©ulture

คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่า ที่เคยเดินงงในดงภาพเขียนระดับโลก ตอนไปเที่ยวที่เทตแกลเลอรีในลอนดอน กร็องปาแลที่ปารีส หรือโมม่าในนิวยอร์ค 

เขาว่ากันว่าภาพสระบัวของโมเนช่างล้ำลึก รอยปาดฝีแปรงของแวนโก๊ะแสนจะเด็ดขาด และจังหวะที่เดอกาจับโมเมนต์ที่คนกำลังตกม้ามาไว้ในภาพเขียนได้ก็ช่างน่าตื่นตะลึง แต่ทำไมมนุษย์ผู้ไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ศิลปะมาอย่างเรา จึงได้แต่ทำหน้าเหม่อลอย จดๆ จ้องๆ ภาพงามได้ไม่ถึงสามนาที แล้วก็เดินจากไป 

ถ้าคุณเคยประสบภาวะเดียวกันนี้ แนะนำให้ทำการบ้านก่อนการเดินทางไปชมภาพเขียนครั้งหน้า ด้วยการอ่านหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ที่จะทำให้คุณอยากถลำลึกไปทำความรู้จักประวัติของจิตรกรระดับโลกคนอื่นๆ เพิ่มขึ้น

Impressionism

โต๊ะอาหารที่จิแวร์นี เขียนโดย มาฮา ฮาราดะ นักเขียนชาวญี่ปุ่นผู้พ่วงบทบาทของการเป็นภัณฑารักษ์เข้าไปด้วย เธอจึงเลือกเล่าเรื่องที่เธอสนใจและมีความรู้จากการคลุกคลีอยู่แล้วในเนื้องาน ด้วยการนำชีวประวัติของศิลปินฝรั่งเศสในกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์มาเล่าใหม่ในรูปแบบของเรื่องสั้น เพื่อที่จะได้เสริมอรรถรสขำขัน ดรามา โรแมนติค และรื่นรมย์ให้กลมกล่อมในทุกเรื่องราว 

อ็องรี มาติส, เอ็ดการ์ เดอกา, ปอล เซซาน และโคลด โมเน คือชื่อของจิตรกร ท่าน ที่ฮาราดะเลือกหยิบยกเอาเหตุการณ์ในบางช่วงชีวิตของพวกเขามาเล่าผ่านตัวละครที่แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อร้อยเรียงทั้ง เรื่องเข้าด้วยกัน ภาพวิถีชีวิตและการทำงานของศิลปินกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสม์แห่งศตวรรษที่ 19 ก็ชัดเจนขึ้นจนกลายเป็นภาพใหญ่ภาพเดียว 

ปิดเล่มกันที่ ‘สุสานแสนงาม’ เรื่องเล่าจากความทรงจำของอดีตแม่บ้านวัยเจ็ดสิบที่เคยดูแลปรนนิบัติ อ็องรี มาติส ในช่วงบั้นปลายชีวิต ณ โอเต็ลเรฌีนาในเมืองนีซ สถานที่ที่มาติสใช้เป็นสตูดิโอในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหญ่อย่างภาพประดับหน้าต่างกุหลาบของโบสถ์ยูเนียนแห่งโพคานติโกฮิลส์ ในวัยแปดสิบสี่ปีที่สังขารเริ่มโรยรา แม้จะต้องประจำการบนรถเข็น แต่มาติสก็ยังคงตื่นมาทำงานด้วยความสดใสในทุกเช้า

Impressionism
มาติสใช้เกรยองติดกับไม้ไผ่ลำยาววาดภาพลายเส้นบนผนังห้องพักบนชั้นสามของโอเต็ลเรฌีนา เมืองนีซ ปี 1950
Photo: http://www.henri-matisse.net/photographs.html

