“หุบปากไปอีบ้า”
“กูจะตัดหัวมึงออกมาข่มขืน”
“มึงต้องถูกตัดลิ้นให้สาสม”
ใครก็ตามหากได้รับข้อความหยาบคายและคุกคามเช่นนี้ ย่อมรู้สึกไม่สบายใจในทันที เพราะเกิดความหวั่นวิตกว่าชีวิตจะไม่ปลอดภัยเหมือนเดิม แต่สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือ ทั้งหมดเป็นข้อความจริงที่ แมรี เบียร์ด (Mary Beard) นักวิชาการด้านอารยธรรมกรีกและโรมันโบราณชาวอังกฤษ ทั้งพบเห็นและได้รับเองทางทวิตเตอร์จากบัญชีผู้ใช้ที่ประสงค์ร้าย หวังต้องการข่มขู่ให้เธอและผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกกระทำด้วยวิธีเดียวกันรู้จักควบคุม ‘ปาก’ ไม่ให้ ‘เห่าหอน’ สร้างความน่ารำคาญอีกต่อไป
แต่ขอแสดงความเสียใจย้อนหลังร่วมถึงล่วงหน้ากับผู้ไม่หวังดีด้วย หากเหตุการณ์ทำนองนี้จะเกิดขึ้นซ้ำกับเบียร์ด (ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน) เพราะการพยายามสั่งสอนด้วยวิธีสกปรกให้เธอเงียบปาก ไม่เคยทำให้เบียร์ดรู้สึกหวาดกลัว เข็ดหลาบ หรือสยบยอมต่อคำพูดพล่อยๆ ไร้ความรับผิดชอบ อันที่จริงกลับส่งผลในทางตรงกันข้าม เธอกล้าหาญมากขึ้น มั่นใจในเสียงที่เปล่งออกมา และเลือกตั้งคำถามกับเหตุการณ์ทั้งหมดว่า ทำไมการพูดและแสดงความคิดเห็นของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ จึงกลายเป็นสาเหตุทำให้บางคนทนฟังไม่ได้ถึงขนาดสั่งให้พวกเธอ ‘หุบปาก’ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เบียร์ดเข้าใจดีว่าสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับเธอและผู้หญิงทุกคนล้วนมีต้นสายปลายเหตุ เมื่อสืบสาวกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของอารยธรรมกรีกและโรมัน จึงพบต้นต่อเป็นหลักฐานเก่าแก่เท่าที่มนุษยชาติเคยบันทึกเอาไว้ นั่นคือ ‘วรรณกรรมและบทละครโบราณ’ โดยมีเนื้อหาตีตราและกล่าวโทษผู้หญิงในลักษณะเดียวกันว่า เป็นเพศไร้อำนาจและไม่สมควรได้รับอนุญาตให้พูดในที่สาธารณะ เท่ากับทำให้ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียงใดๆ ภายใต้ระบบสังคมปิตาธิปไตย (patriarchy) ซึ่งผูกขาดอำนาจการปกครองไว้กับผู้ชายเท่านั้น
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เบียร์ดศึกษาและวิเคราะห์ คือหลักสำคัญที่เธอใช้อ้างอิงเพื่ออธิบายกลไกที่ทำให้ผู้หญิงเงียบเสียง และสร้างความเข้าใจถึงเหตุผลที่ปัญหาความเกลียดชังผู้หญิง (Misogyny) ยังคงมีอยู่ให้เห็นในปัจจุบัน หมายความว่า หลักฐานในอดีตทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นให้เธอใช้ถอดรหัสโครงสร้างสังคมตะวันตกที่ปฏิเสธรับฟังเสียงของผู้หญิง และเขี่ยผู้หญิงให้กลายเป็น ‘คนนอก’ ที่ออกห่างไปจากศูนย์กลางอำนาจเสมอมา
‘ผู้หญิง | อำนาจ (Women & Power: A Manifesto)’ จึงไม่ใช่แค่หนังสือ แต่เป็นปาฐกถาในรูปแบบหนังสือ หรือผลลัพธ์ที่เบียร์ดตั้งใจใช้เป็นถ้อยแถลงสำหรับพูดแทนผู้หญิงสมัยโบราณในฐานะผู้ถูกกระทำ และส่งเสียงแทนผู้หญิงยุคปัจจุบันเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ โดยยืนยันสิทธิอันชอบธรรมในการพูดและแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระของผู้หญิงในฐานะมนุษย์เท่ากัน
