การเมืองอันร้อนระอุของพม่า ทำให้สายตาคนทั่วโลกจับจ้องมายังดินแดนที่ได้ชื่อว่าต้องสาปนี้อีกครั้ง
ต้องสาปอันหมายถึงดินแดนที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล ทว่ามักมีอุปสรรคเข้าขัดขวางการพัฒนามาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม จนเข้าสู่ยุครัฐบาลทหารครองเมืองซึ่งก็ดูท่าจะไม่สิ้นวงจรลงง่ายๆ ยังไม่นับความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศที่ปะทุคุกรุ่นเรื่อยมา
ดินแดนที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนระดับตำนานอย่าง จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwel) ผู้เคยมาประจำการเป็นเจ้าหน้าที่กองตำรวจจักรวรรดิอยู่ในพม่านานถึง 5 ปี ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากราชการอย่างฉับพลันในวันหนึ่ง เพื่อเริ่มต้นชีวิตนักเขียนนวนิยายผู้ใช้ปลายปากกาตีแผ่ระบอบอำนาจนิยมอย่างถึงพริกถึงขิง แม้วาระสุดท้ายเขาก็ยังหมายจะเขียนถึงพม่าอีกครั้งในหนังสือ A Smoking Room Story (1950) จนชวนให้สนใจว่าพม่าเก็บงำชิ้นส่วนอะไรเอาไว้ จึงสะกิดใจนักเขียนจนถึงบั้นปลายชีวิต
แต่ก็อย่างที่ออร์เวลล์แทรกไว้ระหว่างบรรทัดของงานเขา การทำความเข้าใจพื้นที่ใดไม่อาจมองเพียงภาพที่ฉายบนผิวหน้า และคงเป็นเหตุผลที่ทำให้นายตำรวจหนุ่มใช้เวลาลาดตระเวนและร่วมวงสนทนาใน ‘ร้านน้ำชา’ เพื่อปะติดปะต่อชิ้นส่วนของดินแดนนี้ให้เห็นเป็นภาพใหญ่
ซึ่งอาจเป็นภาพที่กำลังถูกนำกลับมาฉายซ้ำให้เห็นอีกครั้งในปัจจุบัน…
1.
‘หมาก ยา และชา’ คือ 3 สิ่งที่ชาวพม่าใช้รับรองแขกคนสำคัญ…
อย่างแรกคือ ‘เชี่ยนหมาก’ อย่างดี ถัดมาคือ ‘ยาเส้น’ และสุดท้ายคือ ‘ชา’ หรือ ‘ละเพะ’ ที่หมายรวมถึงทั้งเครื่องดื่มประจำบ้านอย่างชาเขียวร้อนไปจนถึงใบชาอ่อนหมักในกระบอกไม้ไผ่ รสมัน เปรี้ยว เจือฝาด ที่มักพบเป็นของว่างในร้านน้ำชา สถานที่ที่ชาวพม่านิยมออกมาใช้เวลาร่วมกันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ
และเหตุการณ์สำคัญระดับประเทศหลายๆ ครั้งก็มักเกิดขึ้นในร้านน้ำชา แม้แต่การลุกฮือต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าในปี 1988 ก็มีชนวนมาจากการวิวาทในร้านน้ำชาระหว่างกลุ่มนักศึกษาและลูกนักการเมืองท้องถิ่น เมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่ทำงาน เหล่านักศึกษาจึงลุกขึ้นส่งเสียงจนลุกลามกลายเป็นปรากฎการณ์
วัฒนธรรมการดื่มชาของพม่านั้นมีประวัติยาวนานหลายร้อยปี ผ่านการแผ่อิทธิพลของเพื่อนบ้านคนสำคัญอย่างจีน ก่อนกิจการร้านน้ำชาจะเฟื่องฟูขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงศตวรรษที่ 19 หลังการเข้ามาของผู้ปกครองอย่างอังกฤษและสหายชาวอินเดียที่มีวัฒนธรรมการดื่มชาแข็งแรงไม่แพ้กัน