ฮาราดะย่อยรายละเอียดในวิถีชีวิตของศิลปินรุ่นใหญ่ออกมาเป็นภาพที่ละเมียดราวกับตาเห็น ตั้งแต่การบรรยายบรรยากาศภายในสตูดิโอของมาติส ที่บนฝาผนังมีภาพคอลลาจจากกระดาษสีติดอยู่หลายชิ้น บนพื้นเต็มไปด้วยกระดาษสีกระจัดกระจายกลาดเกลื่อน ผนังอีกด้านมีภาพร่างคนเต้นระบำ บนแท่นเหนือเตาผิงประดับภาพสีน้ำมันทิวทัศน์เมืองนีซผลงานของตนเอง ไปจนถึงภาพทิวทัศน์จากฝีแปรงของจิตรกรท่านอื่นๆ ประดับอยู่ด้วยเช่นกัน

Impressionism
The Joy of Life, Henri Matisse, 1905
Photo: https://www.henrimatisse.org/joy-of-life.jsp

รวมถึงการเพิ่มสีสันให้เรื่องราวด้วยการโยนตัวละครชื่อดังระดับโลกอย่าง ปาโบล ปิกาโซ เข้ามาเสริมอรรถรส ในฐานะเพื่อนรักและคู่แข่งคนสำคัญของมาติส ปฏิเสธไม่ได้ว่าปิกาโซสามารถสยายปีกเป็นศิลปินระดับโลกได้ก็เพราะได้ผลงานของมาติสอย่าง The Joy of Life ช่วยเบิกเนตร ปิกาโซในวัย 26 ปี ณ ตอนนั้น ต้องมนตร์เสน่ห์ของสสันที่ร้อนแรงและลายเส้นของรูปร่างที่แน่วแน่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาที่ล้นเหลือในงานของมาติสเข้าอย่างจัง จนอาจเปนหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ปิกาโซเติบโตขึ้นเป็นจิตรกรหนุ่มผู้ปฏิวัติวงการภาพเขียน และเป็นไอคอนทางศิลปะในเวลาต่อมา

Impressionism
Still Life with a Magnolia, Henri Matisse, 1941
Photo: http://www.henri-matisse.net/paintings/dp.html

และสำหรับนางเอกประจำเรื่องสั้นเรื่องนี้ หนีไม่พ้นดอกแมกโนเลียที่มีความหมายต่อชีวิตของมาติสอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่เฉพาะในฐานะภาพจำจากผลงาน Still Life with a Magnolia เท่านั้น แต่ สุสานแสนงาม จะทำให้ผู้อ่านกำซาบในความหมายของดอกไม้แห่งชีวิตดอกนี้มากยิ่งขึ้น 

เรื่องสั้นลำดับที่สองอย่าง ‘เอตวล’ พาคนอ่านบุกเข้าไปยังแกลเลอรีดูร็องรูเอล หนึ่งในแหล่งฟูมฟักศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ในศตวรรษที่ 19 แกลเลอรีแห่งนี้บริหารงานโดย ปอล ดูร็องรูเอล นักค้างานศิลปะผู้เป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการผลักดันให้ชาวโลกได้รู้จักกับศิลปินกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์ ที่ถูกเย้ยหยันและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในยุคนั้นว่าเป็นกลุ่มคนเสียสติ วาดภาพไม่เข้าท่า แต่แกลเลอรีดูร็องรูเอลกลับหาญกล้ามุ่งมั่นพยายามขายผลงานของศิลปินที่ไม่มีใครรู้จัก (ในตอนนั้น) อย่างโมเน เรอนัวร์ ซิสเลย์ หรือปีซาโร ที่แม้จะต้องเผชิญวิกฤติล้มละลายก็ยอม

Impressionism
The Dance Class, Edgar Degas, 1873
Photo: https://www.smithsonianmag.com/smithsonian-institution/true-story-little-ballerina-who-influenced-degas-little-dancer-180953201/

ดังนั้น สายสัมพันธ์ระหว่างปอลกับศิลปินกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์จึงไม่ใช่แค่ระหว่างพ่อค้างานศิลปะกับศิลปิน แต่ลึกซึ้งแนบแน่นราวพี่น้องในสายเลือด นั่นทำให้ในวันที่ เอ็ดการ์ เดอกา สิ้นลม แกลเลอรีดูร็องรูเอล จึงรับหน้าที่ดูแลรวบรวมผลงานของศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ ผู้หลงใหลการจับภาพ ประเดี๋ยวนี้ เอาไว้ในเฟรมผ้าใบ 

