หลายคนอาจไม่รู้ว่า ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2534 และกำลังจะปิดปรับปรุงในปีนี้ (พ.ศ.2562) มีผลงานศิลปะมากกว่า 1,500 ชิ้น ที่มาจากฝีมือของศิลปินและช่างฝีมือกว่า 100 คน
งานทุกชิ้นล้วนเป็นงานที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อสื่อถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และให้สอดรับกับแนวคิด ‘ไทยไฮเทค’ ที่ใช้ในการออกแบบตัวอาคาร ซึ่งใช้ระบบและเทคโนโลยีอันทันสมัยใน พ.ศ. นั้น
ถึงแม้เมื่อแรกสร้างจะตั้งใจให้สถานที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่จัด งานประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ครั้งที่ 46 (46th Annual Meeting of the Boards of Governors of the World Bank Group and the International Monetary Fund) รวมถึงงานกิจกรรมทั้งน้อยใหญ่ในเวลาต่อมา ไปพร้อมกับให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมไทย
แต่เมื่อเวลาผ่านไป งานกิจกรรมที่จัดขึ้นกลับโดดเด่นและเป็นที่พูดถึงมากกว่าตัวงานศิลปะ จนวันหนึ่งที่ไม่รู้ว่าตอนไหน งานศิลปะเหล่านั้น แม้ยังคงยืนเด่น แต่กลับไร้ตัวตน
ไม่มีใครเอ่ยถึง ไม่มีใครเอ่ยถาม ไม่มีใครสะดุดตา อย่างมากก็แค่มองผ่าน และมีจำนวนน้อยชิ้นที่จะตกค้างอยู่ในหน่วยความทรงจำ
เรื่องทั้งหมดคงจะเป็นเช่นนั้น ถ้าวันหนึ่งไม่มีข่าวศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะปิดปรับปรุงในเดือนเมษายนที่ใกล้จะมาถึง
common ได้รู้ข่าวว่าจะมีการขนย้ายงานศิลปะทั้งหมดออกจากตัวอาคาร โดยในจำนวนนั้นมี 8 ชิ้นที่เป็นงานของศิลปินชั้นครู
บางชิ้นเป็นที่คุ้นตา และบางชิ้นยอมรับตามตรงว่า
“ไม่เคยเห็นมาก่อน”
แต่ทุกชิ้น เมื่อได้จ้องมองอย่างพิจารณา เรากลับพบว่าทั้งเบื้องหน้าที่ปรากฏและเบื้องหลังแนวคิดที่หลบซ่อนล้วนงดงามน่าประทับใจ
ขณะเดียวกันก็อดรู้สึกเสียดายไม่ได้ ที่คนทั่วไปจะได้เห็นงานศิลปะชั้นครู 8 ชิ้นนี้ตั้งอยู่ในที่ที่เคยอยู่ ถึงแค่สิ้นเดือนเมษายน
1. เสาช้าง-ลูกโลก
ศิลปิน: ธานี กลิ่นขจร
ลักษณะผลงาน: ประติมากรรมลอยตัวติดตั้งบนเสารูปช้างสี่เศียร รองรับโครงลูกโลกโปร่ง
ที่ตั้ง: โถงกลางต้อนรับ
—
“เป็นหนึ่งในผลงานประติมากรรมที่ภูมิใจมาก และมักจะแวะเวียนไปเยี่ยมชมเสมอ เมื่อไปร่วมงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์”
