©ulture

รวมเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ 7 เพลงเก่า ที่ถูกนำมาเล่าใหม่ในฐานะเพลงบอกลาโรงภาพยนตร์สกาลา

แม้โดยความหมายที่แท้จริงแล้ว เพลงโหมโรง จะหมายถึง เพลงไทยในวงปี่พาทย์ ที่ใช้บรรเลงก่อนเริ่มทำการแสดงมหรสพต่างๆ เพื่อเป็นการประกาศให้ทราบว่า งานนั้นๆ กำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว

แต่เพลงโหมโรงฉบับโรงภาพยนตร์สกาลาคงเป็นข้อยกเว้น เพราะเพลงที่สกาลาใช้เปิดก่อนที่หนังจะเริ่มฉายล้วนเป็นเพลงสากลที่มีอายุเก่าแก่กว่า 50 ปี ตรงตามอายุของโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแห่งนี้ ที่อยู่คู่สยามสแควร์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2512

จึงถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งของคอหนังที่นิยมเข้าโรงภาพยนตร์ก่อนเวลาหนังฉาย หลังจากยื่นตั๋วหนังให้พนักงานเดินตั๋วในสูทเหลืองพาไปยังหมายเลขตามบัตรที่นั่งเป็นที่เรียบร้อย ก็ถึงเวลาจมตัวลงไปในเบาะผ้าสีแดง แล้วนั่งพักสายตาเงียบๆ ฟังเพลงโหมโรงเพลงแล้วเพลงเล่าที่สกาลาทยอยเปิดให้ฟัง ก่อนเริ่มฉายภาพยนตร์

และแล้ว หลังจากที่ยืนโรงให้ความสุขแก่นักดูหนังมานานเกินครึ่งศตวรรษ สกาลาก็ถึงเวลาต้องปิดฉากลง โดยใน 2 วันสุดท้ายของการเปิดทำการ คือ วันที่ 4 และ 5 กรกฎาคม 2563 ได้มีการจัดฉายภาพยนตร์ 3 โปรแกรมตลอดทั้งวัน

12.00 น. Blow-Up

15.00 น. ภาพยนตร์สารคดี 2 เรื่องควบ The Scala และ นิรันดร์ราตรี

18.00 น. Cinema Paradiso

และในช่วงไม่กี่นาทีก่อนที่ภาพยนตร์เรื่อง Cinema Paradiso จะเริ่มฉาย ท่ามกลางบรรยากาศของผู้คนที่ทยอยกันเดินเข้ามาในโรงภาพยนตร์ที่คึกคักเป็นพิเศษ มีเสียงหยอกล้อ พูดคุย และการเปิดโอกาสให้ถ่ายรูปภายในโรงภาพยนตร์ได้อย่างเต็มที่

อาจมีเพียงไม่กี่คนที่ตั้งใจฟังแต่ละบทเพลงที่ทยอยเปิดเพลงแล้วเพลงเล่า เพื่อเป็นการโหมโรงสมความหมาย 

เราอาศัยแอปพลิเคชัน Shazam เป็นตัวช่วย ในการทำความรู้จักชื่อเพลงทั้ง 7 เพลงนี้ ที่ร้อยเรียงจนเกิดเป็นจดหมายในวันบอกลาได้อย่างงดงาม

ยิ่งเมื่อรู้ว่าเพลงทั้งหมดที่ใช้เปิดหน้าม่านก่อนหนังฉาย ผ่านการคัดสรรโดย นันทา ตันสัจจา เจ้าของโรงภาพยนตร์สกาลา มาตลอด 50 ปี

เราก็ยิ่งรู้สึกว่า สกาลากำลังบอกรักและบอกลาผู้ชมอันเป็นที่รัก อย่างเงียบงัน

Smoke Gets In Your Eyes

ขวัญใจคนดนตรีแจ๊ส และราชาเพลงประกอบภาพยนตร์

เพลง Smoke Gets in your Eyes ถูกเขียนขึ้นเพื่อใช้ประกอบละครเพลงบรอดเวย์เรื่อง Roberta (1933) ที่นำแสดงโดยนักแสดงมากฝีมือในยุคนั้นอย่าง Bob Hope ประพันธ์เนื้อเพลงโดย Otto Harbach ทำนองโดย Jerome Kern ขับร้องโดย Tamara Drasin และได้ Ray Sinatra รับหน้าที่โปรดิวเซอร์ ควบคุมการบันทึกเสียงในรูปแบบออเคสตร้าวงใหญ่

la scala
Jazz Standard Realbook chart SMOKE GETS IN YOUR EYES
(Photo: pinterest.com)