เดอกาถือเป็นศิลปินเจ้าของวิญญาณขบถตัวจริง เพราะแม้ผลงานของเขาจะเคยได้รับคัดเลือกไปแสดงในนิทรรศการศิลปะของทางการ ที่จัดโดยสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งฝรั่งเศสหลายครั้ง แต่แล้วเขาในวัยสามสิบกว่ากลับเลือกใช้เทคนิคสร้างสรรค์ในแบบของตัวเอง ด้วยโมทีฟที่ไม่มีใครคาดถึง และวาดภาพที่มีองค์ประกอบแปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นภาพบรรดานักเต้นบัลเลต์ ชายหญิงที่ไปรวมตัวกันตามคาเฟ่แถบชานเมือง ภาพหญิงอาบน้ำที่จัดองค์ประกอบให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกำลังแอบดู ที่สมจริงเสีจนผู้ชมแทบจะรู้สึกทนดูไม่ไหว เพราะรู้สึกราวกับเห็นภาพต้องห้ามที่ไม่ควรจะได้เห็น ทำให้คนส่วนใหญ่ต่อต้านผลงานของเดอกา 

ความคลั่งไคล้การจับภาพใน ชั่วขณะ โดยเฉพาะท่วงท่าพลิ้วไหวของนักเต้นบัลเลต์ ทำให้เดอกาลงทุนว่าจ้างนักเต้นบัลเลต์เป็นนางแบบและศึกษาท่วงท่าของพวกเธออย่างตั้งอกตั้งใจ เพื่อสเก็ตช์ภาพในแต่ละชั่วขณะให้สามารถคงอยู่ไปชั่วนิรันดร์

Impressionism
Little Dancer of Fourteen Years, Edgar Degas,
Photo: https://www.tate.org.uk/art/artworks/degas-little-dancer-aged-fourteen-n06076

และหนึ่งในนักบัลเลต์ที่กลายมาเป็นหัวใจของเรื่องสั้นเรื่องนี้ ก็คือ มารี เด็กสาววัยสิบสี่ที่เป็นแบบให้เดอกาปั้นหุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนของเธอ ด้วยหวังว่าเขาจะสามารถปั้นมารีให้กลายเป็นเอตวล หรือนักเต้นตะแหน่งดาวของคณะบัลเลต์ จริงๆ ได้จากท่วงท่าและเสน่ห์อันน่าพิศวงของหุ่นขี้ผึ้งตัวนี้ 

Little Dancer of Fourteen Years ถือเป็นประติมากรรมเพียงชิ้นเดียวที่เดอกาเคยนำออกสู่สายตาชาวโลกในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ โดยจัดแสดงในงานนิทรรศการศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ครั้งที่หก ในปี 1881 และสามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนในยุคนั้น ตราบจนถึงคนในยุคนี้ได้อยู่หมัด 

เหลือก็แต่เหตุผลแห่งความหลงใหลว่าอะไรทำให้เดอกาคลั่งไคล้ในลีลาของนักบัลเลต์จนถึงกับอยากสตัฟฟ์พวกเธอไว้ชั่วกาล ซึ่งเรื่องสั้นเรื่องนี้พร้อมเผยแรงบันดาลใจให้นักอ่านร่วมตีความโดยทั่วกัน

Impressionism
The Basket of Apples, Paul Cezanne, 1890-1894
Photo: https://en.wikipedia.org/wiki/Paul_C%C3%A9zanne

ฮาราดะพาผู้อ่านไปสนุกสนานกันต่อกับ ‘พ่อต็องกีย์’ ผ่านลีลาการเขียนจดหมายทวงหนี้ของลูกสาวร้านขายอุปกรณ์วาดรูป ที่ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อความอยู่รอดของร้าน เหตุมาจาก จูเลียน ต็องกีย์ ผู้เป็นพ่อ ยอมให้ศิลปินไส้แห้งทั้งหลายจ่ายสี ค่าพู่กัน ด้วยภาพเขียนอิมเพรสชันนิสม์ที่ไร้ราคาจนรกเต็มร้านไปหมด ไม่ว่าจะเป็นงานของปีซาโร โมเน เซซาน แวนโก๊ะ โกแกง เซอรา แบร์นาร์ด ฯลฯ ที่ในตอนนั้นต่างก็ล้วนเป็นศิลปินไร้ชื่อกันทั้งสิ้น 