ธานี กลิ่นขจร พูดถึงผลงาน เสาช้าง-ลูกโลก ที่ตั้งอยู่กลางโถงต้อนรับ หนึ่งในผลงานประติมากรรมที่สะท้อนความเป็นไทยในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นโจทย์การสร้างงานของศูนย์ประชุมฯ ที่มีกำหนดจะเปิดในปี 1991
ประติมากรรมที่มีลักษณะลอยตัว ประกอบด้วยช้างสี่เศียร รองรับโครงลูกโลกโปร่งสีทอง บนเสาโครงเหล็กปิดผิวด้วยแผ่นทองเหลืองรมดำ แม้จะให้ภาพที่เข้าใจยาก แต่ทุกอย่างล้วนมีความหมายซ่อนอยู่ ที่สื่อถึงความเป็นไทยในสากล
เริ่มจากช้างเท่ากับไทย เศียรทั้งสี่หมายถึงสี่ทิศ ส่วนลูกโลกด้านบน คือตัวแทนของนานาอารยประเทศ และแสดงถึงจุดกำเนิดของศูนย์ประชุมฯ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นที่จัดงานประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกฯ ในเวลานั้น
“ทุกมุมที่เราเห็นจะต้องสร้างความรู้สึกถึงปริมาตร” คำพูดของ ธานี กลิ่นขจร ชวนให้อยากมอง เสาช้าง-ลูกโลก อย่างรอบด้าน
พร้อมกับหวนคิดถึงอดีตของไทยที่เคยมาไกลจนได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม World Bank เมื่อพ.ศ.2534
2. โลกุตระ
ศิลปิน: ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ
ลักษณะผลงาน: ประติมากรรมกลางแจ้งที่สามารถมองเห็นเป็นรูปเปลวรัศมี กลีบดอกบัว หรือคล้ายพนมมือ เพื่อสื่อถึงความเจริญรุ่งเรือง
ที่ตั้ง: หน้าทางเข้าโถงต้อนรับด้านทิศตะวันออก
—
หลังจาก ชลูด นิ่มเสมอ สร้างโลกุตระเสร็จสิ้น
งานชิ้นนี้ที่ได้แรงบันดาลใจจากเปลวรัศมีบนเศียรของพระพุทธรูปยุคสุโขทัย ที่สื่อถึงพระปัญญาที่หลุดพ้นจากโลกียะสู่โลกุตระ ซึ่งตั้งโดดเด่นที่หน้าทางเข้าศูนย์ฯ สิริกิติ์ ติดริมถนนใหญ่ ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทันที
“ทำลายสิ่งที่เคารพของชาวพุทธ” คือข้อวิจารณ์ที่ปรากฏในเวลานั้น โดยคนวิจารณ์ให้เหตุผลว่า ดูเหมือนเศียรพระพุทธรูปจมอยู่ใต้ดิน
อาจารย์ชลูดบอกว่านั่นคือการมองในมุมมองของเทวดา คือมองจากข้างบนลงมา แต่แนวคิดของผู้สร้างมองในอีกมุม คือมองแบบโลกียชนที่เงยหน้ามองของสูง เป็นการมองจากเบื้องต่ำขึ้นไป จากโลกมนุษย์ไปสู่การบรรลุธรรมในแดนพระนิพพาน
โดยใช้หินแกรนิตสีดำเป็นฐานเพื่อสื่อถึงโลกียะ และเปลวสีทองสุกสว่างสื่อถึงการหลุดพ้นหรือโลกุตระนั่นเอง
และเมื่อมองที่ตัวงานอย่างพิจารณา จะพบรายละเอียดที่ลึกซึ้งน่าสนใจ
เปลวรัศมีที่ดูเผินๆ เหมือนไม่มีอะไร สังเกตดีๆ จะมีลักษณะคล้ายดอกบัวที่พ้นน้ำ และกำลังทะยานสู่เบื้องสูง