ประเมินกันว่าตลอดช่วงยุคอาณานิคมของอังกฤษ เฉพาะในย่างกุ้งมีชาวอินเดียอาศัยอยู่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ จากการเอื้อประโยชน์ทางการค้าให้กับชาวอินเดียผู้ตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกที่เราสามารถพบน้ำชาหลากรสรินขายในพม่า ตั้งแต่ชาเขียวร้อนหรือ ‘ชาฉาน’ ชื่อที่ตั้งตามแหล่งปลูกชาใหญ่ในรัฐฉาน พื้นที่ราบสูงตอนเหนือติดกับมณฑลยูนนานของจีน เมืองหลวงของชาติพันธุ์ไทใหญ่ที่มีปัญหาบาดหมางกับรัฐบาลกลางมานาน จนทำให้ชาวไทใหญ่บางส่วนต้องหลบลี้กระจายตัวอยู่ทั้งในจีนและภาคเหนือของไทย นอกจากนั้นชานมก็เป็นถ้วยยอดนิยมเช่นกัน ไม่ว่าจะชาใส่นมข้นมันๆ หวานๆ หรือชานมผสมเครื่องเทศที่เข้ากันกับของว่างสตรีทฟู้ดอย่างซาโมซาและบรรดาถั่วทอดซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากครัวอินเดียและบังคลาเทศ
อาหารอีกจานที่มักพบในร้านน้ำชาคือ ‘ขนมจีนน้ำยาปลาใส่หยวกกล้วย’ หรือ ‘โมฮิงกา’ โดยเฉพาะยามเช้าที่มีจะร้านขายโมฮิงกาเรียงรายอยู่ทุกหัวถนน กระทั่งอองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) เองยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า อาหารเช้าที่เธอกินประจำก็คือโมฮิงกาเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกที่โมฮิงกาจะได้รับสถานะประจำชาติพม่า แต่ลึกลงไปกว่านั้นมันยังถูกยกให้เป็น ‘อาหารรวมชาติ’ จากการผสมผสานที่เกิดขึ้นในครัวมอญ หนึ่งในชาติพันธุ์พื้นเมืองของพม่าผู้รับวัฒนธรรมการกินเส้นแป้งมาจากจีน นำมาผสมกับวัตถุดิบพื้นถิ่นอย่างปลาน้ำจืดและหยวกกล้วย และยังมีส่วนผสมของเอเชียใต้ด้วยวัตถุดิบอย่างถั่วลูกไก่ เนยแขก และเครื่องเทศ
โมฮิงกาหนึ่งถ้วยจึงหลอมรวมไปด้วยวัฒนธรรมอันหลากหลายที่สะท้อนความเป็นพม่า ส่วนเหตุผลสำคัญอีกข้อคือ เพราะโมฮิงกาเป็นอาหารที่ชาวพม่าไม่ว่าจะเชือสายไหนเผ่าพันธุ์ใดก็ล้วนรู้จักและชอบกินเหมือนๆ กัน ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้คือจุดขายหลักของโมฮิงกา โดยเฉพาะกับประเทศที่เคยตกเป็นเมืองใต้อาณานิคมของมหาอำนาจนานนับร้อยปี แถมยังมีชาติพันธุ์หลากหลายถึง 67 กลุ่ม (เท่าที่สำรวจพบอย่างเป็นทางการ) การสร้างความรู้สึกร่วมของคนในชาติย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย และการชูบางอย่างขึ้นมาเป็นภาพจำก็เป็นเครื่องมือสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมที่น่าสนใจ
2.
