©ulture

นี่คือเรื่องราวของเหล่าคนเขลา ของการปล้นธนาคารที่ล้มเหลว ของการจับคนเป็นตัวประกัน ของการล้อมจับโดยตำรวจ สู่ความเห็นอกเห็นใจผู้ร้ายในลักษณะ ‘สต็อกโฮล์ม ซินโดรม’ (Stockholm Syndrome) สู่การไต่สวนสืบหาความจริงที่ค้นลึกลงไปในจิตใจมนุษย์ สู่การหักมุมพลิกไปพลิกมา สมราคานักเขียนติดอันดับขายดีของ New York Times bestseller และทั่วโลก

แต่เหนืออื่นใด ‘Anxious People’ นิยายเรื่องล่าสุดของนักเขียนสวีเดน เฟรียดริค บัคมัน (Fredrik Backman) ผู้มีนิยายที่แปลออกมาในภาษาไทยและติดอันดับขายดีจนถูกพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่อง เช่น  A MAN CALLED OVE – ชายชื่ออูเว’และ ‘บริทท์มารีอยู่ตรงนี้ – Britt-Marie Was Here’ กำลังบอกเล่าเรื่องราวของคนเขลา

เฟรียดริค บัคมัน

 

บัคมันบอกผู้อ่านตั้งแต่หน้าแรกว่า

“เรื่องราวนี้เกี่ยวกับหลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่แล้วมันคือเรื่องของคนงั่ง จึงจำเป็นต้องบอกกล่าวแต่เนิ่นๆ ว่า การประกาศให้ผู้อื่นเป็นพวกโง่เง่าง่ายดายอย่างยิ่ง แต่นั่นก็ต่อเมื่อคุณหลงลืมไปแล้วว่าการจะเป็นมนุษย์มันยากเย็นบัดซบเพียงใด โดยเฉพาะถ้าคุณกำลังพยายามจะเป็นมนุษย์แสนดีและมีเหตุผลเพื่อใครสักคน”

ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะ

“ในทุกวันนี้ มีเรื่องเหลือเชื่อจำนวนมากให้เราต้องรับมือ เราควรจะมีงาน มีที่อยู่อาศัย มีครอบครัว และเราต้องจ่ายภาษี ต้องซักชุดชั้นใน ต้องจำรหัสของไวไฟง่าวๆ ให้ได้”

เรื่องราวเริ่มจากความทุกข์ทรมานจากบรรทัดฐานของสังคมเช่นนั้น แม้ว่านี่จะเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีรัฐสวัสดิการที่ดีที่สุดในโลกอย่างสวีเดน แต่ความคาดหวังต่อชีวิตก็ยังกลืนกินผู้คนได้เสมอมา

สิบปีก่อนหน้าที่เรื่องราวของ Anxious People จะเริ่มขึ้น ชายคนหนึ่งกระโดดลงจากสะพานสู่ความตาย หลังจากเผชิญวิฤติการณ์ทางการเงินที่เกิดจากความพังพินาศของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอีกฝั่งโลก แต่นั่นอาจเป็นซับพล็อตที่ดูผิวเผินไม่มีอะไรเชื่อมโยงกันกับเรื่องราวหลัก หากเด็กชายที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นตำรวจผู้กำลังพยายามคลี่คลายเหตุปล้นธนาคารและจับคนเป็นตัวประกันไม่ได้บังเอิญเห็นโศกนาฏกรรมครั้งนั้น หากชายที่กระโดดน้ำฆ่าตัวตายไม่เคยเข้ามาขอกู้เงินธนาคารและถูกปฏิเสธจากผู้จัดการ ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในตัวประกันในเหตุการณ์ในอีกสิบปีให้หลัง หากผู้คนมากมายในเรื่องราวนี้ไม่มีอะไรบางอย่างเกี่ยวข้องกับสะพานที่ชายคนนั้นใช้ในการกระโดดฆ่าตัวตายเมื่อวันนั้น

