©ulture

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เพลงเพลงหนึ่งจะได้รับการคัดเลือกให้เป็น Pride Anthems

เพราะเพลงนั้นต้องเกิดจากความตั้งใจของศิลปินและความคิดของผู้สร้างสรรค์ซึ่งต้องการปลุกพลังใจและส่งต่อความหวังให้ LGBTQIA+ หรือกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ท่ามกลางสังคมที่ยังไม่เปิดกว้างรับความต่างทางเพศเท่าที่ควรจะเป็น

Pride Anthems จึงทำหน้าที่คล้ายกับเป็นบทเพลงแห่งความเชื่อและความภาคภูมิใจของทุกคนที่ต้องการแสดงตัวตนและความรู้สึกเพื่อบอกให้คนอื่นและสังคมรับรู้ถึงความในใจอย่างเปิดเผย ด้วยเสียงดนตรีที่คอยสร้างทั้งความสุขและความสนุกสนานในหมู่ LGBTQIA+

becommon ได้คัดสรร 10 เพลงคุ้นหูจากศิลปินยุคบุกเบิกที่ยอมรับความแตกต่างทางเพศและยืนเคียงข้าง LGBTQIA+ เสมอมา โดยรวมรวมเป็นเพลย์ลิสต์ใน Spotify ให้ผู้อ่านลองเปิดฟังความหมายที่ซ่อนอยู่ในแต่ละเพลง

Over The Rainbow
เผยแพร่ครั้งแรก ปี 1939

แม้แต่งเสร็จเป็นเพลงสุดท้าย แต่ด้วยเนื้อหาที่มีความหมายกินใจและการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านการขับร้องด้วยน้ำเสียงไพเราะของ จูดี การ์แลนด์ (Judy Garland) ในวัยเพียง 17 ปี ผู้สวมบทบาทเป็น โดโรธี เกล (Dorothy Gale) ตัวละครเด็กหญิงผู้ใฝ่ฝันถึงความสุขและอิสรภาพ จึงทำให้ Over the Rainbow กลายเป็นเพลงเอกของภาพยนต์เรื่อง Wizard of Oz ความสำเร็จนี้รับรองได้ด้วยรางวัลออสการ์ สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประจำปี 1931

ในช่วงเวลาเดียวกัน สังคมยังไม่เปิดกว้างยอมรับคนรักร่วมเพศ ชื่อของโดโรธีจึงถูกนำมาสร้างเป็นรหัสลับใหม่ว่า friend of Dorothy หรือ FOD หมายถึง ทุกคนที่เป็นเกย์ สำหรับใช้แทนคำว่า gay ซึ่งเป็นคำต้องห้ามที่คนสมัยนั้นหลีกเลี่ยงไม่พูดถึง

ที่มาของคำว่า friend of Dorothy ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตัวละครทั้ง 3 ที่ร่วมเดินทางไปยังเมืองออซเป็นเพื่อนเคียงบ่าเคียงไหล่กับโดโรธีตลอดทั้งเรื่อง คือ หุ่นไล่กา ตัวแทนสติปัญญา หุ่นกระป๋อง ตัวแทนความรัก และสิงโต ตัวแทนความกล้าหาญ ตัวตนที่แตกต่างเหล่านี้กลายเป็นส่วนเติมเต็มช่องว่างในชีวิตของกันและกัน เช่นเดียวกับเกย์ที่พร้อมเป็นเพื่อนกับทุกคน เพื่อสนับสนุนและเกื้อกูลเพื่อนให้ก้าวไปสู่จุดที่ชีวิตใฝ่ฝัน

เพลง Over the Rainbow จึงเป็นเพลงปลุกเร้าทุกคนไม่ให้สิ้นหวังระหว่างมุ่งมั่นพยายามทำอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ขอเพียงข้ามไปให้ถึงอีกฝั่งของปลายสายรุ้ง ที่ตรงนั้นความฝันใดๆ ที่เคยหวังจะกลายเป็นความจริง

 

