life

‘กรุงเทพฯ’ อาจไม่ใช่เมืองสวรรค์ของหลายคนอีกต่อไป เพราะเต็มไปด้วยปัญหาโลกแตก ไม่ว่าน้ำท่วม รถติด ตบท้ายด้วยฝุ่นมลพิษ

ปัญหาเหล่านี้อาจฟังดูไร้หนทางแก้ไขและมองไปทางไหนก็เต็มไปด้วยความรู้สึกมืดแปดด้าน อย่างไรก็ตาม การออกแบบ ‘ภูมิสถาปัตยกรรม’ (landscape architecture) ที่ดีอาจเป็นทางออกที่เหมาะสมมากที่สุดสำหรับเมืองหลวงของประเทศไทยในเวลานี้

“ตอนนี้การจัดการเมืองถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะในเมืองของเรารถติดมาก คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมก็ไม่ดี ความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองก็ไม่ค่อยมี เพราะมีพื้นที่สีเขียวน้อย ผู้คนจึงเริ่มมองเห็นความสำคัญของการมีสภาวะแวดล้อมที่ดีในเมือง”

ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในภูมิสถาปนิก ผู้มากด้วยประสบการณ์การทำงานระดับอินเตอร์ที่บริษัท TIERRA Design ในสิงคโปร์ และบริษัท Latz + Partner ในเยอรมนี เน้นย้ำให้ฟังระหว่างการสัมภาษณ์ พร้อมพาเราไปเรียนรู้ว่า งานภูมิสถาปัตยกรรมที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ อยู่จุดไหน กำลังจะเดินไปในทิศทางใด

และจะออกแบบ ‘กรุงเทพฯ ที่ใช่’ ได้อย่างไร เพื่อให้เราได้ใช้ ‘ชีวิตที่ชอบ’ ในปี 2019 อย่างสดชื่นเต็มปอด

อ.อ้น ภูมิสถาปัตย์

ปี 2019 นี้ เทรนด์ภูมิสถาปัตยกรรมในบ้านเราจะเป็นอย่างไร

ภูมิสถาปัตยกรรมบ้านเราคงไม่แย่ไปกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยบทบาทของนักภูมิสถาปนิกที่เริ่มเข้าไปมีบทบาทในสังคมมากขึ้น และเข้าไปผลักดันเรื่องนโยบายต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และในส่วนของภาครัฐเอง ผมคิดว่าน่าจะดีขึ้น มันไม่น่าจะแย่ไปกว่านี้ (หัวเราะ) อย่างน้อยสำหรับส่วนของกทม. เริ่มมีนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาด้านนี้แล้ว อย่างเช่น โครงการพัฒนาอุทยานบางขุนเทียน ซึ่งจะมีความแตกต่างจากอุทยานหรือสวนสาธารณะแบบเดิมๆ โดยจะเน้นให้ความสำคัญกับสังคมและชุมชนที่อยู่ริมทะเล รวมทั้งวางแผนไปถึงการป้องกันการกัดเซาะของป่าชายเลน พัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กันด้วย แต่สิ่งที่ต้องระวังในการพัฒนาภูมิสถาปัตยกรรมคือ เรื่องการทำลายภูมิทัศน์หรือวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของคนในชุมชน การทำงานนี้ต้องเข้าใจภูมิทัศน์ วัฒนธรรม และระบบนิเวศของคนในชุมชน ไม่ใช่นำคอนเซปต์ที่มีบริบทแตกต่างกันจากต่างประเทศใส่เข้าไป เพราะอาจจะไม่ตอบรับหรือสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เป็น

“สิ่งที่ต้องระวังในการพัฒนาภูมิสถาปัตยกรรมคือ เรื่องการทำลายภูมิทัศน์หรือวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของคนในชุมชนไม่ใช่นำคอนเซปต์ที่มีบริบทแตกต่างกันจากต่างประเทศใส่เข้าไป”

