“โลกนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?” เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย ยามแหงนหน้ามองฟ้าที่มีหมู่ดาวนับพัน
คนไทยโบราณก็ไม่ต่างไปจากเราเท่าไหร่ พวกเขาต่างก็เคยสงสัยในความลับนี้ และได้ส่งต่อแนวคิดเกี่ยวกับการกำเนิดของสรรพสิ่งได้อย่างพิสดาร และน่าอัศจรรย์ใจ
เพราะ ‘อยาก’ จึงเกิดจักรวาล
ตามคติพุทธเล่าว่า ก่อนที่จะมาเป็นจักรวาลอย่างที่เราเห็น จักรวาลนี้เต็มไปด้วย ‘น้ำ’ มีความมืดมนอนธการจนไม่สามารถมองเห็นสิ่งใดได้
ณ เวลานั้น จักรวาลยังไม่มีดวงอาทิตย์ ไม่มีดวงจันทร์ หรือหมู่ดาวน้อยใหญ่ มีเพียง ‘สัตว์’ จำพวกหนึ่งอาศัยอยู่ในภพที่เรียกว่า ‘อาภัสสรพรหม’ สัตว์นั้นมีรัศมีเรืองรอง ไม่มีเพศ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ มีวิมานวิจิตรตระการเป็นที่พำนัก และมีอายุขัยยาวนาน
เมื่อสัตว์จุติลง (ตาย) ก็ได้ท่องเที่ยวไปมาในอากาศ แต่ยังมีวิมานและรัศมีเรืองรองออกจากกาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับโลกเก่าพินาศลง และกำลังค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้นใหม่ พร้อมกับการปรากฏขึ้นของ “ง้วนดิน”
ง้วนดินที่ว่ามีลักษณะคล้ายเนยข้นหรือเนยใสอย่างดี มีกลิ่นหวานหอม และรสชาติยั่วยวน สัตว์ที่เพิ่งจุติจึงลิ้มลองง้วนดินนั้น พอได้ชิมก็เกิดความอยาก พยายามจะกินมากขึ้น จากนั้นรัศมีที่เรืองรองรอบกายก็หายไป
ด้วยเหตุนี้ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ กลางวัน กลางคืน และฤดูกาลจึงปรากฏ
นี่คืออธิบายจุดเริ่มต้นของจักรวาลในคติพุทธ ที่สรุปได้ว่าจักรวาลถือกำเนิดจากความอยาก
‘มนุษย์’ ผลผลิตของความเสื่อมถอย
หลังจากสูญเสียรัศมีจากกาย สัตว์เหล่านั้นยังคงเพลิดเพลินกับการกินง้วนดินอย่างต่อเนื่อง จน “กายหยาบ” เริ่มปรากฏ มีผิวพรรณงามบ้าง ไม่งามบ้าง และเกิดการดูหมิ่นเหยียดหยามกัน
ความทะนงในผิวพรรณ ทำให้ง้วนดินหายไป เกิดเป็นอาหารทิพย์ชนิดใหม่ที่มีความหยาบมากขึ้นตามลำดับ พร้อมกับความต่างของผิวพรรณและความเกลียดชังที่เพิ่มขึ้น
จนถึงลำดับสุดท้ายคือ “ข้าวสาลี” ซึ่งเป็นต้นข้าวทิพย์ ไม่มีเปลือก ไม่มีแกลบ ไม่มีรำ และเมื่อถูกเก็บเกี่ยว ก็จะงอกกลับคืนใหม่อีกครั้ง
…พร้อมกันนั้น เพศหญิงชายก็ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก แรงดึงดูดระหว่างเพศทำให้สัตว์เหล่านั้นเกิดกำหนัด และลักลอบเสพเมถุนตามมา
แรกเริ่ม การเสพเมถุนถือเป็นการกระทำที่ชั่วร้าย แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป เหล่าสัตว์เสพเมถุนกันมากขึ้น จนกลายเป็นเรื่องปกติสามัญ และสัตว์เหล่านั้นก็เริ่มสร้างบ้านเรือนเพื่อปิดบังกิจกรรมดังกล่าวเพื่อไม่ให้เป็นที่อุจาดตา
เมื่อมีบ้านเรือนอยู่อาศัย ความขี้เกียจก็ตามมา เริ่มมีการกักตุนอาหาร จากที่กักตุนวันต่อวัน ก็กลายเป็นสะสมนานวันขึ้น จนในที่สุดข้าวสาลีทิพย์ที่งอกได้เอง ก็ไม่งอกขึ้นมาใหม่ ทำให้เหล่าสัตว์ต้องเพาะปลูกเอง
เวลาต่อมาสัตว์จำพวกมนุษย์ก็เกิดขึ้น
จักรวาลกว้างแค่ไหน?
