©ulture

คงยังมิฉุกนึกลุ่มหลง เขากุมแป หรอก หากราวๆ กลางเดือนมกราคม พุทธศักราช 2564 ณัฐธิดา ทองเกษมไม่ออกปากทักขึ้นกับผมว่า ‘เขา’ ชื่อประหลาดๆ นี้อยู่ที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

สืบเนื่องจากณัฐธิดา สาวเชียงใหม่ผู้พากเพียรศึกษาประวัติศาสตร์นางงามไทย ได้ลองเขียนบทความเกี่ยวกับนางงามภาคใต้เป็นคราปฐม นั่นคือ ‘เทพีแห่งลุ่มตาปี: เรื่องเล่านางสาวสุราษฎร์ธานีในประวัติศาสตร์การประกวดนางงาม’ ลงพิมพ์วารสาร รูสมิแล Vol.41 No. 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2563) เนื้อหาตอนหนึ่งเปิดเผยเรื่องราวของนางสาวยี่สุ่น เพ็งสง หญิงชาวบ้านหัวหมาก ตำบลเขากุมแป ซึ่งเข้าร่วมประกวด นางสาวสุราษฎร์ธานีที่จัดขึ้นครั้งแรกสุดในงานฉลองรัฐธรรมนูญประจำปีพุทธศักราช 2478

ครับ สองตาผมที่อ่านบทความของณัฐธิดาหนสองหน เผลอมองข้ามละเลย ‘เขากุมแป’ แบบไร้กังขาใดใด จนยินน้ำเสียงหญิงสาวทางโทรศัพท์เอ่ยขานว่าด้วยตำบลนี้ พอเพ่งพินิจอ่านทวนอีกที ตัวอักษรช่างเร่งเร้าเย้ายวน ผมมิวายผลิบานความคิดใคร่ทบทวีความรู้จัก ‘เขากุมแป’ ครามครัน

(ปกวารสาร รูสมิแล Vol.41 No. 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2563)

พิจารณาตามข้อมูลที่ณัฐธิดาอุตสาหะค้นคว้า ทราบว่าแรกทีเดียว นายชุ่มกับนางจวน พ่อแม่ของนางสาวยี่สุ่นไม่อนุญาตให้เธอเป็นตัวแทนเข้าประกวดนางงาม ยิ่งเฉพาะนายชุ่มรู้สึกหวงแหนนักหนา ค่านิยมคนยุคนั้น การที่ลูกสาวของตนไปเยื้องกรายอวดเรือนร่างบนเวทีหาใช่สิ่งเหมาะควรสักนิด นายอำเภอมาอ้อนวอนขอก็ไม่แสดงท่าทีใจอ่อน พระภิกษุสำนักวัดเขากุมแปต้องช่วยเจรจาหว่านล้อม พร้อมรับรองแข็งขันว่าการประกวดนางงามคือกิจกรรมสร้างสรรค์ เป็นการช่วยชาติ มุ่งสนับสนุนรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย นายชุ่มจึงยินยอม ทั้งพานางจวนมาเฝ้าเกาะติดการประกวดที่ตัวจังหวัด

เมื่อนางสาวยี่สุ่นเข้าประกวด ‘นางสาวสุราษฎร์ธานี’ เธอมิแคล้วตัวเก็งจะคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง  ปีนั้น หญิงสาวจากอำเภอต่าง ๆของจังหวัดเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 33 คน ไม่ว่าจะมาจากไชยา, เกาะสมุย, กาญจนดิษฐ์, ท่าข้าม (ปัจจุบันคืออำเภอพุนพิน), บ้านนา (ปัจจุบันคืออำเภอบ้านนาเดิม), ท่าขนอน (ปัจจุบันคืออำเภอคีรีรัฐนิคม) และบ้านดอน (ปัจจุบันคืออำเภอเมือง)

การประกวดนางงามจัดขึ้นยิ่งใหญ่ที่บ้านดอนหรือตัวจังหวัด ตัดสินชิงรางวัลชนะเลิศกันในคืนวันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2478

ผลปรากฏว่า นางสาวชะอ้อน  ผิรังคะเปาระ สาวงามประจำบ้านดอนเป็นผู้ชนะเลิศครองตำแหน่ง ‘นางสาวสุราษฎร์ธานี’ คนแรกสุด นางสาวประไพ วงศ์ฉวี สาวบ้านดอนอีกคนครองตำแหน่งอันดับสอง ส่วน นางสาวยี่สุ่น เพ็งสง สาวบ้านหัวหมาก ตำบลเขากุมแป ครองตำแหน่งอันดับสาม

การประกวดเหมือนจะราบรื่น ทว่าบังเกิดสถานการณ์ไม่คาด !

