©ulture

เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย สงสัยเป็นไบโพลาร์, ไม่อยากยุ่งด้วยหรอก คนประสาทแบบนั้น 

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ตั้งใจหรือไม่ แต่การใช้ชื่อโรคทางจิตเวชและถ้อยคำที่สื่อถึงอาการผิดปกติทางจิตและภาวะความเจ็บป่วยทางใจมาเป็นคำตำหนิ คำด่าทอ หรือคำพูดหยอกล้อเพื่อความสนุกปาก ราวกับว่าเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันที่ใครๆ ก็พูดกันได้ ถือเป็นทั้งความหยาบคายและการคุกคามที่มนุษย์กระทำต่อกันอย่างไร้ความเห็นอกเห็นใจ

Photo: Yard with Madmen by Francisco Goya (1794)

การนิ่งเฉยและความไม่สนใจใดๆ เพราะไม่ทันได้ฉุกคิดแต่แรกว่าคำพูดเหล่านี้เป็นปัญหาและสร้างปัญหาได้ จึงทำให้คนส่วนมากขาดความระมัดระวังคำพูดของตัวเองต่อไปเรื่อยๆ อีกด้านหนึ่ง องค์กรและหน่วยงานด้านจิตเวชทั้งระดับประเทศและระหว่างประเทศ ต่างพยายามรณรงค์ด้วยวิธีเผยแพร่ข้อมูลให้คนทั่วไปรู้และเข้าใจผลกระทบจากการใช้คำอธิบายอาการป่วยทางจิตมาเป็นคำใช้โจมตีผู้อื่น

ขณะที่บางคนอาจสงสัยว่า จริงจังมากเกินไปหรือเปล่า เพียงคำพูดไม่กี่คำ ไม่น่าจะเป็นอะไร การตั้งคำถามทำนองนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงสายตาตัดสินที่มองผู้อื่นด้วยความคิดอคติ จนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า คนเราแตกต่างกันมากเกินกว่าจะสมควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากกรอบความคิดเก่าที่ตั้งใจบั่นทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้ลดน้อยลง (dehumanize)

เพื่อแสดงให้เห็นภาพกว้างของประเด็นนี้อย่างรอบด้าน และสนับสนุนให้เกิดการตระหนักรู้ถึงหนทางแก้ไขในปัจจุบัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราทุกคนควรทำความเข้าใจตั้งแต่กรอบความคิดในอดีตกาล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา

 

ย้อนกลับไปในยุคที่ศาสนามีอิทธิพลต่อการกำหนดความคิด และวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม อาการเจ็บป่วยทางจิตมักถูกเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาและอำนาจเหนือธรรมชาติ คนที่มีภาวะทางจิตไม่มั่นคงหรือสติฟั่นเฟือน จึงถูกมองว่าเป็นคนบาปและนอกรีต เพราะวิญญาณชั่วร้ายซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับพระเจ้า ย่อมเข้าสิงร่างคนที่ไม่มีศรัทธาในศาสนา

ความผิดปกติต่างๆ ที่ผู้ป่วยแสดงออกมาจึงไม่นับเป็นลักษณะอาการของมนุษย์ ดังนั้น วิธีการรักษาที่นำมาใช้จึงค่อนข้างรุนแรง โดยผู้นำศาสนาซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้รักษา ต่างไม่ได้สนใจว่าผู้ป่วยต้องประสบกับความทุกข์ทรมานระหว่างรักษาจนอาจถึงแก่ความตาย 

Photo: The Extraction of the Stone of Madness, a painting by Hieronymus Bosch depicting trepanation (c.1488–1516)

วิธีการรักษายอดนิยม คือ trepanation หรือ การเจาะเปิดกะโหลก เพราะเชื่อว่าหัวเป็นจุดสถิตย์ของปีศาจ การสร้างรูบนผิวกะโหลกจะช่วยระบายและปลดปล่อยความชั่วร้ายได้ แต่วิธีการรักษาที่ไม่เป็นเหตุไม่เป็นผลในทางวิทยาศาสตร์นี้ กลับได้รับความสนใจอย่างมากและแพร่หลาย ก่อนเสื่อมความนิยมลงในศตวรรษที่ 18 

