เวลาทำงานไปสักพักหนึ่ง เชื่อเถอะว่าหลายคนน่าจะมีคำถามผุดขึ้นในใจ โดยเฉพาะเวลาที่คุณไม่แฮปปี้กับงานที่ทำหรือออฟฟิศที่อยู่ว่า นี่ฉันควรอยู่ต่อหรือย้ายไปทำที่อื่นดี?
เพื่อให้คุณมีหลักในการคิดว่า ‘ไป’ หรือ ‘อยู่ต่อ’ เราเลยมีแง่มุมมาฝาก เป็นมุมมองให้คุณได้ลองคิดทบทวนตัวเองก่อนตัดสินใจ
1. คุณลำบากเรื่องการเงินไหม หากไม่ได้ทำงานที่นี่ต่อ?
แน่นอนว่า ‘งาน’ สัมพันธ์กับ ‘ความมั่นคง’ ของคุณ เพราะงานเป็นเรื่องของรายได้ ฉะนั้น ก่อนจะคิดว่าจะอยู่หรือไป อาจต้องเช็กก่อนว่าการลาออกจากงานที่ทำอยู่ตอนนี้จะทำให้คุณลำบากมากน้อยแค่ไหน หรือถ้าอยากจะลาออกจริงๆ คุณมีเงินเก็บเพียงพอที่จะอยู่โดยไม่ทำงานนานแค่ไหน?
หากลาออกแล้วลำบากทันที ขอให้พักเรื่องออกไปสักหน่อยจนกว่าคุณจะหางานใหม่ได้หรือแหล่งรายได้ใหม่ที่แน่นอน เชื่อเถอะว่า ระหว่างเครียดงานที่ทำกับเครียดเพราะไม่มีรายได้ คนส่วนใหญ่ย่อมเครียดและกลุ้มใจกับอย่างหลังมากกว่า เพราะเป็นเรื่องปากท้อง การต้องใช้ชีวิตแต่ละวันไปกับการกลัวว่าจะมีเงินพอต่อลมหายใจได้อีกนานเท่าไร น่าจะเป็นเรื่องที่กระอักกระอ่วนมากกว่าเครียดเพราะงานหลายเท่า
แต่ถ้าคุณไม่ได้ลำบากทางการเงิน ก็ถือว่าโชคดี เพราะสามารถออกได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน
2. คุณยังเติบโตจากที่ทำงานนี้ได้ต่ออีกไหม?
ความหมายของคำว่า ‘เติบโต’ มีอยู่ 2 มิติ
มิติแรก คือความหมายตรงตัวเลยว่า คุณจะได้โปรโมตหรือปรับตำแหน่งไปอีกกี่ขั้นหากทำงานที่นี่ต่อ ซึ่งตรงนี้คุณอาจมีคำถามว่า ถ้าอยู่ต่อก็คงได้ปรับตำแหน่งแหละ แต่แค่ไหนถือว่านานหรือแช่เกินไป คำตอบคือ คุณต้องประเมินอายุงานตัวเองหรือวัยตัวเองเทียบกับค่าเฉลี่ยคนทำงานวัยเดียวกันและทำงานในวงการเดียวกันกับคุณ
เช่น คุณทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายการตลาด (Senior Officer) อายุ 27 ปี วิธีคือ คุณลองสำรวจว่าคนทำงานการตลาดอายุเท่าคุณส่วนใหญ่อยู่ที่ตำแหน่งไหน แล้วคนที่ตำแหน่งสูงกว่าคุณหนึ่งขั้นและสองขั้น เขาโดยมากได้ปรับตำแหน่งตอนอายุเท่าไร
ตัวอย่าง ผู้จัดการแผนกการตลาด ปรับตอนอายุประมาณ 30-35 ปี นั่นแปลว่าอีกประมาณ 3 ปี ก็ควรเป็นช่วงที่คุณควรได้เป็นว่าที่ผู้จัดการ ทีนี้คุณก็ลองประเมินต่อว่า จริงหรือเปล่าที่ 3 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มสูงที่บริษัทจะปรับตำแหน่งคุณถึงขั้นนั้น ถ้าไม่ ก็แปลว่าคุณอาจจะรอนานกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งถ้าคุณรอไม่ไหวหรือคิดว่าไม่น่าจะได้ปรับ ถือว่าการย้ายงานมีน้ำหนักกว่า เพราะการย้ายส่วนใหญ่จะย้ายไปที่ตำแหน่งสูงขึ้น เท่ากับว่าคุณซื้อเวลาปรับตำแหน่งให้เร็วขึ้นนั่นเอง
