©ulture

คุณจะตอบตกลงหรือเปล่า? ถ้าได้รับข้อเสนอให้กลายเป็น ‘แวมไพร์’ โดยไม่ทำให้ทั้งตัวเองและคนอื่นเจ็บปวด แถมยังจะได้รับพลังพิเศษเหนือมนุษย์ เพื่อนๆ ของคุณทุกคนก็ตอบรับข้อเสนอและกลายเป็นแวมไพร์ไปแล้ว สิ่งที่ต้องแลกเพียงอย่างเดียวก็แค่การสูญเสียสถานะความเป็นมนุษย์ไปตลอดกาล… 

นี่คือการทดลองทางความคิดชื่อ ‘The Vampire Problem’ ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ Transformative Experience ตีพิมพ์ในปี 2014 โดยนักปรัชญาจากมหาวิทยาลัยเยล แอล. เอ. พอล (L. A. Paul) ที่จะพาผู้อ่านไปวิเคราะห์ ‘การตัดสินใจ’ ในสถานการณ์อันจะนำไปสู่ประสบการณ์ใหม่ที่ไม่สามารถประมวลผลล่วงหน้าได้อย่างสิ้นเชิง

Photo: https://en.wikipedia.org/ https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/a2/Edvard_Munch_-_Vampire_%281895%29_-_Google_Art_Project.jpg

การเป็นมนุษย์คือการทนทุกข์กับความลังเลสงสัยต่อตัวเลือก ซึ่งจะส่งผลกับอนาคตที่เราไม่อาจรู้ล่วงหน้า จากสถิติพบว่า มนุษย์วัยผู้ใหญ่มีตัวเลือกยิบย่อยให้ตัดสินใจมากกว่า 35,000 ครั้งต่อวัน หรือเท่ากับ 2,000 ครั้งในระยะเวลา 1 ชั่วโมง (หากลบเวลานอนที่ประมาณ 7 ชั่วโมงออกไป)

การตัดสินใจส่วนใหญ่ในที่นี้เป็นเรื่องเล็กๆ เช่น จะหยิบแก้วกาแฟขึ้นมาดื่มเมื่อไหร่ จะเลือกคำไหนมาใช้เขียนบทความ ซึ่งอาจจะไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก แต่ในชีวิตหนึ่ง หลายๆ ครั้ง เราก็ย่อมต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจอันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้รู้สึกว่ามันจะเปลี่ยนแปลงชีวิต ทั้งในเรื่องความสุขสมหวัง เสรีภาพ หรือความเกลียดชัง และภาคภูมิใจในตัวเองไปตลอดกาล

แอล. เอ. พอล

การตัดสินใจครั้งสำคัญนั้นคือสิ่งที่ แอล. เอ. พอล พูดถึง เธอเรียกมันว่า ‘transformative experience’ หรือ ‘ประสบการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลง’ เช่น คู่สามีภรรยาจะตัดสินใจมีลูกหรือเปล่า เราจะตัดสินใจเปลี่ยนศาสนาไหม จะย้ายประเทศเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ดีหรือไม่ พอลบอกว่าการตัดสินใจครั้งสำคัญเหล่านี้มีลักษณะโครงสร้างใกล้เคียงกับเรื่องราวการกลายไปเป็นแวมไพร์ โดยเธอมุ่งเป้าโต้แย้ง ‘แบบจำลองการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล’ (rational model of decision making) ยอดฮิตที่ผู้คุ้นเคย ซึ่งอาจไม่มีประสิทธิภาพเมื่อนำมาใช้พิจารณาการตัดสินใจเรื่องราวใหญ่ๆ ในชีวิต

โดยทั่วไป ‘แบบจำลองการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล’ จะแนะนำให้เรารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลือกต่างๆ และพิจารณาตัวเลือกของสิ่งที่เราจะเป็นในอนาคตบนพื้นฐานของความเหมาะสมและความพึงพอใจ (preference) ของตัวเอง แต่พอลก็ชี้ให้เห็นปัญหาของการใช้โมเดลนี้ผ่านตัวอย่างเรื่องแวมไพร์ว่า