ฮิปโปเครตีส

ส่วนมุมมองด้านการแพทย์เห็นต่างออกไป เป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากแพทย์ชาวกรีกโบราณอย่าง ฮิปโปเครตีส (Hippocrates) เขาเชื่อว่า ความเจ็บป่วยทางจิตมีสาเหตุเหมือนกับอาการเจ็บป่วยทางกายซึ่งเกิดจากของเหลวในร่างกายทั้ง 4 ชนิด ไหลเวียนบกพร่องและไม่สมดุลกัน ได้แก่ เลือด (blood) น้ำดีสีดำ (black bile) น้ำดีสีเหลือง (yellow bile) และเสมหะ (phlegm)

เกเลน

แนวคิดนี้เองทำให้ เกเลน (Galen) แพทย์ชาวกรีกผู้เป็นศิษย์ของฮิปโปเครตีส พัฒนาวิธีการรักษาใหม่ในยุคโรมันที่มีชื่อเรียกว่า bloodletting โดยอ้างอิงไปถึงความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณ ซึ่งรักษาความเจ็บป่วยด้วยการถ่ายเลือดเสียออกจากร่างกาย วิธีนี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขว้างเช่นเดียวกัน หลังจากนั้น เมื่อความรู้ทางการแพทย์พิสูจน์ได้ว่า ความเจ็บป่วยทางจิตไม่เกี่ยวข้องกับของเหลวในร่างกาย และการถ่ายเลือดก็ไม่ใช่วิธีรักษาที่ได้ผลจริง นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา จิตแพทย์จึงยกเลิกวิธีนี้ไป 

Photo: Breathing a Vein (Bloodletting) by James Gillray (1804) via https://sydneylivingmuseums.com.au

แต่ระหว่างทาง หมุดหมายสำคัญที่เปลี่ยนมุมมองต่ออาการทางจิตจากคนบาปเป็นผู้ป่วย คือ ความรู้วิทยาศาสตร์ในยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) ช่วงศตวรรษที่ 17

เมื่อทุกอย่างตั้งอยู่บนหลักคิดของความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ความเจ็บป่วยทางจิตจึงไม่ได้อยู่ภายใต้การครอบงำของศาสนาอีกต่อไป ทุกอย่างเริ่มได้รับการอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ ก่อให้เกิดความรู้เฉพาะทางจิตเวชศาสตร์ (Psychiatry)

ท่ามกลางสภาพสังคมที่กำลังพัฒนา เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคหรือความยุ่งยากใดๆ จึงจำเป็นต้องผลักผู้ป่วยทางจิตให้ไปอยู่รวมกันเป็นหลักแห่ง นอกเหนือจากประโยชน์ทางการรักษาและศึกษา ยังช่วยเพิ่มความอุ่นใให้คนในสังคม เพราะการจำกัดขอบเขตลักษณะนี้ เป็นวิธีควบคุมคนป่วยไม่ให้สร้างความวุ่นวายใดๆ สถานที่อยู่ของผู้ป่วยทางจิตในช่วงแรกเริ่มจึงได้รับการออกแบบให้แข็งแรงแน่นหนา เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยสติคลุ้มคลั่งหลบหนีออกไปได้ กลายเป็นต้นแบบสถานที่กินอยู่สำหรับคนสติไม่สมประกอบ ที่มีชื่อเรียกว่า bedlam หรือ asylum 

Photo: A Rake’s Progress (plate 8) by William Hogarth (1735–1763)

