©ulture

อดแหงนเงยมองมิได้สักครา ขณะโดยสารเรือด่วนล่องแม่น้ำเจ้าพระยาลอดใต้สะพานพุทธ สองตาผมมิวายเขม้นจับจ้องโครงเหล็กสีเขียวเข้ม ประหนึ่งแลเห็นใครต่อใครหลายคนเคยโลดแล่นชีวิต และมิน้อยคนอาจตัดสินใจปิดฉากชีวิต ณ บนสะพานแห่งนั้น

สำหรับผม สะพานพุทธหาใช่เพียงสถานที่ใหญ่โตครองความโดดเด่นในโฉมหน้าประวัติศาสตร์แห่งกรุงเทพมหานคร หากน่าจดจำและทบทวีความใคร่ค้นหา ก็ด้วยเป็นแหล่งสะท้อนเรื่องราวของคนเล็กคนน้อยอันพรั่งพรูกู่ร้องมาจากวันวาน

 

ในที่สุดปี พ.ศ. 2475 ได้มาถึง

ก่อนเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2472 ไม่มีผู้ใดได้เห็นสะพานพระพุทธยอดฟ้าหรือสะพานพุทธเหยียดร่างทอดยาวข้ามแม่น้ำเชื่อมฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี เพราะสะพานเพิ่งจะเริ่มสร้างในเดือนนี้เอง รัฐบาลสยามปรารถนาให้เป็นอนุสรณ์เนื่องในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบรอบ 150 ปี ซึ่งตรงกับปีพุทธศักราช 2475

ข่าวคราวการสร้างสะพานพุทธก่อกระแสเกรียวกราวช่วงต้นทศวรรษ 2470 จำหลักอยู่ในความสนใจของชาวกรุงเทพฯ สื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับพาดพิงเอ่ยขาน นายช่างกำกับการก่อสร้างเยี่ยงอำมาตย์ตรี หลวงประกอบยันตรกิจ (โยน ใยประยูร) แสดงปาฐกถาเรื่อง “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” ณ สามัคยาจารย์สโมสรสถาน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พุทธศักราช 2473 แจงรายละเอียดแบบแผนการสร้าง แปลนสะพาน และอธิบายถึง ‘ตะหม้อ’ หรือที่ปัจจุบันเรียก ‘ตอม่อ’

สะพานพระพุทธยอดฟ้าดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ ได้มีงานพระราชพิธีฉลองพระนครครบรอบ 150 ปีในวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสะพาน ประชาชนแห่แหนมาชมโฉมโครงเหล็กตระกลตระการสีเขียว (สีประจำวันพุธ วันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 7) และเที่ยวงานจำนวนมาก กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา ศรีบูรพา’ เป็นบุคคลหนึ่งที่มาเตร็ดเตร่เช่นกัน ท่ามกลางข่าวลือเซ็งแซ่จะเกิดการยึดอำนาจในงานนี้ วันเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นในปีพุทธศักราช 2475 จริงๆ มิใช่ต้นเดือนเมษายนตามเสียงลืออื้อฉาวหรอก แต่เป็นกลางเดือนมิถุนายน ถ้ากระชับถ้อยคำแบบสำนวนในนวนิยายเรื่อง น้องสาว ที่เขียนโดย อาษา (หรืออาษา ขอจิตต์เมตต์ ที่นักอ่านงานแปลมักคุ้น) ก็คงต้องว่า “ในที่สุดปี พ.ศ. 2475 ได้มาถึง”

 

ภาพจากหนังสือ รวมปาฐกถา ซึ่งแสดงที่สามัคยาจารย์สมาคม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ ถึง ๒๔๗๔

วรรณกรรมและอัตวินิบาตกรรมบนสะพานพุทธ 

พอสะพานพุทธเชื่อมสองฝั่งฟากแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่บริเวณเชิงสะพานทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีพลันกลายเป็นย่านชุมชนคึกคัก สถานบันเทิงเริงรมย์และเมรัยสถานครึกครื้น หลากร้านเรียงราย บรรยากาศห้วงยามนั้นดัง ยศ วัชรเสถียร นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ เจ้าของนามปากกา ยุธิษเฐียร เปิดเผยประสบการณ์เคยตระเวนว่า

