©ulture

หากมองดูเครื่องแต่งกายของบุคคลสำคัญและตัวละครในภาพต่อไปนี้ คุณเห็นหรือไม่ว่า อะไรคือสิ่งเดียวที่พวกเขามีเหมือนกัน

Photo: Walt Disney, Dye Transfer Print (c1950s)

โดนัลด์ ดั๊ก (Donald Duck)
ตัวการ์ตูนเป็ดจากค่ายวอลต์ ดิสนีย์

Photo: the Imperial War Museums (1943)

อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (Alexander Fleming)
แพทย์ผู้ค้นพบเชื้อราเพนนิซิเลียม จุดเริ่มต้นของการผลิตยาปฏิชีวนะ

Photo: Walt Disney (2018, 1964)

แมรี่ ป๊อปปิ้นส์ (Mary Poppins)
ตัวละครพี่เลี้ยงมหัศจรรย์จากวรรณกรรมเยาวชนในชื่อเดียวกัน

Photo: https://www.triviapeople.com/171/

ผู้พันแซนเดอส์ (Colonel Sanders)
ผู้ก่อตั้งร้านและเจ้าของสูตรไก่ทอดเคนทักกีหรือ KFC

Photo: https://www.conan-movie.jp/index.html

โคนันคุง (Conan)
ตัวละครเอกจากการ์ตูนยอดนักสืบจิ๋วโคนัน

คำตอบคือ ทุกคนผูก bow tie หรือหูกระต่ายไว้ที่คอเสื้อเหมือนกัน (อันที่จริง ชื่อบทความนี้ได้เฉลยคำตอบไว้ตั้งแต่แรกแล้ว) และถ้าสังเกตลงรายละเอียดไปถึงเพศสภาพ (gender) จะเห็นว่าการผูกหูกระต่ายมักจะได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชาย ทำให้หูกระต่ายกลายเป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายหรือแฟชั่นไอเทมที่สื่อถึงความเป็นชาย (masculinity) มากกว่าความเป็นหญิง (femininity) ไปโดยปริยาย นั่นเป็นเพราะว่า เพศชายคือผู้คิดประดิษฐ์หูกระต่าย สำหรับให้ผู้ชายด้วยกันเองได้ใส่

 

ความสง่าอย่างบุรุษจากผ้าประดับคอของทหารรับจ้าง

ย้อนกลับไปยังคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้ชายชาวโครแอทส์ (Croats) ในขณะนั้นขึ้นชื่อในความเก่งกาจเรื่องการออกรบ คนส่วนใหญ่จึงยึดอาชีพหลักเป็นทหารรับจ้าง (mercenaries) ประกอบกับทางการของประเทศฝรั่งเศสต้องการสร้างกองทัพเป็นกำลังเสริมเข้าต่อสู้ในสงครามสามสิบปี (Thirty femininity Years’ War: 1618-1648) จึงว่าจ้างทหารชาวโครแอทส์เพิ่มเติมอีกจำนวนมาก

เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารในฝ่ายเดียวกันสับสน ทหารชาวโครแอทส์จึงนำผืนผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ผ้ามัสลิน และผ้าไหมมาพันรอบคอหลวมๆ ก่อนมัดเป็นปมแล้วปล่อยชายผ้าที่เหลือทั้งสองข้างไว้เหนืออก พวกเขาเรียกผ้าผืนนี้ว่า scarves โดยใช้เป็นทั้งสัญลักษณ์สื่อความเป็นพรรคพวกเดียวกัน

Photo: Heeresgeschichtliches Museum (Museum of Military History)

เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (King Louis XIV) แห่งฝรั่งเศสเห็นผ้าพันคอของทหารชาวโครแอทส์ พระองค์ชอบพระทัยมาก ถึงขนาดนำมามาปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่ให้มีลวดลายสวยงาม และสั่งให้ช่าง (cravatier) ตัดเย็บอย่างปราณีต เพราะต้องการใช้เป็นส่วนหนึ่งของการแต่งกายในชีวิตประจำวัน พระองค์มองว่าการผูกผ้าประดับคอ นอกจากจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่สง่างามแล้ว หากอากาศหนาวเย็น ผ้าผืนนี้จะช่วยปกป้องลำคอให้อบอุ่นอยู่ตลอดเวลา พระองค์ยังเรียกผ้าผูกคอนี้ด้วยคำใหม่ว่า cravate หมายถึงชาวโครแอทส์ ซึ่งเป็นคำฝรั่งเศสโบราณที่เลียนการออกเสียงว่า Croats

