©ulture

“You shall have no other gods before me.”

“เจ้าจะไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเรา”

ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ เพื่อบอกว่า ‘จงอย่าไหว้รูปเคารพใดๆ เพราะสิ่งนั้นไม่ใช่พระเจ้า’

พระเจ้ามีทางเลือกให้มนุษย์ 2 ทาง คือ 1.ถ้าศรัทธาในพระเจ้า จงอย่าไหว้รูปเคารพ 2.ถ้าไหว้รูปเคารพ จงอย่าศรัทธาในพระเจ้า ราวกำลังจะบอกว่าไม่มีสิ่งไหนที่เป็น ‘ตัวแทน’ ของพระองค์ได้ และการไหว้รูปเคารพแม้แต่ไม้กางเขนหรือรูปปั้นพระแม่มารี ก็ถือเป็นสิ่งผิดหลักศาสนาคริสต์

The Adoration of the Golden Calf by Nicolas Poussin

รูปเคารพและวัตถุมงคล

สัมพันธ์กับศาสนาและพระเจ้าอย่างไร?

Idolatry คือ การบูชารูปเคารพและวัตถุต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งในทางศาสนาคริสต์เชื่อว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเพราะจะทำให้ชาวคริสต์ไขว้เขวต่อศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า

เดิมทีศาสนาคริสต์ไม่มีรูปเคารพ รูปปั้น หรือสิ่งที่เป็นตัวแทนของพระเจ้า แต่ภายหลังถูกนำเข้ามาโดยชาวฮีบรู หรือ ชาวยิวที่คบค้าสมาคมกับคนในศาสนาอื่น รูปเคารพในอียิปต์นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกๆ เมื่อชาวยิวเข้าสู่ปาเลสไตน์ พวกเขาได้รู้จักกับอนุสรณ์สถานต่างๆ และรูปเคารพของชนเผ่าคานา (Canaanitish ) อันเก่าแก่ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีการเคารพรูปปั้นเกิดขึ้น

ในตอนนั้นยังมีการสร้าง ‘ลูกวัวทองคำ (Golden Calf)’ รูปปั้นวัวซึ่งเป็นตัวแทนเทพเจ้าวัวของอียิปต์ขึ้นมา นั่นเป็นครั้งแรกที่ชาวคริสต์มีการท้าทายความศรัทธาในพระเจ้า โดยการกราบไหว้บูชารูปเคารพอื่นๆ ที่สร้างขึ้นเอง

 

ทำไมมนุษย์จึงพยายามสร้าง ‘ตัวแทน’ ของพระเจ้าขึ้นมา?

เคลเมินท์แห่งเอเลิกแซนเดรีย (Clement of Alexandria)

เคลเมินท์แห่งเอเลิกแซนเดรีย (Clement of Alexandria) นักศาสนศาสตร์และนักปรัชญาชาวคริสต์ให้นิยามการบูชารูปเคารพว่า เป็นการกระจายพระเจ้าองค์เดียวไปสู่พระเจ้าหลายๆ องค์

เมื่อความศรัทธาหรือพระเจ้าไม่มีรูปกาย เป็นนามธรรมที่ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละคน การหาตัวแทนที่จับต้องได้จึงเริ่มต้นขึ้น ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของรูปปั้น วัตถุมงคล หรือแม้แต่บุคคลเช่น กษัตริย์ ล้วนเป็นรูปธรรมที่มีความศรัทธาอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น แม้แต่คำว่า ‘พระเจ้า’ เองก็เป็นเพียงตัวอักษรที่สมมุติขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของพระเจ้าให้ผู้คนสามารถเรียกขานได้

เมื่อรูปเคารพกลายเป็นตัวแทนของความศรัทธาหนึ่ง มนุษย์เราจึงเพียรสร้างมันขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยอีกเหตุผลคือเพื่อดำรงความศรัทธานี้ให้คงอยู่ต่อไปนานๆ