อ้างอิงจาก จูฬนีสูตร ระบุว่า ‘หน่วยพื้นที่’ ขนาดใหญ่ที่สุดเรียกว่า ‘โลกธาตุขนาดใหญ่’ มีขนาดเท่ากับ ‘แสนโกฏิ’ จักรวาล หรือเท่ากับ ‘ล้านล้าน’ จักรวาลรวมกัน!
ซึ่งตามคติพุทธ ‘จักรวาล’ จะหมายถึง ขอบเขตที่พระอาทิตย์และพระจันทร์สามารถโคจรหรือเปล่งแสงไปถึง ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก็น่าจะมีขนาดใกล้เคียงกับอาณาเขตของระบบสุริยะ 1 ระบบ
แต่อย่างไรก็ตาม ‘จักรวาล’ ตามคติพุทธและความเข้าใจของคนในยุคปัจจุบันไม่เหมือนกัน
คำตอบที่ว่า จักรวาลกว้างแค่ไหน? จึงตอบได้ไม่ชัดเจน แต่เข้าใจได้ว่าน่าจะกว้างใหญ่เกินจินตนาการ
ในหนึ่งจักรวาลมีอะไรบ้าง?
อ้างอิงจากพระสูตรเดิม (จูฬนีสูตร) พบว่าใน 1 จักรวาลประกอบไปด้วย:
พระอาทิตย์ 1 ดวง
พระจันทร์ 1 ดวง
เขาสิเนรุ 1 แห่ง
ทวีป 4 ทวีป ได้แก่ ชมพูทวีป อปรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป และปุพพวิเทหทวีป
มหาสมุทร 4 แห่ง
ท้าวมหาราช (หรือจตุโลกบาล) 4 องค์
สวรรค์อีก 6 ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานนรดี และปรนิมมิตวสวตี
พรหมโลก 1 แห่ง
พูดถึงพระจันทร์และพระอาทิตย์ยังพอเข้าใจว่าหมายถึงอะไร เอ่ยถึงชมพูทวีปก็ยังพอคลำถูกว่าอยู่ที่ไหน
แต่ เขาสิเนรุ ทวีปอื่นๆ อีก สามทวีป ตลอดจน สวรรค์ชั้นฟ้า และชั้นพรหม คืออะไร? มาจากไหน และอยู่ตรงไหนกัน?
เขาสิเนรุ
ตามคติพุทธ ในชั้นอรรถกถา กล่าวถึงเขาสิเนรุว่า ที่ยอดเขาสิเนรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนสวรรค์ชั้นอื่นๆ รวมไปถึงทวีปต่างๆ ก็ตั้งอยู่รายล้อมขุนเขาแห่งนี้
ทวีป 4 ทวีป
ได้แก่ ชมพูทวีป อปรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป และปุพพวิเทหทวีป อธิบายให้เข้าใจอย่างกระชับที่สุดก็ต้องบอกว่า ชมพูทวีปนั้นเปรียบได้กับดินแดนมนุษย์ หรือโลกของเรา ส่วนอีก 3 ทวีปที่เหลือเป็นดินแดนของ ‘มนุษย์ต่างดาว’ หรือดินแดนอื่นที่มีสิ่งมีชีวิตคล้ายๆ กับชมพูทวีป
ไตรภูมิพระร่วง หรือ ไตรภูมิกถา พระราชนิพนธ์ในพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ให้รายละเอียดว่า อายุขัยของมนุษย์ในชมพูทวีปนั้นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความดีที่ได้ทำไว้ ยิ่งทำดีก็ยิ่งมีอายุขัยยืนยาว ยิ่งทำชั่วอายุขัยก็ยิ่งหดสั้นลง ส่วนมนุษย์ในทวีปที่เหลือจะมีอายุขัยแน่นอน คือ มนุษย์ในบุรพวิเทหทวีปมีอายุขัย 100 ปี มนุษย์ในอมรโคยานทวีปมีอายุ 400 ปี ส่วนมนุษย์ในอุตตรกุรุทวีปมีอายุขัย 1,000 ปี
สวรรค์ 6 ชั้น
จัดได้ว่าเป็น ‘สุขคติภูมิ’ ภูมิที่อยู่แล้วมีความสุข รายละเอียดเกี่ยวกับภพภูมินี้มีปรากฏอย่างละเอียดใน ไตรภูมิพระร่วง อีกเช่นเดียวกัน ว่า
สวรรค์ทั้ง 6 ชั้น (จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานนรดี และปรนิมมิตวสวตี) เรียงตามลำดับความสูงจากน้อยไปมาก โดยสวรรค์ตั้งแต่ชั้นยามาเป็นต้นไปจะอยู่สูงกว่าดวงอาทิตย์ ทำให้ต้องอาศัยแสงสว่างจากแก้วทิพย์วิมานและรัศมีของเทพเท่านั้น