“ในแต่ละคืนดูราวกับมีงานมหกรรมออกร้านขายของกันและในบรรดาร้านรวงต่างๆ ในบริเวณนี้มีร้านเหล้ารวมอยู่ด้วยมากมายทั้งชั้นเลิศและชั้นรองๆ ทั้งยังมีที่ให้เต้นระบำคู่แบบฝรั่งหรือลีลาศด้วย”

เชิงสะพานฝั่งพระนครมีร้านเลื่องลือ ได้แก่ บาร์ซีเล็ค ส่วนเชิงสะพานทางฝั่งธน ร้านขึ้นชื่อได้แก่ แม่น้ำบาร์ และสถานกาแฟเดอลาเปส์ ชวนสังเกตว่าชื่อบาร์และร้านกาแฟข้างต้น ดูเหมือนนำมาจากชื่อคาเฟ่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสอย่าง Café Select และ Café de la paix

อีก ‘ภาพจำ’ ของคนไทยเกี่ยวกับสะพานพุทธคือการเป็นสถานที่กระทำอัตวินิบาตกรรมหรือฆ่าตัวตายบ่อยหน ต้นทศวรรษ 2480 เรื่อยมาที่ปรากฏภาพลักษณ์ทำนองนี้ ตกเป็นข่าวดกดื่นตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ เฉกเช่นในหนังสือพิมพ์ สุภาพสตรี ปีที่ 1ฉบับที่ 1 ประจำวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2482  (นับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2483) โปรยพาดหัว “สะพานพระพุทธยอดฟ้าเปนที่โดดน้ำตายจนชิน” และมีเนื้อหาว่า

“นางเง๊กเคี้ยม แซ่ไหล อายุ ๔๓ ปี เปนลูกจ้างอยู่บ้านตำบลสวนมะลิ ได้กระโดดจากสะพานพระพุทธยอดฟ้าลงไปในลำแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๒ เดือนนี้ เวลาประมาณ  ๙.๐๐ น.เศษ ชาวเรือที่อยู่บริเวณใกล้เคียงประสพเหตุจึงออกช่วยเหลือ นำตัวนางเง๊กเคี้ยมส่งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพระราชวัง

ตามทางสอบสวน เหตุที่ทำให้นางเง๊กเคี้ยมตัดสินใจกระโดดน้ำตายคราวนี้ เนื่องจากสามีซึ่งเดินทางไปหากินที่จังหวัดนครราชสีมาไม่ส่งเงินมาให้ใช้ นางเง๊กเคี้ยมเสียใจจึงตัดสินใจกระโดดน้ำเพื่อให้ตายดังกล่าวแล้ว”

ภาพวาดมุมสูงของสะพานพุทธ (ปี 1929)
Source: Turin (Italy), Politecnico di Torino, Biblioteca Centrale di Architettura, Fondo Savigliano, 11203.

กระทั่งในงานเขียนประเภท ‘เรื่องอ่านเล่น’ หรือวรรณกรรมไม่น้อยชิ้นก็ถ่ายทอดเรื่องราวอัตวินิบาตกรรม ณ สะพานพุทธ ผลงานลือลั่นที่ได้รับการกล่าวขวัญย่อมมิพ้นเรื่องสั้นขนาดสั้น ผู้บำเพ็ญกรณีย์ ของ เรียมเอง หนึ่งในนามปากกาของ มาลัย ชูพินิจ นักประพันธ์ไทยนามอุโฆษ

ครูมาลัยเปิดฉากเรื่องสั้นบนสะพานพระพุทธยอดฟ้าว่า

“พอโยนก้นบุหรี่ที่มอดจวนหมดข้ามราวลูกกรงเหล็กลงไปสู่พื้นแม่น้ำเจ้าพระยาเบื้องล่างได้ไม่ทันไร ชายหนุ่มก็ได้ยินเสียงรองเท้ากระทบพื้นอย่างแผ่วเบาก้าวๆ หยุดๆ ปรากฏขึ้นข้างหลัง…และใกล้เข้ามาทุกที จนโสตประสาทและสัญชาตญาณบอกให้ทราบได้ว่าเป็นเสียงรองเท้าของผู้หญิง ทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้หันหน้าไปดู