ท่ามกลางบรรดาผู้เข้าชมงานฉลองรัฐธรรมนูญคืนวันนั้นราวๆ 3,000 คน และผู้ที่หมายมาดมายลว่าใครคือสตรีที่ได้รับเลือกเป็นนางงามประจำจังหวัด มีอยู่จำนวนไม่น้อยรายสำแดงความไม่เห็นพ้องและไม่พอใจคำตัดสินของคณะกรรมการ สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่คาดคะเนกัน นางสาวยี่สุ่นจากเขากุมแปหรือไม่ก็นางสาวมณีจากไชยาย่อมคว้ารางวัลชนะเลิศแน่แท้  หรือถ้าจะไม่ใช่สองสาวก็คงมิพ้นนางสาวล้อมจากเกาะสมุย

ครั้นคณะกรรมการประกาศผลการตัดสิน ฉับพลันกึกก้องเสียงขรมวิพากษ์วิจารณ์ มีผู้เอะอะประท้วงรุนแรง ข้อโจมตีของประชาชนได้แก่ คณะกรรมการตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม คงเอื้อผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ส่วนตัวของพวกตนกับพ่อแม่ของหญิงสาวชาวบ้านดอนที่คว้ารางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ ขณะนางสาวยี่สุ่น ซึ่งควรได้เป็น ‘นางสาวสุราษฎร์ธานี’ ตัวจริง ต้องตกลำดับไปคว้ารางวัลที่สาม ทั้งค่อนแคะว่านางสาวชะอ้อนเป็นบุตรีขุนประทานเวชกรรม และยังเป็นหลานนางกิมกี่เศรษฐินีตลาดบ้านดอน สำเร็จการศึกษาโรงเรียนเซนโยเซฟคอนแวนต์ที่กรุงเทพ ส่วนนางสาวประไพเป็นหลานของขุนจีนฯ หัวหน้ากลุ่มคนจีนในตลาดบ้านดอน ทั้งสองจึงได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ด้านนางสาวยี่สุ่นเป็นลูกชาวไร่ชาวนา มาจากบ้านเกิดห่างไกลตัวเมือง เธอเลยตกอันดับ ทั้งๆ ที่เป็นตัวเก็งอันดับหนึ่ง

การประท้วงไม่ยุติลงง่ายๆ และส่อแววความชุลมุนวุ่นวายลุกลามใหญ่โต ถึงขั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาการณ์ต้องเข้ามาระงับเหตุให้สงบ

เสร็จสิ้นการประกวด พ่อแม่รีบพาตัวนางสาวยี่สุ่นหวนคืนบ้านหัวหมาก ตำบลเขากุมแปทันที แม้หลายคนอ้อนวอนให้พักอยู่ตลาดบ้านดอนสักสองวันเพื่อโชว์ตัวแก่ชาวเมืองก่อน

ณัฐธิดาเสนอว่า บางทีนี่อาจเรียก ดราม่าครั้งแรก ในวงการประกวดนางงามไทย

กลายเป็นข่าวเกรียวกราวระดับประเทศ หนังสือพิมพ์สำคัญแห่งยุคเยี่ยง ประชาชาติ รายงานลงในฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พุทธศักราช 2478 โปรยพาดหัว “ประกวดนางงามสุราษฎร์มีเอะอะ ตำรวจเข้าระงับ”

(หญิงสาวผู้คว้าตำแหน่งในการประกวด “นางสาวสุราษฎร์ธานี” ครั้งแรกสุด เมื่อปีพุทธศักราช 2478
จากซ้าย: นางสาวประไพ วงศ์ฉวี, นางสาวชะอ้อน ผิรังคะเปาระ และนางสาวยี่สุ่น เพ็งสง
ภาพจากหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ประจำวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พุทธศักราช 2478)