ส่วนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่คนไทยรู้จักกันดี จะเป็นชั้นที่พระอินทร์ทรงปกครอง และมี ‘พระจุฬามณีเจดีย์’ พระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาของเจ้าชายสิทธัตถะ ที่ทรงปลงผมขณะอยู่ริมแม่น้ำอโนมาก่อนออกแสวงหาสัจธรรม ท้าวสักกะ (หรือพระอินทร์) ทรงเห็นด้วยตาทิพย์ จึงไปรับพระเกศามาประดิษฐ์แล้วสร้างพระเจดีย์ครอบไว้ เพื่อให้เหล่าเทวดาได้มาสักการะบูชา
พรหมโลก
เป็นภพภูมิที่อยู่เหนือขึ้นไปจากสวรรค์ ผู้ที่สำเร็จฌานเมื่อตายก็จะเข้าถึงชั้นนี้ โดยพรหมโลกแบ่งออกเป็น 2 ภูมิย่อย คือ รูปาวจรภูมิ (มี 16 ชั้น) พรหมในภูมินี้จะมีกายทิพย์ รูปร่างใหญ่โตงดงามเกินพรรณา และ อรูปาวจรภูมิ (มี 4 ชั้น) ที่พรหมจะเหลือเพียงดวงจิต
การพินาศของจักรวาล
คติพุทธมองว่า แม้แต่จักรวาลก็มีการเกิดดับ
ในสุริยสูตรเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงปรารภถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง จึงได้ยกความเป็นไปในการพินาศของจักรวาลขึ้นมาเป็นตัวอย่าง มีเนื้อหาว่า
กาลต่อไปในภายหน้า จะมีดวงอาทิตย์ค่อยๆ ปรากฏเพิ่มขึ้นในจักรวาล สรรพสิ่งจะทนความร้อนไม่ไหว แม้แต่น้ำในมหาสมุทรก็จะพลอยเหือดแห้งจนไม่หลงเหลือ และเมื่อดวงอาทิตย์ดวงที่ 7 ปรากฏขึ้น ทุกสิ่งจะมอดไหม้ไม่เหลือซากแม้แต่เขาสิเนรุก็ไม่อาจรอดพ้น
ไตรภูมิพระร่วง ได้ขยายความถึง ‘การพินาศของจักรวาล’ ต่อไปอย่างน่าสนใจว่า
หลังจากที่เกิดไฟไหม้ล้างจักรวาล ไฟได้ลุกลามไปถึงชั้นมหาพรหมแล้วจึงหยุดอยู่แค่นั้น ไฟประลัยกัลป์ได้ลุกโชติช่วงอยู่แสนนานก่อนจะเกิดฝนตกขึ้น จากขนาดเม็ดเท่าธุลีดิน ก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเท่าบ้านเรือน และใหญ่ขึ้นอีกจนเสมือนน้ำที่ไหลออกมาจากโอ่งหรือตุ่มที่แตก
ฝนนี้ตกต่อเนื่องนานถึง 1 อสงไขย แล้วจึงหยุดลง เกิดเป็นน้ำท่วมสูงถึงชั้นมหาพรหม แล้วค่อยๆ ถูกลม 4 ชนิด พัดจนแห้งลงตามลำดับ เกิดเป็นแผ่นดินหรือจักรวาลใหม่อีกครั้ง เหลือเพียงสัตว์จำพวกเดียวที่เหลือรอด แล้วทุกสิ่งก็ดำเนินไปตามวัฏจักร
วนเวียนและเวียนวนอยู่เช่นนั้น ตราบนานเท่านาน.
อ้างอิง:
- พระไตรปิฎก. http://www.84000.org
- ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ. http://vajirayana.org/ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ/ภาคผนวก-๑-คัมภีร์ที่กล่าวอ้างไว้ในไตรภูมิกถา-ไตรภูมิพระร่วง
- คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์. สมุดภาพไตรภูมิบุราณ ฉบับกรุงธนบุรี, กรุงเทพฯ : 2525.
FACT BOX
- อาภัสสราพรหม: พรหมชั้นที่ 6 หรือ ‘อาภัสราภูมิ’ คือพรหมที่จุติมาเป็นสัตว์พวกแรกในช่วงกำเนิดจักรวาล ก่อนจะกินง้วนดินจนเกิดความอยาก จนกระทั่งกลายเป็นมนุษย์ในเวลาต่อมา