารสชาติทางปัญญาและวาจาของแกจัดจ้านแค่ไหน ส่วนคนที่เพิ่งรู้จักอาจารย์ธเนศ และอยากรู้จักมากขึ้น แนะนำให้ไปร่วมวงสนทนากับแกในหนังสือเล่มนี้ รับรอง…มันส์! โดยหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือ ก็องดิด (Candide Books) และ บุ๊กโมบี้ (Bookmoby)