ส่วนมิติที่สอง คือมิติของการเติบโตในแง่การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานและช่วยให้เก่งงานมากขึ้น อย่างเราเอง เราได้ยินหลายคนเลือกทำงานในที่ที่ตัวเองไม่ชอบต่อไป เพราะต้องการอดทนเรียนงานหรือดูดวิชาให้ครบลูปทุกมิติก่อน หรือยอมทำต่อเพราะต้องการใช้บริษัทนั้นเป็นเวทีฉายแววหรือโชว์ผลงาน ก่อนจะย้ายไปทำที่ใหม่ โดยใช้โปรไฟล์งานนั้น
เรียกว่า เป็นการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน คือยอมทำงานที่ตัวเองอาจไม่ชอบ แต่เพื่อแลกกับสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต ซึ่งถ้างานที่คุณทำอยู่ช่วยให้คุณได้วิชาความรู้ ได้ประสบการณ์ ได้ทักษะ หรือได้คอนเนคชั่นเพิ่มขึ้น กระทั่งได้โอกาสเพื่อเป็นเวทีฉายแววหรือเป็นใบเบิกทาง ก็ถือว่าคุ้มค่าที่คุณจะอยู่ต่อ นอกเสียจากว่าทางเลือกใหม่ของคุณจะทำให้คุณเติบโตและเก่งกว่าที่อยู่ปัจจุบัน
3. หัวหน้าหรือบริษัทมองคุณเป็นตัวหลัก หรือตัวรอง หรือตัวประกอบ?
คำถามนี้อาจดูพิลึก แต่แท้จริงแล้วเป็นการเช็กสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนทำงานอยากลาออก คือ การถูกยอมรับ หรือมองเห็นค่าจากหัวหน้าหรือจากบริษัท เพราะขึ้นชื่อว่าคนทำงาน สิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจให้คนทำงานไม่ใช่แค่ผลตอบแทนที่เป็นเงินเท่านั้น แต่การถูกชมและการถูกให้ความสำคัญ กลับเป็นเหตุผลที่ทำให้คนทำงานอยากอยู่ต่อ
ฉะนั้น เพื่อเช็กว่าคุณมีโอกาสจะน้อยเนื้อต่ำใจในการทำงานหรือไม่ หรือกระทั่งสถานการณ์ตัวคุณกับบริษัทมีความมั่นคงแค่ไหน คำถามนี้เป็นสิ่งที่คุณควรประเมินให้ดี
ถ้าบริษัทมองคุณเป็นตัวหลัก เชื่อเถอะว่าคุณจะรู้สึกมั่นใจและไม่ค่อยอยากลาออก นอกเสียจากว่าบริษัทหรือหัวหน้าโยนงานให้ตัวหลักเกินไปจนคุณจะตายเอาและไม่อยากอยู่ต่อ แต่ถ้าพวกเขามองว่าคุณเป็นตัวรองหรือตัวประกอบ อาจต้องทำใจว่าการปรับตำแหน่งหรือการได้รับความใส่ใจก็จะลดหลั่นลงไป ก็กลับไปที่คำถามที่สองว่า ถ้าคุณไม่น่าจะเติบโตที่บริษัทนี้ได้ไว คุณจะอยากอยู่ต่อหรือจะไปลุ้นเอาที่อื่นดี?
4. ข้างในจิตใจของคุณกำลังร้องไห้หรือเจ็บปวดปางตายหรือเปล่า?