เสียงสะอื้นแว่วฝ่าความมืดและความเงียบแห่งเพลาดึกสงัดมาได้ยินถนัด ชายหนุ่มหันหน้าไปช้าๆ ก็แลเห็นร่างของหญิงผู้หนึ่งปีนขึ้นไปอยู่บนตารางลูกกรงเหล็กสะพาน จ้องดูพื้นน้ำอันดำสนิทเบื้องล่าง เขาถลันเข้าไปทันที ยื่นแขนอุ้มหล่อนลงมาข้างล่าง ปากโพล่งออกไปว่า

นี่บ้าอะไรกันนี่?”

ตัวละครชายหนุ่มพบหญิงสาวคนหนึ่งกำลังปีนสะพานจะกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย เขาปราดเข้าช่วยเหลือหล่อนทันท่วงที หญิงสาวน้ำตาไหลซึมเป็นทางลงมาตามแก้ม เขาสอบถามสาเหตุที่หล่อนปลงใจปลิดชีพตน

“ฉันอาจจะเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเธอ แต่อย่างไรก็ดี คนเราที่มีทุกข์อาจจะคลายใจลงได้บ้าง เมื่อได้เล่าให้คนหนึ่งคนใดฟัง นอกจากนั้น มันไม่เป็นภัยอะไรสำหรับเธอเลย”

หะแรก หญิงสาวหาได้ยินยอม หล่อนแย้งว่าเขาไม่มีสิทธิ์ ชายหนุ่มหมั่นซักไซ้จนล่วงรู้ปัญหาของหล่อนคือ

“…ก็เพราะว่าดิฉันกำลังจะมีลูก ดิฉันยังไม่ได้แต่งงาน เพียงเท่านี้คุณยังไม่เข้าใจอีกหรือคะ ว่าเรื่องมันร้ายกาจและยุ่งเหยิงเสียยิ่งกว่าอะไรดี”

หล่อนหวั่นเกรงคุณแม่ที่ไม่ค่อยสบายจะอับอายขายหน้าเมื่อยินเรื่อง ตรองไม่เจอหนทางแก้ไข จึงมุ่งหลีกหนีทุกข์ทนด้วยการจะเป็นศพลอยในแม่น้ำ ชายหนุ่มเพียรปลอบประโลมหญิงสาว ลองเสนอวิธีการอื่นๆ จำพวกหลบลี้ไปให้ไกลเสียจากบ้านชั่วคราว ควรค่าแก่การเสี่ยงเสียกว่าจะฆ่าตัวตายเลย ซึ่งทำให้แพ้ราบคาบตั้งแต่ต้น หญิงสาวเปรยๆ “การพูดเป็นของง่าย” หากชายหนุ่มสำทับ

“ในวันหนึ่ง เมื่อเธอรู้จักค่าของชีวิต ได้สำนึกซึมซาบในความหอมหวานของชีวิต เธอจะได้คิดและยกมือสาธุในการที่ได้ฟังฉันพูดในคืนนี้ เธอไม่ใช้ผู้หญิงคนแรกในพระนคร หรือจะพูดให้ถูกในโลก ที่มีลูกโดยวิธีนี้ แต่คนอื่นๆ เขากล้าพอที่จะตั้งต้นชีวิตใหม่ ก็เหตุไฉนเล่าเธอจะทำอย่างนั้นบ้างไม่ได้ เธอยังสาวและสวย ตามสายตาของฉัน”

เป็นน้ำคำที่ผลิรอยยิ้มหญิงสาว แม้จะเป็นยิ้มอย่างกระดากอาย ชายหนุ่มขอให้หล่อนสัญญากับเขา ยกมือจับแขน สบสานนัยน์ตา

“สัญญาเสียว่าเธอจะไม่ทำอะไรหุนหันพลันแล่นเช่นนี้ จนกว่าเธอจะได้พบฉันอีก

หล่อนมิทันตอบอะไร เขาร้อนรนกล่าวต่อ

ได้โปรดเถิด เธอจะไม่ไปนึกเสียใจภายหลังเลย เธอไม่มีอะไรจะต้องเสียเปรียบสักอย่างเดียว นอกจากนี้ ฉันขอทราบด้วยว่าเธอชื่ออะไร อยู่ที่ไหน?”