“ในสถานการณ์นี้ คุณจะตัดสินใจอย่างชาญฉลาดได้อย่างไร เพราะท้ายที่สุดแล้ว คุณจะไม่มีวันรู้ได้ว่าการเป็นแวมไพร์เป็นเช่นไรจนกว่าคุณจะกลายเป็นแวมไพร์จริงๆ และถ้าคุณไม่สามารถรู้ได้ว่าการเป็นแวมไพร์เป็นอย่างไรโดยไม่ต้องกลายไปเป็นแวมไพร์เสียก่อน คุณก็จะไม่สามารถเปรียบเทียบลักษณะของประสบการณ์ชีวิตในตอนที่คุณเป็นมนุษย์ในตอนนี้ กับ ประสบการณ์ชีวิตเมื่อคุณกลายเป็นแวมไพร์ได้ นั่นหมายความว่า ถ้าคุณต้องการเลือกโดยพิจารณาจากประสบการณ์ชีวิตที่คุณอยากพบเจอในอนาคตข้างหน้า คุณจะไม่สามารถเลือกได้อย่างมีเหตุผลเลย …และมันก็ดูน่าคลางแคลงอย่างยิ่งที่เราจะพึ่งพาเพียงคำให้การของเพื่อนผู้กลายเป็นแวมไพร์ไปแล้ว เพราะอย่างถึงที่สุด พวกเขาก็ไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป ความพึงพอใจของพวกเขาคือความพึงพอใจของแวมไพร์ ไม่ใช่ความพึงพอใจในแบบมนุษย์”

ชีวิตหลายครั้งเป็นเช่นนี้ เราต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญที่ไม่อาจประเมินได้เพราะยังไร้ประสบการณ์ และการใช้ประสบการณ์ชั้นสองจากแหล่งข้อมูลอื่นมาจินตนาการ ก็ไม่อาจทำให้เรามองเห็นชีวิตที่แท้จริงที่รอคอยอยู่อีกฝั่งจากจุดที่เรายืนอยู่อย่างถ่องแท้ นอกจากต้องเดินหน้าไปเผชิญกับประสบการณ์นั้นด้วยตัวเอง 

Transformative Experience ตีพิมพ์ในปี 2014

ไม่มีใครใช้ชีวิตแทนใครได้ การใช้ ‘แบบจำลองการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล’ ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความพึงพอใจของเรา ‘คนปัจจุบัน’ เพื่อมาตัดสินใจเรื่องสำคัญของชีวิตในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นจึงอาจไม่เพียงพอ

พอลบอกว่า การตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผลเกี่ยวกับ ‘ประสบการณ์แห่งความเปลี่ยนแปลง’ เรียกร้องกระบวนการคิดที่แตกต่างออกไป โดยแทนที่จะโฟกัสผลลัพธ์ (ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นล่วงหน้าได้) พอลแนะนำให้เราพิจารณาโดยการชั่งน้ำหนักของ ‘คุณค่า’ ระหว่างการเป็น ‘คนที่แตกต่างออกไป’ หากเราตัดสินใจเลือกตัวเลือกนั้น กับคุณค่าของ ‘คนคนเดิม’ ที่เราเป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องนามธรรมที่เราต้องกำหนดมันขึ้นมาด้วยตัวเอง

“ในหลากหลายหนทาง ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เราต่างใช้ชีวิตและพบว่าตัวเองกำลังประจันหน้ากับข้อเท็จจริงอันโหดเหี้ยม ว่าเราช่างรู้เรื่องราวในอนาคตของตัวเองน้อยเป็นอย่างยิ่ง …สำหรับตัวเลือกใหญ่ๆ ในชีวิต พวกเราแค่เรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการเรียนรู้หลังจากเราได้เรียนรู้ไปแล้ว และเราก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเองในกระบวนการของการใช้ชีวิตหลังจากนั้น ฉันจะเสนอว่า ในท้ายที่สุด การตอบสนองที่ดีที่สุดต่อสถานการณ์นี้คือ การเลือกโดยพิจารณาว่า เรา ‘อยากค้นหา’ สิ่งที่เราจะกลายไปเป็นหลังจากนี้หรือไม่ต่างหาก”

ในความคิดเห็นของพอล การหาคำตอบในห้วงเวลาปัจจุบัน ว่าการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ที่เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ‘สมเหตุสมผล’ หรือไม่จึงไม่มีอยู่จริง เมื่อการตัดสินใจนั้นไม่อาจพิจารณาบนพื้นฐานของ ‘ความเหมาะสม’ หรือ ‘ความพึงพอใจ’ (เพราะสุดท้าย เราไม่มีทางรู้ได้ว่าเราจะพึงพอใจจริงๆ หรือเปล่า) ความพึงพอใจจึงควรถูกแทนที่ด้วย ‘แรงปรารถนา’ ว่าเราพร้อมจะค้นหาและยอมรับชีวิตที่จะเปลี่ยนแปลง (ไม่ว่าจะดีหรือร้าย) ไปตลอดกาล ซึ่งจะตามมาจากการตัดสินใจนั้นมากแค่ไหน

เพราะมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ตั้งแต่วันแรกที่คลอดออกจากครรภ์มารดา ระหว่างทางเราต้องเรียนรู้ในการตัดสินใจ เรียนรู้ที่จะเลือก และยอมรับ หากตัวเลือกนั้นเป็นตัวเลือกที่ล้มเหลว ตราบใดก็ตามที่เรายังมีความปรารถนาจะ ‘ค้นหา’ ว่าเราจะกลายไปเป็นมนุษย์แบบไหนหากตัดสินใจเลือกตัวเลือกนั้นไปแล้ว และหากยังพอเลือกใหม่ได้ การเปลี่ยนแปลงความคิด และเลือกตัวเลือกอื่นก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร

แดน กิลเบิร์ต (Dan Gilbert) นักจิตวิทยาสังคมผู้โด่งดังพูดไว้อย่างเฉียบคมและน่าพินิจพิจารณว่า “มนุษย์คือการงานที่ยังไม่เสร็จสิ้น ผู้หลงคิดไปว่าตัวเองถูกสร้างมาอย่างสมบูรณ์แล้ว” ซึ่งการเลือกก้าวเดินไปกับตัวเลือกที่เรายังไร้ประสบการณ์ ก็ดูเหมือนจะเเป็นหนทางเดียวที่จะพาเราไปสู่การเข้าถึงความรู้ที่เราไม่เคยมีมันมาก่อนได้ 

แดน กิลเบิร์ต

อย่างไรก็ตาม แม้พอลจะเห็นว่าการเลือกตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตที่ไม่อาจประเมินล่วงหน้านั้นไม่สามารถพิจารณาบน ‘แบบจำลองการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล’ ได้ก็จริง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถละเลยการตั้งคำถามถึงตัวเลือกของตัวเองได้

มีเรื่องเล่าว่า ชนเผ่าอเมริกันพื้นเมืองโบราณมีวิธีการล่าควายไบซันที่สืบทอดมายาวนานกว่า 12,000 ปี วิธีการคือการไล่ต้อนไบซันที่มักใช้ชีวิตเกาะกลุ่มกันให้ตกหน้าผาทีเดียวทั้งฝูง เมื่อขา หรือซี่โครงของพวกมันหักจากการพลัดตกลงมา นักล่าที่รออยู่ด้านล่างก็จะฆ่ามันให้ตายอย่างง่ายดายด้วยหอกและธนู นักล่าเพียงไม่กี่คน สามารถไล่ต้อนไบซันทั้งฝูงให้ไปในทิศทางเดียวกันได้ นี่คืออุปมาที่ชัดเจนของพฤติกรรมแบบฝูงที่เรามักตัดสินใจทำอะไรเหมือนๆ กัน 

Photo: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/cf/Alfred_Jacob_Miller_-_Hunting_Buffalo_-_Walters_371940190.jpg

แทนจะตัดสินใจวิ่งไปยังเส้นทางตรงข้ามกับเส้นทางที่นำเราไปสู่การพลัดตกหน้าผา ใช่หรือไม่ว่าบ่อยครั้งเหลือเกินที่พวกเราต่างมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกันกับคนอื่นเพียงเพราะกลัวจะตกขบวนหากไม่รีบตัดสินใจเลือกทำตามๆ กันไป

คงเหมือนกับการเลือกว่าจะรับข้อเสนอกลายไปเป็นแวมไพร์หรือไม่ ซึ่งหากยึดตามแนวคิดของแอล. เอ. พอล ก็คงต้องบอกว่า เราต้องพิจารณจากการชั่งน้ำหนักของ ‘คุณค่า’ ระหว่างการเป็น ‘คนที่แตกต่างออกไป’ กับคุณค่าของ ‘คนคนเดิม’ ที่เราเป็นอยู่ในขณะนี้เสียก่อน ว่าเราพึงพอใจกับปัจจุบันที่เป็นอยู่ หรือสงสัยใคร่รู้และพร้อมเผชิญหน้ากับอนาคตที่ไม่อาจคาดเดา ไม่ใช่เพียงเพราะเราเห็นมิตรสหายมากมายตัดสินใจยอมรับข้อเสนอแสนหวาน และกลายเป็นแวมไพร์ไปก่อนหน้า

 

อ้างอิง