w©rld

เบื่อการเรียนแบบ ‘ท่องจำ’ ไหม?

ถ้าคำตอบคือใช่ ‘หนังสือวิเศษ’ อาจช่วยคุณได้ เพราะนี่คือหนังสือเรียนไทยเล่มแรกที่ได้รับรางวัล DEmark (Design Excellence Award) ปี 2017* จาก DEmark Award เวทีประกวดผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นด้านดีไซน์ของคนไทย

“เราตั้งใจทำสื่อการเรียนที่เข้าใจเด็กมากที่สุด”

นนท์-ฐิติวุฒิ นันทิภาคย์หิรัญ อดีตนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม และ ปันปัน-คมจรัส แก้วชัยเจริญกิจ อดีตนักศึกษาครุศาสตร์ศิลปศึกษา สร้างสรรค์หนังสือเล่มนี้ จากการเล็งเห็นปัญหาของหนังสือเรียนไทยที่มักเน้นการท่องจำ

พวกเขาจึงลงมือพัฒนาและออกแบบหนังสือเรียนใหม่ด้วยกระบวนการ Design Thinking* จนเกิดเป็น ‘หนังสือวิเศษ’ ที่เน้นสร้างความเข้าใจมากกว่าท่องจำ

และที่มากกว่านั้น คือบันเทิง ตื่นตา ได้สาระ ครบ!

Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่

1. Empathize

“ทำความเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด โดยเอาใจเขามาใส่ใจเรา”

ปันปัน: ขั้นตอนแรกสุด เราเริ่มต้นจากการทำรีเสิร์ช เราค้นหาปัญหาของหนังสือเรียนในปัจจุบันก่อน ดูเนื้อหาของหนังสือเรียนหลายๆ เล่ม พร้อมกับเข้าไปสอบถามนักเรียนด้วยว่า ทุกวันนี้เขามีวิธีการเรียนอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง ดูสื่อสมัยใหม่ที่เขาใช้ รวมทั้งพฤติกรรมและความชอบในการใช้สื่อ นอกจากนี้ ยังต้องใช้ศาสตร์การออกแบบประสบการณ์ (experience design) และกราฟิคดีไซน์ และพยายามเก็บคอมเมนต์จากคนอ่านตลอดเวลา เพื่อพัฒนาสื่อให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่
2. Define

“สังเคราะห์ข้อมูล ค้นหาและวิเคราะห์ปัญหาให้ชัดเจน”

นนท์: เราซื้อหนังสือสังคมเกือบทุกสำนักพิมพ์ ทุกสถาบัน ที่มีขายในร้านหนังสือมาอ่านดู รวมไปถึงหนังสือหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการด้วย เราศึกษาโครงสร้างหลักสูตรอย่างจริงจัง สุดท้ายแล้วเราพบว่ามีหนังสือ 5-6 เล่มที่เขียนเหมือนกัน เราจะเน้นเลือกศึกษาหนังสือที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวและหนังสือที่ขายดี โดยดูว่าข้อดีของหนังสือพวกนี้คืออะไร และปัญหาที่เราเห็นคืออะไร รวมทั้งดูถึงโครงสร้างของการวางเนื้อหาต่างๆ และออกแบบวิชวล เพื่อออกแบบเนื้อได้ให้เหมาะสมที่สุด

Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่
3. Ideate

“ระดมไอเดียสร้างแนวคิดใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่พบให้มากและหลากหลายที่สุด”

ปันปัน:  เราพยายามจัดกลุ่มเนื้อหาก่อน แต่ไม่แยกคอนเทนต์ว่าเป็นหมวดหมู่ภูมิศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ คือเราเอาคอนเทนต์คลี่ออกมาดูทั้งหมดก่อน ซึ่งใช้เวลาย่อยข้อมูลนานมาก เสร็จแล้วเราพยายามเชื่อมโยงว่ามีเนื้อหาอะไรที่สอดคล้องกันบ้าง แล้วเราควรจะเล่าเรื่องอย่างไรให้เข้าใจง่ายที่สุด ไม่ซับซ้อน โดยตั้งต้นด้วยหัวข้อหลัก แล้วค่อยๆ หยอดองค์ประกอบต่างๆ เข้าไป และพยายามโยงหาความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน จุดเด่นของเรา คือ การใช้ ‘อินโฟกราฟิก’ การเชื่อมโยงข้อมูล การแบ่งหัวข้อหลัก หัวข้อย่อย การจัดแบ่งข้อมูล โดยเราพยายามคลี่องค์ประกอบออกมาให้มากที่สุดก่อน และออกแบบวิชวล เพื่ออธิบายเนื้อหาได้อย่างเหมาะสมที่สุด