กลีบเปลว 8 กลีบนั้นก็สื่อถึงมรรค 8 หรือหนทางสู่การพ้นทุกข์ 8 ประการ ส่วนที่แทงขึ้นจากหินแกรนิตสีดำ เพื่อสื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่เว้นแม้แต่พระพุทธเจ้าล้วนต้องอยู่ในโลกมาก่อน แต่เมื่อปฏิบัติตนตามมรรค 8 แล้วย่อมล่วงพ้นสู่โลกุตระได้ในวันหนึ่ง
ผลงานโลกุตระที่ดูเรียบง่ายแต่มีนัยยะลึกซึ้งนี้ ไม่ใช่ผุดขึ้นมาทันทีทันใด แต่ผ่านการครุ่นคิดอย่างจริงจังและคลี่คลายมาถึง 6 แบบ
1. เริ่มแรกจากการเป็น ‘โลก’ แผ่นกลม มีความโค้งนูนด้านหน้าและด้านหลัง ตรงกึ่งกลางแนวดิ่งเป็นร่องห่าง ยึดติดด้วยสลักสี่เหลี่ยมเป็นระยะถี่ เพื่อสื่อความหมายถึง 2 ซีกโลก คือตะวันตกและตะวันออกที่เชื่อมต่อสัมพันธ์กันแน่นแฟ้น
2. ‘โลก’ ในรูปแบบและความหมายเดียวกับแบบก่อน แต่ต่างกันที่รอยแยกที่แคบกว่า
3. จากโลกก็พัฒนาแบบเป็น ‘ดวงอาทิตย์’ เพื่อขยายไปสู่สุริยจักรวาล โดยเจาะรูกลมตรงกลาง รอบๆ มีเปลวรัศมีกระจายออกในลักษณะหมุนวน และตั้งใจว่าจะปิดทองอร่ามทั้งหมด
4. จินตนาการของผู้สร้างได้เดินทางไปไกลถึง ‘จักรวาล’ โดยเปลี่ยนลายภายในเป็นวิมานและปราสาทของเทพชั้นต่างๆ ที่กำลังล่องลอยอย่างไร้ศูนย์ถ่วง จากที่ตั้งใจจะปิดทอง ก็หวังจะลงสีต่างๆ และติดกระจกสีตามเทคนิคช่างไทยโบราณ
5. ความคิดถอยกลับมาสู่ ‘กาแล็คซี’ วงกลมเจาะรูเปลี่ยนเป็นรูปลีลาที่เร้าใจ ด้วยลายกนกที่หมุนตัวเป็นก้นหอย สะบัดปลายออก มองดูคล้ายดอกบัว
6. หลังจากวนอยู่ในโลกและจักรวาล ความคิดก็ขยายตัวต่อไปสู่การเหนือโลก อาจารย์ชลูดแน่ใจว่าการเดินทางของความคิดหรือการขยายตัวของจินตนาการได้จบลงแล้วในรูปนี้ ที่ความงาม ความเป็นไทย และความดีอันสูงสุดได้มาประชุมในที่เดียวกัน
“ศิลปะเริ่มต้นด้วยความงาม จบลงที่ความดี” อาจารย์ชลูดมักจะพูดประโยคนี้เสมอ
3. พระราชพิธีอินทราภิเษก
ศิลปิน: จรูญ มาถนอม
ลักษณะผลงาน: ประติมากรรมประดับผนังด้วยไม้จำหลักนูนต่ำนูนสูงและกึ่งลอยตัว เป็นประวัติการณ์ของพระอินทร์ประกอบฉากจักรวาลตามประเพณีไทย
ที่ตั้ง: โถงทางเดินหลัก
—
งานศิลปะชิ้นนี้น่าจะสะดุดตาคนที่มาเยือนศูนย์ฯ สิริกิติ์มากที่สุด ด้วยสองเหตุผล ได้แก่
ขนาดที่ใหญ่โต และจุดที่ตั้งอยู่บริเวณโถงทางเดินไปเพลนนารี ฮอลล์
แต่ถ้าถามถึงความหมาย คงมีน้อยคนที่รู้ว่า งานไม้จำหลักที่งดงามที่สร้างจากไม้ประดู่ 56 แผ่น เพลาะต่อกันจนมีขนาดกว้าง 22.80 เมตร สูง 6.35 เมตร กำลังเล่าถึงพระราชพิธีอินทราภิเษก
พระราชพิธีอินทราภิเษกคืออะไร?
