w©rld

ในแวดวงการศึกษา หลายคนอาจมองว่า การพัฒนา ‘หนังสือเรียน’ อาจไม่สำคัญเท่าการพัฒนาคนหรือครู

ปัญหาหนังสือเรียนที่เข้าใจและเข้าถึงยาก กลายเป็นแค่คำบ่นหรือคำตัดพ้อของเด็กวัยเรียน ไม่ใช่เรื่องที่คนวัยอื่นต้องเก็บมาขบคิด

แต่ นนท์-ฐิติวุฒิ นันทิภาคย์หิรัญ อดีตนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม และ ปันปัน-คมจรัส แก้วชัยเจริญกิจ อดีตนักศึกษาครุศาสตร์ศิลปศึกษา กลับมีแนวคิดว่า ‘หนังสือเรียน’ คือส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กแต่ละประเทศมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน

แต่ละประเทศมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาก อย่างของฟินแลนด์หรืออเมริกา จะเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะพื้นฐานของคน การคิดวิเคราะห์ สร้างความมั่นใจ เพื่อให้เกิด creative thinking แต่เมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือเรียนของไทย ตอนนี้ยังเน้นเรื่องความจำ ผมคิดว่าการออกแบบหนังสือเรียนไทยยังมีปัญหาเยอะ”

นนท์และปันปันยืนยันในปัญหา และพยายามมุ่งมั่นพัฒนาหนังสือเรียนที่ใช่ โดยใช้เวลาเกือบ 2 ปี ทุ่มเทเงินทุนและชีวิตปลุกปั้นหนังสือเรียนยุคใหม่ที่ใช้ความรู้ด้าน ‘Design Thinking’* ผสมผสานเทคโนโลยีอย่าง AR องค์ความรู้ศาสตร์อีกหลายด้าน และคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคน จนเกิดเป็น ‘หนังสือวิเศษ infographic สังคมศึกษา’ ที่สร้างความเข้าใจมากกว่าท่องจำ

“ผมอยากทำสื่อเรียนรู้ที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายขึ้น คิดว่าน่าจะช่วยเด็กๆ ได้หลายคนเลย”

Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่

หนังสือเรียนที่เห็นในท้องตลาดตอนนี้เป็นแบบไหน

ปันปัน: เราเห็นว่าหนังสือเรียนตอนนี้ส่วนใหญ่ออกแบบมาคล้ายคลึงกัน มีความเฟรนด์ลี่มากขึ้นกว่าในอดีต มีการใช้ภาพประกอบมากขึ้น ใช้สีเยอะขึ้น แต่ประเด็นปัญหาที่เราเห็นหลักๆ คือ เรื่องของการจัดหัวข้อ การเรียบเรียงข้อมูล หลายเล่มยังดูไม่ชัดเจน ซึ่งอาจทำให้เด็กที่อ่านงง บางคนพยายามใช้ดีไซน์มาช่วย แต่พอใช้ดีไซน์เน้นทุกอย่าง กลายเป็นทุกส่วนมีความสำคัญไปหมดจนไม่เห็นลำดับความสำคัญ

นนท์: จริงๆ หนังสือเรียนหลายเล่มทำออกมาได้ดีแล้วครับ แต่สิ่งที่ผมเห็นได้ชัดเจน คือ เรื่องดีไซน์และการจัดเลย์เอ้าท์ โดยเฉพาะหมวดหมู่ประวัติศาสตร์ ซึ่งพอเรามาไล่เรียงลำดับดูแล้วพบว่ามีองค์ประกอบบางอย่างหรือข้อมูลบางช่วงเวลาหายไปเกือบพันปี ทำให้เด็กอาจจะไม่เข้าใจข้อมูลหรือเห็นภาพ เราพยายามเติมเต็มตรงจุดนั้น เราอยากออกแบบให้เด็กๆ เห็นถึงความสัมพันธ์ของเนื้อหาที่เรียนมากที่สุด

ทำไมเลือกทำวิชาสังคมของชั้น ม.ปลาย ก่อนวิชาอื่น

นนท์: พวกเราคิดว่าเด็กม.ปลายเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้หรืออ่านหนังสือค่อนข้างเยอะ เพราะต้องเตรียมความพร้อมไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย และเด็กส่วนใหญ่มักมองว่าวิชานี้ต้องท่องจำเยอะ เป็นวิชาที่ไม่ได้ใช้ความเข้าใจ เด็กก็ท่องจำไปเรื่อยๆ พอจำไม่ได้ก็สอบตก ผมจึงเลือกเจาะไปที่วิชาสังคมก่อน

Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่

ทำไมก่อนหน้านี้ไม่มีนักพัฒนาหนังสือเรียนในเมืองไทย

นนท์: นักออกแบบหลายคนจะเข้าไปอยู่ในธุรกิจที่รองรับนักธุรกิจอยู่แล้ว ซึ่งความเป็นจริงมีธุรกิจที่หลากหลายมากที่รองรับสายอาชีพของเรา แต่อาจมีหลายคนสงสัยว่า นักออกแบบจะมาทำอะไรให้วงการศึกษาได้ เพราะเมื่อพูดถึงด้านการศึกษา ส่วนใหญ่จะนึกถึงบุคลากรในโรงเรียนอย่างครูหรืออาจารย์มากกว่า จึงทำให้ไม่ค่อยเห็นนักออกแบบในวงการการศึกษาสักเท่าไร แต่ผมมองว่า ความเป็นจริงแล้วเราสามารถแก้ปัญหาหลายๆ อย่างในวงการนี้ได้ด้วย ‘การออกแบบที่ดี’

Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่

หมวดหมู่ไหนทำงานยากและใช้เวลานานที่สุด

ปันปัน: หมวดที่ยากที่สุดคือประวัติศาสตร์ ส่วนของเนื้อหามีทั้งเนื้อหาใหม่ เนื้อหาเก่า เนื้อหาที่อยู่ในหลักสูตร ลองเช็คกันก็พบว่าเนื้อหาไม่ตรงกัน แต่ละคนก็ตีความไม่เหมือนกัน และเมื่อเราไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญหรือนักประวัติศาสตร์  ก็พบว่าเนื้อหาหลายส่วนไม่ตรงกับในหนังสือ 100 เปอร์เซนต์ ไม่เคยคิดมาก่อนว่ามันจะซับซ้อนขนาดนี้ (หัวเราะ)

นนท์: ในขณะที่วิชาเศรษฐศาสตร์กลายเป็นง่ายที่สุด เพราะมันเป็น fact และเป็นสิ่งที่คนใช้งานอยู่ทุกวัน มีหลักการชัดเจน

Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่

แล้วแก้ปัญหานี้อย่างไร

นนท์: ตอนที่เราพัฒนาหนังสือเล่มนี้ เราขยายความ ให้ข้อมูลและแง่มุมอื่นๆ เพิ่มเติมไปด้วย เพิ่มเนื้อหาเท่าที่จะเพิ่มได้ ซึ่งต้องเป็นเนื้อหาที่ไม่ขัดแย้งกันด้วย และที่สำคัญ คอนเซปท์หนังสือของเราคือการอัพเดตเนื้อหาหรือข้อมูลที่ควรอัพเดตใหม่ทุกปี

ทำไมเลือกใช้เทคโนโลยีใส่ในหนังสือเล่มนี้

นนท์: ก่อนเลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามาใส่ เราคิดว่าสื่อสมัยใหม่ของเด็กควรจะเป็นอย่างไร และเราพยายามนำเสนอสื่อใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจและเป็นประโยชน์กับเด็กมากที่สุด เรานำ AR มาใช้ในส่วนช่วงบทแรกที่เป็นเนื้อหาเรื่องภูมิศาสตร์ ซึ่งการอธิบายเป็นภาพสามมิติ ทำให้คนอ่านเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น

ปันปัน: มีหลายคนถามเหมือนกันว่าทำไมไม่ทำเป็นอีบุ๊กไปเลย แต่พอเราไปศึกษาพฤติกรรมการเข้าถึงสื่อของเด็กรุ่นใหม่พบว่า ถึงแม้ว่าเด็กทุกคนมีสมาร์ทโฟน แต่ในส่วนของการอ่านหนังสือเรียน เขาก็ยังอ่านหนังสือที่เป็นเล่มจริงกันอยู่ ถึงแม้ว่าปัจจุบันคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้มาก แต่เด็กหลายคนก็ยังเข้าไม่ถึงอีบุ๊กขนาดนั้น เราจึงเลือกที่จะค่อยๆ ใส่เทคโนโลยีลงไป เพราะเราไม่อยากฝืนเปลี่ยนพฤติกรรมเดิมของเขาทั้งหมด เราอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนของเด็กแบบทีละนิด เพื่อให้เขาเห็นคุณค่าของหนังสือมากขึ้น จนสุดท้ายแล้วเขาอาจจะเข้าใจการเรียนแบบดิจิทัลแบบสมบูรณ์แบบในอนาคต

Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่
เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ถูกนำมาใช้เป็นสื่อหนึ่งที่ช่วยให้เด็กๆ เห็นภาพของเนื้อหาและทำให้หนังสือเรียนน่าสนใจมากขึ้น