Ain’t No Mountain High Enough
เผยแพร่ครั้งแรก ปี 1967

ขณะที่ นิโคลัส แอชฟอร์ด (Nickolas Ashford) เดินเตร็ดเตร่อย่างไร้จุดหมายในสวนสาธารณะของมหานครนิวยอร์ก เขาทบทวนชีวิตของตัวเองที่กำลังดิ่งลงเหลวเพราะถังแตกไปพลาง ส่วนความสำเร็จในเส้นทางสายดนตรีกลับกลายเป็นเพียงอดีตที่ไร้ความหมาย จังหวะที่เงยหน้าขึ้นฟ้า เขามองเห็นตึงสูงโดยรอบไม่ต่างจากแนวเขา ภาพนั้นแปรเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันให้เขาฮึดสู้อีกครั้ง

แอชฟอร์ดลงมือเขียนเพลงร่วมกับ วาเลอรี ซิมป์สัน (Valerie Simpson) ภรรยาผู้ยืนยันว่าจะอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันแม้ในยามลำบาก หรือที่แวดวงดนตรีรู้จักในนาม Ashford & Simpson ทั้งคู่ตั้งใจแต่งเพลงรักที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความห่วงใย เพลงคู่ของพวกเขาได้ศิลปินชื่อดังอย่าง มาร์วิน เกย์ (Marvin Gaye) และ แทมมี เทอร์เรล (Tammi Terrell) มาร้องโต้ตอบกันด้วยอารมณ์รักใคร่ระหว่างชายและหญิง กระแสตอบรับตอนนั้นอยู่ในระดับไม่ขี้เหร่

จนกระทั่งในปี 1970 ต้นสังกัดให้แอชฟอร์ดและซิมป์สันนำเพลงนี้มาปัดฝุ่น เพื่อใช้เป็นเพลงในอัลบัมใหม่ของ ไดอาน่า รอสส์ (Diana Ross) พวกเขาแต่งเนื้อเพลงเพิ่มเติมเป็นบทพูดและประสานเสียง เปลี่ยนแนวดนตรีเป็นออร์เคสตร้า เปลี่ยนวิธีการร้องเป็นด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลและออดอ้อน ผลลัพธ์ของการยกเครื่องทั้งเพลงทำให้เวอร์ชันนี้ขึ้นแท่นเป็นเพลงยอดนิยมอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกาทันที

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Ain’t No Mountain High Enough กลายเป็นเพลงที่ทุกคนใช้ส่งต่อความห่วงใยถึงกันได้โดยไม่มีกรอบเพศชายหญิงเหมือนเวอร์ชันแรก เพราะไม่ว่าชีวิตที่มีอุปสรรคเข้ามาขัดขวางสักแค่ไหน จงอย่ากลัว เธอไม่ได้เผชิญหน้าโดยลำพัง ยังมีฉันที่พร้อมอยู่เคียงข้างและร่วมสู้ไปด้วยกัน ตรงกับความรู้สึกของกลุ่มสังคมเกย์ที่ต้องมาใช้ชีวิตรวมกันอย่างเลือกไม่ได้

 

I Will Survive
เผยแพร่ครั้งแรก ปี 1978

ว่ากันว่านี่คือเพลงอันดับหนึ่งตลอดกาลที่บ่งบอกว่าเป็นตัวตนของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ต่อให้ถูกตราหน้าและเหยียดหยามต่างๆ นานาด้วยความเกลียดชัง ก็ต้องประคองชีวิตให้อยู่รอด แล้วเดินหน้าต่อไปด้วยความมั่นใจ เพราะทุกคนต่างเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเป็นว่าไม่ใช่ความผิดแปลก หากแต่เป็นความภาคภูมิใจในความหลากหลาย เหมือนความสวยงามของสีสัน มีเพียงคนที่เปิดตาและเปิดใจกว้างเท่านั้นจึงจะมองเห็น

แรกเริ่ม ความมุ่งมั่นเอาตัวรอด ซึ่งเป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญของเพลงนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่ได้เขียนเพลงด้วยซ้ำ เพราะ ดิโน เฟคารีส (Dino Fekaris) ถูกปลดออกจากค่ายเพลงกระทันหัน จึงกลายนักแต่งเพลงตกงาน แต่เขาไม่ยอมแพ้แล้วบอกกับตัวเองว่า I’m going to be a songwriter. I will survive!

