©ulture

นรกของคุณมีหน้าตาอย่างไร?

สำหรับ ฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) นักปรัชญาสายอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ชาวฝรั่งเศสคนสำคัญ ผู้เชื่อว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรี (Free will) และมีหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อการกระทำของตน เขาบอกว่า “นรกคือคนอื่น”

ฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์ ถ่ายปี 1967  / Photo: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/7/77/Jean_Paul_Sartre_1967.1.jpg

ในเดือนพฤษภาคมปี 1944 หรือเมื่อ 77 ปีก่อน ณ โรงละคร Théâtre du Vieux-Colombier ในกรุงปารีส มีละครเรื่องหนึ่งชื่อ Huis clos หรือในชื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า No Exit จัดการแสดงขึ้นเป็นครั้งแรก

ละครเวทีเรื่องนี้มาในรูปแบบละครสั้นหนึ่งองค์ (One-act play) เป็นเรื่องราวหลังความตายของตัวละครสามคน ประกอบด้วย โจเซฟ ยาร์ซัง (Joseph Garcin), อิเนส แซร์ราโน (Inèz Serrano), เอสแตลล์ ริกูลต์ (Estelle Rigault) ในเวลาที่พวกเขากำลังรอรับการลงทัณฑ์อยู่ในห้องปริศนาปิดตายห้องหนึ่งด้วยกัน โดยในเบื้องแรก หลังจากพนักงานของนรกทยอยส่งตัวละครเข้ามาในห้องทีละคน พวกเขาจะยังไม่ตระหนักว่าบทลงโทษได้เริ่มขึ้นแล้วภายใต้การใช้ชีวิตอยู่กับคนอื่นที่ดูจะยาวนานเป็นนิรันดร์นี้เอง

หน้าปกบทละครเรื่อง No Exit ฉบับภาษาอังกฤษ

นรกของซาร์ตร์นั้นแตกต่างออกไป เขาไม่ได้แบ่งโลกหลังความตายเป็น 3 ภูมิที่ประกอบด้วย 1.นรกโลกันต์ (Inferno) 2.แดนชำระบาป (Purgatorio) 3.สรวงสวรรค์ (Paradiso) อย่างที่ผู้คนในยุคสมัยนั้นคุ้นเคย ตามเรื่องเล่าในผลงานเกี่ยวกับโลกหลังความตายสุดอมตะที่ถูกเขียนขึ้นราว 520 ปีก่อนหน้า อย่าง Divine Comedy ของ ดันเต (Dante)

นรกของซาร์ตร์เป็นแค่ห้องห้องหนึ่ง ประดับประดาด้วยเฟอร์นิเจอร์ตามสไตล์จักรวรรดิฝรั่งเศสที่สอง (1852-1870) และทัณฑ์ทรมานนั้นไม่ใช่กระทะทองแดง ไฟแผดเผา การโดนต้มในหม้อจนเปื่อย หรือความเจ็บปวดทางกายภาพใดๆ ทว่าในเรื่องนี้แล้ว ‘นรกคือคนอื่น’

“คุณคงจำทุกสิ่งที่เราได้รับการบอกกล่าวเกี่ยวกับห้องโถงแห่งการทรมานได้ เปลวไฟแผดเผา ขุมนรกลุกโชนมอดไหม้ นิทานปรัมปรา มันไม่จำเป็นต้องมีเหล็กแหลมแดงฉานร้อนฉ่า นรกคือคนอื่น”

นั่นคือบางส่วนจากคำพูดของตัวละคร โจเซฟ ยาร์ซัง จากบทละครเรื่อง Huis clos ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1943 และถูกนำไปแสดงเป็นละครเวทีจริงจังในอีกปีหนึ่งปีหลังจากนั้น ซึ่งทำให้ประโยค “L’enfer, c’est les autres” หรือ “นรกคือคนอื่น” กลายเป็นวรรคทองที่โด่งดังที่สุดของซาร์ตร์

แต่ความหมายแท้จริงในประโยคนี้คืออะไร?