ตอนนี้ความเข้าใจเรื่อง ‘ภูมิสถาปัตยกรรม’ ในเมืองไทยเป็นอย่างไร

จริงๆ บ้านเรามีการเรียนการสอนด้านนี้มานานกว่า 40 ปีแล้ว สมัยก่อนจะเน้นพูดถึงงานสเกลเล็กๆ ในพื้นที่ส่วนตัวหรือส่วนของเอกชน เช่น พื้นที่สวนในบ้านพักอาศัย คอนโดฯ รีสอร์ท หรือมหาวิทยาลัย งานแลนด์สเคปในอุทยานประวัติศาสตร์หรือสวนสาธารณะ แต่จริงๆ แล้วงานภูมิสถาปัตยกรรมมีหลายระดับ อย่างตอนนี้เริ่มมีการพัฒนาและภาครัฐเริ่มให้ความสนใจด้าน urban landscape design  หรือการออกแบบภูมิทัศน์เมืองกันมากขึ้น อย่างเช่น เรื่องการทำทางจักรยานริมน้ำเจ้าพระยา ถือเป็นการขับเคลื่อนแลนด์สเคประดับสาธารณะ ผมไปช่วยกทม. ทำยุทธศาสตร์ 20 ปี หนึ่งในหัวข้อสำคัญที่พูดถึงคือ ภูมิทัศน์สีเขียวของกรุงเทพฯ คือ ไม่ใช่แค่การจัดสวนหย่อมแล้ว แต่เป็นเรื่องของภูมิทัศน์เมือง นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงภูมิสถาปัตยกรรมระดับมหภาค หรือ Macro Landscape กันมากขึ้นด้วย รวมทั้ง Ecological Landscape เช่น การจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำ การจัดการป่าชายเลน

ภูมิสถาปัตยกรรม
(photo: http://www.afpforum.com)
ภูมิสถาปัตยกรรม
การจัดพื้นที่สีเขียวในรีสอร์ท จัดเป็นงานภูมิสถาปัตยกรรมสเกลเล็ก (photo: http://www.afpforum.com)

ทำไมช่วงนี้คำว่า ‘urban landscape’ ถูกพูดถึงบนสื่อต่างๆ บ่อยขึ้น  

เพราะว่าเมื่อก่อนคนส่วนใหญ่อยู่ในสังคมเกษตรกรรม แต่ตั้งแต่ช่วงปี 2007-2010 เป็นต้นมา ประชากรโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเออร์เบิร์นหรือเมืองกันมากขึ้น ผู้คนในภาคเกษตรกรรมย้ายเข้ามาทำงานในเมืองกันเยอะขึ้น ดังนั้นตอนนี้การจัดการเมืองถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะในเมืองของเรารถติดมาก คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมก็ไม่ดี ความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองก็ไม่ค่อยมี เพราะมีพื้นที่สีเขียวน้อย ผู้คนจึงเริ่มมองเห็นความสำคัญของการมีสภาวะแวดล้อมที่ดีในเมือง พื้นที่สีเขียวนี้ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นสวนสาธารณะให้คนเข้าไปใช้ แต่มันทำหน้าที่รับน้ำและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ อีกด้วย จริงๆ แล้วทางกทม.เห็นความสำคัญของตรงนี้นะ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เช่น งบประมาณ โครงสร้างองค์กร ทำให้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ยาก

“ตอนนี้การจัดการเมืองถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะในเมืองของเรารถติดมาก คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมก็ไม่ดี ความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองก็ไม่ค่อยมี เพราะมีพื้นที่สีเขียวน้อย”

การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศหรือภูมิศาสตร์อย่างไร

ปัญหาการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่เจอคือ ความไม่เข้าใจสภาพแวดล้อมของธรรมชาติอย่างแท้จริง  งานภูมิสถาปัตยกรรมต้องมองความสัมพันธ์ระหว่างเมืองและธรรมชาติ อย่างปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ ฝนตกนิดนึงน้ำก็ท่วม ถ้าเราเข้าใจภูมิประเทศ เช่น เข้าใจว่ากรุงเทพฯ อยู่บนพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง มีแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา เราจะสามารถดีไซน์การใช้ชีวิตอยู่กับภูมิทัศน์แบบนี้ได้ อย่างการสอนวิชา Ecological Landscape Design ถ้าเด็กเข้าใจภูมิทัศน์ เขาจะรู้ถึงปัญหาที่เขาต้องเจอในการพัฒนาพื้นที่ เฟรมเวิร์คในการสอนอันหนึ่งที่ผมใช้อยู่คือ เราต้องเข้าใจภูมิทัศน์ทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่เป็นสิ่งมีชีวิต เช่น พืช สัตว์ สิ่งไม่มีชีวิต เช่น ดิน น้ำ หรือโครงสร้างพื้นฐานทางธรณีวิทยาที่ทำให้เกิดเป็นภูมิประเทศต่างๆ และมนุษย์ พอเราสอนแบบนี้ เด็กจะเข้าใจการเชื่อมโยงและมองเห็นว่าการพัฒนาแลนด์สเคปให้ดีขึ้นต้องไปทำจุดไหนบ้าง

อ.อ้น ภูมิสถาปัตย์

งานภูมิสถาปัตยกรรมมีส่วนเข้ามาช่วยพัฒนาเมืองอย่างไรบ้าง

ปัจจุบันงานด้านแลนด์สเคปเข้ามามีบทบาทกับการพัฒนาเมืองพอสมควรและมีแนวโน้มเยอะขึ้น อย่างในภาคการศึกษา เราก็สอนนักเรียนมองในมุมของงานระดับมหภาคมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องการทำสวนในบ้านหรือรีสอร์ทอีกต่อไป ตอนนี้ภาคเอกชนหลายที่พัฒนางานด้านแลนด์สเคปควบคู่ไปกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สมัยก่อนโครงการอสังหาฯ มักจะสร้างแค่ตัวตึก ไม่ได้คิดถึงเรื่องการมีพื้นที่สีเขียว แต่ปัจจุบันทุกคอนโดฯ จะโปรโมทพื้นที่สีเขียว สังเกตได้จากภาพบนโปสเตอร์ที่โปรโมท จะเป็นพวกภาพพื้นที่ส่วนกลาง สระว่ายน้ำ เขาไม่ได้ขายตัวตึกหรืออาคารอีกต่อไปแล้ว

ภูมิสถาปัตยกรรม

แสดงว่าตอนนี้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น เพราะอสังหาริมทรัพย์เติบโตมากขึ้น

ทุกวันนี้พื้นที่สีเขียวไม่น้อยลง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การขาด connectivity หรือการมองภาพรวม แต่ละบริษัทก็พัฒนาพื้นที่สีเขียวในบล็อกของตัวเอง และหลายพื้นที่ที่เคยเดินได้ มองเข้าไปได้ ตอนนี้กลายเป็นว่าคนนอกห้ามใช้ บางที่ห้ามมองด้วยซ้ำ มันกลายเป็นพื้นที่เอ็กซ์คลูซีฟของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

สำหรับผมการสร้าง ICONSIAM บริเวณริมน้ำในฝั่งธนฯ ถือเป็นตัวอย่างที่ดี ต้องยกเครดิตให้คนออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเลย เพราะมีการทำพื้นที่ทางเดินริมน้ำ โดยมีความตั้งใจให้เป็นพื้นที่ริมน้ำสาธารณะอันใหม่ของกรุงเทพฯ ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชน ผมคิดว่าภาคเอกชนน่าจะเริ่มขายเรื่องแบบนี้กันมากขึ้น และทำให้เกิดพื้นที่แบบนี้เยอะขึ้น เพราะเขาเริ่มมองเห็นว่าการทำธุรกิจไม่ได้หวังแค่ผลกำไร แต่เป็นการสร้าง CSR ให้ชุมชนรอบๆ ถือเป็นเรื่องที่ดีครับ แต่ทำอย่างไรให้พื้นที่สีเขียวเหล่านี้ต่อกันเป็นระบบและเปิดให้คนนอกเข้าไปใช้ได้