อีกหนึ่งปีให้หลัง Paul Whiteman ผู้นำวงแจ๊สออเคสตราแห่งยุคสวิง ได้นำเพลงนี้มาบรรเลงใหม่โดยออเคสตร้าวงใหญ่อีกครั้ง โดยมอบหน้าที่ให้ Bob Lawrence เป็นผู้ขับร้อง ส่งผลให้ Smoke Gets in your Eyes กลายเป็นเพลงฮิตประจำปี 1934 ในทันที

เพลง Smoke Gets in your Eyes ถูกนำมาร้องอีกครั้งโดย Irene Dunne เมื่อ Roberta ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี 1935 นำแสดงโดย Fred Astaire, Ginger Rogers และ Randolph Scott

la scala
Photo: jazzviews.net

Smoke Gets in your Eyes เวอร์ชั่นปี 1941 ที่คุมวงออเคสตราโดย Benny Goodman ผู้นำวงออเคสตรามือฉมังเจ้าของฉายา King of Swing และร้องโดย Peggy Lee เป็นอีกหนึ่งเวอร์ชั่นอมตะที่ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นนั้น

Nat King Cole ต้นตำรับวงแจ๊สแบบทรีโอ เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ติดใจความงดงามของบทเพลงนี้ จนต้องนำ Smoke Gets in your Eyes มาบรรเลงด้วยสำเนียงใหม่ ผ่านเครื่องดนตรีอย่างกีตาร์และดับเบิ้ลเบส ในปี 1946 

Smoke Gets in your Eyes มาอยู่ในหนังอีกครั้งในปี 1952 เมื่อมีการรีเมคภาพยนตร์เรื่อง Roberta ใหม่ แต่ใช้ชื่อเรื่องว่า Lovely to Look at นำแสดงโดย Kathryn Grayson ซึ่งเธอรับหน้าที่ร้องเพลง Smoke Gets in your Eyes ด้วยตัวเอง

la scala
The Platters
(Photo: ig.ft.com)

ส่วนเวอร์ชั่นที่ขับร้องโดย The Plattes นั้น บันทึกเสียงในปี 1958 ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้ม Remember When? ทั้งยังใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Hearts in Atlantis ซึ่งแน่นอนว่าเป็นอีกครั้งที่เพลงนี้ก้าวสู่สถานะเพลงฮิตติดอันดับ 1 ในชาร์ต Billboard Hot 100 ประจำปี 1959 อย่างไม่เกินความคาดหมาย

ล่วงเข้าสู่ยุค 90 เพลง Smoke Gets in your Eyes ก็ยังคงความอมตะไม่เสื่อมคลาย โดยนอกจากจะเป็นหนึ่งในเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Always (1989) ของสตีเวน สปีลเบิร์ก แล้ว ในปี 1994 วง Nu Colours ยังได้เรียบเรียงและร้องเพลงนี้ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในฐานะเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Four Weddings And A Funeral อีกด้วย

You Mean Everything to Me

เพลงรักแห่งยุคซิกซ์ตี้

หนึ่งในผลงานเพลงชิ้นเอกที่แต่งและร้องโดย Neil Sedaka นักร้อง นักเปียโน นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ชื่อดังแห่งยุคซิกซ์ตี้ ที่ปล่อยเพลงนี้ออกมาให้คนฟังเคลิบเคลิ้มในปี 1960 และได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง จนติดอันดับ 17 บนบิลบอร์ดชาร์ต

la scala
Photo: genious.com

นีลเกิดในครอบครัวชาวยิวอพยพที่มาตั้งรกรากในย่านบรุคลิน ในมหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เขาฉายแววทางด้านดนตรีตั้งแต่ในคลาสเรียนประสานเสียงสมัยเรียนอยู่เกรด 2 คุณครูถึงขั้นแนะนำให้คุณแม่พาเขาเรียนเปียโน เพื่อเพิ่มทักษะ ซึ่งแม่ของเขาก็ยอมไปทำงานพิเศษเพิ่มเพื่อซื้อเปียโนอัพไรท์มือสองมาให้ลูกชายได้ซ้อมมือ