Photo: Portrait of Louis XIV (c.1700) / the Musée National du Château in Versailles

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กลายเป็น trendsetter หรือผู้สร้างกระแสใหม่ให้การผูกผ้ารอบคอเป็นสิ่งน่าสนใจประหนึ่งของต้องมีในหมู่ชนชั้นสูง เพราะผ้าสีขาวฉลุลายลูกไม้ไว้อย่างงดงามผืนนี้ถือเป็นเครื่องประดับที่บ่งบอกทั้งรสนิยมที่ดี ความเรียบหรู หล่อเหลา และสถานะทางสังคมของชายผู้สวมใส่

ในเวลาไม่นาน การผูกผ้าไว้ที่คอลักษณะนี้ ก็แพร่หลายไปทั่วประเทศฝรั่งเศส แต่ที่มากไปกว่านั้น กระแสความนิยมผ้าผูกคอได้แผ่ขยายไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วทวีปยุโรป โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ ดินแดนที่เปลี่ยนแปลงภาพจำจากผ้าผูกคอจากฝรั่งเศสสู่หูกระต่ายคู่ชุดสูท ซึ่งกลายมาเป็นแบบแผนการแต่งกายสำหรับบุรุษจนถึงปัจจุบัน

 

ความทะนงตนและรักในศักดิ์ศรีเบิกทางใหม่ให้ผ้าผูกคอ

นับตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม ถึงแม้ว่าประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสต่างแข่งขันแก่งแย่งดินแดนอื่นๆ มาเป็นเมืองขึ้น ทำให้ทั้งสองประเทศไม่เคยญาติดีต่อกัน แต่ทันทีที่กระแสผ้าผูกคอจากฝรั่งเศสแพร่สะพัดมาถึงราชสำนักอังกฤษ พระเจ้าชาลส์ที่ 2 (King Charles II of England) กลับรู้สึกหวั่นไหวไปกับผ้าผืนนี้ เพราะทำให้ผู้ใส่ดูภูมิฐานขึ้น ในที่สุดพระองค์ก็ผูกผ้านี้ไว้ที่คอเหมือนกัน

Photo: Charles II of England by Simon Pietersz Verelst (1670-1675) / The Royal Collection

แต่กษัตริย์อังกฤษจะลอกเลียนแบบวิธีการผูกอย่างกษัตริย์ฝรั่งเศสไม่ได้ เพราะเท่ากับว่ายอมลดพระเกียรติให้กับศัตรู แต่จะทำอย่างไรดี เพื่อให้พระองค์ใส่ผ้าผูกคอได้อย่างสมศักดิ์ศรี ทางออกของปัญหานี้จึงจบลงด้วยวิธีดัดแปลงการผูกผ้าใหม่ให้มีลักษณะเฉพาะแบบฉบับคนอังกฤษ ซึ่งไม่ได้เน้นแค่ความหรูหราอย่างฝรั่งเศส แต่ต้องแสดงถึงความเหมาะสมตามกาลเทศะเสมอ ผลลัพธ์จากฐานคิดเช่นนี้เอง ทำให้ผ้าผูกคอในวัฒนธรรมอังกฤษ เป็นของสงวนไว้ให้บุรุษแต่งกายแบบทางการเท่านั้น

จนกระทั่งเข้าสู่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ในยุครีเจนซี่ (Regency Era) หรือช่วงเวลาของการสำเร็จราชการแทนกษัตริย์ และยุคทองของการพัฒนาสุนทรียศาสตร์ทุกแขนงในประเทศอังกฤษ แฟชั่นและการแต่งกายจึงถูกยกขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น โดยมีโบ บรัมเมลล์ (Beau Brummell) เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ เขาเป็นหนุ่มรูปงามผู้ทำงานใกล้ชิดราชวงศ์อังกฤษ ด้วยภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์แบบจากการดูแลเสื้อผ้าและตัวเองในทุกกระเบียดนิ้ว ทำให้เขาได้รับการขนานนามว่า Dandy ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกผู้ชายเจ้าสำอางและวางตัวดี บรัมเมลล์ยังเป็นต้นแบบของ gentleman หรือสุภาพบุรุษในอุดมคติของชาวอังกฤษ เพราะเขาได้วางรากฐานการแต่งตัวให้กลายเป็นขนมธรรมเนียมของการเข้าสังคม