มันอาจเป็นคนละเรื่องกันเลยด้วยซ้ำ นี่คือเรื่องราวของคนงั่ง เริ่มจากการหย่าร้างของใครบางคน ชีวิตบัดซบ ตกงาน ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน และกำลังถูกพรากสิทธิ์ในการเลี้ยงดูลูกไป เมื่อมองหน้าแลหลังไม่เห็นความหวัง ใครคนนั้นจึงตัดสินใจสวมบทเป็นไอ้โม่งเข้าปล้นธนาคาร 

“สิ่งที่เลวร้ายของการกลายเป็นผู้ใหญ่คือการถูกบังคับให้ตระหนักว่าไม่มีใครแคร์เราอย่างแท้จริง เราต้องจัดการทุกสิ่งด้วยตัวเอง”

และใช่ การพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อจัดการทุกอย่างโดยลำพัง แถมยังต้องรักษาภาวะของการเป็นมนุษย์แสนดีและมีเหตุผลเพื่อใครสักคน มักทำให้เราเป็นคนงั่งได้เสมอ และความโง่เง่าในครั้งนี้คือการลืมคิดไปว่าธนาคารส่วนใหญ่ในสวีเดนเป็นธนาคารแบบไร้เงินสด การปล้นจึงล้มเหลวไม่เป็นท่าตั้งแต่แรกเริ่ม ก่อนเรื่องราวจะดำเนินไปเมื่อโจรปล้นธนาคารหนีเข้าไปในอพาร์ตเมนต์ห้องหนึ่งที่กำลังประกาศขายและมีกลุ่มลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชม การจับคนเป็นตัวประกันในพื้นที่ปิดจึงเกิดขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า Anxious People เล่าผ่านวิธีการนำเสนอ 3 วิธี หนึ่ง—คือการจับคนกลุ่มหนึ่งขังไว้ในพื้นที่ปิด ที่ชวนให้นึกถึงบทละครเรื่อง No Exit ของ ฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) เรื่องราวของการส่องสะท้อนระหว่างมนุษย์ในห้องปิดตาย เปรียบเทียบให้คนอื่นเป็นนรก เพราะบ่อยครั้ง เมื่อเราพยายามทำความเข้าใจตัวเอง เรามักใช้มุมมองของคนอื่นร่วมตัดสินเสมอ เราตัดสินตัวเองด้วยมุมมองที่คนอื่นคิด ด้วยความหมายที่คนอื่นมอบให้ นรกจึงเป็นคนอื่นในแง่นั้น 

บทละครเรื่อง No Exit โดย ฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์

โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม งานระดับคลาสสิกของซาร์ตร์ก็ราวกับจะสวมทับอยู่ในเรื่องเล่าของบัคมันอย่างแนบเนียน ทั้งการแลกเปลี่ยนบทสทนาของตัวละครในท่วงทำนองเดียวกัน หรือกระทั่งตัวประกันคนหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘เอสแตลล์’ อันเป็นชื่อเดียวกับตัวละครหลักในบทละครเรื่อง No Exit ของ ฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์

ทว่าหากนี่คือการงานเขียนแบบบูชาครู การบูชาครูของบัคมันก็กลับก้าวไปไกลอีกระดับ เมื่อมันไม่ได้คล้ายตามแนวคิดในบทละครของซาร์ตร์ไปเสียทั้งหมด แม้เนื้อหาจะเต็มไปด้วยโลกขมขื่นไม่สวยสด แต่คำถามที่ดูเหมือนบัคมันกำลังถามคือ ซาร์ตร์มองโลกในแง่ลบเกินไปหรือเปล่า และใช่หรือเปล่าว่าคนอื่นอาจไม่ได้เป็นนรกสำหรับเราเสมอไป เพราะนอกจาก Anxious People จะเป็นเรื่องราวของคนเขลาแล้ว มันยังเป็นเรื่องราวของมนุษย์ผู้พยายามทำความเข้าใจกันและกันอีกด้วย

สิ่งนี้ย้ำชัดผ่านคำพูดของตัวละครตัวหนึ่งที่บอกว่า “พระเจ้าไม่ได้ปกป้องผู้คนจากมีดหรอกที่รัก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพระองค์มอบคนอื่นให้เรา เพื่อที่เราจะได้ช่วยปกป้องกันและกัน”