ส่วน กลอเรีย เกย์เนอร์ (Gloria Gaynor) ก่อนหน้าที่เธอจะได้รับโอกาสให้ร้องเพลงนี้ ในช่วงที่กำลังคิดไม่ตกกับปัญหาหนี้สินรุมเร้าหลังถูกผู้จัดการโกง ก็ประสบอุบัติเหตุขณะแสดง เธอสะดุดอุปกรณ์ที่ต่อเข้ากับลำโพงจนตกเวที กระดูกสันหลังของเธอได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ต้องรักษาตัวอยู่นานราวครึ่งปี กว่าอาการจะดีขึ้นและกลับมาเดินเหินได้เหมือนเดิม

เมื่อเรื่องเลวร้ายผ่านพ้นไป ทั้งคู่กลับมาทำเพลงร่วมกัน แม้ I will survive จะถูกบัดตกเป็นเพลงบนแผ่นเสียงหน้า B ไม่ต่างกับเพลงที่ทำแถมให้ผู้ฟัง แต่กลายเป็นว่าดังยิ่งกว่าเพลงหน้า A ทั้งได้รับรางวัลแกรมมีสาขาเพลงดิสโก้ยอดเยี่ยม ประจำปี 1980 และเป็นเพลงที่โด่งดังไปทั่วโลก ราวกับว่าขนาดเพลงยังอยู่รอดสมชื่อเพลง

ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเพลงนี้ล้วนสื่อความหมายเดียวกันทั้งหมด คือ การบอกตัวเองว่าอย่ายอมแพ้ ทั้งการถูกกีดกันทางเพศและให้กำลังใจผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี เพราะเป็นสภาวะที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่รวมกัน จงลุกขึ้นต่อสู้ไม่ว่าจะเจอเรื่องแย่แค่ไหน จนในที่สุด I will survive กลายเป็นสัญลักษณ์แสดงออกตัวตนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงปลุกเร้าความเข้มแข็งในใจให้กลุ่มคนผู้ถูกผลักไสให้เป็นคนชายขอบ เพื่อยืดหยัดเรียกร้องความเท่าเทียมผ่านเพลง

 

You Make Me Feel (Mighty Real)
เผยแพร่ครั้งแรก ปี 1978

ไม่มีสิ่งใดดีไปกว่าการได้เป็นตัวเองอย่างเปิดเผยโดยไม่ต้องสนใจคำก่นด่าและต่อว่าของคนอื่น ในเมื่อสิ่งที่เป็นไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แต่ถ้าใครจะรู้สึกทนเห็นไม่ไหว คงช่วยไม่ได้นอกจากเอาใจช่วยให้ทำใจให้ได้ในสักวันหนึ่ง

ความมั่นอกมั่นใจในตัวตนของ ซิลเวสเตอร์ (Sylvester) ทำให้เขาเป็นศิลปินที่บอกสังคมอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นคนรักร่วมเพศ และพอใจที่จะแต่งกายแต่งหน้าอย่างที่ผู้หญิงทั่วไปทำกัน โดยไม่ใส่ใจกรอบสังคมที่พยายามครอบใส่ความเป็นชายให้เขาตลอดเวลา เพราะก่อนหน้านี้เขาถูกสังคมกดดันไม่ให้แสดงออกถึงความเป็นหญิง ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครฝืนใจของเขาได้

สำคัญที่สุดคือกำลังใจจากคนรอบตัว สมาชิกคนเดียวในครอบครัวที่ไม่เคยอับอายหรือต่อต้านสิ่งที่เขาเป็น คือ คุณย่า เพราะเธอมีเพื่อนเป็นเกย์หลายคนจึงเข้าใจดีว่าไม่ว่าใครจะเป็นเพศไหน ทุกคนมีค่าเท่ากัน ไม่ควรมีใครถูกตัดสินและเลือกปฏิบัติ เธอจึงกล้าหาญทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่แม้แต่จะคิด คือ สนับสนุนให้ซิลเวสเตอร์เป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่