ฝีมือของนีลเก่งกาจขึ้นเรื่อย แต่เขาไม่ได้อยากเป็นนักเปียโนคลาสสิคอย่างที่ใจแม่หวังไว้ หากต้องการเป็นนักทำเพลงป็อปต่างหาก 

และในวันธรรมดาวันหนึ่งที่นีล วัย 13 ปี กำลังบรรเลงเปียโนอยู่ในบ้าน เสียงเพลงแสนไพเราะไปกระทบเข้ากับโสตของเพื่อนบ้านเข้าอย่างจัง เธอแนะนำให้นีลรู้จักกับลูกชายวัย 16 ปีของเธอ อย่าง Howard Greenfield ผู้ที่จะเติบโตขึ้นเป็นกวีและนักแต่งเพลงมือฉมัง ทั้งยังเป็นคู่หูในการทำงานร่วมกับนีลในอนาคต

la scala
Photo: deezer.com

นีลกับฮาเวิร์ดบอกลาสถานะคู่หูนักทำเพลงในต้นยุค 70 เมื่อนีลต้องการไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอังกฤษ แผ่นดินที่เขามั่นใจว่าจะสร้างเพลงฮิตจำนวนมากมายขึ้น ณ ที่นั่นได้ ทั้งคู่จึงแต่งเพลงเป็นที่ระลึกวันลาในชื่อ Our Last Song Together 

นี่คือเรื่องราวที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นทางดนตรี ที่ทำให้นีลเดินเครื่องต่อแบบไม่ถอย จนเป็นเจ้าของผลงานการแต่งเพลงและอยู่เบื้องหลังบทเพลงกว่า 500 เพลง ทั้งเพลงของตัวเองและการทำเพลงให้ศิลปินอื่นๆ โดยมี You Mean Everything to Me เป็นหนึ่งในบทเพลงสร้างชื่อที่หลายคนจดจำ

Crying in The Rain

ทหารเรืออ้อนรัก

Crying in The Rain เป็นเพลงฮิตเพลงแรกของสองพี่น้องตระกูลเอเวอร์ลี แต่งโดย Howard Greenfirld และ Carole King ที่ได้รับการบันทึกเสียงแบบฉับไว ก่อนที่ทั้งดอน และฟิล เอเวอร์ลี จะต้องไปเกณฑ์ทหารเรือ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 1961 

la scala
Photo: qobuz.com

รับใช้ชาติก็ต้องทำ งานร้องเพลงก็ห้ามทิ้ง ดังนั้น กลางเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา สองพี่น้องจึงจำต้องสวมเครื่องแบบทหารเรือร้องเพลงนี้โชว์เป็นครั้งแรกในรายการ The Ed Sullivan ทำให้ Crying in The Rain กลายเป็นเพลงฮิตติดชาร์ตอย่างรวดเร็ว

ดอนและฟิลปลดประจำการในวันที่ 24 พฤษภาคม 1962 หลังรับใช้ชาตินาน 6 เดือน จากนั้น ทั้งคู่ก็เดินหน้าออกโชว์เต็มตัว ส่งผลให้เพลง Crying in the Rain กลายเป็นเพลงที่ได้รับการเปิดบ่อยที่สุดในรอบปี

la scala
Photo: discogs.com

ล่วงมาจนถึงยุค 90 วงดนตรีป็อปชื่อดังของนอร์เวย์อย่าง a-ha นำเพลงนี้มาคัฟเวอร์ใหม่อีกครั้ง ในอัลบั้ม East of the Sun, West of the Moon แน่นอนว่าฮิตระเบิดระเบ้อเช่นเคย โดยขึ้นอันดับ 1 ในนอร์เวย์ และอันดับ 13 ในอังกฤษไปตามระเบียบ

When A Child is Born

เพลงฮิตประจำเทศกาลคริสต์มาส ที่มีเนื้อร้องเกือบทุกภาษา

หนึ่งในเพลงประจำเทศกาลคริสต์มาสยอดนิยมแห่งยุค 70 ที่มีท่วงทำนองดั้งเดิมเป็นเพลงอิตาลีที่ชื่อ Soleado ร้องโดย Ciro Dammicco ในปี 1974 แล้วถูกนำมาแปลเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษโดย Fred Jay นักแต่งเพลงฮิตในยุคนั้นที่เขียนเพลงฮิตหลายเพลงให้ Boney M ซึ่งเนื้อหาในเพลง When a Child is Born ไม่ได้เอ่ยถึงเทศกาลคริสต์มาสในเพลงแต่อย่างใด

la scala
Photo: discogs.com

เนื้อร้องภาษาอังกฤษเวอร์ชั่นเฟรด เจย์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โดยศิลปินในหลายประเทศทั่วโลกได้นำมาร้องใหม่อย่างแพร่หลาย แต่ที่โด่งดังที่สุดต้องยกให้เสียงร้องของ Johnny Mathis ในปี 1976 ที่ฮิตจนติดชาร์จ Christmas Number One ในอังกฤษ และทำยอดขายได้ถึง 885,000 แผ่น 