เบียร์ดเรียบเรียงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ขึ้นใหม่จากปาฐกถาสองบทที่เธอเคยบรรยายและตีพิมพ์เป็นบทความลงในวารสาร London Review of Books คือ The Public Voice of Women (2014) และ Women in Power (2017) เนื้อหาภายในหนังสือจึงแบ่งหัวข้อหลักออกเป็นสองส่วน คือ ‘เสียงของผู้หญิงในที่สาธารณะ’ และ ‘ผู้หญิงที่มีอำนาจ’
ความน่าสนใจของเนื้อหาทั้งหมดอยู่ตรงที่วิธีการนำเสนอ โดยเบียร์ดยกหลักฐานทางวัฒนธรรมที่มนุษย์ในอารยธรรมกรีกและโรมันโบราณ จนถึงโลกตะวันตกสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 สร้างไว้ให้เป็นผลงานเชิงประจักษ์หลายรูปแบบ ซึ่งส่วนใหญ่ต่างได้รับการยกย่องในฐานะศิลปะหรือการสร้างสรรค์ชิ้นสำคัญของโลก ขึ้นมาตีแผ่และแสดงให้เห็นอคติแบ่งแยกเพศ (gendered speaking) ที่เคลือบแผงอยู่ในผลงานเหล่านี้อีกทีหนึ่ง
บทสนทนาหนึ่งระหว่างแม่และลูกที่ปรากฏใน โอดิสซี (Odyssey) ของโฮเมอร์ (Homer) กวีชาวกรีก โดยลูกออกคำสั่งให้แม่หยุดพูด แล้วกลับไปอยู่ในที่ทางของตน คือนั่งทำงานบ้านงานเรือนเงียบๆ ขณะที่ลูกชายอ้างสิทธิ์ขาดว่า การพูดในที่สาธารณะเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น คือตัวอย่างแรกที่คล้ายกับเป็นการตอกเสาเข็มตีตราผู้หญิงให้รู้จักหุบปาก เพราะเสียงของผู้หญิงไร้ค่าไร้ความหมายเกินกว่าใครในสังคมชายเป็นใหญ่จะยอมรับฟัง เป็นวิธีจำกัดอำนาจไว้ที่ผู้ชาย โดยริบและทำลายอำนาจของผู้หญิงให้หมดสิ้นไปใครคราวเดียวกัน
รวมถึงบทกวี เมตามอร์โฟซีส (Metamorphoses) ของโอวิด (Ovid) กวีชาวโรมัน ที่บอกเล่าเรื่องราวของบรรดาผู้หญิง ซึ่งถูกลงโทษด้วยวิธีการสาปให้กลายเป็นสัตว์ อสูรกาย หรือแมกไม้ เมื่อไม่ใช่มนุษย์ เธอจึงไม่อาจปริปากส่งเสียงพูดอย่างมนุษย์ได้อีก
ถึงแม้ว่าเรื่องราวตัวอย่างในหนังสือ จะเป็นเพียงงานประพันธ์ของกวีและนักเขียนที่ไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมด แต่วรรณกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการยอมรับแนวคิดและวิธีปฏิบัติด้วยอคติเพื่อควบคุมผู้หญิงให้สิ้นอำนาจ ซึ่งหยั่งรากลึกในวัฒนธรรมกรีกและโรมันโบราณมานานนับพันปี ก่อนจะผลิดอกออกผล แพร่พันธ์ุความคิดกีดกันผู้หญิงมายังวัฒนธรรมตะวันตกในเวลาต่อมา เป็นเหตุผลว่า ทำไมความเกลียดชังผู้หญิงยังคงตกทอดมาถึงตอนนี้
แต่ความหวังที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะยืนขึ้นพูดแล้วมีคนรับฟังนั้น ก็ไม่ได้ดับมืดเสียทีเดียว เพราะแสงหนึ่งที่แสร้งว่าเป็นความหวังริบหรี่ที่พอจะอนุโลมให้ผู้หญิงพูดได้บ้าง และช่วยให้เธอหลุดพ้นจากสายตาที่มองด้วยความรู้สึกเหยียดหยามไปชั่วขณะ มีเพียงสองกรณี คือ การพูดในฐานะเหยื่อ ส่วนมากมักเป็นคำพุดสุดท้ายก่อนตาย และการพูดเพื่อปกป้องคนครอบครัวอย่างผัวและลูกชาย หรือไม่ก็เป็นการพูดเพื่อรักษาสิทธิของผู้หญิงคนอื่นๆ เท่านั้น เธอไม่สามารถพูดแทนทุกคนในสังคมได้ โดยเฉพาะพูดแทนผู้ชาย
บางที นี่อาจเป็นวิธีลงทัณฑ์ในคราบการวางทีท่าว่าปราณี ซึ่งผู้ชายเลือกยื่นให้ผู้หญิงราวกับเป็นข้อเสนอที่เธอไม่อาจปฏิเสธ