ด้วยเนื้อหาเพลงที่สื่อชัดเจนว่า ให้ทุกคนเป็นตัวเอง ทำให้ You Make Me Feel (Mighty Real) กลายเป็นเพลงที่ไนต์คลับนิยมเปิด โดยเฉพาะในย่านที่เกย์ไปรวมกลุ่มกันบ่อยๆ ซิลเวสเตอร์ยังได้รับการยกย่องให้เป็น Queen of Disco จากเสียงเพลงของเขาที่ทำให้ทุกคนสนุกไปกับทุกจังหวะอย่างอิสระ

ล่าสุดในปี 2019 หอสมุดรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้นทะเบียนเพลงนี้ว่าเป็นผลงานการบันทึกเสียงที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและทางสุนทรียศาสตร์ควรค่าแก่การรักษาและอนุรักษ์สืบไป

 

I’m Coming Out
เผยแพร่ครั้งแรก ปี 1980

หลังเกิดเหตุจลาจล Stonewall Inn ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องความเสมอภาคในสังคมให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และการเปลี่ยนแปลงมุมมองและการแก้ไขกฎหมายหวังกำจัดความเกลียดชังที่เกิดจากอคติเหยียดเพศ บรรยากาศในสังคมที่เคยไม่เป็นมิตรต่อเกย์จึงผ่อนคลายลง คนมีท่าทีเปิดรับมากกว่าเดิม ด้วยการสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบันเทิง

สืบเนื่องจากความสำเร็จของเพลง Ain’t No Mountain High Enough ในปี 1970 ทำให้ ไดอาน่า รอสส์ (Diana Ross) เริ่มเป็นนักร้องในดวงใจของเกย์ เพลงของเธอมักจะถูกใช้เปิดประกอบการแสดงแดร็กควีนอยู่เสมอ สิ่งนี้เองที่สร้างแรงบันดาลใจให้ ไนล์ รอดเจอร์ส (Nile Rodgers) นักแต่งเพลงคนดัง เกิดความคิดว่าควรเขียนเพลงใหม่ให้รอสส์ โดยเนื้อหาของเพลงต้องเชื่อมโยงกับกลุ่มแฟนผู้ฟังที่เป็นเกย์

รอดเจอร์ส จึงนำสำนวน come out of the closet ที่หมายถึง การประกาศตัวกับคนรอบข้างว่าเป็นคนรักเพศ​เดียวกัน มาขยายความจนเขียนเสร็จเป็นเพลง I’m Coming Out ด้วยความตั้งใจสื่อถึงความสุขที่ได้เป็นตัวของตัวเอง และภูมิใจที่จะบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดอย่างไม่หวั่นเกรงต่อสิ่งใดอีกแม้กระทั่งใจของตน เพื่อสนับสนุนและส่งต่อพลังใจให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคนผ่านจุดนี้ไปให้ได้

เมื่อรอสส์รู้ว่าต้องร้องเพลงนี้ ตอนแรกเธอรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจเพราะเป็นเพลงแนวทางใหม่ที่เธอไม่เคยร้องมาก่อน และเธอก็ไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของเพลงด้วย รอดเจอร์สต้องอธิบายให้เธอฟัง ทำให้รอสส์ตั้งใจร้องเพลงนี้อย่างสุดความสามารถเพื่อร่วมเป็นส่วนสำคัญให้เกย์ได้มีชีวิตใหม่ โดยไม่ต้องหลบซ่อนตัวตนอีกต่อไป

 

It’s Raining Men
เผยแพร่ครั้งแรก ปี 1982

เพลงในกลุ่ม Pride Anthem ต่อให้เป็นเพลงเต้นกระจายเน้นความสนุกสนานแค่ไหน ก็ต้องไม่ลืมสะท้อนเนื้อหาจริงจังเอาไว้ด้วยเสมอ เพื่อเป็นกระบอกเสียงบอกความในใจแทนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต่างจากเพลงนี้ที่เน้นแต่ความเมามันอย่างเดียว จนแทบไม่มีใครอยากจะร้องด้วยซ้ำ แม้แต่ศิลปินเจ้าของเพลงอย่าง มาร์ธา วอช (Martha Wash) และ อิโซรา อาร์มสเตด (Izora Armstead) สองนักร้องคู่หูของวง The Weather Girls ก็แทบไม่เชื่อตัวเองว่าต้องร้องเพลงนี้จริงๆ

