©ulture

Lizzo นักร้องชาวอเมริกันปรากฏตัวบนพรมแดง American Music Awards 2019 (AMS2019) ในชุดเดรสสีส้ม วัตถุสีขาวที่ซ่อนอยู่ในเงาเล็บยาวติดเพชรระยิบระยับคือ กระเป๋าใบจิ๋วของ Valentino 

คล้ายกับกระเป๋าของตุ๊กตาที่น่าจะใส่แอร์พอดได้ ข้าง (ไม่ใช่ คู่) เท่านั้น ภาพนี้ทำให้เธอกลายเป็นมีมในชั่วข้ามคืน และถูกพูดถึงเพราะกระเป๋าใบเล็กๆ ใบนี้ใบเดียว

(Photo : Mark RALSTON / AFP)
(Photo : Mark RALSTON / AFP)

ไทเลอร์ แมคคอล (Tyler McCall) บรรณาธิการบริหารของ Fashionista เผยว่าแฟชั่นกลายเป็นมีม มักจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกวันนี้เราสื่อสารกันผ่านอินสตาแกรมและโซเชียลมีเดียอื่นๆ มากขึ้น แน่นอนว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลต่อวงการแฟชันไม่น้อย

View this post on Instagram

 

A post shared by Lizzo (@lizzobeeating)

คลื่นลูกนี้ซัดเข้ามาเปลี่ยนแฟชั่นตั้งแต่ปี 2019 เมื่อ ซิมง ปอร์ต ฌักมูส (Simon Porte Jacquemus) ดีไซเนอร์จากแบรนด์ JACQUEMUS สัญชาติฝรั่งเศส ออกแบบกระเป๋ารุ่น Mini Le Chiquito เปิดตัวบนรันเวย์ในฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น กระเป๋ารุ่นนี้ถอดแบบมาจาก Le Chiquito รุ่นท็อปตลอดกาลอย่างไม่มีผิดเพี้ยน เพียงแต่ใบนี้เป็นแบบย่อส่วนที่มีขนาดไม่กี่เซ็นติเมตร พอให้นิ้วมือคล้องสายหิ้วได้ ใบนี้ไม่ได้ใช้ใส่อะไร แถมไม่มีขาย เป็นเพียงดีไซน์ที่ฌักมูสออกแบบมาอวดบนรันเวย์เท่านั้น

View this post on Instagram

 

A post shared by JACQUEMUS (@jacquemus)

แฟชันโชว์จบ แต่กระแสไม่จบ หลังจากที่กระเป๋าจิ๋วออกสู่สายตาชาวโลกก็มีแต่คนถามหา และกลายเป็นที่ต้องการของตลาดขึ้นมาจริงๆ นอกจากลิซโซ่แล้ว เรายังเห็นเคนดัล เจนเนอร์ (Kendall Jenner) ถือกระเป๋าของจิ๋วรุ่นนี้ในช่วงที่ไปร่วมงาน Met Gala ในนิวยอร์ก รวมถึง ริฮานนา (Rihanna) เองก็หยิบกระเป๋าจิ๋วติดตัวไปด้วยขณะเดินทางไปบาร์เบโดส เมื่อกระแสของกระเป๋าจิ๋วเริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ แบรนด์อื่นๆ ก็พากันออกคอลเลกชันตามมาติดๆ ทั้ง Louis Vuitton และ Prada   

กระเป๋าจิ๋วใบนี้เอาไว้ใส่อะไรทั้งๆ ที่ดูใช้งานไม่ได้เลย แต่ทำไมกระแสของกระเป๋าใบเล็กถึงเป็นที่นิยมตั้งแต่วันนั้นและเรื่อยมาจนวันนี้ เราขอพาย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของกระเป๋าใบเล็กจิ๋วที่ดูจะจุเรื่องราวของยุคสมัยเอาไว้มากมายเกินกว่าขนาดของมันไปมาก

Emily in Paris (Photo : Carole Bethuel / Netflix)

ย้อนกลับไปยังศตวรรษที่ 18 ทุกคนมักจะพกกระเป๋าใบเล็กติดตัวไว้เสมอ ผู้หญิงจะมีกระเป๋าคาดเอวเล็กๆ เอาไว้ใส่เหรียญ ส่วนสิ่งของอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสมุดเล่มเล็ก แว่นตา หรือตลับเข็มเย็บผ้าจะเอาใส่ไว้ในช่องที่มีลักษณะคล้ายถุงผ้า ซึ่งซ่อนอยู่ภายใต้ชุดกระโปรงหนาๆ ของพวกเธอ ในขณะที่ผู้ชายเองจะพกกระเป๋าขนาดต่างๆ ที่เย็บติดเสื้อโค้ท เสื้อกั๊ก และกางเกงไว้ 