ตามโบราณราชประเพณี ลักษณะ “ราชาภิเษก” หรือพระราชพิธีขึ้นครองราชสมบัติของพระมหากษัตริย์มี 5 ประการเรียกว่า “ปัญจราชาภิเษก”
โดยมีพระราชพิธีอินทราภิเษกเป็นหนึ่งในนั้น ที่สื่อนัยยะว่า พระอินทร์นำเครื่องปัญจกกุธภัณฑ์ทั้งห้า (ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฏ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร พัดวาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน) มาถวาย พร้อมด้วยพระพิชัยราชรถ และฉัตรทิพยโอภาส ประหนึ่งว่าพระอินทร์ทรงสถาปนาให้เป็นพระมหากษัตริย์
แนวคิดที่ว่านี้รับมาจากอินเดียโบราณ ส่วนพระอินทร์ตามคติความเชื่อคือเจ้าจักรวาลที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม คัมภีร์ฤคเวทในยุคเริ่มแรกก็กล่าวถึงพระอินทร์ว่าเป็นประมุขแห่งทวยเทพ เป็นเจ้าแห่งสงคราม ที่มีอุปนิสัยชอบช่วยเหลือสรรพสัตว์ จนกลายเป็นต้นแบบแห่งกษัตริย์ทั้งมนุษย์และเทวดาในเวลาต่อมา
งานจำหลักไม้ที่แสดงถึงพระราชพิธีอินทราภิเษก จึงสื่อความหมายของอำนาจในวัฒนธรรมไทยว่ามิใช่พละกำลัง แต่เกิดจากคุณธรรมที่สร้างอำนาจและบารมีให้ผู้ปกครอง
“เราอยากจะทำงานจำหลักไม้ชิ้นใหญ่ๆ สักชิ้นเพื่อบันทึกเรื่องราวของพระราชพิธีอินทราภิเษกและเป็นการเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9” จรูญ มาถนอม พูดถึงแรงบันดาลใจของผลงานขนาดใหญ่ที่ตั้งเด่นอยู่ในศูนย์การประชุมฯ
4. ศาลาไทย
ศิลปิน: รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี
ลักษณะผลงาน: ศาลาโถงเครื่องไม้ชนิดหน้าบันชั้นประเจิด ขนาด 5 ห้อง เครื่องบนรวยระกา ช่อฟ้ามอญ หน้าบันลายดอกพุดตาน
ที่ตั้ง: สวนหย่อมทิศเหนือระหว่างลานจอดรถและห้องอาหาร
—
“เป็นสถาปัตยกรรมประเภทศาลาไทยที่อนุชนรุ่นหลังจะได้มีไว้ศึกษาต่อไป…”
รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี เล่าว่า งานศาลาไทยสร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีภาคกลางตามธรรมเนียมช่างหลวง แต่ด้วยข้อจำกัดของที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับตัวอาคารศูนย์การประชุมฯ ที่มีขนาดใหญ่ จึงได้มีการปรับสัดส่วนและรูปแบบให้โดดเด่น
“ผมจึงได้กำหนดทรงหลังคาเป็นแบบมุขชะโงก (ลักษณะอาคารที่ออกแบบมุขให้มีลักษณะที่ดูเสมือนลอยออกจากผืนหลังคาปีกนก ที่คลุมอาคารทั้งด้านหน้าและหลัง) คือมีหลังคาเอกเป็นหลัก ไม่ทำการซอยชั้นหลังคามากจนเกินไป…”
สิ่งที่น่าสนใจในการก่อสร้างคือการใช้วัสดุทั้งหมดที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย เช่น ฐานหินอ่อน แกรนิตปูพื้น โครงสร้างอาคารไม้มะค่า รวมถึงลวดลายประดับตบแต่งเป็นไม้สักทองคุณภาพดี
ขณะที่วิธีการก่อสร้างก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
โครงสร้างศาลา ใช้วิธีการสลักเดือยตามแบบช่างครูไทยเดิม เมื่อเข้าที่แล้วจึงถอดออก นำไปประกอบใหม่ได้
ฐานอาคารเป็นแบบฐานสิงห์ โดยมอบให้ช่างจำหลักหินอ่อน สลักบัว กาบสิงห์ บัวหลังสิงห์ บัวคว่ำ บัวหงาย และพนักพลสิงห์บันได
ส่วนสีหลังคา คนที่พบเห็นอาจแปลกใจว่า ทำไมสีออกเทาๆ?