เมื่อเงื่อนไขด้านกาลเวลาเปลี่ยนไป แต่เงื่อนไขทางสังคมที่ยังอุ้มชูผู้ชายให้เป็นใหญ่กลับไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพราะอิทธิพลของงานเขียนยุคโบราณ ก่อกำเนิดเทคนิควาทะศิลป์และการพูดจูงใจในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) เรื่อยมาถึงโลกตะวันตกสมัยใหม่ ในช่วงศตวรรษที่ 20-21 ซึ่งพยายามสร้างภาพไม่น่าดูให้ผู้หญิงที่กล้าพูดในที่สาธารณะว่าไม่ต่างจากตัวประหลาดสองเพศ คือ กายเป็นสตรี แต่พยายามลอกเลียนแบบท่าทางและวางตัวเป็นอย่างบุรุษ เพราะสังคมให้คุณค่าผู้หญิงผ่านบทบาท ‘แม่’ และ ‘เมีย’ เท่านั้น
กระทั่งสังคมอเมริกัน ในฐานะประเทศมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลด้านต้นแบบประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จ และผู้นำกระแสวัฒนธรรมการใช้ชีวิต ก็ยังได้สร้างมาตรฐาน ‘การพูดแบบอเมริกัน’ จากอคติแบ่งแยกคนเป็นสองเพศ (gender binary) คือชายหรือหญิง โดยชื่นชมเฉพาะเสียงอ่อนหวานของผู้หญิง เพราะเสียงทุ้มต่ำ แสดงถึงความลุ่มลึกและกล้าหาญอย่างลูกผู้ชาย ต่อให้พูดเรื่องหาสาระไม่ได้ก็ยังน่าฟังกว่าเสียงสูงแหลม สื่อถึงความขี้ขลาดอย่างผู้หญิง แม้จะพูดเรื่องสำคัญ แต่จะถูกเหมารวมว่าน่ารำคาญและไร้สาระ แต่ตราบจนวันนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ใด สามารถยืนยันความเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างโทนเสียง เพศ และคุณลักษณะบางอย่างว่าเป็นจริง
แม้ว่าในปัจจุบัน เรื่องความเท่าเทียมทางเพศจะกลายเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมยอมรับและเปิดกว้างมากกว่าอดีต แต่ในระดับบุคคลยังไม่อาจสลัดความคิดล้าหลังรังเกียจผู้หญิงไปได้ เมื่อไหร่ก็ตามหากผู้หญิงรุกล้ำเข้าไปในเขตแดนที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นอาณาบริเวณของผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำแหน่งทางการเมือง รัฐมนตรี ผู้บังคับบัญชาในกองทัพ อาชีพอื่นๆ เช่น นักวิเคราะห์กีฬา เธอจะไม่ได้รับการยอมรับใดๆ และตกเป็นเป้าให้โจมตีด้วยวิธีต่างๆ ทั้งถากถางด้วยคำพูด สบประมาท และข่มขู่
ด้วยเหตุนี้เบียร์ดชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า ถึงผู้หญิงยุคใหม่จะไม่ได้ถูกบังคับให้หุบปากหรือเงียบเสียง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายที่จะมีคนฟังเสียงของเธออย่างเคารพและให้เกียรติในฐานะผู้หญิงซึ่งมีศักดิ์มีศรีเฉกเช่นมนุษย์เท่ากัน การพูดแต่ละครั้งของผู้หญิงจึงมีราคาสูงลิบไร้เพดานเป็นเดิมพัน ซึ่งเธอต้องจำใจจ่ายออกไปเพื่อให้คนอื่นรับฟัง
ความรู้สึกสะเทือนใจต่อวิบากกรรมที่ผู้หญิงถูกทิ้งให้เผชิญหน้าเพียงลำพัง กระตุ้นให้คนที่มองเห็นความทุกข์ยากของผู้หญิง เริ่มตั้งคำถามถึงวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งดูเหมือนว่ายังคงเป็นเรื่องที่คิดกันไม่ตก แต่สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่า คือการสนับสนุนให้ผู้หญิงไม่ต้องคิดหาหนทางปลอดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากอคติ ด้วยวิธีการสิ้นคิดยอดนิยมที่คนจำนวนไม่น้อยแนะนำให้พวกเธอทำ นั่นคือ ‘ปิดปากเงียบ’ เพื่อหยุดยั้งการถูกโจมตี ซึ่งเป็นผลลัพธ์เดียวกันกับที่ผู้โจมตีต้องการ