นอกจากนี้ ยังมีการแปลเนื้อเพลง When a Child is Born ในอีกหลายภาษา ทั้งสแปนิช เยอรมัน ฝรั่งเศส ฮังกาเรียน เตอร์กิซ โพลิช จีน ฯลฯ เรียกได้ว่า ชนทุกชาติล้วนร้องเพลง When a Child is Born ในภาษาของตัวเองได้ เพลงนี้จึงถือเป็น “เพลงสากล” อย่างแท้จริง

Without You

จากบัลลาดร็อคสุดเซอร์แห่งยุค 70 สู่เพลงรักแสนเศร้าของชาว 90

ก่อนจะชื่อ Without You เพลงนี้เกือบได้ชื่อว่า If It’s Love 

และก่อนจะโด่งดังจากเสียงร้องของ มารายห์ แครี ในยุค 90 ต้นกำเนิดเพลงนี้คือวงร็อคสัญชาติเวลช์-อังกฤษแห่งยุค 70 ที่ชื่อ Badfinger

la scala
Photo: youtube.com

ในยุคนั้น สมาชิกของ Badfinger แชร์ที่พักร่วมกับวง Mojos ที่ 7 Park Avenue ในย่าน Golders Green กรุงลอนดอน และเย็นวันหนึ่ง ขณะกำลังปาร์ตี้ไปด้วย เขียนเพลงไปด้วย Pete Ham นักแต่งเพลงและหนึ่งในสมาชิกวง Badfinger กับ Beverly Tucker แฟนสาว กำลังจะปลีกตัวออกไปข้างนอก แต่จู่ๆ เพื่อนร่วมวงอย่าง Tom Evans ก็รั้งเขาไม่ให้ไป เพราะนึกไอเดียเขียนเพลงออกพอดี และอยากลงมือทำงานทันที

แฮมปฏิเสธอีแวนส์ เพราะสัญญากับแฟนไว้แล้ว แต่ทัคเกอร์กลับบอกให้แฮมเลือกงานเถอะ เธอโอเค

“Your mouth is smiling, but your eyes are sad.” ยิ้มสดใส แต่แววตาแสนเศร้า เขาบอกคนรักไปแบบนั้น

เพลงที่แฮมแต่งออกมาในคืนนั้นใช้ชื่อว่า If It’s Love โดยท่อนแรกเริ่มด้วยประโยค “Well I can’t forget tomorrow, when I think of all my sorrow, I had you there but then I let you go, and now it’s only fair that I should let you know… if it’s love” แต่แฮมไม่ชอบคอรัสท่อนนี้เลย

ในส่วนของความสัมพันธ์ของอีวานส์กับคนรักก็มาปรากฏในเพลงนี้เช่นกัน

la scala
พีท แฮม และ ทอม อีวานส์
(Photo: poba.org)

เย็นวันหนึ่ง หลังจากที่ Marianne แฟนสาวของอีวานส์บอกเลิกเขาและหนีไปกรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี อีวานส์จึงซมซานไปหา Karen เพื่อนของมารีแอนน์ เพื่อปรับทุกข์กับเธอว่า แมรีแอนน์ทิ้งผมไปแล้ว ผมต้องการเธอกลับมา ผมอยู่ไม่ได้ถ้าขาดเธอ

ไม่ใช่แค่ปรับทุกข์กับเพื่อนสนิทของแฟนสาว อีวานส์ลงทุนบินไปตามง้อมารีแอนน์ถึงกรุงบอนน์ โดยแต่งเพลง I Can’t Live เพื่อบอกความในใจ โดยมีท่อนคอรัสว่า “I can’t live, if living is without you, I can’t live, I can’t give anymore.”