It’s Raining Men เป็นเพลงเร็วมากจังหวะดิสโก้ เปรียบเปรยผู้ชายเป็นฝนห่าใหญ่ที่ตกลงมาสร้างความกระชุ่มกระชวยในหัวใจสาวๆ ใจความสำคัญของเพลงมีเพียงเท่านี้

พอล จาบารา (Paul Jabara) นักแต่งเพลงผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเพลงดังมากมาย เช่น Last Dance ของดอนนา ซัมเมอร์ (Donna Summer) ซึ่งถือเป็นเพลงในกลุ่ม Pride Anthem ด้วย เคยเปิดเผยว่า หลังจากเขียนเพลงร่วมกับ พอล เชฟเฟอร์ (Paul Shaffer) จนเสร็จ เขานำไปเสนอกับศิลปินสาวมากมายที่เคยเขียนเพลงให้ ทั้ง รอสส์, ซัมเมอร์, บาร์บรา สไตรแซนด์ (Barbra Streisand) และ แชร์ (Cher) แต่ทุกคนปฏิเสธเป็นเสียงเดียวกันหมด คงเป็นเพราะลูกบ้าที่หาไม่ได้อีกแล้วจากเพลงอื่น

เพลงนี้จึงตกเป็นของวอชและอาร์มสเตด ทันทีที่อ่านเนื้อร้องครั้งแรกจบวอชถึงกับพูดออกมาว่า เป็นเพลงที่บ้ามาก บ้าเกินกว่าจะร้อง ฝนตกลงมาเป็นผู้ชายเนี่ยนะ เอาจริงเหรอ ล้อเล่นกันแน่ๆ ไม่มีใครซื้อเพลงบ้านี้หรอก จาบาราต้องเกลี่ยกล่อมอยู่นาน ทั้งคู่จึงใจอ่อน

แม้ความรู้สึกแรกต่อ It’s Raining Men ของศิลปินจะเป็นไปในทางที่ยอมรับไม่ได้ แต่ด้วยเสียงทรงพลัง และรูปลักษณ์ของนักร้องที่ช่วยลบภาพจำน่าเบื่อของนักร้องสาวหุ่นบางออกไปได้อย่างสิ้นเชิง กลับเป็นที่ถูกใจของผู้ฟังโดยเฉพาะคนที่เป็นเกย์ เพราะเพลงนี้เปิดโอกาสให้หว่านเสน่ห์หาความรักให้ใจตื่นเต้นและแสดงออกถึงความปรารถนาทางเพศ เพลงนี้จึงกลายเป็นเพลงโปรดของเกย์ไปโดยปริยาย

True Colors
เผยแพร่ครั้งแรก ปี 1986

ความตั้งใจแรกของเพลง True Colors คือสื่อความรักไร้เงื่อนไขและความรู้สึกดีๆ ระหว่างแม่และลูก แต่ด้วยเนื้อหาของเพลงที่ปลุกพลังใจให้ทุกคนเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะท้ายที่สุดย่อมมีคนรักเราในแบบที่เราเป็น ทำให้เพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงที่สนับสนุนให้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศให้รักตัวเองและซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกลึกๆ ของตน

บทเพลงเนิบช้าแต่ทว่าหนักแน่นในสารที่ต้องการสื่อ เพราะ ซินดี ลอเปอร์ (Cyndi Lauper) คือหนึ่งในศิลปินหญิงที่ประกาศตัวชัดเจนว่าจะร่วมเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศมาแต่ไหนแต่ไร เธอจึงถ่ายทอดอารมณ์ผ่านเสียงเพลงด้วยความเข้าใจถึงความหมายของเพลง เพราะต้องการเสริมสร้างให้ทุกคนรู้สึกถึงคุณค่าของตน

ในยามที่เริ่มสิ้นหวังและไม่มีความสุขจากความรู้สึกอัดอั้นตันใจที่ต้องปกปิดตัวตนไม่ให้ใครรู้ โดยยอมฝืนทนทำสิ่งที่ขัดแย้งกับใจ ย่อมทำให้ทุกข์ไปตลอดชีวิต แต่ถ้าหันกลับมามองตัวเองแล้วเชื่อมั่นว่า ความสุขควรเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเราคนเดียว ไม่ใช้แปรผันตามความพึงพอใจของคนอื่น ชีวิตจะมีทางไปต่อได้