ช่วงปี 1780 ผู้คนนิยมสวม มัฟฟ์ (muff) หรือที่อุ่นมือ ทำมาจากผ้าขนสัตว์หนาๆ พันอยู่รอบมือให้อบอุ่น นอกจากจะเป็นแฟชั่นกันหนาวแล้ว ยังใช้เป็นบรรจุสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยาสูบ ผ้าเช็ดหน้า หรือแม้แต่ลูกหมาตัวเล็กๆ ก็นอนขดอยู่ในมัฟฟ์มาแล้ว ขนาดของกระเป๋าของคนในยุคนั้นมักจะเลือกตามขนาดของมัฟฟ์ที่ใส่ในวันนั้นด้วย 

Winter 1882, by Francesc Masriera

ในยุคนั้น หากเป็นกระเป๋าถือขนาดใหญ่ก็มักจะปักลายสวยงาม ฟังก์ชันหลักมีไว้เก็บของ มีสถานะเป็น ‘กระเป๋าทำงาน’ ข้างในมีอุปกรณ์เย็บผ้า เชือก หรือวัสดุต่างๆ ที่ใช้ทำงานเสียส่วนใหญ่ ไม่ได้เอาไว้ใส่เหรียญอย่างเคย

หลังจากนั้นแฟชั่นผู้หญิงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามการการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 ชุดผู้หญิงที่เคยเทอะทะเริ่มเบาบางลงเรื่อยๆ ราวกับผ้าที่ห่มบนร่างกายของรูปปั้นคลาสสิก ในขณะเดียวกันนั้น ขนาดกระเป๋าของผู้หญิงก็หดเล็กลงเช่นกัน และไม่ได้ทำหน้าที่บรรจุของเป็นหลักอย่างเคย แต่เป็นเหมือนเครื่องประดับชิ้นสำคัญที่ขาดไม่ได้เวลาแต่งตัวสวยออกจากบ้าน

กระเป๋าถือใบเล็กๆ ที่ว่ามักจะตกแต่งอย่างประณีต บ้างมีพู่ระหง บ้างปักลายสวยงาม มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า ริดิคูล’ (Ridicule) ที่หมายความว่า ‘เย้ยหยัน’ เพราะกระเป๋าใบนี้ทั้งเล็กจิ๋วและไร้สาระจนแทบใช้งานอะไรไม่ได้เลย ผู้หญิงในยุคนั้นมักถือไว้กับตัว บางคนผูกไว้ที่เอว บางคนผูกกับริบบิ้นยาวห้อยไว้ที่แขนขับผิวเปลือยเปล่าให้ดูสะดุดตาสวยงาม 

History piece: a 19th-century ‘ridicule’. (Photo : Alamy Stock Photo)

นอกจากจะเป็นเครื่องประดับชิ้นสำคัญแล้ว ในยุคนั้นกระเป๋าใบเล็กยังบ่งบอกฐานะและชนชั้นของคนถืออีกด้วย กล่าวคือยิ่งกระเป๋าใบเล็กเท่าไหร่ ยิ่งแสดงว่ามั่งคั่งเท่านั้น เจ้าของกระเป๋าที่พกกระเป๋าใบเล็กแบบที่จุอะไรไม่ได้เลย ก็แทบไม่ต้องพกของให้มากมาย เผลอๆ ไม่ต้องพกเงินเสียด้วยซ้ำ เพราะหน้าที่หอบหิ้วจะตกเป็นของผู้ติดตาม ในอดีตคนที่ถือกระเป๋าใบเล็กจึงถือเป็นชนชั้นสูงหรือคนดัง

ไม่ใช่แค่แบรนด์ต่างประเทศ แต่หากลองสำรวจในอินสตาแกรม เราจะเห็นว่าแบรนด์ไทยหลายๆ แบรนด์เริ่มทำกระเป๋าใบจิ๋วออกมามากมาย แม้จะกลับมาฮิตอีกครั้งเพราะกลายเป็นมีม แต่สิ่งที่ทำให้กระแสที่ว่านั้นยังคงอยู่ยาวนานมาจนศักราชนี้คงเป็นเพราะผู้คนส่วนหนึ่งค้นพบว่ากระเป๋าใบเล็กตอบโจทย์วิถีชีวิตของพวกเขา 

 

View this post on Instagram

 

A post shared by sour /ˈsou(ə)r/ (@sourstores)

กระเป๋าไซน์นี้ทำให้คล่องตัว เป็นอิสระ พื้นที่จำกัดค่อยๆ กำจัดสิ่งไม่จำเป็นออกไป ตอบโจทย์วิถีชีวิตแบบมินิมอล ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียล ผู้ที่อยากครอบครองสิ่งของให้น้อยที่สุด นี่ก็ถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำกระเป๋าใบเล็กยังคงเป็นที่นิยมอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่วันที่ริดิคูลถือกำเนิดขึ้น

แต่ไม่ว่ากระเป๋าใบเล็กจะถูกใช้งานด้วยจุดประสงค์ไหน เชื่อว่าข้างในนั้นบรรจุเรื่องราวที่มากกว่าขนาดของมันเอาไว้แน่ๆ 

อ้างอิง