เพียงชิ้นส่วนในร้านน้ำชาก็พอจะทำให้เราเห็นภาพพม่าชัดขึ้นอีกนิด…
พม่าเป็นดินแดนที่มีสภาพภูมิประเทศสุดพิเศษ ด้วยมีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายและสมบูรณ์ มีอาณาบริเวณทางทิศตะวันตกขนานกับอ่าวเบงกอลที่เต็มไปด้วยก๊าซธรรมชาติและเชื่อมกับอินเดียและบังคลาเทศ ส่วนตอนเหนือเชื่อมติดกับมหาอำนาจอย่างจีนที่ทำให้วัฒนธรรมอาหารของพม่าอบอวลด้วยกลิ่นเครื่องเทศและใบชา ส่วนรั้วทางทิศตะวันออกเชื่อมกับไทยที่มีแผ่นดินทอดยาวไปได้ไกลถึงลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ความโดดเด่นเหล่านี้จึงกลายเป็นเหมือนดาบสองคม ทั้งมิติการค้าการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นโจทย์ยากของพม่าตลอดมา การต้องคานอำนาจระหว่างมหาอำนาจจีนและอินเดีย รวมถึงต้องระแวดระวังการเข้ามาหาผลประโยชน์อย่างไม่สมประโยชน์ของพี่ใหญ่ทั้งหลาย ยังไม่นับเรื่องความบาดหมางระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ภายในประเทศที่รัฐบาลกลางพยายามหลอมความหลากหลายให้กลายเป็นหนึ่งจนบางครั้งก็ล้ำเส้นประเด็นสิทธิมนุษยชนจนทำให้ประชาคมโลกขมวดคิ้วใส่พม่าอยู่บ่อยๆ
ชัดหน่อยก็เช่นท่าทีของประเทศต่างๆ หลังจากเกิดการรัฐประหารเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหล่าพี่น้องอาเซียนส่วนใหญ่ที่ออกแถลงการณ์กลางๆ ทำนองว่าก็ไม่เห็นด้วย แสดงความเป็นห่วงเป็นใย แต่จะให้หักหาญเข้าไปยุ่งกับกิจการภายในก็คงไม่ทำ ส่วนพี่ใหญ่อย่างจีนที่ใช้เวลาเกือบเดือนดูลาดเลาว่าจะแสดงท่าทีกับเรื่องนี้อย่างไรก็เป็นสัญญาณทำให้เรารู้ว่าพม่าสำคัญกับจีนไม่น้อย โดยเฉพาะในชั่วโมงที่นักลงทุนจีนจำนวนมากหว่านเม็ดเงินอยู่ในพม่า และโครงการสร้างโครงข่ายรองรับการค้าระหว่างประเทศที่มีพม่าเป็นสะพานเชื่อมจีนฝั่งตะวันตกและทางตอนใต้ออกสู่มหาสมุทรอินเดียกำลังเดินหน้าเต็มสูบอยู่ตอนนี้
และไม่แน่ว่าร้านน้ำชาในพม่าขณะนี้อาจมีบรรยากาศคล้ายกับที่นายตำรวจหนุ่มจอร์จ ออร์เวลล์เคยสัมผัสเมื่อกว่าร้อยปีก่อนก็เป็นไปได้ ในโมงยามที่โต๊ะในร้านน้ำชาต้องขยับห่างออกจากกันเพื่อระแวดระวังไม่ให้เสียงสนทนาเล็ดลอดสู่สิ่งที่ชาวพม่าในยุคอำนาจนิยมเรียกว่า ‘ม่านหมอกในร้านน้ำชา’ หรือสายลับผู้แฝงตัวเข้ามาสั่งโมฮิงกาและนั่งจิบน้ำชา เพื่อสืบเสาะและจับตาผู้คนในร้านน้ำชาที่อาจลุกขึ้นมาทวงถามความยุติธรรมและสิทธิอันชอบธรรมของตนบนแผ่นดินต้องคำสาปแห่งนี้
อ้างอิง
- เอ็มม่า ลาร์คิน. (2560). จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้
านน้ำชา [finding george orwell in burma] (สุภัตรา ภูมิประภาส, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: มติชน. - นันทนา ปรมานุดิษฐ์. (2557). โอชาอาเซียน. กรุงเทพฯ: มติชน.
- ขิ่น เมี้ยว ชิด. (2545). หลากรสเรื่องพม่า [Colorful Myanmar] (หอม คลายานนท์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: โครงการอาณาบริเวณศึ
กษา 5 ภูมิภาค. - ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2525). พม่า ประวัติศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุ
ษยชาติ.