หรืออีกวิธีหนึ่งที่ผู้หญิงมักจะเลือกใช้เพราะทำให้มีคนรับฟังสิ่งที่เธอพูด คือ การแสดงออกถึงความเป็นคนสองเพศ หมายความว่า ผู้หญิงจะอำพรางความเป็นหญิงไว้โดยเลียนแบบลักษณะของผู้ชาย ทั้งการใช้ท่วงท่า ภาษากาย เปลี่ยนการแต่งตัวใหม่โดยสวมกางเกงขายาวดูกระชับกระเฉงแทนกระโปรง ปรับโทนเสียงให้ทุ้มต่ำ แม้วิธีนี้จะได้ผล แต่สิ่งที่ผู้หญิงทำไม่ต่างจากการฝืนธรรมชาติและขาดความเป็นตัวตนที่แท้จริง วิธีนี้จึงเป็นแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
เบียร์ดยังชวนคิดข้ามขั้นว่า การตั้งคำถามไม่ควรจำกัดอยู่กับการเรียกร้องให้ผู้หญิงมีโอกาสพูดในที่สาธารณะอย่างอิสระ โดยไม่ถูกตัดสินด้วยอคติชายเป็นใหญ่ แต่ควรถามย้อมกลับไปถึงรากฐานที่มาของอคติว่า เราทุกคนควรทำอย่างไร เพื่อรู้เท่าทันกลไลและกระบวนที่ทำให้ไม่มีใครสนใจรับฟังเสียงของผู้หญิง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่อง ‘อำนาจ’
สาเหตุที่ผู้หญิงต้องทำตัวเหมือนผู้ชาย เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไร ผู้หญิงคือตัวแทนของความอ่อนแอ และไม่เคยมีภาพ ‘ต้นแบบ’ ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้หญิงที่มีอำนาจควรเป็นอย่างไร อย่างตัวละครผู้หญิงในวรรณกรรมและบทละครโบราณ ก็ไม่สามารถใช้เป็นแบบอย่างที่ดีได้ เพราะพวกเธอมักจะถูกสร้างบทบาทให้ใช้อำนาจในทางที่ผิด เกิดเป็นความวุ่นวายให้สังคม
ความวุ่นวายที่เกิดจากการปรักปรำ กลายเป็นข้ออ้างที่สร้างความชอบธรรมให้ผู้ชายยึดอำนาจมาจากผู้หญิงจนหมดสิ้น เท่ากับว่าผู้ชายมีสิทธิ์ขาดในการใช้อำนาจได้ตามความพอใจ
หนึ่งในตัวละครจากเทพปกรนัมที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายถูกกระทำซ้ำซากอย่างไร้อำนาจต่อรอง คือ เมดูซา (Medusa) เธอเป็นผู้หญิงที่ถูกสาปให้กลายเป็นสัตว์ประหลาด และถูกเนรเทศให้ไปอยู่อย่างโดดเดียวท่ามกลางทะเลทราย ก่อนจะถูกฆ่าตัดหัวเป็นเครื่องพิสูจน์ความแข็งแกร่งและความกล้าหาญของผู้ชาย
การตัดหัวเมดูซาคือสัญลักษณ์เชิงวัฒนธรรมที่สื่อว่า ผู้ชายได้รับสิทธิ์ให้ยึดอำนาจที่ไร้ความชอบธรรมของผู้หญิงด้วยไม่สนว่าจะใช้วิธีโหดเหี้ยมแค่ไหน จึงไม่ใช่เรื่องน่าสงสัยเท่าไหร่ หากผู้หญิงสมัยนี้จะได้รับข้อความข่มขู่ว่าจะถูกตัดหัวผ่านช่องทางออนไลน์ หรือไม่ก็ถูกตัดต่อภาพให้อยู่ในฐานะเดียวกับเมดูซา
แต่ถึงอย่างนั้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่นับวันยิ่งมีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งและพื้นที่ของอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะยังเป็นส่วนน้อย แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลาเสมอ เพราะอคติที่คงอยู่มานานเป็นพันๆ ปีไม่อาจลบล้างในชั่วข้ามคืน