ที่สนอกสนใจบ้านหัวหมากเอาการ เพราะเป็นถิ่นฐานซึ่งพี่สาวของปู่สองคนเคยมาสร้างครอบครัวสืบโยดย่าน นั่นคือ ย่าห้องกับย่าปุ้ง ผมเองเคยมาแวะเยี่ยมญาติพี่น้องหลายหนตอนเด็กๆ ยังจำภาพถนนทางลูกรังฟุ้งฝุ่นแดงอวลตลบ และเคยมาตอนเรียนชั้นมัธยมปลายอีกสักหน พ่อรำพึงทบทวนความหลังครั้งเยาว์วัยว่า เคยเดินทางจากบ้านกงตากในตำบลช้างซ้ายมากับปู่เพื่อเยือนป้าๆ ของพ่อในตำบลช้างขวา สมัยที่ไม่มีถนน ต้องเดินเท้าทะลุป่า  เปลืองเวลาเป็นวันๆ แต่เดี๋ยวนี้ บ้านหัวหมากสัญจรไปมาสะดวกสบาย ถนนเซาท์เทิร์นหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 44 ตัดผ่าน

มกราคม พุทธศักราช 2564 ผมพำนักบ้านริมแม่น้ำตาปี มิได้สูดลมหายใจและวนเวียนชีวิตแถวมหาวิทยาลัยทุ่งเชียงราก ปทุมธานีดั่งเคย ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกสอง  พอกลางเดือนวาบนึกถึง ‘เขากุมแป’ จากการสนทนากับณัฐธิดาเรื่อง ‘นางสาวสุราษฎร์ธานี’ ในอดีต ผมเอ่ยถามพ่อ ‘เขา’ ดังว่าอยู่บริเวณไหนของสุราษฎร์ธานี? ไกลจากบ้านหัวหมากหรือเปล่า? (อ้อ! ผมเกือบลืมบอก ที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็มีบ้านกุมแป) พ่อจาระไนว่าเคยได้ยิน เคยผ่านทาง แต่ยังไม่เคยตั้งใจไปท่องเที่ยวจริงจัง

ภารกิจผจญภัยตามแกะรอยประวัติศาสตร์ เขากุมแป ของผมกับพ่อ จึงอุบัติขึ้นในวันเสาร์ที่ 16 มกราคม

ตอนเช้า เราขับรถจากริมแม่น้ำตาปีในบาง รอยต่อเขตอำเภอเมืองกับเขตอำเภอพุนพิน มุ่งหน้าสู่บ้านหัวหมาก ชั่วเวลามิทันเต็มหนึ่งชั่วโมง รถยนต์ก็แล่นบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 44 มองเห็นเขากุมแปทั้งภูแล้ว กำลังพยายามคลำหาเส้นทางไปสู่อาราม

(ทิวทัศน์เขากุมแป มองจากถนนถนนเซาท์เทิร์นหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 44
ภาพถ่ายโดย อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ)

เดิมที บ้านหัวหมากกับบ้านเขากุมแปเชื่อมโยงกัน เพิ่งจะแยกด้วยถนนเซาท์เทิร์นผ่าคั่นกลาง ไม่แปลกที่ในหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ปลายทศวรรษ 2470 เขียนว่านางสาวยี่สุ่นอยู่บ้านหัวหมาก ตำบลเขากุมแป น่าจะจัดการปกครองแบบยุคนั้น แต่ทุกวันนี้ ทั้งสองหมู่บ้านล้วนสังกัดตำบลช้างขวา อำเภอกาญจนดิษฐ์

รถแล่นเรื่อยๆ ในเงื้อมเงาดงสวนปาล์มน้ำมันจนเลี้ยวเข้าวัดเขากุมแป ทัศนาอาณาบริเวณกว้างขวาง แต่เงียบร้างน่าใจหาย เหลือพระภิกษุจำพรรษาแค่สองรูป สังเกตดูวัดมีเมรุเผาศพ ถ้าจัดงานฌาปนกิจ อาจนิมนต์พระสงฆ์จากวัดอื่นๆ มาสมทบ

