©ulture

เราอยู่ในโลกที่บังคับให้ต้องควานหาความหมายกันตลอดเวลา เราทำบางสิ่งเพื่อผลลัพธ์บางอย่าง เราพยายามทำตัวให้วุ่นเข้าไว้โดยหวังว่าจะค้นพบคุณค่าของชีวิต …ต่อโลก …ต่อสังคม …ต่อบริษัท …ต่อเพื่อนร่วมงาน …ต่อนิยามและค่านิยมที่ต้องไหลไปตามๆ กัน

ไม่ productive ทำงานไม่ได้ตามเป้าเมื่อไรก็ guilty รู้สึกผิดเมื่อนั้น เราถูกทำให้เชื่อในเรื่องการทำงานหนักผ่านสำนวนอย่าง ‘ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน’ ขณะที่คำว่า ‘ยุ่ง’ หรือ ‘ไม่มีเวลาว่าง’ ดูเหมือนจะกลายเป็นคำที่ซ่อนความหมายของ ‘ความเครียดและวิตกกังวล’ อยู่ภายในอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้

ข้ามฟากไปสู่หนึ่งในประเทศที่มีขนาดเพียง 41,500 ตารางกิโลเมตร และเป็นหนึ่งในประเทศที่เล็กที่สุดในยุโรปอย่าง ‘เนเธอร์แลนด์’ นี่คือประเทศที่ได้รับการจัดลำดับว่ามีประชากรที่มีความสุขที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

แน่นอนว่าด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่มั่นคงอาจเป็นปัจจัยสำคัญ แต่อีกหนึ่งแนวคิดที่ซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวันของคนเนเธอร์แลนด์นั่นคือศาสตร์ของการใช้ชีวิตอย่างคน ‘ขี้เกียจ’ ชื่อ Niksen ที่ว่าด้วยเรื่องของการ—ไม่ทำ ไม่คิด ไม่คาดหวังต่ออะไร หรือพูดแบบบ้านๆ ก็ต้องว่า ‘ไม่เอาแล้วโว้ย!’ อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง

ภาพวาด A Dream of a Girl Before a Sunrise โดย Karl Bryullov / Photo: commons.wikimedia.org

Niksen เป็นคำในภาษาดัตช์ที่แปลตรงตัวได้ว่า ‘ไม่ทำอะไรเลย’ ช่วงเวลาที่เราวางมือจากทุกสิ่ง เลิกตั้งเป้าว่าการกระทำหนึ่งจะก่อเกิดผลลัพธ์ไปทุกอย่าง โดยปราศจากความรู้สึกผิดติดค้างในใจ

ซึ่งจะว่าไป คำว่า Niksen ที่เป็นคำกริยา สำหรับชาวดัตช์นั้น มันก็มีความหมายแง่ลบมาอย่างยาวนาน เพราะความขี้เกียจเคยเป็นพฤติกรรมขั้วตรงข้ามกับแนวคิดเรื่องการทำงานหนักจากลัทธิคาลวิน (Calvinism) ที่อยู่คู่สังคมเนเธอร์แลนด์ และกลายเป็นวิถีปฏิบัติของชาวดัตช์มาตั้งแต่ยุคก่อบ้านสร้างเมือง ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงสังคมสมัยใหม่ ที่มนุษย์ถูกหยอดความเครียดลงในชีวิตมากขึ้นทุกวัน สุดท้ายแล้ว มันจึงก่อปัญหา

เมื่อการไม่เป็นคน productive หมายถึงการเป็น ‘คนไม่เอาไหน’ อย่างสำนวนยอดฮิตของชาวเนเธอร์แลนด์ที่ว่า ‘niksen is niks’ หรือแปลได้ว่า ‘การไม่ทำอะไรไม่ดีกับอะไรเลย’ แนวคิดที่ใช้คำว่า Niksen มาเป็นตัวนำ เพื่อลดความรู้สึกผิดในใจของคนที่อยากพักผ่อนนิ่งๆ เฉยๆ อยู่อย่างไม่ต้องทำอะไรเลย โดยไม่ต้องคิดว่านี่คือ ‘วิธีชาร์จพลังงาน’ เพื่อจะได้กลับไปทุ่มเทกับงานสุดตัวกันใหม่ จึงเกิดขึ้น

วิธีการของ Niksen อย่างง่ายที่สุดก็คือ… จงเลิกอ่านบทความนี้ซะ หลับตาอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำหรือคิดอะไรเลย ปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างไร้ค่าให้มากที่สุด 

ใช่ ไม่ซับซ้อน ไม่วุ่นวาย ไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น

ภาพวาด Rest in Harvest โดย William-Adolphe Bouguereau / Photo: commons.wikimedia.org