นนท์: เนื้อหาของวิชาของสังคมค่อนข้างเฉพาะทางมาก เราต้องไปหาที่ปรึกษาด้านเนื้อหาแต่ละแขนงให้ช่วยตรวจสอบความถูกต้อง เช่น หมวดประวัติศาสตร์ เราก็ไปพาผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์มาช่วยดู หมวดเศรษฐศาสตร์เรานำไปให้นักเศรษฐศาสตร์ตรวจสอบ  ส่วนกฎหมายเราใช้นักกฎหมายเลย ซึ่งเมื่อเราเข้าไปหาที่ปรึกษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชาแบบนี้จริงๆ เรากลับพบดีเทลที่ต้องนำกลับมาพัฒนาอีกเยอะ

Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่

ปันปัน: หมวดที่ยากที่สุดคือประวัติศาสตร์ ส่วนของเนื้อหามีทั้งเนื้อหาใหม่ เนื้อหาเก่า เนื้อหาที่อยู่ในหลักสูตร ลองเช็คกันก็พบว่าเนื้อหาไม่ตรงกัน แต่ละคนก็ตีความไม่เหมือนกัน และเมื่อเราไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญหรือนักประวัติศาสตร์  ก็พบว่าเนื้อหาหลายส่วนไม่ตรงกับในหนังสือ 100 เปอร์เซนต์ ไม่เคยคิดมาก่อนว่ามันจะซับซ้อนขนาดนี้ (หัวเราะ)

นนท์: ในขณะที่วิชาเศรษฐศาสตร์กลายเป็นหมวดที่ง่ายที่สุด เพราะมันเป็น fact และเป็นสิ่งที่คนใช้งานอยู่ทุกวัน มีหลักการชัดเจน

Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่

4. Prototype

สร้าง ‘แบบจำลอง’ หรือต้นแบบให้ผู้ใช้ลองทดสอบและวิจารณ์

นนท์: เมื่อได้ข้อมูลที่สมบูรณ์และผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว เรานำมาจัดลำดับและจัดหน้าให้ลงตามขนาดตามคู่หน้ากันก่อน และจึงมาวางเลย์เอ้าท์ข้อมูล แล้วออกแบบการเล่าเรื่องเนื้อหาว่า ควรใช้รูปแบบของอินโฟกราฟิกแบบใด เราดูตรรกะของเนื้อหาแต่ละเรื่องก่อน เช่น ขั้นตอนการเลือกตั้ง สามารถเล่าเป็นขั้นตอนได้ หรือการเล่าความแตกต่างของสส.และสว. ก็สามารถเล่าเปรียบเทียบกันได้ อย่างประวัติศาสตร์จะง่ายหน่อย เพราะเป็นไทม์ไลน์ เราก็สามารถเล่นกับช่วงเวลาต่างๆ ได้ ซึ่งอินโฟกราฟิกแต่ละประเภทมีหน้าที่และความโดดเด่นแตกต่างกัน

ปันปัน: ในส่วนของการเลือกไซส์หนังสือ เราเลือกขนาดหนังสือที่ไม่ใหญ่จนไปเกิน เพื่อให้เด็กๆ พกพาได้สะดวก ไม่ใช่ใส่ได้แค่ในกระเป๋าเรียน แต่ต้องใส่ในกระเป๋าได้ทุกแบบโดยที่ไม่เกะกะ

Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่

นนท์: เรื่องของตัวอักษร เราปรึกษากันในทีม โดยตกลงใช้ตัวอักษรที่มีหัว เพื่อให้อ่านง่าย

ปันปัน: ส่วนเรื่องของสี เราตั้งใจแบ่งเป็นหลายสีแตกต่างกันในแต่ละบท คือใช้โทนสีหลักให้ชัดเจนเลย เพื่อเป็นภาพจำให้เด็กๆ ตอนอยู่ในห้องสอบ เมื่อพวกเขานึกย้อนจะจำสีได้และนึกได้ว่าเป็นบทเกี่ยวกับอะไร เรื่องอะไร ถ้าสี่สีทุกหน้า ทุกบทความ หรือสีเดียว อาจจะจำตีกันไปหมด ซึ่งสีจะเป็นตัวสื่อความหมายของบทอยู่แล้ว เช่น ศาสนาใช้สีส้ม เพราะเป็นสีของพระสงฆ์ เรื่องภูมิศาสตร์ใช้สีฟ้า เพราะมีน้ำเป็นส่วนประกอบ เศรษฐศาสตร์เป็นสีเขียว เพราะคนจะนึกถึงแบงก์หรือเงิน ส่วนนี้เราทำการรีเสิร์ชมาแล้ว แต่ที่สำคัญคือ เราเลือกใช้โทนสีค่อนข้างสบายตา ไม่อยากใช้สีที่ฉูดฉาดหรือแสบตาจนเกินไป อยากให้คนอ่านรู้สึกสนุกมากกว่า ภาพประกอบจึงไม่ทางการเกินไปด้วย

Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่
5. Test

“ทดสอบ ‘แบบจำลอง’ เพื่อสังเกตการใช้งาน และนำผลตอบรับไปพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น”