แต่จดหมายทวงหนี้ไม่ได้ส่งถึงทุกคน จะมีก็แต่ ปอล เซซาน เท่านั้นที่ได้รับการติดตามหนี้ต่อเนื่องนานหลายปี ทั้งที่เขาคือจิตรกรที่พ่อต็องกีย์โปรดปรานเป็นพิเศษ พิสูจน์ได้จากการเก็บรักษาภาพ The Basket of Apples ขอเซซานไว้เป็นอย่างดี ถึงขั้นลั่นวาจาเอาไว้ว่าจะไม่มีวันขายภาพนี้เป็นอันขาด และมักนำภาพนี้มาใช้ปลุกใจจิตรกรหนุ่มรุ่นใหม่อย่างวิกตอร์ โชเก, ปอล กาเช, เอมีล โซลา รวมทั้งวินเซนต์ แวน โก๊ะ พร้อมบอกให้พวกเขาจงเชื่อมั่นในศิลปะการถ่ายทอดตามวิถีของตัวเอง เหมือนอย่างที่เซซานวาดภาพนี้

Impressionism
Pere Tanguy, Vincent van Gogh, 1887
Photo: https://en.wikipedia.org/wiki/Portrait_of_P%C3%A8re_Tanguy

เสน่ห์เล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องพ่อต็องกีย์อยู่ตรงการสอดแทรกประวัติศาสตร์ของหลอดสีเอาไว้ในนั้น โดยระบุว่าเดิมพ่อต็องกีย์เติบโตมาจากการเป็นคนงานบดแป้งทาหน้าเป็นผง แล้วนำมานวดกับน้ำมันในโรงานผลิตสีวาดรูป ซึ่งแต่เดิมสีวาดรูปจะถูกบรรจุในหลอดฉีดทำจากทองเหลือง เวลาจะใช้ก็กดลูกสูบฉีดสีออกมา พวกจิตรกรจึงต้องถือหลอดเปล่าๆ ไปให้ร้านขายสีเติมสีให้ใหม่  

หลังจากนั้นพักหนึ่งจึงมีการคิดค้นหลอดบีบขึ้น ทำให้หลอดใส่สีที่ผลิตจากตะกั่วและมีฝาเล็กๆ ตรงปลายเริ่มแพร่หลาย จิตรกรจึงไม่ต้องลำบากล้างหลอดฉีดสีให้สะอาดทุกครั้งที่สีหมด ที่สำคัญคือ ช่วยให้ศิลปินจำนวนมาก สามารถหอบสี พู่กัน และผ้าใบออกไปวาภาพกลางแจ้งได้  

หลอดสีจึงเป็นดั่งกุญแจที่ปลดเปลื้องพันธนาการให้เหล่าศิลปินไม่ต้องอุดอู้อยู่แต่ในสตูดิโอมืดทึม สามารถออกไปวาดรูปท่ามกลางสายลมแสงแดดภายนอกได้อย่างอิสระยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของภาพเขียนอิมเพรสชันนิสม์ก็ว่าได้ โดยจิตรกรกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์มักแสวงหาสิ่งที่จะวาดตามท้องถนน วิถีชีวิตของผู้คน หรือธรรมชาติรอบตัว โดยแบกขาตั้งพร้อมสีเป็นหลอดๆ และจานผสมสีออกไปอยู่ในแสงสว่างกลางแจ้งเสียเป็นส่วนใหญ่ 

และเมื่อพูดถึงอิริยาบถของการจับพู่กันวาดภาพท่ามกลางทิวทัศน์งดงามกลางแจ้ง คงไม่มีใครเทียบ โคลด โมเน ผู้เป็นเจ้าของวิวสวนหลังบ้านที่นำมาสร้างสรรค์ผลงานระดับโลกได้นับร้อยภาพ

Impressionism
Impression, Sunrise, Claude Monet, 1872
Photo: https://en.wikipedia.org/wiki/Impression,_Sunrise