อ.อ้น ภูมิสถาปัตย์

สิ่งผมเข้าไปเสนอเป็นนโยบายเชิงผังเมืองให้กทม.คือ ทำอย่างไรให้ภาคเอกชนอยากเข้ามาทำพื้นที่สีเขียวให้เป็นระบบที่เชื่อมต่อกันมากขึ้น เพราะด้วยด้วยข้อจำกัดเชิงงบประมาณ รูปแบบโครงสร้างของกทม. คงไม่มีความสามารถในการจัดการโครงสร้างสีเขียวเท่าภาคเอกชน ซึ่งในต่างประเทศทำกันแล้ว ประเทศที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ สิงคโปร์

“ทุกวันนี้พื้นที่สีเขียวไม่น้อยลง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การขาด connectivity หรือการมองภาพรวม แต่ละบริษัทก็พัฒนาพื้นที่สีเขียวในบล็อกของตัวเอง และหลายพื้นที่ที่เคยเดินได้ มองเข้าไปได้ ตอนนี้กลายเป็นว่าคนนอกห้ามใช้ บางที่ห้ามมองด้วยซ้ำ มันกลายเป็นพื้นที่เอ็กซ์คลูซีฟของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”

ภูมิสถาปัตยกรรม
(photo: http://www.afpforum.com)

สิงคโปร์สร้างระบบพื้นที่สีเขียวในเมืองกันอย่างไร

การสร้างพื้นที่สีเขียวถือเป็นหนึ่งในวิชั่นสำคัญในการสร้างประเทศของลี กวน ยู เขาบอกว่าจะสร้างสิงคโปร์ให้น่าอยู่ด้วยคอนเซปต์ การ์เดน ซิตี้ ตอนผมไปทำงานที่สิงคโปร์ได้เห็นการเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในระดับมหภาค ผมเคยทำงานโครงการสร้างสวนดาดฟ้าของศาลฎีกาที่สิงคโปร์ จริงๆ แล้วคนไม่ค่อยได้ออกไปใช้พื้นที่สวนดาดฟ้า แต่เราเน้นการทำเป็น rain garden คือใช้เก็บน้ำฝนสำหรับเป็นน้ำรดต้นไม้ในพื้นที่แลนด์สเคปส่วนอื่นๆ ภายในศาล เรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศเขา เพราะสิงคโปร์ไม่มีน้ำจืด นอกจากนี้ เขายังมีการทำมาสเตอร์แพลนสำหรับทั้งประเทศเลย โดยวางโครงข่ายในเมืองอย่างมีระบบและเชื่อมต่อกัน ดังนั้นจะเห็นว่าสิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียวแทรกอยู่ตลอดตั้งแต่สนามบิน แต่เราจะไม่รู้หรอกว่าพื้นที่สีเขียวส่วนไหนเป็นของเอกชนหรือรัฐบาล รัฐบาลสิงคโปร์เขาสร้างแรงจูงใจในรูปแบบต่างๆ ให้ภาคธุรกิจมาช่วยกันพัฒนาพื้นที่สีเขียว

ภูมิสถาปัตยกรรม สนามบินสิงคโปร์
(photo: http://www.afpforum.com)
ภูมิสถาปัตยกรรม สนามบินสิงคโปร์
(photo: http://www.afpforum.com)
ภูมิสถาปัตยกรรม สนามบินสิงคโปร์
(photo: http://www.afpforum.com)
ภูมิสถาปัตยกรรม สนามบินสิงคโปร์
บรรยากาศด้านในและรอบๆ ท่าอากาศยานสิงคโปร์ชางงีที่แวดล้อมด้วยพื้นที่สีเขียว สร้างความรู้สึกสดชื่นให้ผู้คนตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบสนามบิน (photo: http://www.afpforum.com)