ทอดน่องสำรวจทั่ววัดแทบครบถ้วน ครุ่นคำนึงที่ผมสืบเสาะ Google มาคร่าวๆ วัดเขากุมแปมีองค์พระนอนโดดเด่น ไฉนเหลียวหันรอบทิศไม่ประสบ พ่อลองเดินไปสอบถามจาก ‘ตาหลวง’ (คำเรียก ‘หลวงตา’ ในภาษาท้องถิ่นใต้) ได้ความว่าองค์พระนอนประดิษฐานบนยอดเขากุมแป ต้องเดินขึ้นภูเขาชันอีก 2 กิโลเมตร

(พระอุโบสถวัดเขากุมแป ภาพถ่ายโดย อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ)

ผมถามพ่อวัยหกสิบสามจะเดินขึ้นเขากุมแปหรือเปล่า  พ่อตอบตกลงไม่ลังเล ไหนๆ มาถึงทั้งที ควรบุกบั่นขึ้นไปชมพระนอน ท่าทางตื่นเต้นและชอบใจ ปกติพ่อสามารถเดินขึ้นเขาโดยไม่ระย่อท้อถอย ตัวเลขอายุเพิ่มมิใช่อุปสรรคขัดสน เผลอๆพ่อเก่งกว่าผม เพราะเคยชินกับการเดินเนืองๆ ในสวนยางพาราแปลงต่างๆ ซึ่งในภาคใต้มักอยู่บนเนิน บนควน บนภูเขา

(บันไดทางขึ้นเขากุมแป ภาพถ่ายโดยอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ)

ต้นบันไดทางขึ้น เจอหญิงชาวบ้านสองคนสาละวนตัดไม้ไผ่ไปทำกระบอกข้าวหลาม พวกเธอทักทายเรา พูดจาติดตลกว่าเห็นตัวเลขอะไรบนยอดเขา ให้ลงมาบอกต่อ จะได้ไปซื้อ ‘เบอร์’ ( ‘หวย’ ในภาษาท้องถิ่นใต้)

ก้าวขึ้นหลายขั้นบันได สองข้างแวดล้อมป่ารกครึ้ม ระหว่างทางต้นไม้ใหญ่ล้มมาทับขวาง พ่อและผมยอบย่อตัวลงเพื่อลอดผ่าน ก้าวย่ำกระทั่งสิ้นเขตขั้นบันไดก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ต้องเดินไต่เนินเขาชันตัดผ่านสวนยางพาราของชาวบ้าน เจอะใคร พวกเขาก็ช่วยชี้แนะว่าให้ป่ายปีนไปทางไหนต่อ

(ต้นไม้ใหญ่ล้มขวางทางขั้นบันได ภาพถ่ายโดยอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ)
(ทางผ่านสวนยางพาราขึ้นเขากุมแป ภาพถ่ายโดยอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ)

ฝ่าฟันไปจรดยอดเขากุมแปในที่สุด แลองค์พระนอนก็แสนปลื้ม พระพุทธรูปลักษณะบรรทมตะแคงขวา เปี่ยมความเก่าแก่ขรึมขลัง แม้รอยปูนบนองค์พระปริแตกรอยร้าวตามกาลเวลาบ่มโบย และน่าจะห่างเหินการบูรณปฏิสังขรณ์ ใต้ฐานสลักนามของพระนอนว่า ‘พระพุทธปุรุราชรังสรรค์’ สะดุดตาชวนขบคิดที่มาของการตั้งนาม บางทีอาจเกี่ยวข้องกับผู้สร้างกระมัง ผมคะเนเลาๆ พระพุทธรูปน่าจะสร้างขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้างเคียงมีแผ่นหินจารึกอักษรโบราณ ไม่แน่ใจเป็นภาษาอะไร อาจจะภาษาขอม

บรรยากาศรกร้างบริเวณลานพระนอนบ่งชี้ แทบไม่มีใครมาเยี่ยมชมเท่าไหร่ หากทิวทัศน์มองจากบนยอดเขาเชิญชวนชุ่มฉ่ำสายตา เรานมัสการและอธิษฐานจิตต่อองค์พระนอน เหยียบใบไม้แห้งสวบสาบสำรวจรอบๆ ครู่ใหญ่ นั่งพักผ่อนความล้าเปลี้ย ก่อนจะอำลาเดินลงมาจากยอดเขากุมแป