แต่ถึงคุณจะตัดสินใจไม่อ่านบทความนี้ต่อ คุณก็พบว่ามันเป็นเรื่องยากใช่ไหม ที่จะอยู่เฉยๆ และไม่ทำอะไรเลย ในโลกที่แสนรวดเร็ว เรียกร้องผลผลิตจากเราตลอดเวลา ในโลกที่การจะอยู่เฉยๆ เป็น privillage และเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งกว่าการลงมือทำอะไรสักอย่าง

ในรอบปีสองปีมานี้ มีหนังสือและบทความแนว ‘ฮาวทู’ มากมายว่าด้วยเรื่องของ Niksen สอนวิธีการคิดและเทคนิคการใช้ชีวิตอยู่เฉยๆ ซึ่งแน่นอนว่า ต่างก็ล้วนมีข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์มายืนยัน ถึงช่วงเวลาแบบ unproductive time ที่สามารถทำให้เรามีสุขภาพดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น รวมถึงช่วยลดภาวะหมดใจหมดไฟในการทำงาน

แต่เมื่อเปิดอ่าน ผู้เขียนกลับพบว่า วิธีการและจุดประสงค์ต่างๆ  ‘เพื่อ’ ไปสู่ Niksen กลับดูจะห่างไกลจากเหตุผลของการถือกำเนิดของแนวคิด Niksen ออกไปเรื่อยๆ เมื่อการพยายามจะไม่ทำอะไร ‘เพื่อ’ จะไม่ต้องทำอะไรเลย อีกด้านหนึ่งกลับเต็มไปด้วยความ ‘คาดหวัง’ ของการ ‘ต้อง’ ไม่ทำอะไร และไม่สามารถหลีกหนีภาวะที่ทำให้เกิดการ ‘กระทำ’ พ้น

ศาสตร์ที่ดูเรียบง่าย และสามารถนำมาปรับใช้โดยไม่ต้องลงทุน จึงกลับกลายเป็นเรื่องยากและเรียกร้องต้นทุนมหาศาล 

ทันทีที่ Niksen กลายเป็นศาสตร์มีชื่อเรียก เป็นเทรนด์ยอดฮิตของการใช้ชีวิตป๊อปๆ ที่เราต้องศึกษา พยายามทำตามคำแนะนำเป็นขั้นเป็นตอน เราจึงไม่ได้ขี้เกียจ ‘เพื่อขี้เกียจ’ อีกต่อไป แต่เราอาจกลับขี้เกียจเพียงเพราะคิดว่า มันจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ เช่น ความสุขที่มากขึ้น เป็นต้น

ภาพวาดThe Nap โดย Gustave Caillebotte / Photo: commons.wikimedia.org

การเกิดขึ้นมาของศาสตร์ที่เรียบง่ายอย่าง Niksen นี้ มองแบบคนคิดเยอะ จึงซับซ้อนวุ่นวาย ย้อนแย้งในตัวเอง แต่ก็เป็นประเด็นน่าสนใจชวนขบคิดไปพร้อมๆ กัน เมื่อดูเหมือนว่าการจะ ‘ขี้เกียจ’ ในโลกที่เรายังสลัดความคาดหวังในผลลัพธ์ไม่พ้น อาจทำให้เราจมดิ่งและหมกมุ่นกับ ‘ภาวะไม่ว่าง กำลังยุ่งกับความขี้เกียจ’ แทนที่

และเมื่อไรก็ตามที่สังคมมนุษย์สมาทานความขี้เกียจขึ้นมาเป็นอีกหนึ่ง ‘คุณค่า’ ของชีวิต สุดท้าย มันก็มีความเป็นไปได้ที่โลกจะหมุนกลับเปลี่ยนทิศ และทำให้เรา ‘รู้สึกผิด’ ที่ไม่มีเวลาขี้เกียจมากพอ เหมือนครั้งหนึ่งที่เคยรู้สึกผิดกับการไร้ความ productive ของตัวเองมาแล้ว

มีประโยคหนึ่งที่ผู้เขียนอ่านเจอในตอนที่พยายามศึกษาแนวคิด Niksen และพบว่ามันเป็นประโยคสั้นๆ ดูขี้เกียจ แต่ก็เปี่ยมความหมายชวนพินิจพิจารณา ประโยคนั้นเขียนไว่ว่า

“We’re human being, not human doing” หรือ “เราเป็นมนุษย์ ‘แห่งการดำรงอยู่’ ไม่ใช่มนุษย์ ‘แห่งการกระทำ’“

 

อ้างอิง

  • Annette Lavrijsen. Niksen: The Dutch Art of Doing Nothing.
  • Noriyuki Oka, Sophia Ankel. Why you should opt for the Dutch de-stressing method ‘niksen’ over ‘hygge,’ according to a health expert. https://bit.ly/3iOI0a4
  • Nicole Spector. What is ‘niksen’, the Dutch concept of doing nothing? And how does it work exactly?. https://nbcnews.to/3qW54WT