มักจะมีคนที่ทั้งพูดว่า ‘งานหนักไม่ทำคนตาย’ หรือ ‘งานหนักทำคนตายก็มี’ แต่ไม่ว่าอย่างไร สองประโยคนี้ก็มีคนตายแน่นอน คือทั้งตายจริงแบบหมดลมหายใจ กับตายอีกแบบคือ สภาพจิตใจตายด้านเหมือนคนไร้ชีวิต ฉะนั้น คุณอย่าประมาทกับการทำงาน
เพราะงานไม่ว่าทางใดทางหนึ่งสามารถทำลายคนได้แน่นอน ถ้ามันเกินพอดี เหตุผลที่เราต้องบอกแบบนี้ เพราะเราเห็นมาเยอะ ที่คนทำงานที่ประสบภาวะ burnout หรือ หมดไฟ มีผลการทำงานหรือประสิทธิภาพการทำงานตกลง บางคนถึงขั้นเป็นซึมเศร้า อันนี้ยิ่งส่งผลต่องานอย่างเห็นได้ชัด
และอย่าได้คิดว่าปัญหานี้เกิดแค่ในคนทำงานระดับเจ้าหน้าที่หรือผู้จัดการเท่านั้น จริงๆ ในระดับผู้บริหาร สิ่งที่พวกเขาต้องต่อสู้มากที่สุด ก็คือ การประคองสภาพจิตใจของตัวเอง เพราะในตำแหน่งที่สูง ความกดดัน ความรู้สึกไม่มั่นคง ความรู้สึกผิดและกลัวจะท่วมท้นจิตใจพวกเขามาก จึงไม่แปลกที่คนตำแหน่งสูงจะต้องพัฒนาทักษะหนึ่งเหมือนกันหมดคือ self-motivation หรือ การให้กำลังใจและผลักดันตัวเองให้ไปข้างหน้าต่อ
ดังนั้น จิตใจถือเป็นหัวใจสำคัญของประสิทธิภาพการทำงาน หากคุณบอบช้ำกับงานมากจนคุณรู้สึกว่า ประสิทธิภาพการทำงานของคุณตก และถ้าขืนปล่อยไว้ คุณอาจจะถูกหัวหน้าหรือบริษัทจับตามองหนัก หรือคุณเจ็บจนคุณใกล้จะตายจากภายใน ก็คิดว่าคุณควรเลือกตัวเองก่อน เพราะนั่นแปลว่าเสียงจากตัวคุณข้างในมันได้ร้องเตือนแล้ว ไม่ควรฝืน และควรบอกตัวเองว่า ไม่เป็นไร ไปพักแล้วค่อยเริ่มใหม่ เพราะสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ จริงๆ ก็คือทักษะคนทำงาน หรือ self-motivation ที่บอกไปแล้วนั่นแหละ
คนทำงานเก่งๆ จะรู้จักตัวเอง รู้ว่าแค่ไหนคือมากหรือน้อยไป และรู้วิธีที่จะประคองใจตัวเอง การที่ทำอะไรตะบี้ตะบันจนตายกันไปข้าง กลับเป็นความประมาทเสียมากกว่า ฉะนั้น คุณอย่าได้ละอายใจ ถ้าคุณต้องหยุด การหยุดไม่ใช่การยอมแพ้ แต่คือการพักเพื่อให้คุณได้ยกระดับตัวเองและไปต่อได้
ทั้ง 4 แง่มุมนี้เป็นสิ่งที่เรานำมาฝากให้ทุกคนขบคิดกัน ซึ่งหลักการของ 4 แง่มุมนี้คือประโยชน์ของคุณในวันนี้และในอนาคต บางงานคุณอาจมองว่า ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม แต่ความจริงถ้าอยู่แล้วเหนื่อยแต่ยังได้ประโยชน์ เช่น ได้เงิน ได้ประสบการณ์ ก็อาจเป็นเหตุผลที่พอมีน้ำหนักให้คุณสู้ต่อ
หรือประเมินแล้วว่าไม่มีประโยชน์ทั้งวันนี้และอนาคต ก็ชัดเจนว่าควรไปดีกว่า หรือมีประโยชน์ในอนาคต แต่งานกัดกินเสียจนจิตใจของคุณในวันนี้ตายด้าน และคิดว่าหากจิตใจย่ำแย่ไปเรื่อยๆ อนาคตก็ไม่รู้จะไปไหวหรือเปล่า ก็อาจต้องชั่งใจว่า งานนี้อาจไม่เหมาะกับคุณ
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราเชียร์ให้ทุกคนมี คือคุณต้องรู้จัก ‘ให้อภัย’ และ ‘ให้โอกาส’ ตัวเอง
ไม่ว่าคุณเลือกอยู่ต่อ หรือเลือกไป แล้วผลออกมาดีหรือไม่ดี คุณก็ไม่ควรเอาแต่โทษตัวเอง เพราะสุดท้าย สิ่งสำคัญที่สุดคือชีวิต ไม่ใช่งาน คุณคงไม่คิดว่าคุณเกิดมาเพื่อทำงานแล้วตายจากไปหรอก ใช่ไหม?