 ในที่สุดหญิงสาวก็เอ่ยปาก

ดิฉันยอมสัญญาจนกว่าจะพบคุณอีก

หล่อนหันหลังให้สะพานพุทธ เดินจากไป ตัดสินใจเลือกที่จะมีชีวิตอยู่

‘เรียมเอง’ น่าจะจบเรื่องสั้นของเขาตรงนี้เพื่อให้ผู้อ่านเบิกบานแช่มชื่น ทว่าครูมาลัยกลับปิดท้ายให้ผู้อ่านสะทกสะเทือนใจครามครัน

“ชายหนุ่มเฝ้าดูหล่อนจนลับตาไป แล้วก็ยิ้มแก่ตนเอง เพราะทราบดีว่าหล่อนไม่สามารถจะพาตัวมาพยายามฆ่าตัวตายได้เช่นนั้นอีก ครั้นแล้วเขาก็ก้าวขึ้นไปบนราวเหล็กของสะพาน และโจนพุ่งหัวดิ่งลงสู่พื้นน้ำอันไหลวนดำมะเมื่อมเงียบเชียบอย่างน่ากลัวอยู่เบื้องล่าง อย่างที่เขาได้เจตนาจะกระทำอยู่แล้วตลอดเวลาที่มาอยู่บนสะพานพระพุทธยอดฟ้า!

ผมอ่านเรื่องสั้น ผู้บำเพ็ญกรณีย์ หนแรกสุดตอนอายุยังไม่เต็มยี่สิบ และเป็นช่วงใกล้ๆ กับที่ได้ชมภาพยนตร์ Taste of Cherry ผลงานของผู้กำกับชาวอิหร่านนาม อับบาส เคียรอสตามี (Abbas Kiarostami)  จำได้ว่าทั้งเรื่องสั้นและภาพยนตร์ที่ขับเน้นคุณค่าความหอมหวานแห่งชีวิต บันดาลให้ลิ้นหัวใจของผมลิ้มรสชาติบางอย่างคลับคล้ายคลับคลากัน จะผิดแผกก็แต่ผมยังไม่เคยสบโอกาสไปชิมรสชาติลูกเชอร์รี่ที่อิหร่าน ส่วนสะพานพุทธผมแวะเวียนไปดื่มด่ำความคำนึงนึกเนืองๆ

‘เรียมเอง’ หรือ มาลัย ชูพินิจ ในวัยหนุ่ม

อีกนักประพันธ์ที่อาศัยฉากสะพานพุทธกับการกระทำอัตวินิบาตกรรมดำเนินเรื่องคือสุวัฒน์ วรดิลก (เจ้าของนามปากกา ‘รพีพร’)  เขาเขียนเรื่องสั้นขนาดยาว กลิ่นซัวร์…สาบสาว ลงตีพิมพ์ใน ปิยะมิตรรายเดือน ประจำเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2492

จะว่าไป เรื่องสั้นของสุวัฒน์นำเสนอประเด็นและมิติซับซ้อนกว่าเรื่องสั้นของครูมาลัย สะพานพระพุทธยอดฟ้าในงานของเขาอบอวลกลิ่นอายน้ำหอม ‘ซัวร์ เดอ ปารีส์’ หรือ ‘สายัณห์ในปารีส’ ซึ่งเป็นน้ำหอมที่ตัวละครหญิง—เพียงเดือน หญิงสาวชาวนครสวรรค์ใช้ปรุงกลิ่นกายของเธอ