จากประสบการณ์การทำงาน ทางฝั่งยุโรปให้ความสำคัญกับภูมิสถาปัตยกรรมอย่างไร

สิ่งที่ผมเห็นได้ชัดได้เลย คือ เขาให้ความสำคัญกับระบบนิเวศมากๆ สังคมยุโรปพัฒนาไปถึงอีกจุดหนึ่งแล้ว เขามี GDP รายได้สูงมาก เขาใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ ยกตัวอย่างโปรเจกต์ที่อังกฤษ Crystal Palace Park ซึ่งผมมีโอกาสได้ทำงานนี้ ทีมต้องมานั่งคิดว่าทั้งสวนสาธารณะมีสัดส่วนพื้นที่ที่น้ำซึมลงไปได้กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตอนผมทำ คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ ฝนตกลงมาแล้ว น้ำไม่ไหลลงท่อระบายน้ำ ซึมลงไปในพื้นได้เลย เพราะตัววัสดุที่เราเลือกใช้ ซึ่งช่วยลดระบบระบายน้ำสาธารณะ 

ภูมิสถาปัตยกรรม สนามบินสิงคโปร์ Crystal_Palace_Park
(photo: https://en.wikipedia.org)
ภูมิสถาปัตยกรรม สนามบินสิงคโปร์ Crystal_Palace_Park
บรรยากาศสีเขียวใน Crystal Palace Park สวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่ลอนดอน (photo: https://en.wikipedia.org)

และอีกเรื่องที่คนยุโรปให้ความสำคัญมากคือ เรื่องของความเท่าเทียมกัน ซึ่งมีสองมิติ คือ ทุกคนสามารถเข้าไปใช้งานพื้นที่ได้ด้วยการออกแบบ Universal Design เช่น ทางเดินที่มีความชัน คนพิการต้องขึ้นเองได้โดยไม่ต้องการความช่วยเหลือ และเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน หากเป็นงานภูมิสถาปัตยกรรมระดับสาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ เราต้องพรีเซนต์ให้ชุมชนฟังด้วย เพื่อให้คนในชุมชนได้ร่วมแสดงความเห็น ซึ่งพวกเขาอาจจะมีคำถาม เช่น จะบำรุงรักษาอย่างไร เอาเงินมาจากไหน แล้วค่อยนำประเด็นต่างๆ มาแก้ปัญหา ซึ่งภูมิสถาปนิกต้องมีอีกหนึ่งบทบาทเป็นคนกลางเชื่อมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน

ภูมิสถาปัตยกรรม Universal Desing
ตัวอย่างการออกแบบทางขึ้นโดยใช้แนวคิด Universal Design (photo: http://universaldesigntool.co.nz)

ในความเห็นของอาจารย์ ในอนาคตบ้านเราจะสามารถพัฒนาแลนด์สเคปให้เหมือนสิงคโปร์ได้ไหม

จริงๆ แล้ว เมืองไทยมีกฎหมาย incentive ที่สร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนอยากเข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่สีเขียวอยู่แล้ว แต่ธุรกิจภาคเอกชนไม่ค่อยใช้ เพราะมันไม่จูงใจพอ สิ่งตอบแทนอาจจะน้อยไป แต่สำหรับภาคเอกชนหลายที่ที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เขาลงมือทำไปแล้วโดยที่ไม่ต้องใช้ incentive ใดๆ เช่น ห้างแถวสุขุมวิทที่เริ่มเชื่อมกันเป็นระบบ และมีพื้นที่สีเขียวแทรก อันนี้ก็ถือเป็นความพยายามของภาคเอกชน แต่ยังคงต้องขับเคลื่อนกันอีก