อย่ากลัวการเป็นตัวของตัวเอง และอย่าไปกลัวว่าคนอื่นจะรู้ ทุกคนควรได้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น ซื่อตรงกับความรู้สึกนั้น เป็นตัวเองอย่างไม่ต้องเสแสร้งแกล้งทำเป็นคนอื่นเหมือนที่แล้วมา เพราะตัวตนที่แท้จริงของทุกคนนั้นสวยงามราวกับรุ้งหลังฝนบนฟ้า

ในปี 2018 ลอเปร์ตั้งมูลนิธิตามชื่อเพลงว่า True Colors United เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศไร้บ้านให้กลับมามีชีวิตที่เปี่ยมด้วยความหวังใหม่อีกครั้ง และลดความเสี่ยงการก่ออาชญากรรมทางเพศ และป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นจากความรู้สึกถูกทอดทิ้งให้ดิ้นรนตามลำพัง

Vogue
เผยแพร่ครั้งแรก ปี 1990

มาดอนน่า (Madonna) เคยให้สัมภาษณ์ในรายการของ เอลเลน ดีเจเนอเรส (Ellen DeGeneres) ว่า เธอคงไม่มีหน้าที่การงานเป็นนักร้องชื่อดังอย่างทุกวันนี้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะเธอใกล้ชิดกับคนรอบตัวที่เป็นเกย์มาตั้งแต่เด็ก เธอยังจดจำประสบการณ์ที่ได้ไปเที่ยวบาร์เกย์ครั้งแรกได้เป็นอย่างดี ภายในที่แห่งนั้นเป็นเหมือนอีกโลกที่ไม่มีใครตัดสินกัน ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความแตกต่างที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้

ทั้งเพลงและการแสดงสดของ มาดอนน่า จึงเป็นการสร้างสรรค์เพื่อเอาใจผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะเพลง Vogue ที่นำเสนอศิลปะการจัดระเบียบร่างกายและข้อมือเพื่อวาดท่วงท่าแปลกตาแต่มีเอกลักษณ์ที่เรียกว่า voguing ซึ่งเป็นความนิยมชมชอบในหมู่สังคมเกย์วงแคบๆ แต่เธอคิดไปไกลกว่านั้น หวังให้เพลงทำหน้าที่เหมือนใบเบิกทางจุดกระแสรูปแบบการเต้นนี้ให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

ด้วยความบังเอิญ ชื่อเรียกการเต้นนี้ยังตรงกับชื่อนิตยสารแฟชั่นนำสมัย มาดอนน่าจึงแต่งเนื้อเพลงโดยแทรกความเชื่อมโยงกับแฟชั่นและนางแบบลงไปด้วย ไม่สำคัญว่าเธอเป็นใคร ปล่อยร่างกายให้เคลื่อนไหวไปตามจังหวะดนตรี เมื่อเป็นตัวเองแล้ว เธอจะพบชีวิตใหม่ เป็นความงามที่มาพร้อมกับทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง เช่นเดียวกับนางแบบและนักแสดงบนปกนิตยสาร

ส่วนผสมที่ลงตัวเป็นเนื้อเดียวกันทั้งดนตรี เสียงร้อง และท่าเต้น ทำให้เพลง Vogue สร้างผลลัพธ์ที่ไม่เคยมีศิลปินคนไหนทำได้มาก่อน นอกเหนือจากความสำเร็จตลอดกาล มาดอนน่าได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญด้วย เพราะเธอได้เผยแพร่และนำวัฒนธรรมใต้ดินที่คนทั่วไปไม่เคยให้ค่า ขึ้นมาอยู่บนดินในฐานะศิลปะการเต้นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นคนให้กำเนิด

 

