ดุสิตธานี เมื่อ พ.ศ.2461 ไม่ใช่โรงแรม
แต่เป็นเมืองจำลองขนาดเล็กที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างเพื่อเป็นเมืองทดลองประชาธิปไตย
ทุกสิ่งในเมืองแห่งนี้ถูกเนรมิตให้เหมือนเมืองในโลกความจริง มีบ้านเรือน โรงแรม ไฟฟ้า ถนน ผู้คน หนังสือพิมพ์ หรือกระทั่งกฎหมาย และการเลือกตั้ง
ทว่าหลังสิ้นรัชกาลที่ 6 ‘ดุสิตธานี’ ก็ราวกับว่าจะสาบสูญ และมีสถานะคล้ายเรื่องเล่ามากกว่าเรื่องจริง
จนกระทั่ง common ได้พบหนังสือเล่มหนึ่งที่บันทึกภาพถ่ายและเรื่องราวของเมืองแห่งนี้ไว้โดยละเอียด
จึงรู้ว่าดุสิตธานีไม่ใช่เรื่องเล่าอันเลื่อนลอย
บทบันทึก ‘พาชมดุสิตธานี’ ที่เหลืออยู่
“วันนี้ ข้าพเจ้ามีความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง …ที่ได้รับเกียรติ …พาท่านไปชมเมืองที่ได้หายสาบสูญไปแล้วโดยไม่มีร่องรอย ยิ่งกว่าเมืองปอมเปย์ในสมัยโรมัน หรือกรุงศรีอยุธยา เมื่อ 200 ปีมาแล้ว…”
คือข้อความที่ปรากฎในช่วงต้นของบทบันทึก ‘พาชมดุสิตธานีฯ’ ในหนังสือ รวมปาฐกถาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ที่บันทึกคำบรรยายของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เมื่อ พ.ศ.2513
วันนั้นหม่อมหลวงปิ่นทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ พาเที่ยวชมดุสิตธานีผ่านภาพถ่ายและความทรงจำ
“ข้าพเจ้าดูเหมือนจะเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุด คือมีอายุเพียง 15 ปี กับ 3 วันเท่านั้น”
มัคคุเทศก์ผู้บรรยายระลึกถึงตุลาคม พ.ศ.2461 ซึ่งเป็นวันที่ดุสิตธานีจัดการเลือกตั้งนคราภิบาลครั้งแรก
ในบทบันทึกแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงบรรยายถึงประวัติ ผังเมือง และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองดุสิตธานีที่เรียกว่า “ทวยนาคร” และช่วงพาเที่ยวชมดุสิตธานีผ่านภาพถ่ายที่หลงเหลืออยู่
สำหรับเรา–คนใน พ.ศ.2561
ถ้าจะเริ่มต้นเดินทาง น่าจะเร่ิมจากจุดที่ใกล้ตัวและร่วมสมัยกับเรามากที่สุด
นั่นคือตอนที่หม่อมหลวงปิ่นพูดถึง โรงแรมดุสิตธานี ที่ศาลาแดง ว่า “แม้จะสูงตระหง่านก็เป็นเด็กที่เกิดใหม่…” เมื่อเทียบกับดุสิตธานี
จากนั้นก็เรียกน้ำย่อยผู้ฟังด้วยการฉายภาพความงดงามของดุสิตธานีผ่านกลอนบทหนึ่ง ที่แต่งโดย “บุคคลผู้เป็นนาครผู้หนึ่ง ใช้นามปากกาว่า ‘ขันตี’…”
เรื่อเรื่อสุริยะโพล้ เพล้แสง
จวนจะสิ้นแสงแดง จับน้ำ
จวบจันทร์แจ่มโลกแปลง มาเปลี่ยน
แสงต่อแสงทอกล้ำ ทั่วท้องชโลธร
จันทราคลาเคลื่อนขึ้น เวหา
แสงส่องทั่วพารา แหล่งน้อย
นามจังหวัด ดุสิตธา- นี รุ่ง เรืองเฮย
งามสุดจะกล่าวถ้อย ถูกถ้วนขบวนงาม
ชีวิตในดุสิตธานี