และหลังจากเคลียร์ความสัมพันธ์เป็นที่เรียบร้อย (อีวานส์ง้อแมรีแอนน์สำเร็จ และได้แต่งงานกันในที่สุด) ทั้งแฮมและอีวานส์ก็นำเพลงที่ต่างคนต่างแต่งมาประกอบร่าง กลายเป็นเพลง Without You ที่ฮิตข้ามยุคข้ามสมัย เป็นเพลงที่ถูกเปิดทางวิทยุจนถึงปัจจุบัน

เพลง Without You ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้ม No Dice ของ Badfinger ความโด่งดังของเพลงบัลลาดร็อคเพลงนี้พิสูจน์ได้จากการถูกนำไปร้องใหม่โดย 180 ศิลปิน ไล่มาตั้งแต่ยุค 70 จนถึง 90 

นอกจากนี้ แฮมและอีวานส์ยังได้รับรางวัล Ivor Novello สาขา Best Song Musically and Lyrically จาก British Academy ประจำปี 1972 มาครอง

la scala
Photo: discogs.com

ส่วนเพลง Without You เวอร์ชันที่ถูกปล่อยเป็นซิงเกิ้ล มีเพียง 2 ครั้ง คือ เวอร์ชั่นที่ร้องโดย Harry Nilsson ในปี 1971 และเวอร์ชั่นที่โด่งดังสุดๆ ในปี 1994 ร้องโดย Mariah Carey ที่ทุบสถิติยอดขายสูงสุดไปครอง

ความไพเราะและฮิตเหนือกาลของเพลงนี้ ได้รับการยกย่องจาก Paul McCartney แห่ง The Beatles ให้เป็น The Killer Song of All Time

แต่น่าเศร้าที่ความสำเร็จของเพลง Without You กลับนำมาซึ่งจุดจบของทั้งแฮมและอีวานส์ ที่ต้องปลิดชีวิตตัวเองในต่างกรรมต่างวาระ แต่ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ ข้อพิพาทในลิขสิทธิ์ของเพลงนี้ ที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจจากโลกนี้ไปด้วยน้ำมือตนเอง

(Where Do I Begin?) Love Story

เพลงที่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน แต่ปิดฉากได้อย่างสวยงาม

มีเนื้อเพลง หรือจะเป็นแค่เพลงบรรเลง เอาไงดี? นี่คือปัญหาที่แก้ไม่ตกในช่วงเริ่มต้นของ (Where Do I Begin?) Love Story

(Where Do I Begin?) Love Story ประพันธ์ทำนองโดย Francis Lai และเนื้อร้องโดย Carl Sigman เป็นที่รู้จักครั้งแรกในฐานะเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Love Story ในปี 1970 

la scala
Love Story (1970)
(Photo: imdb.com)

แรกเริ่มเดิมที่ ฟรานซิส ไล แต่งสกอร์เพลง Theme from Love Story ขึ้น เพื่อใช้เป็นเพลงเปิดและปิดในภาพยนตร์เรื่อง Love Story แต่ทางบริษัทที่รับหน้าที่ใส่เพลงประกอบเข้าไปในหนังเห็นว่า น่าจะมีเนื้อร้อง คาร์ล ซิกแมน นักแต่งเพลงมือฉมังในยุคนั้น จึงถูกเรียกตัวมาใช้งาน

หลังอ่านเรื่องย่อของหนังและเห็นโน้ตเพลงเป็นที่เรียบร้อย คาร์ลคิดว่าควรใช้ถ้อยคำที่แสดงถึงความโศกเศร้าสอดแทรกเข้าไปในเนื้อหาแสนซาบซึ้งของภาพยนตร์ โดยเล่าผ่านมุมมองของพระเอกที่พูดถึงหญิงสาวที่เข้ามาพัวพันในชีวิตของเขา ผ่านเนื้อร้องว่า “So Jenny came” และ “suddenly was gone.”