ความยากและความท้าทายของการทำหนังสือเรียนเล่มนี้

นนท์: ผมคิดว่าเป็นวิธีการเล่าเรื่องให้ตรงใจเด็ก ทำให้เด็กเข้าใจเนื้อหามากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความถูกต้องของข้อมูลที่บางส่วนก็มีความยาก เช่น เรื่องของศาสนาอิสลาม ซึ่งเราอาจจะมีความเข้าใจไม่ถูกต้องทั้งหมด เราจึงไปปรึกษากับทางสำนักจุฬาราชมนตรี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด ซึ่งเป็นรายละเอียดที่เราใส่ใจมาก

ปันปัน: พอเราเข้าไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก็พึ่งได้รู้ว่า หนังสือเรียนที่เรียบเรียงโดยรัฐบาลเองก็มีส่วนที่เขียนถึงเรื่องที่ไม่ควรกล่าวถึง นิยามบางอย่างก็ไม่ตรงตามบริบทที่เป็น เช่น ในศาสนาอิสลาม เขาไม่ใช้คำว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ศาสนาเขาไม่มีอะไรศักดิ์สิทธิ์ เขาใช้คำว่า “ประเสริฐ” เรื่องพวกนี้ละเอียดอ่อนมาก

หนังสือเรียนในอนาคตสำหรับเด็กยุคใหม่มีแนวโน้มเป็นอย่างไร

ปันปัน: ปัจจุบันสื่อพัฒนาค่อนข้างเร็ว คนทำงานด้านการศึกษาในบ้านเราก็มีการตื่นตัว มีการแข่งขันพัฒนาสื่อการเรียนให้ดีขึ้น เราอาจจะได้เห็นหนังสือหน้าตาใหม่ๆ มากขึ้น อย่างหนังสือของเราก็จะเริ่มพัฒนาอีกหลายวิชา และจะลองใช้สื่อแขนงใหม่ๆ ในแพลตฟอร์มใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของคนรุ่นใหม่

นนท์: จริงๆ เราดูหนังสือเรียนของต่างประเทศอยู่ตลอด แล้วพบว่าแต่ละประเทศมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาก อย่างของฟินแลนด์หรืออเมริกา จะเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะพื้นฐานของคน และการคิดวิเคราะห์ มีความมั่นใจ เกิด creative thinking ได้ง่าย อย่างพวกหนังสือต่างประเทศที่เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาหรือเสริมความรู้ เทรนด์การใช้อินโฟกราฟิกสูงขึ้นและหวือหวาขึ้นมาก อย่างที่เราเห็นใน National Geographic หรือหนังสือ DK Eyewitness Travel Guide  ซึ่งพยายามย่อยข้อมูลให้อ่านง่ายขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือเรียนของไทย ตอนนี้ยังเน้นเรื่องการความจำ

Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่ DK Travel Book
หนังสือท่องเที่ยวชื่อดัง DK Eyewitness Travel Guide ที่โดดเด่นด้านการเล่ารายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยวด้วยอินโฟกราฟิก (phot: https://uppercasebooks.co.za)
Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่ DK Travel Book
(photo: https://www.amazon.com)
Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่
หนังสือ Almanac 2019 รวบรวมเรื่องน่ารู้ทั่วทุกมุมโลก โดย National Geographic
Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่
เนื้อหาด้านในหนังสือ Almanac 2019 ที่เล่าวิวัฒนาการของสกีตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน

ได้อะไรจากการสร้างสรรค์หนังสือสังคมแบบใหม่เล่มนี้

ปันปัน: เราได้ความรู้เพิ่มเติม ได้เปลี่ยนมุมมองของตัวเองที่มีต่อวิชานี้ มองเนื้อหาการเรียนประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปจากเดิม และเชื่อมโยงช่วงเวลาต่างๆ ในอดีตได้แบบเห็นภาพมากขึ้น ทำให้มีความเข้าใจมากขึ้น อินกับเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น สามารถเล่าเป็นฉากๆ ได้เลยเพราะเราเห็นภาพมากขึ้น เห็นความสวยงามและประโยชน์ของการเรียนประวัติศาสตร์ เช่น ได้รู้เรื่องประวัติศาสตร์การผลิตแบงก์ของจีนที่มีผลกระทบต่อการเมือง

Wizes หนังสือสังคม หนังสือเรียนยุคใหม่

อ่านบทความอื่นๆ ในซีรีส์ common TOMORROW

Fact Box

  • Design Thinking คือ กระบวนการคิดที่ใช้การทำความเข้าใจในปัญหาต่างๆ โดยเอาผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง พร้อมนำความคิดสร้างสรรค์ มุมมองจากคนหลากหลายสาขามาใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์กับผู้ใช้มากที่สุด ปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำระดับโลกหลายแห่ง ใช้หลัก ‘design thinking’  ในการทำงาน อาทิเช่น Google, Apple, Phillips, P&G และ Airbnb เป็นต้น
  • สำหรับคนที่สนใจ ‘หนังสือวิเศษ infographic สังคมศึกษา’ สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.facebook.com/wizes.official

อ้างอิง