ก่อนจะพาเที่ยวชมดุสิตธานีผ่านภาพถ่าย หม่อมหลวงปิ่นให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้อย่างละเอียด common ขอนำมาเล่าโดยย่อ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชีวิตในดุสิตธานี
- เมืองแห่งนี้มีทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าปราสาท พระราชวัง วัดวาอาราม สถานที่ราชการ โรงทหาร โรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล ตลาด ร้านค้า สวนสาธารณะ ธนาคาร โรงหนัง บริษัท สำนักงาน “…ที่ขาดไปก็คือมหาวิทยาลัย ปั๊มน้ำมัน และสถานโบว์ลิ่ง”
- อาคารมีขนาดย่อส่วน ประมาณ 1:20 ส่วนของอาคารจริง
- เวลาที่นี่เดินผ่านไปอย่างรวดเร็ว โดยสมมติให้ 1 ปีดุสิต = 1 เดือนธรรมดา
- ในเมืองมีหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ ชื่อ ดุสิตสมัย เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ดุสิตสักขี เป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับที่ 2 (มีชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘ดุสิตเรคอร์เด้อร์’) และ ดุสิตสมิต เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์
- มีคำเฉพาะใช้เรียกชาวดุสิตธานี คือ “นาครดุสิต” ในกรณีเรียกเป็นรายบุคคล และ “ทวยนาคร” ที่หมายถึงราษฎรทั้งหลาย
- นาครดุสิตทุกคนจะมีอาชีพ และมีหน้าที่ในฐานะพลเมือง เช่น ดูแลความเรียบร้อยของบ้านตัวเอง เสียค่าน้ำ ค่าไฟ และจ่ายภาษี
- รัชกาลที่ 6 ก็เป็นหนึ่งในนาครดุสิต ชื่อว่า นายราม ณ กรุงเทพ มีอาชีพทนายความ แต่คนในเมืองนิยมเรียกว่า “ท่านราม”
เที่ยวดุสิตธานีในภาพถ่าย
หม่อมหลวงปิ่นเน้นย้ำว่า ดุสิตธานีที่พูดถึงคือดุสิตธานีแห่งแรกที่ตั้งรอบพระที่นั่งอุดร ณ พระราชวังดุสิต
“และจะกล่าวถึงดุสิตธานีแห่งนี้แห่งเดียวเท่านั้น”
ส่วนดุสิตธานีแห่งที่สองเกิดขึ้นจากการย้ายเมืองดุสิตธานีแห่งแรกไปยังพระราชวังพญาไท เนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวางกว่า
จะเห็นได้ว่าแม้ดุสิตธานีจะเป็นเมืองจำลอง แต่ก็เป็นเมืองที่มีชีวิต มีการขยับขยาย โยกย้าย กระทั่งเพิ่มและลดเขตการปกครองทั้งอำเภอและตำบล รวมถึงมีการตัดถนนและคูคลอง
“ต่อจากนี้ไป ข้าพเจ้าขอพาท่านชมดุสิตธานี โดยใช้ภาพประกอบ…” หม่อมหลวงปิ่นกล่าวในเชิงผายมือ เพื่อนำเข้าสู่เมืองที่มัคคุเทศก์ท่านนี้กล่าวว่า
“ได้หายสาบสูญไปแล้วโดยไม่มีร่องรอย…”.
*ตามหม่อมหลวงปิ่นพาชม ‘ดุสิตธานี’ ต่อได้ที่ พาชม ‘ดุสิตธานี’ ตอนที่ 2: เข้าเมืองดุสิตธานี
FACT BOX
- สวนลุมพินีแห่งแรกอยู่ในดุสิตธานี ก่อตั้งวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2462 แต่มีอายุเพียง 40 วันเท่านั้น เนื่องจากมีผู้ขอเช่าเอาไปทำเป็นโรงเรียนศรีวรรธนาลัย ส่วนสวนลุมพินีที่ศาลาแดง ก่อตั้งหลังจากนั้นราว 6 ปี หรือ พ.ศ.2468