แต่ Robert Evans ผู้บริหารของพาราเมาทน์ กลับเห็นว่าเนื้อร้องทำให้ฟังแล้วรู้สึกห่อเหี่ยว ทั้งยังระบุว่า วลี Jenny came ส่อไปในเรื่องทางเพศ ซึ่งไม่เหมาะจะเผยแพร่ไปสู่ผู้ชมจำนวนมาก เขาจึงสั่งให้แก้ไขเนื้อเพลงใหม่

ทีแรกคาร์ลถึงกับหัวเสีย และยืนกรานที่จะไม่แก้ไขเนื้อเพลง แต่หลังจากอารมณ์เย็นลงในวันถัดมา เขาก็เริ่มเดินวนไปวนมาในห้องนั่งเล่น พร้อมรำพึงกับภรรยาว่า “Where do I begin?” – จะเริ่มจากตรงไหนดี

la scala
Andy Williams
(Photo: nytimes.com)

และนี่คือจุดกำเนิดของเพลงฮิต (Where Do I Begin?) Love Story ด้วยส่วนผสมงงๆ ระหว่างสกอร์แสนไพเราะกับการถูกบังคับให้แก้เนื้อเพลง ที่ได้เสียงร้องของ แอนดี้ วิลเลียมส์ เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันชั้นดี ส่งผลให้เพลงนี้ติดอันดับที่ 9 บน Billboard Magazine’s Hot 100 และอันดับ 1 ประจำชาร์ต Easy Listening ในทันที

For The Good Times

เพลงคันทรีที่เศร้าที่สุดตลอดกาล

ก่อนที่ Kris Kristofferson จะเป็นนักแต่งเพลง และนักร้องแนวอเมริกันคันทรีชื่อดัง เขาเคยเป็นทหารรับใช้ชาติมาก่อน โดยหลังตัดสินใจแน่วแน่ว่าชีวิตนี้เลือกแล้วที่จะเป็นคนเขียนเพลง เขาจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มศิลปินใน Nashville ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา

la scala
Kris Kristofferson
(Photo: kingcenter.com)

เหตุผลที่เขาหันหลังให้การเป็นรั้วของชาติได้อย่างเด็ดขาด เพราะคริสตอฟเฟอร์สันได้ลองซ้อมมือด้วยการแต่งเพลงมาบ้างแล้ว เช่น เพลง Vietnam Blues (1966) ของ Dave Dudley ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง

รวมถึงเพลง For The Good Times ก็เช่นกัน ที่คริสตอฟเฟอร์สันเขียนเพลงนี้ขึ้นระหว่างทริปขับรถทางไกลจาก Nashville ไปอ่าวเม็กซิโก ในปี 1968 

อาจเพราะการขับรถเป็นห้วงเวลาที่ทำให้เกิดสมาธิ บวกกับระยะทางอันยาวไกล ความทรงจำต่างๆ เกี่ยวกับรักที่เพิ่งผ่านพ้นไปจึงผุดพรายขึ้นในหัวอยู่เรื่อยๆ จนกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดี ที่ทำให้เขากลั่นและกรองออกมาเป็นเนื้อเพลงที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเพลงคันทรีที่เศร้าที่สุดตลอดกาลอันดับที่ 18 จากทั้งหมด 40 อันดับ คัดเลือกโดยนิตยสาร Rolling Stone เมื่อปี 2014

la scala
Photo: postcardfinder.co.uk

เช่นเดียวกับเพลงฮิตอีกมากมาย For The Good Times ถูกนำมาร้องใหม่โดยศิลปินมากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็น Al Green, Elvis Presley, Frank Sinatra, Johnny Cash และโดยเฉพาะเวอร์ชันที่ขับร้องโดยนักร้องอเมริกันชื่อดังอย่าง Perry Como ที่ทำให้เพลง For The Good Times ติดชาร์ต UK Singles นานถึง 27 สัปดาห์ โดยสูงสุดที่อันดับ 7 ในเดือนสิงหาคม ปี 1973

และแม้จะเป็นเพลงที่เอ่ยถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนรัก แต่เมื่อสกาลาเปิดเพลงนี้ขึ้นมาเป็นเพลงสุดท้าย ก่อนเปิดม่านฉายภาพยนตร์อำลาเรื่อง Cinema Paradiso 

เนื้อหาในเพลงก็ดูราวกับว่า โรงภาพยนตร์แห่งนี้กำลังปลอบใจผู้ชมที่มาให้กำลังใจและบอกลาโรงหนังที่พวกเขารักเป็นครั้งสุดท้าย ว่า

“อย่าเศร้าเสียใจไปเลย ชีวิตยังต้องไปต่อ และอย่างน้อย เราเคยได้ใช้เวลาดีๆ ร่วมกัน”

“Don’t look so sad, I know it’s over

But life goes on and this old world will keep on turning

Let’s just be glad we had some time to spend together

There’s no need to watch the bridge that we’re burning”

อ้างอิง