Photo: Stringer, Hulton Archive

บรัมเมลล์คิดวิธีผูกผ้าประดับคอใหม่ไว้หลายแบบ แต่แบบที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ ผูกเป็นโบว์ขนาดเล็กให้เห็นรูปร่างชัดเจนบริเวณคอเสื้อ เพราะเขาต้องการลบภาพจำในอดีตของผ้าผืนนี้ว่าเป็นสิ่งประดับบารมีของชนชั้นสูงเท่านั้นออกไป และสร้างความเข้าใจใหม่ว่าทุกคนไม่ว่าจนหรือรวย เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ต่างมีสิทธิ์ผูกผ้าผืนนี้ได้อย่างเสมอกัน

 

ผ้าสีดำขนาดพอดี จุดเปลี่ยนผ่านสู่หูกระต่ายสมัยใหม่

ปลายทศวรรษที่ 1800 การผูกผ้าสีขาวเป็นโบว์เป็นที่แพร่หลายในหมู่ผู้ชายตะวันตก โดยเฉพาะในแวดวงวิชาการอย่างแพทย์และศัลยแพทย์ เนื่องจากเป็นการแต่งกายอย่างสุภาพที่ให้เกียรติผู้ป่วย ที่สำคัญคือปมผ้าเมื่อผูกเป็นโบว์เหนือคอแล้ว ไม่ได้สร้างความรำคาญหรือรบกวนระหว่างทำงาน แพทย์จึงตรวจร่างกายและผ่าตัดคนไข้ได้อย่างคล่องตัว ไร้ความกังวลว่าชายผ้าจะไปสัมผัสกับผู้ป่วย การผูกผ้าเป็นโบว์สั้นจึงสะท้อนความรับผิดชอบต่อสุขอนามัยของแพทย์

Photo: International Museum of Surgical Science Collection (1844)

เวลาต่อมาในเดือนตุลาคม ปี 1886 ปิแอร์ โลริลลาร์ดที่สี่ (Pierre Lorillard IV) นักธุรกิจชาวอเมริกันผู้มั่งคั่งจากกิจการโรงงานผลิตยาสูบ ได้ผลิกโฉมหน้าตาของผ้าผูกสีขาวให้กลายเป็นผ้าสีดำขนาดพอเหมาะสำหรับผูกเป็นโบว์ (black bow tie) โดยปรับปรุงชุดสูทให้กระชับเข้ากับรูปร่าง และตัดส่วนของผ้าที่รุ่มร่ามออกทั้งหมด เพื่อให้ตัวเขาและลูกชายสวมใส่ออกงาน Tuxedo Club หรืองานเลี้ยงส่วนตัวสุดหรูที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และเข้าสังคมอื่นๆ เมื่อได้รับเชิญ เขาเรียกชุดนี้ว่า Black Tie

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชุดของโลริลลาร์ดที่สี่ ซึ่งผู้คนต่างเรียกตามชื่องานว่า Tuxedo กลายเป็นชุดออกงานทางการเวลากลางคืนสำหรับสุภาพบุรุษจนถึงปัจจุบัน โดยมีกฎเหล็กข้อสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือ ทักซิโด้ต้องใส่คู่กับเสื้อเชิ้ตปกปีกนก (Wing Collar) สีขาว และหูกระต่ายสีดำเท่านั้น

หมายเลข 36 หรือคนที่สองนับจากขวามือ สวมใส่ทักซิโด้ (Tuxedo) ส่วนหมายเลขอื่นๆ 32-35 และ 37 สวมใส่สูทตามขนบนิยม / Photo: https://www.gentlemansgazette.com/tuxedo-black-tie-guide/

 

