©ulture

‘ด่าอย่างไรไม่ให้ซ้ำเพื่อน’ เป็นมุกตลกที่ผ่านมาให้เห็นบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊ก หลังจากมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้คนพังกำแพงของตัวเอง แล้วพากันวิพากษ์วิจารณ์เพื่อเรียกร้องสิ่งที่ดีกว่าอย่างเปิดเผย 

ในสังคมประชาธิปไตย การวิพากษ์วิจารณ์จำเป็นอย่างยิ่งในวันที่เราต้องเรียกร้องบางสิ่งที่ควรได้รับ เพื่อความเปลี่ยนแปลงของชีวิตที่ดีขึ้น เราทุกคนมี ‘เสรีภาพในการพูดและแสดงออก’ (Freedom of speech and expression) อย่างเท่าเทียมกัน มันเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์ทุกคนมาตั้งแต่กำเนิด ความคิดเป็นของเรา ร่างกายเป็นของเรา มนุษย์จึงพูดได้ทุกอย่างที่อยากพูด วิจารณ์ได้ทุกอย่างที่อยากวิจารณ์ แต่ท้ายที่สุดก็จะเกิดคำถามว่า แล้วเราจะพูดได้มากแค่ไหน เสรีภาพของเรามีขอบเขตบ้างหรือเปล่า เมื่อบางครั้งข้อความบางชนิดกลับมีสถานะประหนึ่งการลงทัณฑ์ จนเผลอข้ามเส้นไปละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของใครบางคนเข้า

ภาพ ‘Give Me Liberty or Give Me Death!’ ขณะที่แพทริก เฮนรี (Patrick Henry) กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับสิทธิของอาณานิคมก่อนเริ่มประชุม Virginia Assembly ที่เมืองริชมอนด์ ปี 1775

สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่บัญญัติไว้ใน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( International Covenant on Civil and Political Rights ICCPR) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน ร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ร่วมกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ในข้อที่ 19 มีใจความระบุว่า

(1) บุคคลมีสิทธิในการแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และ (2) บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงออก มีเสรีภาพในการแสวงหา รับ และส่งต่อข้อมูลและแนวคิดทุกประเภทได้อย่างไร้พรมแดน ไม่ว่าจะโดยปากเปล่า ลายลักษณ์อักษร สิ่งพิมพ์ งานศิลปะหรือสื่ออื่นๆ ที่เขาเลือก

การประท้วงเพื่อเสรีภาพในการพูดที่เมืองเบิร์กลีย์, อเมริกา ปี 1960

นอกจากการการวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแล้ว มันยังเป็นสิ่งสำคัญเชิงประจักษ์ในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะเสรีภาพในการพูดนี้เองที่ถูกใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม

เด็กหญิงจากอีกซีกโลกคงไม่เคยรู้มาก่อนว่าเธอมีสิทธิจะปลดเปลื้องตัวเองออกจากเสื้อชั้นใน หากไม่มีใครสักคนลุกขึ้นมาเปลือยอกและเดินขบวนประท้วงว่าหน้าอกของผู้หญิงไม่ใช่สิ่งอนาจาร หรือคนคนหนึ่งอาจไม่รู้มาก่อนเลยว่าการกระทำของเขาทำร้ายคนอื่นได้อย่างไร หากปราศจากการวิพากษ์ วิจารณ์จากสังคม

เสรีภาพในการพูดและแสดงออกในที่นี้ ยังเป็นสิทธิที่รวมเอานักข่าวและสื่อมวลชนไว้ในนั้นด้วย เพื่อเป็นหลักประกันว่าพวกเขาจะมีอิสระในการนำเสนอความจริงและให้ข้อมูลได้อย่างเต็มที่โดยไม่ถูกลิดรอนสิทธิ

ริชาร์ด แซมบรูค

ริชาร์ด แซมบรูค (Richard Sambrook) ศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์วารสารศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ สหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในอีกคนที่พยายามเปล่งเสียงแทนเหล่านักข่าวที่กำลังถูกปิดปากไม่ให้พูดความจริง และถือโอกาสย้ำความสำคัญของเสรีภาพในการพูดและแสดงออกกันอีกครั้ง โดยเขามีความเห็นว่า

“ประการแรก นี่คือเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การกีดกันทางปัญญานั้นร้ายแรงพอๆ กับการกักขังร่างกาย เสรีภาพในการคิดและการพูดเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ใครก็ตามที่พยายามจำกัดสิ่งนี้ จึงทำไปเพียงเพื่อแสวงหาอำนาจเหนือบุคคลที่ต่อต้านเจตจำนงของพวกเขา เสรีภาพในการพูดจึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงเสรีภาพอื่นๆ ที่จะตามมาอีกด้วย”

“ประการที่สอง มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมที่ดี เสรีภาพในการพูดและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และตามที่สหประชาชาติและธนาคารโลกได้ค้นคว้ามา ชี้ให้เห็นแล้วว่า นี่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ดังนั้นเสรีภาพในการพูดจึงไม่ใช่แค่ ‘ควรมี’ เท่านั้น แต่ยัง ‘จำเป็น’ ต่อความเป็นอยู่ที่ดี ความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาของสังคมอีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม หากนี่เป็นสังคมที่เท่าเทียมกัน แม้เราจะมีเสรีภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้มันจนละเมิดเสรีภาพของมนุษย์คนอื่นได้