บรรยากาศและความเป็นอยู่ภายในโรงพยาบาลจิตเวช ยังห่างไกลกับคำว่าเป็นมิตรและสุขสบาย ในเมื่อผู้ป่วยเป็นคนที่ใช้เหตุผลไม่ได้ ย่อมถูกมองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะรักษาให้หาย จนกลับมาใช้ชีวิตในสังคมปกติได้อีกครั้ง โรงพยาบาลจึงทำหน้าที่ไม่ต่างกับการจองจำ ผู้ป่วยแต่ละคนถูกคุมขังในห้องสี่เหลี่ยมคล้ายคุก บางคนถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวน 

ฟิลิป ปิเนล

จนกระทั่ง ฟิลิป ปิเนล (Philippe Pinel) จิตแพทย์ชาวฝรั่งเศส  เริ่มตั้งคำถามกับการปฏิบัติต่อผู้ป่วยทางจิตอย่างไร้มนุษยธรรม เขาจึงเสนอแนวคิดและมุมมองใหม่เกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วยหลักเมตตาธรรม ให้เกียรติและความเคารพผู้ป่วยในฐานะมนุษย์เท่ากัน ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของการบำบัดรักษาในแวดวงจิตเวชจนถึงปัจจุบัน

Photo: Pinel, médecin en chef de la Salpêtrière en 1795

เช่นเดียวกับ คาร์ล โรเจอร์ส (Carl Rogers) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เขาเปลี่ยนคำที่ใช้เรียกผู้ป่วยจาก patient เป็น client หรือ ผู้รับบริการ ด้วยมุมมองใหม่ว่า มนุษย์ทุกคนมีความสำคัญ ความเห็นอกเห็นใจกัน (empathy) จะทำให้มนุษย์พัฒนาศักยภาพที่ดี และอยู่ร่วมกันต่อไปได้ การเปลี่ยนแปลงของโรเจอร์ส ช่วยปรับมุมมองของจิตแพทย์และนักจิตวิทยาให้ตระหนักถึงจิตใจและความรู้สึกของทุกคน ซึ่งช่วยลดการตีตราได้เช่นเดียวกัน 

คาร์ล โรเจอร์ส

แต่แนวคิดเหล่านี้ยังไม่อาจเอาชนะอคติและความคิดแบ่งแยกคนเป็นลำดับชั้นของคนส่วนใหญ่ในสังคมได้เสียทีเดียว เนื่องจากมนุษย์มีแนวโน้มจัดกลุ่มให้กับสิ่งต่างๆ รอบตัวตลอดเวลา และระมัดระวังตัวกับสิ่งที่ผิดไปจากปกติ เพราะเชื่อว่าสิ่งนั้นทำให้เกิดอันตรายได้ รวมถึงผู้ป่วยทางจิต

เมื่ออาการทางจิตยังคงเป็นความแปลกแยกจากสังคมที่เป็นสุข เพราะถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด สมควรแก่การถูกกระทำรุนแรง การตัดสินคนด้วยอคตินี้ จึงนำไปสู่การกล่าวโทษและโจมตีคนทั่วไปในสังคมที่มีภาพลักษณ์เป็นคนอ่อนแอ เข้าสังคมไม่เก่ง และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อย ว่าเป็นพวกประหลาดเช่นเดียวกับผู้ป่วย

ที่แย่ไปกว่านั้น อคติเหล่านี้ถูกส่งต่อและฉายภาพซ้ำด้วยการนำเสนอของสื่อกระแสหลัก และสื่อสังคมออนไลน์  หลายครั้งที่ประเด็นนี้ถูกเบี่ยงเบนไปเป็นความบันเทิงเรียกเสียงหัวเราะและความสนุกสนาน ซึ่งตอกย้ำให้คนจำนวนมากเข้าใจว่าการตำหนิผู้อื่นด้วยอาการป่วยทางจิตเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจส่วนตัว โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบกับการกระทำใดๆ 

เออร์วิง กอฟฟ์แมน

เป็นเรื่องผิดมหันต์ เพราะการกระทำเช่นนี้ คือ การสร้างตราบาป (stigma) ทั้งต่อผู้ป่วยเองและคนที่ถูกตำหนิ เออร์วิง กอฟฟ์แมน (Erving Goffman) นักสังคมวิทยาชาวแคนาเดียน-อเมริกัน ได้ศึกษาเรื่องนี้ไว้ว่า ลักษณะของบุคลิกภาพที่ผิดปกติหรือแตกต่างจากมาตรฐานสังคม โดยเฉพาะผู้ป่วยทางจิต ทำให้เกิดการตีตราอย่างชัดเจนและรุนแรงทั้งจากคนในสังคม คนใกล้ชิด และต่อตัวเองด้วย ผลที่เกิดขึ้น คือ ยิ่งทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกแปลกแยกจากสังคมมากขึ้นไปอีก กลายเป็นว่าลดโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมด้วย

ด้วยหลักความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไปนี้ จึงเป็นทางออกที่คนในแวดวงจิตเวชหวังว่าจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและแก้ไขปัญหานี้ได้สำเร็จ เพื่อป้องกันการสร้างตราบาป และยับยั้งอคติที่สร้างความชอบธรรมผิดๆ ให้กับการใช้อาการจิตเวชเป็นคำตำหนิผู้อื่น

(1) อาการป่วยทางจิต ไม่ใช่ การลอกเลียนแบบ หรือการทำตามกระแสนิยม 

(2) อาการป่วยทางจิต ไม่ใช่ ความเจ็บป่วยที่หายขาดได้ทันที เพื่อกระบวนรักษาที่ดีต้องอาศัยระยะเวลาและความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 

(3) อาการป่วยทางจิต ไม่ใช่ สิ่งที่เลือกได้ว่าจะให้เกิดขึ้นหรือหายไป เพราะเป็นความเจ็บปวดที่มีสาเหตุมาจากการถูกกระทำรุนแรงมาก่อน  

(4) อาการป่วยทางจิต ไม่ใช่ การเรียกร้องความสนใจ 

(5) อาการป่วยทางจิต ไม่ใช่ ข้อแก้ตัวให้ใช้เป็นข้ออ้างทำความผิด 

(6) อาการป่วยทางจิต ไม่ใช่ สิ่งที่มองเห็นได้ทันทีด้วยตา แต่ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างแพทย์และผู้เข้ารับการรักษา เพื่อร่วมกันค้นหาสิ่งที่เป็นปัญหาซึ่งซุกซ่อนอยู่ภายในใจ

Photo: The Madhouse by Francisco Goya (1812-1819)

อาการป่วยทางจิต เป็นความเจ็บปวดที่ไม่ควรถูกนำไปใช้เป็นคำพูดโจมตีคนอื่นด้วยความเกลียดชัง เพราะเป็นการสร้างตราบาปให้กับอาการเหล่านั้นด้วย ผลที่ตามมาคือ เมื่อใครสักคนประสบกับอาการป่วยที่ถูกสังคมตีตราไว้ สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือความขัดแย้งในใจ เพราะผู้ป่วยไม่อาจทำใจยอมรับตราบาปนี้ได้ ทำให้ความเจ็บป่วยทางจิตลุกลามเรื้อรัง และอาจร้ายแรงมากขึ้นจนฆ่าตัวตายได้

ประเด็นนี้ถึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ที่ต้องช่วยกันสร้างการตระหนักรู้ มีสติระมัดระวัง เห็นอกเห็นใจ และรู้จักยับยั้งช่างใจถึงการกระทำที่อาจก้าวล้ำทั้งทางศีลธรรมและสิทธิส่วนบุคคลของผู้มีอาการป่วยทางจิต ซึ่งได้รับความคุ้มครองและปกป้องในฐานะมนุษย์เท่ากัน เพื่อหยุดสร้างตราบาปและภาพลักษณ์ในแง่ลบให้กับอาการทางจิตเวช 

 

อ้างอิง