(‘พระพุทธปุรุราชรังสรรค์’ บนยอดเขากุมแป ภาพถ่ายโดยอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ)
(แผ่นหินจารึกอักษรโบราณ ภาพถ่ายโดยวันสาด ศรีสุวรรณ)

ขากลับในตอนหลังเที่ยง พ่อและผมถือโอกาสแวะพบปะญาติพี่น้องฝ่ายปู่ละแวกบ้านหัวหมาก ญาติๆ ของเราตระหนักถนัดถนี่ว่าบนยอดเขากุมแปมีพระนอน แต่ไม่เคยมีใครขึ้นไปสัมผัสเลย ทั้งๆ ที่อยู่ไม่ห่างบ้าน ทั้งๆ ที่หลายคนทอดตามองยอดเขามาตั้งแต่เด็กๆ จวบอายุหกสิบเจ็ดสิบ บางทีคนรุ่นราวคราวปู่ของผมซึ่งเกิดต้นทศวรรษ 2460 อาจระแคะระคายมักคุ้นเรื่องราวของนางสาวยี่สุ่นชาวบ้านหัวหมาก เสียดายเหลือเกินที่คนรุ่นนั้น มัจจุราชแอบทยอยเกี้ยวพาราสีไปเสียหมด พ่อคุยกับญาติว่าไม่เคยทราบมาก่อนเช่นกันเรื่องพระนอน ผองญาติขมวดคิ้วสงสัย ผมอยู่ถึงกรุงเทพฯ ไปรับรู้มาจากไหน พ่อสำทับ ผมเป็นพวกเรียนประวัติศาสตร์ แต่ผมยืนยัน มีหญิงสาวกระซิบกระซาบมาอีกที

ผมลองจินตนาการ ในปีพุทธศักราช 2478 บ้านหัวหมาก ตำบลเขากุมแปยังเป็นพื้นที่ป่าไพร ไม่มีถนนหนทาง ฉะนั้น การเดินทางไปประกวดนางงามของนางสาวยี่สุ่นที่ตัวจังหวัดคงทุลักทุเลเหลือหลาย อาจต้องเดินเท้า นั่งเกวียน แล้วไปล่องเรือตามลำคลองสายต่างๆ กว่าจะเข้าถึงเมืองบ้านดอน หอบความคาดหวังระหกระเหินไปเพื่อจะเป็น ‘นางสาวสุราษฎร์ธานี’ พอพลาดโอกาส แม้จะได้รางวัลที่สามปลอบใจ แต่เชื่อว่า ในตอนขากลับ เธออาจระทมขมขื่นไม่เบา

แผ่นพับประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวจัดทำโดยสำนักงานเทศบาลตำบลช้างขวาให้รายละเอียดว่า วัดเขากุมแปสร้างขึ้นประมาณปีพุทธศักราช 2462 พระครูอเนกเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เล่าแจ้งที่มาของชื่อวัดคือ

“มีต้นแครต้นหนึ่งมีปุ่ม ซึ่งภายในปุ่มนั้นมีทองคำอยู่ แต่ไม่มีใครสามารถนำทองคำนั้นออกมาใช้ได้เลย เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งดุร้ายเฝ้าอยู่ แล้วมีชาวบ้านคนหนึ่งอยากได้ทองคำนั้น เลยแก้ลายแทงหรือแก้คำปริศนานั้นว่า แครปุ่ม เป็น กุมแป และเรียกเป็นชื่อ วัดเขากุมแป ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

พื้นที่วัดเขากุมแปยังขับเน้นความโดดเด่นด้วยองค์พระนอน ทางเทศบาลหยิบยกไปแต่งคำขวัญคล้องจองประจำตำบล

พระนอนคู่บ้าน ตำนานช้างงาม ถ้ำคูหาลือนาม แหล่งน้ำทุ่งหัวสน ผู้คนกล่าวขาน ถิ่นสถานช้างขวา”

อย่างไรก็ดี ข้อมูลในเว็บเพจพระสังฆาธิการไทย หรือ sangkhatikan.com ระบุว่าวัดเขากุมแปเป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ก่อตั้งเมื่อพุทธศักราช 2465 และรับวิสุงคามสีมาเมื่อพุทธศักราช 2478