รศ.ดร.ภิญโญ ผู้สร้างให้ข้อมูลไว้เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ว่า นี่คือสีเทาฟ้า ซึ่งเป็นลักษณะสีหลังคาของไทยเดิม ที่เป็นสีดีบุก เหมือนเมื่อครั้งสร้างพระบรมมหาราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
ภายในล้วนตกแต่งด้วยไม้แกะสลัก ทุกชิ้นล้วนลงรักปิดทอง โดยนำลายดอกพุดตานมาใช้ในการออกแบบทุกส่วนขององค์ประกอบ เพดานไม้แกะสลักลงรักปิดทองบนพื้นสีแดงชาด แลดูงามขลังและอร่ามในเวลาเดียวกัน
น่าแปลกที่ผ่านมา คนที่เคยแวะเดินศูนย์ฯ สิริกิติ์มาหลายครั้ง มีน้อยคนที่จะสังเกตเห็น และมีน้อยกว่านั้นที่จะเดินไปชมศาลาไทยแห่งนี้ในระยะใกล้
เพราะความงามที่เห็น บางทีจะซาบซึ้งได้ อาจต้องใกล้พอ
“การทำงานออกแบบศาลาไทยของผมเกิดจากความตั้งใจและภาคภูมิใจอย่างเต็มเปี่ยม และจากการที่ช่างฝีมือทุกฝ่ายได้ให้ความร่วมมือในการทำงานเป็นอย่างดี…”
รศ.ดร.ภิญโญ หวังว่าผลงานที่สร้างอย่างตั้งใจนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษารูปแบบของศาลาไทยในอนาคต
5. หนังใหญ่เรื่องรามเกียรติ์
ศิลปิน: ประพันธ์ สุวรรณ
ลักษณะผลงาน: ฉากเล่าเรื่องการศึกครั้งสุดท้ายในเรื่องรามเกียรติ์ จำลองแบบจากศิลปการฉลักหนังตะลุงของภาคใต้
ที่ตั้ง: โซนพลาซ่า
—
“เราอยากให้งานชิ้นนี้ออกมาไม่เหมือนใครในโลก”
คือความตั้งใจของ ประพันธ์ สุวรรณ ในการสร้างงานศิลปะโดยใช้เทคนิคการทำหนังตะลุงที่ตัวเองถนัด ด้วยเลือกใช้แผ่นอัลลอยขนาดใหญ่แทนผืนหนัง
แน่นอนว่าเป็นโจทย์ที่หิน แต่ประพันธ์มองว่า “ท้าทายความสามารถ”
จากจุดนั้น ประพันธ์ก็ค่อยๆ สร้างงานทีละขั้น ตั้งแต่ร่างภาพ ซึ่งเป็นฉากการศึกครั้งสุดท้ายระหว่างพระรามและทศกัณฐ์ โดยวาดจากต้นเค้าตำนานวรรณคดี ผสมกับจินตนาการ
การทำในแต่ละขั้นตอนค่อนข้างละเอียด แต่ขั้นตอนที่ยากที่สุด ประพันธ์บอกว่า คือเป็นการเจาะลาย เพราะแผ่นอัลลอยนั้นแข็งกว่าหนัง “ต้องใช้สว่านในการเจาะ โอกาสที่จะพลาดมีเยอะกว่าการตอกมือ จึงต้องมีการจุดนำไว้ก่อน”
ส่วนการลงสี ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเป็นการทาสีเลียนแบบหนังตะลุง โดยขั้นตอนนี้ประพันธ์ได้เด็กนักเรียนจากวิทยาลัยเพาะช่างมาช่วย จนสำเร็จออกมาเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ที่มีความยาว 11.4 เมตร สูง 4.44 เมตร และที่สำคัญเป็นงานที่แปลกไม่เหมือนใคร
เพราะดูเผินๆ เหมือนทำด้วยหนัง แต่เมื่อมองใกล้ๆ กลับทำด้วยโลหะ
“รู้สึกภูมิใจมากที่เราได้สร้างประวัติศาสตร์ตามที่ตั้งใจไว้สำเร็จ”
แต่ประพันธ์บอกว่าสิ่งที่ทำให้รู้สึกภูมิใจยิ่งกว่า คือในวันเปิดศูนย์การประชุมฯ วันนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จมาเปิดงาน แต่ด้วยความที่มีศิลปินหลายคน ประพันธ์เลยไม่ได้เข้ารับเสด็จ แต่อาศัยดูจากจอใหญ่ที่ถ่ายทอดบรรยากาศด้านใน
เมื่อสมเด็จพระราชินีเห็นผลงานของเขา แล้วตรัสถามว่า ‘ประพันธ์นี่ใคร?’