จอห์น สจ๊วต มิลล์

จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) นักปรัชญาเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษผู้เป็นต้นแห่งความคิดเรื่องเสรีภาพของมนุษย์ได้ตั้งคำถามเช่นเดียวกับที่เราทุกคนกำลังสงสัยเช่นกันว่า ‘แล้วเสรีภาพของมนุษย์นั้นเสรีได้แค่ไหน’ เมื่อเราต้องอยู่ในสังคมประชาธิปไตยที่ทุกคนต่างก็เท่าเทียม

เขาระบุไว้ใน หลักการภัยของการกระทำ (Harm Principle) ซึ่งเป็นหนึ่งในทฤษฎีการเมือง เสรีนิยม (liberalism) อันเป็นพื้นฐานของการร่างกฎหมายหลายฉบับในโลกสมัยใหม่ว่า “…จุดประสงค์เดียวที่รัฐสามารถใช้อำนาจจำกัดการกระทำของพลเมืองคนหนึ่งคนใดในสังคมอารยชนได้อย่างชอบธรรมคือการป้องกันภัยที่คนผู้นั้นอาจก่อกับบุคคลอื่น” หมายความว่าคนเรามีเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ตราบใดที่ไม่เป็นการทำร้ายบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

เสรีภาพในการพูดและแสดงออกเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย แต่กฎหมายสิทธิมนุษยชนก็แสดงให้เห็นว่านี่ไม่ใช่สิทธิเด็ดขาดที่จะทำให้ใครคนหนึ่งอยู่เหนือคนทั้งหมดได้อย่างสมบูรณ์ ท่ามกลางเสรีภาพ เรายังจำเป็นต้องขีดเส้นแบ่งขอบเขตเอาไว้ เพื่อไม่ให้เสรีภาพของอีกคนไปละเมิดสิทธิของใครอีกคน

ตัวอย่างเช่น คนคนหนึ่งสามารถพูดคำว่า “ไฟไหม้” ได้อย่างอิสระ แต่ลองจินตนาการดูว่าถ้าอยู่ดีๆ เขานึกอยากตะโกนคำว่า “ไฟไหม้!” ในโรงหนัง แล้วทำให้ผู้คนแตกตื่น เกิดความโกลาหลตามมา นั่นหมายความว่าเสรีภาพของคนหนึ่งคนกำลังทำให้เกิดความเสียหายกับอีกหลายๆ คน

โปสเตอร์ ‘Freedom of Speech’ ปี 1943 โดย นอร์แมน ร็อคเวลล์ (Norman Rockwell)

ท้ายที่สุดแล้ว ‘เสรีภาพ’ ในสังคมประชาธิปไตยไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการทำร้ายผู้อื่นได้ เมื่อประชาธิปไตยเองก็ไม่ได้รับรองว่าเราทุกคนมีเสรีภาพในการพูดและแสดงออกอย่างเต็มที่สมบูรณ์ หากเรายังต้องอยู่ร่วมกัน 

นั่นทำให้กฎหมายของหลายๆ ประเทศมีข้อกำหนดบางอย่าง ที่ช่วยขีดเส้นขอบเขตของเสรีภาพเพื่อสังคมที่สงบสุข โดยมีรายละเอียดแตกต่างกันไป เช่น เราพูดเพื่อทำลายชื่อเสียงของใครบางคนไม่ได้ เราจะกระทำอนาจารต่อเด็กไม่ได้ เราจะใช้คำพูดรุนแรงจนสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับบุคลลอื่นไม่ได้ เราจะโฆษณาเท็จชวนให้คนมาเชื่อไม่ได้

บางครั้งกฎหมายก็ต้องเข้าแทรกแซงเพื่อหยุดการกลั่นแกล้งใส่ร้ายป้ายสีที่ไม่เป็นธรรม ที่สร้างความเสียหายให้กับบุคคล แต่ในขณะเดียวกัน ไม่ได้หมายความกฎหมายที่ว่านั้นจะเป็นสิ่งที่ถูกบังคับใช้แบบนั้นตลอดกาล เพราะบางครั้งกฎหมายก็แทรกแซงจนเกินพอดีและกลายเป็นตัวการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง ดังนั้นเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่ากฎหมายกำลังไม่เป็นธรรม ประชาชนเองก็มีสิทธิตั้งคำถามและ ‘วิจารณ์’ กันอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจได้เช่นกัน

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เต็มไปด้วยอคติ เราชื่นชอบและโกรธเกลียดอยู่เสมอ นั่นจึงทำให้ความพยายามที่จะทำให้โลกเป็นพื้นที่ตรงกลางสำหรับทุกชีวิตเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง

หากเรายังเชื่อมั่นในความเท่าเทียมและยังหวังเหมือนกันว่าโลกจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยของมนุษย์ทุกคนอย่างแท้จริง เราคงไม่อาจใช้อำนาจเพื่อจำกัดเสรีภาพของคนอื่น และไม่สามารถใช้อคติเพื่อปกป้องคนที่ทำผิด ขณะเดียวกันก็คงไม่อาจลงทัณฑ์ใครด้วยความโกรธเกลียดได้ หากนั่นกำลังละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกคน

ท้ายที่สุดแล้ว ‘เสรีภาพของการพูดและแสดงออก’ คงหมายถึงการตระหนักรู้อยู่เสมอว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่จะไม่ทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  

อ้างอิง