ละครเวทีเรื่อง No Exit จัดแสดงที่โรงละคร Stadttheater Gießen ประเทศเยอรมนี ปี 1998 / Photo: https://www.helmut-barz.com/wp-content/uploads/2017/05/SARTRE01.jpg

“นรกคือคนอื่น” เป็นประโยคหนึ่งในการศึกษาวิชาปรัชญาที่ถูกนำไปใช้อ้างอิงอย่างผิดบริบท (misquoting) มากที่สุด เพราะเมื่อมันถูกนำไปใช้โดดๆ นอกเรื่องเล่าของ Huis clos ผู้คนก็มักเข้าใจประโยค “นรกคือคนอื่น” ไปในทางที่ว่า คนอื่นคือผู้นำพาความเจ็บปวดเลวร้ายมาให้ และเราจำต้องโดดเดี่ยวตัวเองออกจากสังคม หรืออะไรทำนองนั้น ซึ่งซาร์ตร์ได้อธิบายไว้ว่า

“‘นรกคือคนอื่น’ มักถูกเข้าใจผิด มันถูกพิจารณาในมุมมองที่ว่าสิ่งที่ผมหมายถึง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่นเป็นภยันตราย หรือเป็นความสัมพันธ์อันรวดร้าวราวตกนรกที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ทว่าสิ่งที่ผมต้องการจะสื่อจริงๆ แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ผมหมายความว่า ถ้าความสัมพันธ์กับคนอื่นถูกทำให้ผิดเพี้ยน เสื่อมค่า คนอื่นจึงสามารถเป็นนรกได้ในแง่นั้น ทำไม? ก็เพราะ… เมื่อเราคิดเกี่ยวกับตัวเอง เมื่อเราพยายามทำความเข้าใจตัวเอง เรามักใช้มุมมองของคนอื่นร่วมตัดสินเสมอ เราตัดสินตัวเองด้วยหนทางที่คนอื่นคิด ด้วยความหมายที่คนอื่นมอบให้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมพูดเกี่ยวกับตัวเอง การตัดสินของคนอื่นมักมีส่วนร่วมอยู่ด้วย เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมรู้สึกถึงอารมณ์ภายในของตัวเอง คำพิพากษาของคนอื่นก็มักเป็นส่วนหนึ่งในความรู้สึกนั้นเช่นกัน” 

ละครเวที No Exit จัดแสดงเป็นภาษาฝรั่งเศส ณ โรงละคร La Pépinière Théâtre ในปารีส เมื่อปี 1946 / Photo: https://eremodicelestino.home.blog/tag/huis-clos/

ซึ่งในบทละคร ซาร์ตร์ได้ใช้อุปลักษณ์ของ ‘กระจก’ มาเป็นตัวขับเน้นแนวคิดนี้ให้ชัดขึ้น

ในห้องแห่งการลงทัณฑ์ที่สามตัวละครกำลังเผชิญ แม้จะมีเฟอร์นิเจอร์อยู่บ้าง แต่สิ่งที่ขาดหายไปในห้องคือกระจก แถมซาร์ตร์ยังเพิ่มเงื่อนไขให้ตัวละครขึ้นอีกขั้น โดยไม่อนุญาตให้พวกเขานอนได้ ดวงไฟจะถูกเปิดสว่างอยู่ตลอดเวลา เปลือกตาของทั้งสามถูกริบเอาไปจนไม่สามารถหลับลง 

“ราตรีจะไม่มีวันมาถึงใช่ไหม?” ยาร์ซังถาม

“ไม่มีวัน” อิเนสตอบ

“คุณจะมองเห็นผมตลอดเวลา?”

“ตลอดเวลา”

และนั่นคือนรกขุมที่น่าขนลุกขนพองที่สุดก็ว่าได้ เมื่อการถูกสำรวจด้วยสายตาของคนอื่นอย่างไม่มีวันจบสิ้น สามารถนำมาซึ่งความอึดอัดประหนึ่งยืนอยู่ในห้องรมควันที่อากาศถูกขจัดออกไปด้วยสารพิษทุกวินาที เมื่อทั้งสามตัวละครต่างมีบาปติดตัวที่พวกเขาอยากกอดเก็บไว้เป็นความลับไม่ให้ใครรู้ และในขณะเดียวกัน เมื่อมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมเอง ก็ไม่สามารถเติมเต็มตัวเองให้สมบูรณ์เพียงลำพังโดยปราศจากการชี้นำของคนอื่น เพราะอย่างน้อยหากไม่มีกระจก เราก็จะไม่มีวันมองเห็นเงาสะท้อนของตัวเองได้อย่างเต็มตัว