“นาทีนั้นรู้สึกภูมิใจมาก” ประพันธ์ระลึกความหลัง
6. พระบรมฉายาทิสลักษณ์
ศิลปิน: สนิท ดิษฐพันธุ์
ลักษณะผลงาน: จิตรกรรมแขวน 2 ชิ้น พร้อมกรอบ รูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในเครื่องทรงราชภูษิตาภรณ์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ฉลองพระองค์ชุดไทยจักรี
ที่ตั้ง: ผนังเหนือทางเข้าสู่ห้องประชุมใหญ่ ด้านทิศตะวันออก
—
หลายคนคงไม่รู้ว่า พระบรมฉายาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้รับการอัญเชิญให้ประดิษฐาน ณ ตำแหน่งที่ไม่มีตำแหน่งใดเปรียบเทียบได้
นั่นคือผนังทิศตะวันออก เหนือทางเดินเข้าห้องประชุมใหญ่ (เพลนนารี ฮอลล์) อันเป็นจุดที่เส้นทางภายในทั้งหมดมาบรรจบกัน
“คุณนิพัทธ (พุกกะณะสุต) บอกกับผมว่า เคยเห็นผลงานพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ทั้งสองพระองค์ของผมที่ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม” สนิท ดิษฐพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ ฟื้นความหลังถึงที่มาของผลงานในศูนย์ฯ สิริกิติ์
สำหรับ สนิท ดิษฐพันธุ์ แม้จะมีฝีมือเชี่ยวชาญด้านการวาดภาพจิตรกรรม และเป็นถึงศิลปินแห่งชาติ แต่การวาดพระบรมฉายาทิสลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ครั้งนี้ไม่ง่ายเลย
“กว่าภาพจะเสร็จสมบูรณ์ได้ ก็ทำให้ผมต้องนึกในใจว่า “เกือบไปแล้วไหมล่ะ” หลายครั้งหลายหนด้วยกัน”
เนื่องจากการวาดครั้งนี้ สนิท ดิษฐพันธุ์ ต้องใช้เวลาวาดมากกว่าการทำงานปกติเกือบเท่าตัว จากที่ทำงานอย่างมากวันละ 5 ชั่วโมง เพิ่มเป็นวันละ 9 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
ต่อมาเมื่อการวาดภาพคืบหน้า ก็ตรวจสอบพบความคลาดเคลื่อนของรายละเอียดต่างๆ ในภาพ ตั้งแต่พระแท่นภัทรบิฐที่กว้างกว่าของจริง พระแสงขรรค์ชัยศรีที่เขียนสั้นไป รวมถึงเครื่องราชูปโภค และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่ต้องถูกต้องตามความเป็นจริง
“คุณเศวต ธนะประดิษฐ์ ที่ปรึกษาจากสำนักพระราชวังได้ให้ความถูกต้องหลายอย่าง ผมก็ได้แก้ไขไปตามที่ท่านได้กรุณาแนะนำมา ผมเลยได้คิดว่าในหลวงถ้าทรงเครื่องใหญ่นั้นเป็นสิ่งที่ต้องการความประณีตและต้องพิถีพิถันมากพอดู มิฉะนั้นจะต้องถูกท่านผู้รู้ตำหนิเอาได้ในภายหลัง”
หลังจากปรับแก้รายละเอียดในจุดต่างๆ อยู่หลายครั้ง ในที่สุดพระบรมฉายาทิสลักษณ์ก็สมบูรณ์
“ถ้าไม่มีจิตใจในหน้าที่อย่างมั่นคงแล้วทุกอย่างพังหมด เพราะมันต้องใช้จิต และอารมณ์ที่ใสสะอาดจริงๆ”