และการพยายามแสวงหาความเข้าอกเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ ซึ่งดูจะเป็นแนวคิดที่แข็งแรงของชาติจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียนี้ ก็ฉายชัดให้เห็นผ่านวิธีการนำเสนอในรูปแบบที่สอง เมื่อบัคมันเล่าบันทึกคำไต่สวน ตัดสลับไปกับไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ วิธีการเล่าแบบนี้มีกลิ่นอายของการเล่าเรื่องแบบ ราโชมอน ของนักเขียนชาวญี่ปุ่น ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ (Ryūnosuke Akutagawa) อยู่ในที ทว่าในราโชมอนนั้น มันเป็นการบิดเบือนความจริงจากหลากหลายมุมมองเพื่อให้ ‘ตัวเอง’รอดพ้นความผิด แต่ใน Anxious People นั้นคือการบิดเบือนความจริงเพื่อ ‘ผู้อื่น’

ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ

ไม่ใช่แค่ด้านอัปลักษณ์ระหว่างกันที่มนุษย์ส่องสะท้อนกันไปมา ไม่ใช่ว่าคนอื่นต้องเป็นนรกเสมอไป แต่เรายังมีความสามารถในการเป็นสรวงสรรค์ให้แก่คนอื่นได้ด้วยเช่นกัน แสงสะท้อนระยิบระยิบในความเป็นมนุษย์ในเรื่องเล่าของบัคมันยืนยันเช่นนั้น ล้อไปกับวิธีการเล่าเรื่องในแบบที่สาม นั่นคือการร้อยเรียงเชื่อมโยงเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่หากไม่ถูกเล่าออกมาเป็นนิยายด้วยมุมมองพระเจ้า เราจะไม่มีวันมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างกันได้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าของชายหนุ่ม ซึ่งต่อมาจะเติบโตเป็นตำรวจ ผู้เคยช่วยเด็กสาวคนหนึ่งไว้จากการกระโดดสะพาน หรือเรื่องเล่าของเด็กสาวคนนั้นที่เติบโตมาเป็นจิตแพทย์ ผู้ทำการรักษาผู้จัดการธนาคาร ซึ่งแบกความรู้สึกผิดจากความคิดที่ว่าเธอมีส่วนให้ชายคนหนึ่งฆ่าตัวตาย โดยพกจดหมายน้อยที่ชายคนนั้นทิ้งไว้ติดตัวอยู่ตลอดเวลา เรื่องเล่าของคนแปลกหน้า ของคนที่เกลียดชังตัวเอง ของผู้คนที่อยากให้ใครสักคนยื่นมือมารองรับเมื่อร่วงหล่น ของคนงั่งที่สมควรจะเรียนรู้วิธีการโอบกอดตัวเองให้ได้

โลกทุกวันนี้เป็นเช่นนั้น เราต่างเป็น Anxious People ผู้กำลังวิตกกังวลกับความคาดหวังของตัวเองและสายตาคนอื่นตลอดเวลา โดนอดีตหลอนหลอก และมีอนาคตเป็นยักษ์ปักหลั่นขู่กรรโชก บางครั้งเรามองไปที่คนอื่น มองเห็นภาพสวยสดของคนแปลกหน้า และนึกเปรียบเทียบกับชีวิตอันน่าเศร้าของตัวเอง

“บางครั้งเรามองไปรอบๆ ในที่ทำงาน ในการประชุมผู้ปกครอง หรือบนท้องถนน และตื่นตระหนกจากการตระหนักได้ว่า ทุกคนดูเหมือนจะรู้แน่ชัดว่าตัวเองกำลังทำอะไร มีแค่เราเท่านั้นที่ต้องเสแสร้งแกล้งแสดง”

ทว่าไม่ต้องให้ใครมาบอกหรอก สิ่งที่ Anxious People อย่างเราต่างรู้ แต่บางครั้งด้วยความหมกมุ่นกับตัวเองจนเกินพอดีก็ทำให้หลงลืมไปคือ