สิ่งนี้ถูกนำเสนอผ่านตัวละครอย่างเอสแตลล์ ผู้เสพติดการมองตัวเองในกระจก

“เมื่อฉันมองไม่เห็นตัวเองในกระจก ฉันจะสัมผัสตัวเองไม่ได้ และฉันจะเริ่มสงสัยว่าตัวเองดำรงอยู่จริงๆ หรือเปล่า”

อิเนสจึงอาสาเป็นกระจกให้แก่เอสแตลล์ โดยมีนัยซ่อนเร้นเพื่อเกี้ยวพาราสีเธอ แต่อย่างที่พอจะเดาได้ กระจกที่ถูกสร้างด้วยสายตาของคนอื่น บ่อยครั้งเหลือเกินที่สะท้อนภาพอันบิดเบี้ยว เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ จากการพยายามปกปิดความผิดและพูดถึงเพียงแง่ดีของตัวเอง สู่การตัดสินใจจะสารภาพบาประหว่างกัน ซ้อนไปกับการฉายภาพของโศกนาฏกรรมแบบ ‘รักสามเส้า’ ควบคู่กันไป

ผู้ชมจะสัมผัสได้ว่า อิเนสมีใจให้เอสแตลล์ ส่วนเอสเทลมีใจให้ยาร์ซัง ส่วนยาร์ซังไม่มีกระจิตกระใจจะมีใจให้ใคร เพราะในหมู่วิญญาณผู้กำลังรับการลงทัณฑ์อย่างเงียบงันกลุ่มนี้ ยาร์ซังคือคนขี้ขลาดตาขาวที่สุด

Huis clos ฉบับภาพยนตร์ในภาษาฝรั่งเศสเมื่อปี 1954 / Photo: https://rarefilm.net/huis-clos-1954-jacqueline-audry/

บาปของยาร์ซังคือการทรยศต่อความรักของภรรยา เขาตายด้วยการโดนยิงเป้าฐานหนีทัพ สองความรู้สึกผิดปะทุเข้มข้นเป็นไฟนรกโลกันต์อยู่ภายใน และแล้วภาพการหลบหนีนั้นก็กลับมาฉายซ้ำเมื่อเขาเป็นคนแรกที่พยายามจะหนีออกจากห้องห้องนี้ ก่อนจะพบว่าไม่มีทางหนีได้ ซึ่งนั่นทำให้ยาร์ซังเริ่มคิดว่า หนทางในการปลดปล่อยตัวเองออกจากกรงขังแห่งความทรมานอย่างแท้จริงคือ การทำให้คนอื่น โดยเฉพาะอิเนส ผู้ที่ตอนนี้เอาแต่เหยียดหยามเขา (เพราะส่วนหนึ่ง เธอสังเกตเห็นว่าเอสแตลล์มีใจให้แก่ยาร์ซัง) ยอมรับและกล่าวออกมาว่า เขาไม่ใช่คน ‘ขี้ขลาด’ 

อย่างไรก็ตามอิเนสปฏิเสธ 

“คุณได้ยินฝูงชนนั่นไหม คุณได้ยินพวกเขาพึมพำหรือเปล่ายาร์ซัง ไอ้ขี้ขลาด ไอ้ขี้ขลาด นั่นคือสิ่งที่พวกเขากำลังบอกคุณ”

นั่นเองที่ยาร์ซังพูด เมื่อเขาตระหนักว่าราตรีจะไม่มีวันมาถึง และเขาจะติดอยู่กับวิญญาณของคนอื่นเช่นนี้ไปตลอดกาล

“…มันไม่จำเป็นต้องมีเหล็กแหลมแดงฉานร้อนฉ่า นรกคือคนอื่น”

ในจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental psychology) ที่ว่าด้วยการศึกษาความสามารถในพฤติกรรมมนุษย์ เชื่อว่า เมื่อมนุษย์ก้าวสู่ช่วงวัยราวๆ 4 ขวบ เราจะพัฒนาความสามารถในการคาดเดาความเชื่อ ความชอบ หรือความคิดของคนอื่นขึ้นมาอย่างอัตโนมัติเพื่อช่วยในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความสามารถนี้ถูกเรียกว่า theory of mind หรือ ‘ทฤษฎีจิตใจ’ ที่เรียกว่า ‘ทฤษฎี’ ก็เพราะเราสามารถอธิบาย หรือคาดเดาพฤติกรรมของคนอื่นได้จากแค่การ ‘อนุมาน’ จากสภาวะจิตใจที่ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่าเท่านั้น