“…พบเดือนบนฟ้าเพียง ๑๘ ปี ก็ถูกจับแต่งงานกับนักธุรกิจหน้าเซ่อๆ ต่อความรักอย่างนายพรหม…ผู้ซึ่งน่าจะเป็นพระพรหมที่สร้างโลกขึ้นมาแล้วนั่งหลับโดยไม่ยอมรับรู้รสชาติของโลก”

นายพรหมเป็นชายชราอายุคราวพ่อ แต่เพียงเดือนจำเป็นต้องยอมปรี่เข้าสู่อ้อมแขนคหบดีผู้นี้เพื่อปลดเปลื้องหนี้สินให้บิดา เมื่อเธอมาอยู่พระนครกลับพบพานพิศวาสกับชายหนุ่มเยี่ยงนายบัญชา ธำรงศักดิ์ หญิงสาวยินดีปรีดาให้เขาเป็นยอดชู้รัก แต่นายบัญชาไม่ได้เกิดมาสำหรับเฉพาะผู้หญิงคนใดคนหนึ่ง เขาหลงเสน่ห์กลิ่นสาบสาวและกลิ่นซัวร์ หากท้ายสุดเขาก็ทอดทิ้งเพียงเดือน สาวนครสวรรค์ร้าวรานเหลือจะเพ้อพร่ำรำพัน เธอมุ่งหน้าไปสู่สะพานพุทธ ปีนขึ้นแป้นเสาสูง กระโดดลงมากระแทกร่างงามกับพื้นซีเมนต์ใต้สะพานต่อหน้าต่อตาชายหนุ่มในดวงหทัยของเธอ

ภาพถ่ายบรรยากาศการสัญจรไปมาของผู้คนบนสะพานพุทธ โดย รงค์ วงษ์สวรรค์ เมื่อ พ.ศ. 2501

นายบัญชาหนีจากพระนครไม่กลับมาอีกเลย นานแรมปีจึงหวนย้อนคืน เพียงเดือนและกลิ่นน้ำหอม ‘ซัวร์ เดอ ปารีส์’ ยังคอยหลอกหลอน เขาบ่ายหน้าไปสะพานพุทธ สุวัฒน์บรรยายฉากบนสะพานด้วยภาพพจน์เสมือนเรื่องภูติผีวิญญาณ

“บนแป้นสูงของเสาใหญ่ตีนสะพาน ที่ซึ่งเพียงเดือนเคยขึ้นไปยืนอยู่ บัดนี้ มีหญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ หล่อนนั่งหัวเราะ ใบหน้าของหล่อนจมอยู่ในเงามัวๆ แต่เสียงหัวเราะของหล่อน คงดังขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งหล่อนหัวเราะ กลิ่นซัวร์กับสาบสาวก็ยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้น…”

นายบัญชาป่ายปีนราวสะพานเหล็กขึ้นไปหาเพียงเดือน หมายจะกระชากร่างเธอให้พลัดตกลงไปยังพื้นซีเมนต์ใต้สะพาน อันเป็นที่ตายของเธอ แต่เมื่อเขาคว้าเส้นผมเพียงเดือนได้ เธอผลักอกเขาหงายหลังหล่นลงเบื้องล่าง

ย่อหน้าสุดท้ายในเรื่องสั้น สุวัฒน์อ้างข้อความจากสมุดบันทึกของสารวัตรประจำสถานี

“ที่ที่เกิดเหตุ เป็นที่เดียวกับที่ซึ่งนางเพียงเดือน ภรรยานายพรหมได้เคยกระทำอัตวินิบาตกรรมมาแล้วเมื่อปีกลาย แต่สำหรับรายนี้ น่าประหลาดอยู่นิด ตรงที่ในมือผู้ตาย กำเส้นผมของผู้หญิงไว้กระจุกหนึ่ง และเส้นผมนั้น มีกลิ่นน้ำอบฝรั่ง ซัวร์ เดอ ปารีส์ หอมกรุ่นอยู่…”

สุวัฒน์ วรดิลก ในวัยหนุ่ม

 