บ่ายคล้อยวันนั้น  โต๊ะไม้ระเบียงบ้านริมฝั่งแม่น้ำตาปี พ่อนั่งลงแต่งกลอนด้นสดๆ ถ่ายทอดความประทับใจที่ได้ดั้นด้นไปกราบไหว้พระนอนบนยอดเขากุมแป แล้วพิมพ์เผยแพร่ผ่านทาง facebook ส่วนตัว

“มาวัดเขากุมแป แลพระนอน       สร้างเมื่อตอนเกือบร้อยปีที่พ้นผ่าน

คนสุราษฎร์อย่างผมงมอยู่นาน      สิ่งสำคัญข้างบ้านไม่เคยดู

จนลูกชายเอ่ยถามยามวันเสาร์     ผมชวนเขาไปกราบไหว้จึงได้รู้

พระประดิษฐานนานพอดู            น่าอดสูไม่มีใครสนใจเลย

ไม้ล้มขวางทางบันไดขึ้นไปกราบ    ต้องก้มราบลอดไป โอ้ใจเอ๋ย

พอลอดผ่านพ้นบันไดเดินไกลเลย   พี่น้องเอ๋ยเมื่อไปถึง จึงจังงัง

พบพระนอนบนยอดเขา เราเข้าใกล้   สัมผัสได้ความเก่าแก่แลมนต์ขลัง

เห็นรอยปูนแตกร้าวเศร้าใจจัง       ได้แต่หวังถ้าเรารวยช่วยปรับปรุง

ก้มลงกราบขอพรวอนพระท่าน      ช่วยดลจิตให้ฉันรวยเงินถุง

ลอตเตอรียี่สิบล้านท่านผดุง           ฉันหมายมุ่งแก้ไขให้สวยงาม

ภูมิทัศน์จะจัดการให้สวยสด        พร้อมบันไดเลี้ยวลดหมดคำถาม

จะชักชวนผู้ศรัทธามาทำตาม     ไม่ต้องถามเพราะทุกคนต่างสนใจ

พร้อมทำที่พักผ่อนตอนมากราบ    ทิวทัศน์สวยซึ้งซาบภาพงามไสว

ลืมไม่ลงเขากุมแป แม้ลาไป       อยู่ใกล้ไกลมาขอพรพระนอนเอย”

คลับคล้ายพ่อจะเขียนทำนอง ‘นิราศเขากุมแป’ ในท่วงลีลากลอนหนังตะลุง และเนื่องจากด้นสดๆ ตามปฏิภาณ ถ้อยคำบางส่วนยังไม่เกลากลึงสละสลวย สัมผัสซ้ำบางจุด ทว่าการนำเสนอเนื้อกลอนผ่าน Facebook ได้ชักนำโน้มน้าวให้คนที่ติดตาม ‘พี่วันสาด’ (พ่อผมชื่อวันสาด ศรีสุวรรณ) เข้ามามีส่วนร่วมมากไปกว่าแค่กด Like จำนวนหลายร้อย แต่ตื่นตัวแสดงความเห็น แจกแจงความรู้ของตนเพิ่มเติมและแนบภาพถ่ายเก่าๆ

เฉกเช่นคุณวิบูลย์ เลี่ยนพานิชที่ช่วยบันดาลให้ปรัศนีย์คลี่คลาย เขาอธิบาย องค์พระนอน “พระพุทธปุรุราชรังสรรค์” สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2478 ผู้สร้างคืออำมาตย์เอก พระยาปุรุราชรังสรรค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคนแรกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

เท่าที่ผมผ่านตาเอกสารประวัติศาสตร์ พระยาปุรุราชรังสรรค์ผู้ประจำมณฑลสุราษฎร์อาจมีอยู่หลายท่าน ดังปรากฏพระยาปุรุราชรังสรรค์ (เวร จินตวร) ข้าราชการหัวเมืองมณฑลสุราษฎร์ที่เข้ามาสนองพระเดชพระคุณในงานพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2468 (นับ​เทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2469) แต่พระยาปุรุราชรังสรรค์ที่สร้างองค์พระนอนและดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล น่าจะเป็นผู้มีนามโชติ สุวรรณทัต และภริยาของท่านคือคุณหญิงบุญมี  ปุรุราชรังสรรค์