อาจพูดได้ว่า นี่คือหนึ่งในผลงานของ สนิท ดิษฐพันธุ์ ที่เขาทุ่มหัวใจวาดอย่างสุดฝีมือ
7. เรือกอและ
ศิลปิน: กวี ศิริธรรม
ลักษณะผลงาน: เรือประมงขนาดเล็ก สำหรับใช้งานในลำคลองและชายฝั่งทะเล ตัวเรือ ตกแต่งด้วยลวดลายเขียนสีพร้อมอุปกรณ์เดินเรือ
ที่ตั้ง: โซนพลาซ่า
—
“ผมตัดสินใจเลือกทางที่ 2 เพราะผมเห็นว่าการทำงานแข่งกับเวลาโดยได้ผลงานที่ดีกว่ามันท้าทายดี”
เมื่อครั้งยังมีชีวิต กวี ศิริธรรม ปฏิเสธการให้ยืมเรือกอและจำลองจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีที่เขาสังกัด แต่ตกลงรับจัดสร้างเรือกอและลำใหม่
เพราะเล็งเห็นว่าสถานที่จัดประชุมระดับประเทศแห่งนี้ ควรได้ผลงานชั้นเลิศไว้ประดับ
เรือกอและคืออะไร?
กวี ศิริธรรม เล่าเป็นเกร็ดความรู้ว่า “กอและ” เป็นคำภาษามลายูของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ชาวมุสลิมใช้กัน หมายถึงโคลงเคลง พลิกไปพลิกมา
ในอดีต ชาวไทยมุสลิมที่อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย จะนิยมใช้เรือกอและออกหาปลาในท้องทะเลแถบชายฝั่ง เพราะเรือกอและแล่นออกทะเลได้ที่ความลึกแค่ 10 วา (ราว 20 เมตร) เท่านั้น และนิยมนำมาแข่งพายเรือ เพื่อชิงความเป็นหนึ่งในด้านความเร็ว
ต่อมาเมื่อมีเรือจับปลาที่ทันสมัยกว่า ก็ทำให้เรือกอและลดจำนวนลง
ความโดดเด่นของเรือกอและ คือลวดลายต่างๆ ที่เขียนข้างลำเรือ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างลายไทยภาคกลางกับลายพื้นถิ่น โดยศิลปินหรือช่างเขียนจะวาดไปตามความคิดโดยไม่มีแบบร่าง แต่จะใช้ความชำนาญเป็นผู้นำทาง
“ก่อนจะลงมือเขียน จะกำหนดขนาดเรือว่าควรจะใช้ลายแบบใด แต่ละเส้นควรจะกว้างยาวเท่าไร เมื่อกำหนดเสร็จก็จะลงมือทาสีรองพื้น แล้วเขียนลายทันที”
เส้นสายและลายสีบนเรือกอและจึงเกิดขึ้นอย่างพริ้วไหวและรวดเร็ว
ปัจจุบันเรือกอและที่จัดแสดงอยู่ในศูนย์ฯ สิริกิติ์ เป็นเรือกอและจริงขนาด 5.50 เมตรที่หาดูได้ยากขึ้นทุกวัน เพราะเรือกอและได้เคลื่อนออกจากวิถีชีวิตของคนหาปลา เข้าสู่น่านน้ำสินค้าเชิงวัฒนธรรมและของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่เห็นฝั่ง
“นอกจากจะแสดงถึงศิลปะท้องถิ่นของภาคใต้แล้ว คงเป็นเรือลำเดียวที่ทำให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมระลึกถึงความหลังด้วยความภูมิใจและอาลัย”
8. ประตูกัลปพฤกษ์* และมือจับพญานาค**
*ศิลปิน: ไพเวช วังบอน