นอกจากนี้ ความแตกต่างระหว่างสิงคโปร์หรือยุโรปและกรุงเทพฯ คือ พื้นที่ทุกตารางนิ้วในเมืองไทยมีเจ้าของทั้งหมด อาจจะเป็นรัฐบาลหรือเอกชน แต่ว่าที่สิงค์โปร เมื่อซื้อบ้านแล้ว คุณจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้แค่ 99 ปี รัฐบาลมีสิทธิจะเอาพื้นที่สาธารณะคืนได้ตลอด ในขณะที่ยุโรปจะมองว่า พื้นที่นอกบ้านทั้งหมดเป็นพื้นที่สาธารณะ

ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ให้เป็นระบบ จะมีความยากมาก ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของกทม.เลยก็ว่าได้

อ่านบทความอื่นๆ ในซีรีส์ common TOMORROW

Fact Box

  • ภูมิสถาปัตยกรรม (landscape architecture) เป็นศาสตร์ที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการออกแบบวางแผน การอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ใช้สอยภายนอกอาคาร รวมทั้งพื้นที่บางส่วนภายในหรือบนดาดฟ้าอาคารเพื่อความผาสุก สวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน คำว่าภูมิสถาปนิก’ คือคนที่ประกอบอาชีพภูมิสถาปัตยกรรม
  • Universal Design คือ แนวคิดเรื่องการออกแบบสิ่งแวดล้อม สถานที่ และสิ่งของต่างๆ เพื่อการใช้งานของคนทุกกลุ่มในสังคม รวมถึงผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสต่างๆ ที่มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิต เพื่อการใช้งานสิ่งนั้นๆ ได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องมีการออกแบบดัดแปลงพิเศษหรือเฉพาะเจาะจงเพื่อบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ
  • Crystal Palace Park เป็นสวนสาธารณะที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของลอนดอน ในอดีตเคยเป็นท่าเรือเก่าที่รกร้าง มีการเกิดอาชญกรรมและมลพิษสูง แต่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงในฐานะไซส์โปรเจกต์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคปี 2012 ให้เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่มีทั้งทะเลสาบ เขาวงกต ลานคอนเสิร์ต สวนไดโนเสาร์จำลอง ศูนย์กีฬาแห่งชาติ เรือนกระจก พิพิธภัณฑ์ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบการระบายน้ำและระบบนิเวศของน้ำที่ใช้แรงโน้มถ่วงและพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นการพลิกฟื้นพื้นที่รกร้างให้มีมูลค่ามากขึ้น
  • พื้นที่สีเขียวในท่าอากาศยานสิงคโปร์ชางงี เทอร์มินอล 3 คือ หนึ่งในโปรเจกต์ภูมิสถาปัตยกรรมสีเขียวระดับนานาชาติที่ อ.อาสาฬห์ เคยรับผิดชอบเมื่อทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ดยออกแบบสร้างสวนสีเขียวแนวตั้งบนกำแพงสีเขียวขนาดใหญ่เท่าสนามฟุตบอล 3 สนาม และมีความสูงเท่าตึก 5 ชั้น ตกแต่งด้วยพืชพรรณเขตร้อนชื้นมากกว่า 10,000 ต้น เพื่อให้ผู้โดยสารได้สัมผัสพื้นที่สีเขียวตั้งแต่ก้าวแรกที่ถึงประเทศสิงคโปร์ และไม่ลืมนึกถึงการดูแลรักษาที่ไม่ยุ่งยากด้วย
ภูมิสถาปัตยกรรม สนามบินสิงคโปร์
(photo: https://tierradesign.squarespace.com)
ภูมิสถาปัตยกรรม สนามบินสิงคโปร์
(photo: https://tierradesign.squarespace.com)
ภูมิสถาปัตยกรรม สนามบินสิงคโปร์
(photo: https://tierradesign.squarespace.com)
ภูมิสถาปัตยกรรม สนามบินสิงคโปร์
(photo: https://tierradesign.squarespace.com)


อ้างอิง:

  • สสส. เรื่องน่ารู้ Universal Design: การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล. https://bit.ly/2pkAskv