พุทธศักราช 2478 นับเป็นปีพิเศษของชาวเขากุมแป นอกจากจะมีหญิงสาวโฉมงามไปประกวด ‘นางสาวสุราษฎร์ธานี’ ครั้งแรกสุดจนเลื่องลือ และชื่อตำบลเด่นหราบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ชั้นนำของประเทศเยี่ยง ประชาชาติ แล้ว วัดเขากุมแปยังได้รับวิสุงคามสีมา และมีการจัดสร้างพระนอนบนยอดเขา ตรองดูสิครับ สมัยนั้น ใช่ว่าจะขนเครื่องไม้เครื่องมือขึ้นภูเขาไปง่ายดาย แรงศรัทธาของท่านเจ้าคุณปุรุราชรังสรรค์และชาวบ้านน่ายกย่องปานใด

ลุมาช่วงทศวรรษ 2500 วัดเขากุมแปมีชื่อเสียงทางด้านการชักพระบก แน่ละ ประเพณีชักพระเดือนสิบเอ็ดเป็นกิจกรรมกระเดื่องดังของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

(การชักพระบกของวัดเขากุมแป ภาพของคุณ Kriangsak Meksuk จากเพจ ภาพเก่าในอดีต)

ภาพถ่ายหนึ่งที่คุณวิบูลย์ส่งแนบมาคือภาพของพระมหาธานี ปิยธัมโม อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดเขากุมแปเมื่อปีพุทธศักราช 2508 ทำให้เราประจักษ์ชัดว่าเคยมีการสร้างหลังคาคลุมครอบองค์พระนอน “พระพุทธปุรุราชรังสรรค์” หาได้โล่งเปล่าแบบทุกวันนี้

(พระมหาธานี ปิยธัมโม ท่านเจ้าอาวาสวัดเขากุมแป เมื่อปีพุทธศักราช 2508
ภาพจากคุณวิบูลย์ เลี่ยนพานิช)

บ้านหัวหมากและเขากุมแปประหนึ่งดินแดนถูกทอดทิ้งในความหลงลืมเสียนานจนเนิ่นเกินไป ชาวสุราษฎร์ธานีปัจจุบันแทบจะไม่รู้จักคุ้นเคย เอ่ยชื่อขึ้นมาเป็นอันวางสีหน้างุนงง ผู้คลั่งไคล้การสืบค้นประวัติศาสตร์เยี่ยงผมก็ยังบกพร่อง ต้องรอสาวเชียงใหม่เยี่ยงณัฐธิดามาบ่งบอกให้ “กระตุกจิต”  ทั้งๆ ที่ย้อนรำลึกเข้าไปในอดีตด้วยเวลาเกือบๆ 90 ปี  พื้นที่แห่งนี้ได้รับการกล่าวขวัญไปไกลถึงกรุงเทพมหานคร แฝงเร้นเรื่องเล่าสนุกๆ ไว้หลากอรรถรส

เอาเถอะ!  แม้เรื่องราวแต่หนหลังของบ้านหัวหมากและเขากุมแปจะยังส่งเสียงแผ่วๆ ค่อยๆ แต่หวังว่าคงจะค่อยๆพรั่งพรูก้องกังวานผ่านขบวนตัวอักษรของผมบ้าง

 

เอกสารอ้างอิง

  • ณัฐธิดา ทองเกษม. “เทพีแห่งลุ่มตาปี: เรื่องเล่านางสาวสุราษฎร์ธานีในประวัติศาสตร์การประกวดนางงาม.” รูสมิแล 41 No. 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2563), หน้า
  • นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระ. โคลงลิลิตสุภาพ ตำรับพระบรมราชาภิเษก สัปดมะราชมหาจักรีวงศ์ เมื่อพุทธศก ๒๔๖๘ เล่มต้น. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ} 2472
  • ประชาชาติ. ปีที่ 4 ฉบับที่ 958 (19 ธันวาคม 2476)
  • แผ่นพับประชาสัมพันธ์เทศบาลตำบลช้างขวา
  • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 37 (30 มกราคม 2463)
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงบุญมี ปุรุราชรังสรรค์. ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2517