ซึ่งเมื่อนำมาเทียบเคียงกับสิ่งที่ซาร์ตร์พยายามสื่อสาร ก็ราวกับซาร์ตร์กำลังจะบอกว่า การตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของตัวเองนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจากเราเพียงลำพัง มันแฝงฝังสัมพันธ์อยู่กับความคิดของคนอื่น ที่เป็นการคาดเดาของเราอีกที

ฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์  / Photo: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Jean_Paul_Sartre_(kop),_Bestanddeelnr_917-9600.jpg

ทั้งหมดนี้พ้องกับอีกหนึ่งประโยคอมตะของชาร์ตร์ต่อปรัชญาแบบอัตถิภาวนิยมว่า “การดำรงอยู่มาก่อน แก่นสารมาทีหลัง” ที่แปลให้พอเข้าใจง่ายขึ้นอีกนิดได้ว่า การดำรงอยู่ของมนุษย์นั้นไม่ได้มีความหมายหรือวัตถุประสงค์มาตั้งแต่ต้น เราไม่ได้ถือกำเนิดหรือดำรงอยู่เพื่อเหตุผลหนึ่งเหตุผลใดเป็นพิเศษ เราจึงมีเจตจำนงเสรีที่จะสร้างเหตุผลในการดำรงอยู่ขึ้นมาเป็นของตัวเอง แต่ก็บ่อยครั้งที่เราหยิบยืมมันมาจากคนอื่น

คนอื่นคือนรก ก็เพราะเราปล่อยให้คำพิพากษาของพวกเขาเป็นฟอนไฟแผดเผาเรา นั่นคือทัณฑ์ทรมานที่สาหัสสากรรจ์ที่สุดในฐานะมนุษย์ 

หากแนวคิดของซาร์ตร์ที่เชื่อว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรีในการเลือกเป็นอะไรก็ได้ตามใจอยาก (ในวงเล็บที่ว่าต้องอยู่ภายใต้การรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง) เป็นจริง การติดอยู่ในภาวะชักกะเย่อทางจิตวิญญาณ ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกอับอาย เกลียดชัง ภาคภูมิใจ ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อมาจากอิทธิพลจากการพยายามคาดเดาความคิดของคนอื่น ขณะถูกจับจ้องโดยสายตาของพวกเขาตลอดเวลานั้น จึงเป็นความทุกข์ทรมานเกินทานทน

“ดวงตาเหล่านั้นจับจ้องมายังผม กำลังเผาไหม้กลืนกินผมอย่าตะกละตะกลาม” ยาร์ซังรำพันต่อตัวเอง

สิ่งที่ซาร์ตร์ชี้ให้เห็นจึงไม่ใช่การโบ้ยให้ ‘คนอื่น’ เป็นสิ่งเลวร้าย แต่ภาวะตกนรกหมกไหม้ในกรณีนี้คือ การปล่อยให้ตัวเองเป็นเพียงวัตถุสูญสิ้นอิสรภาพ ซึ่งเป็นผลจากความอยากได้รับการยอมรับจากคนอื่น เพราะอย่างถึงที่สุดแล้ว เราไม่มีทางรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของคนอื่นที่มีต่อเราได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรงเบ็ดเสร็จได้เลย

เมื่อเราไม่มีทางเป็นใครอื่นได้ นอกจากตัวเอง

 

อ้างอิง

  • Jean-Paul Sartre (ฉบับแปลภาษาอังกฤษโดย Paul Bowles). No Exit (Huis clos).
  • Jesse M. Bering. Why Hell Is Other People: Distinctively Human Psychological Suffering. https://bit.ly/3cSOPG3
  • Tim. “Sartre: Hell is other people (Explanation). ” in Philosophy & Philosophers, June 10, 2018. https://bit.ly/3sTpv8B
  • Brandon Ambrosino. Hell is other people … misquoting philosophers. https://bit.ly/31MSQFP