สะพานพุทธครั้งที่ยังมีระบบยกเปิดปิดให้เรือลำใหญ่แล่นผ่าน

เพ่งพิศสะพานพระพุทธยอดฟ้า นอกเหนือจากอารมณ์จะเพริดไปพัวพันกับวรรณกรรม ผมยังรำลึกถึงคนและการงานของพวกเขา ซึ่งทุกวันนี้เรายากจะประจักษ์ ย้อนไปในยุคสมัยที่สะพานพุทธมีระบบยกเปิด-ปิดได้ด้วยแรงไฟฟ้าให้เรือแล่นลำผ่าน อาชีพหนึ่งที่สลักสำคัญคือ ‘พนักงานเปิดปิดสะพาน’

ภาพของสะพานพุทธระหว่างการก่อสร้าง
Photo: siamrat.blog

ผมไม่แน่ใจนัก นับแต่เปิดใช้สะพานมา มีพนักงานเปิดปิดมาทั้งสิ้นกี่คนและเป็นใครบ้าง? ทว่าพนักงานคนที่ผมพบเจอชื่อเจนตาคือ นายแก้ว วงส์เครือวัลย์

ปีพุทธศักราช 2486 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานครแว่วยินเสียงตบเท้าของทหารญี่ปุ่น ชาวเมืองสะดุ้งฟังเสียงหวอและต้องคอยหลบหนีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในพื้นที่ต่างๆ หัวซุกหัวซุน นายแก้วอายุ 47 ปี ทำงานบนสะพานพระพุทธยอดฟ้า รับราชการอยู่เทศบาลนครกรุงเทพฯ โดยมีหน้าที่เป็นหัวหน้าพนักงานเปิดปิดสะพาน กินเงินเดือนๆ ละ 96 บาท เขาจะไปทำงานตอน 06.00 น. และเลิกงานประมาณ 17.00 น.

นายแก้วไม่เพียงรับราชการ ยังตั้งร้านค้าขายส่วนตัวแถวถนนบ้านหม้อ ชื่อร้าน ‘ประมวลช่างไทย’ ขายของเบ็ดเตล็ดจำพวกไม้ขีดไฟ เทียนไข สบู่ เป็นต้น และรับจ้างอัดพร้อมซ่อมแบ็ตเตอรี่รถยนต์ด้วย เจ็ดปีก่อนหน้า เขาเคยเปิดร้านชื่อ ‘สยามไดโนโม’ ที่ถนนสีลม ค้าขายยางรถยนต์ น้ำมันก๊าด น้ำมันเบนซิน และแบตเตอรี่รถยนต์ ได้ติดต่อซื้อขายกับชาวญี่ปุ่นเสมอๆ

นายแก้วผูกสัมพันธ์อันดีกับชาวญี่ปุ่นมาหลายปี แต่มิรู้ด้วยเหตุใด ในวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พุทธศักราช  2486 เวลาประมาณ 15.00 น. เขาถูกทหารญี่ปุ่นจับกุมควบคุมตัวไปไว้ ณ ที่ทำการหน่วยสารวัตรญี่ปุ่นหน่วยใต้ศาลาแดง ทางการฝ่ายไทยออกตามหาตัวนายแก้วเพราะเกรงว่าเมื่อนายแก้วไม่อยู่อาจจะส่งผลให้การเปิดปิดสะพานพุทธขัดข้อง เนื่องจากจะต้องเปิดสะพานตอนเวลา 08.00 น.ของวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม คืนนั้นนายแก้วปลุกระดมใจเด็ดเดี่ยวแอบหลบหนีจากหน่วยสารวัตรญี่ปุ่นมาได้

เรือรบแล่นผ่านสะพานพุทธเมื่อครั้งยังเปิด-ปิดได้ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2524
Photo: siamrat.blog

ช่วงปลายสงคราม สะพานพระพุทธยอดฟ้าถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดจนสะพานขาดท่อน แม้จะมิใช่เป้าหมายหลัก แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการทิ้งระเบิดพลาดเป้า