Believe
เผยแพร่ครั้งแรก ปี 1998

แชร์ (Cher) แจ้งเกิดด้วยการเป็นนักร้องแนวป็อปร็อค แต่ Believe เป็นแนวทางเพลงใหม่ที่เธอไม่เคยร้อง เพราะต้นสังกัดต้องการให้เธอลองร้องเพลงเต้นที่คนฟังตามจะโยกตัวโยกหัวพอประมาณ โดยไม่ลืมความเป็นตัวตนของแชร์ เพลงนี้จึงไม่ใช่เพลงเต้นแบบเอาจริงเอาจัง

หลังบันทึกเสียงร้องเรียบร้อย ค่ายเพลงกลับรู้สึกไม่ปลื้มเท่าไหร่ เพราะคิดว่าภาพรวมของเพลง Believe ยังห่างไกลกับความว่าแปลกใหม่และออกไปในทางน่าเบื่อมากกว่า จึงลองเปลี่ยนมาใช้เครื่องบันทึกเสียงรุ่นเก่าแทน แม้เสียงร้องผิดเพี้ยนไปหมด แต่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คิดต่อยอดว่า การดัดแปลงเสียงร้องจะทำให้เพลงสนุกขึ้น

เมื่อแชร์ได้ฟังเสียงตัวเองก็รู้สึกชอบทันที เธอเห็นด้วยว่าเพลงน่าสนใจมากขึ้นจริงๆ ต่างจากต้นสังกัดกลับเห็นต่าง เขาสั่งให้ตัดเสียงแปลกๆ ที่ฟังไม่ชัดเจนออกไปให้หมด แต่แชร์ยืนกรานว่าจะไม่ร้องใหม่ ความเด็ดขาดของแชร์ทำให้ต้นสังกัดยอมปล่อยเพลงนี้สู่ตลาด ผลปรากฏว่าได้รับความนิยมทั่วโลก และกลายเป็นจุดเริ่มของเทคนิคการดัดเสียงร้องที่เรียกว่า Cher-Effect หรือ Auto-Tune

เนื้อหาในเพลง Believe ที่บอกเล่าว่า ถ้าเชื่อในความรัก ความรักก็จะเกิดขึ้นในชีวิต กลายเป็นเพลงที่จี้ใจกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะพวกเขามักจะถูกตราหน้าว่าไม่มีวันพบกับรักแท้ในชีวิต แต่เพลงนี้กลับให้กำลังใจว่าทุกคนควรค่าแก่การเป็นที่รัก แม้รักนั้นอาจจบลงด้วยการเลิกลา แต่ก็คุ้มค่าที่จะรักใครสักคน

 

ต้องสู้จึงจะชนะ
เผยแพร่ครั้งแรก ปี 2533

ไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย ทุกอย่างต้องอาศัยความพยายามและการพิสูจน์ตัวเอง ไม่ได้เพื่อใครคนอื่น แต่เพื่อตัวเองนี่แหละ ชีวิตของ เจินเจิน บุญสูงเนิน ก็เป็นเช่นนั้น

เจินเจินเริ่มต้นชีวิตจากติดลบเพราะความยากจน เธอต้องดิ้นรนสู้ทนความแร้นแค้นด้วยลำแข็งตัวเอง หลังจากเรียนจบจึงตัดสินใจทำงานเป็นนักร้องตามร้านอาหาร และเข้าร่วมประกวดร้องเพลงของสยามกลการ ประจำปี พ.ศ. 2527 ทำให้ได้รับรางวัลนักร้องดีเด่น เปิดทางให้เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับโอกาสให้ออกอัลบัมเพลงแรกที่มีชื่อว่า ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง

ทุกเพลงแต่งขึ้นจากชีวิตจริงของเจินเจิน โดยเฉพาะเพลงที่ดังที่สุดอย่าง ต้องสู้จึงจะชนะ เจินเจินตั้งใจร้องเพลงนี้เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกส่วนตัวและเป็นตัวแทนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่ฟันฝ่าอุปสรรคมาได้ เพราะกว่าจะมีวันนี้ ต้องกล้ำกลืนอยู่กับความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่สังคมไทยไม่ได้เปิดรับคนรักร่วมเพศตั้งแต่แรก

ดังนั้น หนทางเดียวที่จะทำให้ชีวิตของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่รอด คือการสู้ และต้องสู้จนกว่าจะชนะ

 

เพลย์ลิสต์ Pride Anthems

อ้างอิง