และกล่าวกันว่าภาพ Impression, Sunrise ของเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพที่จัดแสดงในนิทรรศการศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ครั้งที่หนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นที่สตูดิโอของช่างภาพชื่อนาดาร์ ในปี ค.. 1874 คือที่มาของการเรียกชื่อศิลปะในแนวทางนี้ว่าลัทธิประทับใจ หรือ Impressionism นั่นเอง 

เรื่องราวใน ‘โต๊ะอาหารที่จิแวร์นี’ ก็เช่นเดียวกับอีกสามเรื่องที่ฮาราดะเลือกเล่าถึงการสร้างสรรค์ผลงานในช่วงท้ายๆ ในชีวิตของโมเน ซึ่งก็เป็นวาระที่เขาต้องทุกข์ทรมานกับการเป็รโรคต้อกระจก ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ในการวาดภาพชุดสระบัว หรือ Water Lilies ที่มีกำหนดส่งบางภาพให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส นั่นทำให้ผู้ที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้หนีไม่พ้น เกลม็องโซ นักการเมืองและเพื่อนเก่าแก่ของโมเน ผู้คอยให้กำลังใจศิลปินผู้นี้เสมอมา

Impressionism
The Water Lilies – Setting Sun, Claude Monet, 1920–26,
Musée de l’Orangerie, Paris
Photo: https://en.wikipedia.org/wiki/Water_Lilies_(Monet_series)

และด้วยตำแหน่งที่เคยเป็นถึงนายกรัฐมนตรี เกลม็องโซจึงผลักดันและสนับสนุนผู้ก่อตั้งกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์ ที่เคยถูกมองว่าเป็นศิลปินล้ำยุคให้สามารถต่อรองกับรัฐบาลได้อย่างทัดเทียม เขาจึงเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอชิ้นสำคัญของการเบ่งบานแห่งศิลปะลัทธิประทับใจก็ว่าได้ 

โต๊ะอาหารที่จิแวร์นี ถ่ายทอดวิถีในการทำงานของโมเนเอาไว้ครบรสที่สุด โดยเล่าผ่านมุมมองของบล็องซ์ ลูกเลี้ยงและผู้ช่วยคนสำคัญของเขา ที่ผูกพันกับโมเนจนรู้ใจในทุกอิริยาบถของการขยับร่างกาย ไปจนถึงจังหวะการตัดสินใจในแทบจะทุกเรื่องของจิตรกรเอกแห่งจิแวร์นีคนนี้ บล็องซ์ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวในปัจจุบันและอดีตของครอบครัวโมเนที่เข้มข้นจนสมควรเล่าเป็นนิยาย ถึงจะกินใจความได้ครบรสมากกว่านี้ 

ความพิเศษอีกประการของเรื่องสั้นปิดท้ายเล่ม ก็แฝงอยู่ในชื่อเรื่องอยู่แล้ว เพราะนอกเหนือจากความอัศจรรย์ในผลงานของโมเน ทุกมื้ออาหารของเขายังเต็มไปด้วยรายการอาหารยาวเหยียดที่บ่งบอกความหมายแห่งชีวิตได้อย่างลึกซึ้งเช่นกัน 

  • ต๊ะอาหารที่จิแวร์นี เขียนโดย มาฮา ฮาราดะ แปลโดย กนกวรรณ เกตุชัยมาศ 
  • สำนักพิมพ์ ซันเดย์อาฟเตอร์นูน 

Related Event

  • ใครอ่าน โต๊ะอาหารที่จิแวร์นี จบแล้ว แต่อารมณ์ยังไม่จบ อยากเห็นภาพวาดในยุคอิมเพรสชันนิสม์เป็นขวัญตา แนะนำให้ไปชมนิทรรศการมัลติมีเดีย The Impressionists ที่ MODA Gallery ชั้น 2 River City Bangkok ที่คัดสรรผลงานของศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ 10 ชีวิตแห่งกรุงปารีส มาจัดแสดงแบบอินสตอลเลชั่นให้ชมกันถึงกรุงเทพฯ ประเทศไทย จัดแสดงไปจนถึงวันที่ 18 เมษายน 2564