นนท์: ตามรีเสิร์ชที่อ่านมา เขาบอกว่าเด็กหลายคนจะจำภาพได้มากกว่าเท็กซ์ และเด็กยุคใหม่มีแนวโน้มที่จะเป็นแบบนี้มากขึ้นนะครับ เพราะจริงๆ แล้วพื้นฐานของสมองของคนเรามากกว่า 80 เปอร์เซนต์ มีการจดจำข้อมูลเป็นภาพอยู่แล้ว ตั้งแต่เกิดมาสมองของเราก็จำหน้าพ่อแม่เป็นภาพ จำโมเมนต์ต่างๆ เป็นภาพก่อนการเรียนภาษา มีน้องคนหนึ่งเล่าให้ฟังผ่านเฟซบุ๊กว่า เขาไม่ชอบวิชาสังคมเลย แต่พอได้อ่าน ‘หนังสือวิเศษ’ ของเรา เขาสอบสังคมได้คะแนนท็อปของโรงเรียน น้องบอกว่าอ่านแล้วเห็นภาพ และสามารถเชื่อมโยงได้

Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่

ปันปัน:เมื่อเราสองคนรู้ว่า หนังสือเรียนที่พวกเราพัฒนาขึ้นมา มีส่วนช่วยพัฒนาเด็กไทยได้เป็นอย่างดี ทำให้เรายิ่งอยากทุ่มแรงกายและแรงใจทำงานตรงนี้ให้ดีที่สุด เพื่อให้น้องๆ ได้มีหนังสือเรียนที่ตรงใจเขามากที่สุด แล้วพอหนังสือวิเศษของเราได้รับคำชม ก็ยิ่งเป็นกำลังใจและแรงผลักดันให้เราอยากสร้างสรรค์ผลงานดีๆ แบบนี้ต่อไปอีก

นนท์: ที่สำคัญ คอนเซปท์หนังสือของเรา คือ จะมีการอัพเดตเนื้อหาหรือข้อมูลที่ควรอัพเดตใหม่ทุกปี.

อ่านบทความอื่นๆ ในซีรีส์ common TOMORROW

Fact Box

  • DEmark (Design Excellence Award) เป็นโครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี ซึ่งเปิดโอกาสให้นักออกแบบและผู้ประกอบการไทยได้แสดงผลงานสู่ตลาดโลก รางวัล DEmark ให้ความสำคัญกับคุณภาพการผลิต การใช้งาน และแนวความคิดของการออกแบบผลิตภัณฑ์ ถือเป็นเวทีรางวัลผลิตภัณฑ์ของคนไทยที่โดดเด่นด้านดีไซน์เวทีหนึ่ง
  • Design Thinking คือ กระบวนการคิดที่ใช้การทำความเข้าใจในปัญหาต่างๆ โดยเอาผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง พร้อมนำความคิดสร้างสรรค์ มุมมองจากคนหลากหลายสาขามาใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์กับผู้ใช้มากที่สุด ปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำระดับโลกหลายแห่ง ใช้หลัก ‘design thinking’  ในการทำงาน อาทิเช่น Google, Apple, Phillips, P&G และ Airbnb เป็นต้น
Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่ design thinking
(photo: http://dschool.stanford.edu)
  • ขั้นตอนการทำงานโดยใช้ Design Thinking
    1. Empathize เป็นการทำความเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด โดยใช้แนวคิดการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก
    2. Defineขั้นตอนการสังเคราะห์ข้อมูล หลังจากที่เราเรียนรู้และทำเข้าใจกลุ่มเป้าหมายแล้ว ต้องค้นหาและวิเคราะห์ปัญหา ให้ชัดเจน
    3. Ideate – การระดมไอเดียใหม่ๆ หรือการสร้างแนวความคิดใหม่ๆ ที่เน้นการค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่พบในขั้นตอน Define ให้มากที่สุด และหลากหลายที่สุด
    4. Prototype การสร้างแบบจำลองหรือต้นแบบขึ้นมา เพื่อให้ผู้ใช้สามารถทดสอบและวิจารณ์ เพื่อทำให้คนทำงานได้เข้าใจสิ่งที่อยากรู้มากยิ่งขึ้น เป็นขั้นตอนที่ได้ลองหาข้อผิดพลาดและเรียนรู้เกี่ยวกับไอเดีย
    5. Test – ช่วงการทดสอบแบบจำลองที่สร้างขึ้น โดยนำมาทดสอบกับผู้ใช้หรือกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อสังเกตการใช้งาน และนำผลตอบรับ ข้อเสนอแนะต่างๆ ตลอดจนคำแนะนำไปใช้ในการพัฒนา 

    อ้างอิง:

  • Punch Kittapard.ความหมาย Design Thinking และการนำไปใช้แก้ปัญหาธุรกิจ.https://bit.ly/2DsyQyn