หูกระต่ายในฐานะเอกลักษณ์บ่งบอกตัวตนของผู้ใส่

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1900 หูกระต่ายสีดำและขาวยังคงเป็นแบบแผนของการแต่งตัวสำหรับสุภาพบุรุษเหมือนเดิม เพียงแต่ความรุ่งโรจน์ของวงการแฟชั่นในทวีปยุโรป และอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศตะวันตกโดยเฉพาะฮอลลีวูด เข้ามาเพิ่มสีสันและความสนุกให้กับหูกระต่ายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือเป็นจุดเริ่มต้นการนิยามความเป็นตัวตนของผู้ใส่ผ่านเอกลักษณ์ของหูกระต่ายที่อยู่บนคอเสื้อ และการสร้างคาแรกเตอร์ให้กับตัวละครในโลกภาพยนตร์

ชุดบังคับของผู้ชายสำหรับเข้าร่วมงานประกาศรางวัลออสการ์คือ ทักซิโด้ ผู้ชายส่วนใหญ่ ทั้งนักแสดง ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ และทีมงานเบื้องหลังเวที จึงต้องผูกหูกระต่ายสีดำ เช่น แฟรงก์ ซินาตรา (Frank Sinatra) ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 9 อาจมีผู้ชายบางคนเลือกผูกเนคไท แต่ก็เป็นส่วนน้อย

Photo: www.harpersbazaar.com/celebrity/red-carpet-dresses/g5158/vintage-oscars-golden-globes-celebrity-fashion/

วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัยแห่งสหราชอาณาจักร ผู้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า เป็นหนึ่งในผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสงครามโลก มีสัญลักษณ์ประจำตัว คือ หูกระต่ายลายจุด (polka dot)

Photo: Winston Churchill (1950) / AFP

เพลย์บอย บันนี (Playboy Bunny) หรือพนักงานเสิร์ฟสาวในเพลย์บอยคลับ (Playboy Club) ผูกหูกระต่ายประดับคอในชุบวาบหวิว เพื่อสร้างความบันเทิงให้ชายหนุ่มที่เข้ามาผ่อนคลายในสถานบันเทิง

Photo: Playboy Bunnies (1960s)

มาร์เลเนอ ดีทริช (Marlene Dietrich) นักแสดงและนักร้องชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน แต่งกายด้วยชุดสูทของสุภาพบุรุษและผูกหูกระต่ายสีขาว

Photo: https://twitter.com/chc_1927/status/945929652186636288

เจมส์ บอนด์ (James Bond) ตัวละครสายลับของหน่วยสืบราชการลับแห่งประเทศอังกฤษฉบับภาพยนตร์ จากนวนิยายชุดของเอียน เฟลมมิง (Ian Fleming) ในชุดทักซิโด้

Photo: https://whatculture.com/film/all-6-james-bond-actors-ranked

คาร์ล เฟรดริกเซน (Carl Fredricksen) ตัวละครคุณปู่จากภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Up

Photo: https://jonnegroni.com/2017/03/14/snarcasm-carl-up-insane/

แม้ว่าหูกระต่ายจะยังผูกติดอยู่กับความเป็นชายผ่านการแต่งตัวของผู้ชาย แต่ไม่ได้ผูกขาดเหมือนในยุคแรกเริ่ม เพราะทุกวันนี้ ผู้คนทุกเพศทุกวัยไม่ว่าเป็นใคร ก็สามารถผูกหูกระต่ายได้ตามความชอบและความต้องการ

 

Outfit Guide: ทรงและความกว้างของหูกระต่าย

ทรงหูกระต่ายมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบและขนาด แต่ทรงที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมีทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่

(1) Classic Butterfly หรือ Big Butterfly
เหมาะกับใบหน้ากว้าง

(2) Semi-Butterfly หรือ Modern Butterfly
เหมาะกับทุกใบหน้า

(3) Batwing หรือ Straight End
เหมาะกับใบหน้าแคบหรือเล็ก

(4) Pointed
เหมาะกับใบหน้าแคบหรือเล็ก และต้องการความโดดเด่น

Photo: Rob McIver (2017)

ส่วนความกว้างที่เหมาะสมของหูกระต่าย ควรเท่ากับความห่างระหว่างหางคิ้วข้างซ้ายจรดหางคิ้วข้างขวาของผู้สวมใส่

 

อ้างอิง