“ความจริงคือถ้าพวกเขามีความสุขเหมือนที่ปรากฏบนอินเตอร์เน็ต พวกเขาจะไม่ใช้เวลามากมายบนโลกออนไลน์ เพราะคงไม่มีคนที่กำลังมีวันดีๆ คนไหนเสียเวลาครึ่งวันไปกับการถ่ายรูปของตัวเอง ทุกคนแต่งเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของตนได้ถ้ามีปุ๋ยคอกมากพอ ดังนั้นถ้าหญ้าของอีกฝั่งรั้วดูเขียวกว่าหญ้าในรั้วบ้านเราเสมอ นั่นก็อาจเพราะว่ามันเต็มไปด้วยขี้ยังไงล่ะ”

ชีวิตของพวกเราหลายคนเต็มไปด้วยรอยเปื้อนเลอะเทอะของขี้ และการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมซึ่งแยกให้ผู้คนห่างจากกัน จนไม่มีใครพยายามจะทำความเข้าอกเข้าใจ หรืออยากเอ่ยปากสอบถามว่ารอยเปื้อนเลอะเทอะที่เรามีนั้นมาจากความทุกข์ชนิดไหน ทางที่ง่ายที่สุดคือการแอบซ่อนมันไว้ให้มิดชิด

“คนบางคนยอมรับว่าพวกเขาจะไม่มีวันเป็นอิสระจากความวิตกกังวลได้ พวกเขาแค่เรียนรู้ที่จะพกมันติดตัวไปด้วย”

แต่สิ่งที่นิยายเรื่องนี้กำลังบอกก็คือ แท้จริงแล้วเราอาจไปจำเป็นต้องแอบซ่อน หรือพกความวิตกกังวลไว้กับตัวเพียงลำพังเสมอไป ในเมื่อในโลกนี้ยังมีมนุษย์คนอื่น แม้จะเป็นคนแปลกหน้า แต่จากผู้คนมากมายหลายล้านคน มันย่อมต้องมีความเป็นไปได้ที่จะมีใครสักคนพยายามเข้าอกเข้าใจเรา แม้ว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นเรื่องั่งๆ อย่างการปล้นธนาคาร เรียกเงินแค่ไม่ถึง 25,000 บาท เพื่อจะนำมันไปใช้จ่ายค่าเช่าบ้าน และรักษาสิทธิ์การเลี้ยงดูลูกของตนเอาไว้ หรือการพยายามรักษาบทบาทของการ ‘เป็นผู้ใหญ่’ ตามหน้าที่ ตามบรรทัดฐานที่โลกคาดหวัง ซึ่งบางครั้งก็ส่งผลให้เกิดเรื่องโง่เง่าตามมามากมายได้เช่นกัน หรือแม้แต่การจ่อมจมอยู่กับความรู้สึกผิดของตนตลอดเวลา พกจดหมายบางฉบับที่แท้จริงแล้วอาจช่วยปลดเปลื้องตัวเองให้เป็นอิสระโดยไม่เคยคิดจะเปิดอ่านมาเป็นสิบปี

จดหมายที่ในท้ายที่สุดอาจบอกกับเราด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “มันไม่ใช่ความผิดของคุณ”

และการยอมรับว่าเราคือคนงั่งคนหนึ่ง มันก็อาจไม่ได้แย่อะไร เพราะบางครั้งชีวิตอาจจะไม่ใช่อะไรอื่นใด นอกจากชุดเหตุการณ์ที่ร้อยเรียงและก่อตัวมาจากความเขลาในเบื้องลึกของการเป็นมนุษย์ที่พวกเราต่างมีร่วมกัน

 

หมายเหตุ: ผลงานของ เฟรียดริค บัคมัน แปลเป็นภาษาไทยออกมาแล้ว 3 เล่มโดยสำนักพิมพ์ Merry-Go-Round และเชื่อว่านิยายเล่มล่าสุด Anxious People เล่มนี้คงถูกแปลสู่นักอ่านชาวไทยในไม่ช้า