ปลายทศวรรษ 2490 ต้นทศวรรษ 2500 บุคคลหนึ่งที่มีชื่อเสียงเคียงคู่สะพานพุทธคือ จ่าสิบตำรวจสมสวาท มาพิบูลย์ตำรวจจราจรผู้ได้รับฉายา ‘จ่าสมสะพานพุทธ’ โด่งดังจนได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง ยอดอนงค์ ของบริษัทรัตนาภาพยนตร์ ออกฉายในเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2501 นำแสดงโดย เรวดี ศรีวิไล และ อดุลย์ ดุลยรัตน์ ซึ่งจ่าสมก็สวมบทบาทในหนังเป็นตำรวจจราจร

ปลายทศวรรษ 2520 สะพานพระพุทธยอดฟ้ายุติการยกเปิดปิด เนื่องจากไม่มีความจำเป็นที่เรือลำใหญ่จะแล่นผ่านสะพานพุทธเข้ามาเทียบท่าตอนในของพระนครอีกต่อไป อย่างไรก็ดี ในปีพุทธศักราช 2563 แว่วมาว่าจะปรับปรุงให้สะพานพุทธกลับมายกเปิดปิดได้อีกครั้ง

ถึงเรือจะล่องแม่น้ำเจ้าพระยาลอดผ่านสะพานพระพุทธยอดฟ้าออกมาห่างทุกที หากผมมักมิแคล้วเหลียวหันกลับไปมองจดจ่อโครงเหล็กสีเขียวเข้ม ราวกับประดาเรื่องเล่าอีกมากมายยังพร้อมเพรียงที่จะพรั่งพรูออกมาจากอดีตอย่างไม่สิ้นสุด !

 

เอกสารอ้างอิง

  • หจช.บก.สูงสุด 2.7.3/49 สารวัตญี่ปุ่นจับนายแก้ว วงส์เครือวัลย์ เจ้าหน้าที่เปิดปิดสะพานพุทธยอดฟ้า โดยพละการ (22 มี.ค. – 5 เม.ย. 2486)
  • ขนิษฐา ณ บางช้าง (บรรณาธิการ). ระหว่างชีวิตของมาลัย ชูพินิจ. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ:ดำรงสิทธิ์, 2537
  • โดม สุขวงศ์,ทิพย์วัลย์ ประยูรสุข (บรรณาธิการ). ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๐๙. นครปฐม: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), 2561
  • ประกอบยันตรกิจ (โยน ใยประยูร),หลวง.“สะพานพระพุทธยอดฟ้า” ใน รวมปาฐกถา ซึ่งแสดงที่สามัคยาจารย์สมาคม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ ถึง ๒๔๗๔. อำมาตย์ตรี หลวงเลขาวิจารณ์ (ศรีศุกร์ บุรณศิริ) พิมพ์ในการปลงศพ ลมุน อินทรมนตรี ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส 28 ธันวาคม พ.ศ. 2474. พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2474
  • พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557
  • มาลัย ชูพินิจ.“ผู้บำเพ็ญกรณีย์” ใน รวมเรื่องสั้นของ เรียมเอง”. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: กระท่อม ป.ล., หน้า 125-128
  • ยศ วัชรเสถียร. กุหลาบ สายประดิษฐ์ ศรีบูรพาที่ข้าพเจ้ารู้จัก. กรุงเทพฯ: อาร์ตแอนด์ซายน์, 2525
  • ยุธิษเฐียร. ขุดจากอดีต. พระนคร: โอเดียนสโตร์, 2514
  • สุวัฒน์ วรดิลก. “กลิ่นซัวร์สาบสาว” ใน เกิดมาเขียน. พระนคร: มิตรนราการพิมพ์, หน้า 85-106
  • สมสวาท มาพิบูลย์. ชีวิตข้าฯ…จ่าสม อดีต “จราจรสะพานพุทธ”. กรุงเทพฯ : วงศ์สว่าง, 2548
  • “สะพานพระพุทธยอดฟ้าเปนที่โดดน้ำตายจนชิน.” สุภาพสตรี ปีที่ 1 ฉ. 1 (5 กุมภาพันธ์ 2482)
  • อาษา. น้องสาว. พิมพ์ครั้งที่ 3. พระนคร :ขอจิตต์เมตต์, 2495