ลักษณะผลงาน: แผ่นกระดานเขียนลายรดนำ้รูปต้นกัลปพฤกษ์ จำลองแบบมาจากบานประตูลายรดน้ำพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ในพระบวรราชวังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
**ศิลปิน: ปั้นและหล่อโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดพุทธรังสีปฏิมากรรม
ลักษณะผลงาน: มือจับบานประตู จำลองแบบจากนาคสัมฤทธิ์ศิลปเขมรแบบบายน เดิมใช้เป็นเครื่องประดับส่วนปลายของคานหามที่นั่งผู้สูงศักดิ์
ที่ตั้ง: ประตูเข้าห้องประชุมใหญ่
—
หลายคนอาจไม่เคยสังเกตว่าประตูทางเข้า เพลนนารี ฮอลล์ หรือห้องประชุมใหญ่ เป็นประตูลายรดน้ำที่วาดขึ้นอย่างงดงาม
ลวดลายดังกล่าวเป็นรูปต้นกัลปพฤกษ์หรือต้นไม้สารพัดนึกในสวรรค์ โดยจำลองแบบมาจากบานประตูรดน้ำของพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ในพระบวรราชวัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
บานประตูทั้งหมดมี 16 บาน ติดอยู่รอบด้านทางเข้าห้องประชุม
ไพเวช วังบอน ศิลปินผู้สร้างและคุมงานเล่าว่า งานเสร็จล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากงานแต่ละขั้นต้องประณีต “จะเร่งมากไม่ได้”
เพราะลายรดน้ำเป็นงานประณีตศิลป์ ต้องวาดลวดลายต่างๆ ก่อนปิดด้วยทองคำเปลวบนพื้นรัก (รัก คือ ยางที่ได้มาจากต้นรัก ช่วยให้ผิวของวัตถุมันวาวทองอร่าม) โดยมีขั้นตอนสุดท้ายคือการเอาน้ำรด เพื่อให้ลวดลายทองที่ปิดไว้ปรากฏ นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า ‘ลายรดน้ำ’
แต่เมื่อทีมงานทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน “น้องๆ และเพื่อนๆ รวมทั้งหมด 8 คนต่างทำงานกันโดยไม่ได้หลับนอน” งานทั้งหมดก็สำเร็จตามกำหนดเวลา
เมื่อนำประตูทั้งหมดประกอบเข้ากับมือจับที่จำลองแบบจากนาคสัมฤทธิ์ศิลปเขมรแบบบายน ที่เดิมใช้เป็นเครื่องประดับของคานหามที่นั่งผู้สูงศักดิ์
ประตูที่งดงามจึงยิ่งเฉิดฉาย จนรู้สึกเสียดายหากไม่ได้มอง
อีกไม่กี่วัน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะอำลาจากคนไทยเพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ จาก ‘ไทยไฮเทค’ เมื่อ พ.ศ.2534 ให้เป็นไทยที่ไฮเทคกว่าเดิมตามยุคสมัย
สถาปัตยกรรมและตัวอาคารที่เห็นในวันนี้ จะถูกรื้อถอนและหายไป
เหลือเพียงงานศิลป์ชั้นครู 8 ชิ้นที่จะเก็บรักษาไว้ เพื่อรอวันประดับประดาในอาคารหลังใหม่ แล้วส่งเสียงกระซิบเล่าขานเรื่องราวแต่หนหลัง
ว่ากาลครั้งหนึ่งศูนย์การประชุมฯ แห่งนี้ เคยมีวันวานและความเป็นมาอย่างไร.