ต่อให้อำนาจตามขนบโบราณ เป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ชนหรือชนชั้นนำซึ่งเชื่อมโยงกับชื่อเสียง เกียรติภูมิ และบารมี กลายเป็นสมบติที่มีผู้ชายเพียงหยิบมือหนึ่งครอบครองและใช้งานได้ เมื่อผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในอำนาจนี้ จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างอำนาจใหม่ และตีความหมายให้อำนาจเป็นเรื่องพื้นฐานของทุกคน ไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง ควรเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนคนให้สร้างสังคมและเปลี่ยนแปลงโลกไปในแนวทางที่ทำให้ทุกคนมีสิทธิ์พูดในที่สาธารณะ แล้วเสียงเหล่านั้นจะได้รับฟังอย่างเสมอกัน ดังนั้น การเรียกร้องให้ได้มาซึ่งอำนาจไม่ควรถูกผลักให้เป็นเรื่องเฉพาะผู้หญิงที่ต้องต่อสู้อยู่ฝ่ายเดียว
นอกเหนือจากเนื้อหาปาฐกถา ยังมีบทส่งท้ายที่บอกเล่าปรากฏการณ์ร่วมสมัยอย่าง #MeToo ในปี 2017 ซึ่งปลุกจิตสำนึกของคนทั่วโลกให้หันมารับฟังเสียงของกันและกัน ผ่านประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศที่ผู้หญิงทั่วโลกต่างลุกขึ้นมาพูดอย่างเปิดเผย ปราศจากความกลัว เพื่อนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมถึงเรื่องส่วนตัวของเบียร์ด ซึ่งเธอเล่าในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกขมขืน ไม่ใช่ในฐานะผู้เขียน เพื่อเรียกร้องและยืนยันสิทธิ์ของตัวเองอีกครั้ง
แม้ว่าคำอธิบายทั้งหมดภายในหนังสือจะอ้างอิงอยู่กับบริบทสังคมตะวันตก แต่ข้อมูลชุดเดียวกันนี้กลับใช้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในสังคมตะวันออกได้เหมือนกัน อาจเป็นเพราะว่าการกีดกันให้ผู้หญิงเงียบเสียงและไร้อำนาจคือประเด็นปัญหาของมนุษยชาติ หมายความว่า ตราบที่ยังดำรงอยู่ในฐานะมนุษย์ ชีวิตย่อมข้องเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้
แต่ละหน้ากระดาษของ ผู้หญิง | อำนาจ ทำหน้าที่ราวกับเป็นกระจกเงาส่องสะท้อนไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบัน ก่อนจะฉายภาพให้เห็นเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลที่เปลี่ยนผู้หญิงให้กลายเป็นอื่น พร้อมกับเสนอคำถามให้ผู้อ่านฉุกคิดเพื่อพิจารณาสังคมไทยในปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นอยู่ รวมถึงทบทวนความคิดและมุมมองของตัวเองว่า ‘มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร’
นั่นคือ จุดที่ความเท่าเทียมทางเพศและการยอมรับว่าทุกคนเท่าเทียมกันอย่างไม่มีเงื่อนไขด้านเพศยังไม่เคยเกิดขึ้นจริงอย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกับอคติแบ่งแยกเพศและอาการเกลียดชังผู้หญิงที่อาจแฝงเร้นอยู่ในใจ คอยเปิดโอกาสให้เผอเรอเอาเปรียบและกลั่นแกล้งผู้หญิงในพื้นที่ทางการเมือง ไม่ว่าผู้กระทำจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ซึ่งทั้งหมดนี้ยังคงเป็นประเด็นที่สร้างบทสนทนาและผลกระทบอื่นๆ ได้ไม่จบสิ้น
ข้อมูลหนังสือ
ผู้หญิง | อำนาจ (แปลจาก Women & Power: A Manifesto)
ผู้เขียน: แมรี เบียร์ด (Mary Beard)
ผู้แปล: นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน
สำนักพิมพ์: bookscape