ในศาสนาพุทธเอง ก็ไม่มีบทไหนในพระไตรปิฎกที่บอกให้เราบูชาพระพุทธรูป พระพุทธเจ้าทิ้งไว้เพียงสัจธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ แต่วัด พระพุทธรูป วัตถุมงคลและสิ่งปลูกสร้างทางศาสนาอื่นๆ ล้วนเกิดขึ้นเพราะความเลื่อมใสของผู้คนทั้งสิ้น

แล้วเหตุใดเราจึงเชื่อว่าวัตถุเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

มี 2 เหตุผลใหญ่ๆ ที่ซ้อนกันอยู่เบื้องหลังรูปเคารพทางศาสนาเหล่านี้ (โดยที่เราก็ไม่อาจบอกได้เต็มปากว่าแต่ละปัจเจกบุคคลบูชารูปเคารพด้วยเหตุผลไหน — หรืออาจด้วยทั้งสองเหตุผลรวมกันเลยก็เป็นได้) คือ

บูชาในฐานะตัวแทนของความศรัทธา – ด้วยเชื่อว่าวัตถุเป็นตัวแทนของความศรัทธาไม่ว่าจะศรัทธาในพระเจ้า หรือศาสนาใดๆ ก็ตาม การมีวัตถุอยู่ตรงหน้าทำให้สามารถเชื่อมโยงไปถึงสิ่งนั้นได้ โดยไม่มีเหตุผลใดมากไปกว่าการปลอบประโลมจิตใจ (อ่านเรื่องเหตุผลที่คนศรัทธาในพระเจ้า เพิ่มเติมได้ที่ https://becommon.co/culture/religion-god-belief/)

บูชาเพราะศรัทธาในวัตถุ – การบูชารูปเคารพ วัตถุมงคล หรือแม้แต่อนุสาวรีย์คนสำคัญนั้น อาจกลายมาเป็นความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยน มองวัตถุกลายเป็นเครื่องรางของขลัง ที่มีอานุภาพ มีพลังงาน สามารถประทานสิ่งดีๆ ให้ก็ต่อเมื่อเราบูชา นั่นก็เป็นการปลอบประโลมจิตใจอีกรูปแบบหนึ่ง

ดอน โซเซียร์ (Don Saucier)

ดอน โซเซียร์ (Don Saucier) รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคนซัส ทำการศึกษาพบว่าวัตถุที่เป็นเครื่องนำโชคเหล่านี้จะช่วยลดความเครียดและวิตกกังวล และจะส่งผลอย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือสงคราม

เมื่อที่มาของความศรัทธาในวัตถุเกิดจาก ‘ความไม่มั่นคงในจิตใจ’ เช่นเดียวกับความศรัทธาในพระเจ้า นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ศาสนาต่างๆ ไม่อยากให้คนบูชาวัตถุ เพราะอาจทำให้นับถือวัตถุแทนพระเจ้า อีกทั้งการกราบไหว้รูปเคารพอาจนำมาซึ่งความคาดหวังอื่นๆ เช่น อยากรวย อยากมีชีวิตที่ดี ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักคำสอนของศาสนาโดยรวม

การดูหมิ่นรูปเคารพถือเป็นการเหยียบย่ำศรัทธาอย่างไร?

ขนมอาลัวรูปพระเครื่องที่กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์นั้นทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างล้นหลาม ส่วนหนึ่งบอกว่าชอบมาก อีกส่วนบอกว่าไม่ควรอย่างยิ่ง จนทำให้ชาวพุทธไทยกลับมาตั้งคำถามกันอีกครั้งว่า ‘พระเครื่อง’ ศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน ทำไมทำเป็นขนมไม่ได้? นี่ถือเป็นการดูหมิ่นศาสนาอย่างไร?

ไม่แปลกที่มนุษย์เราจะเจ็บปวดเมื่อสิ่งที่ตนศรัทธาถูกลดความสำคัญลงจนกลายเป็นขนมธรรมดาที่หาได้ตามท้องตลาด ไม่ใช่พระเครื่องอันศักดิ์สิทธิ์อย่างที่เคยเป็น อย่างไรก็ตามความศรัทธานั้นตั้งอยู่บนความแตกต่างมาตั้งแต่ต้น เพราะมนุษย์ทั้งโลกย่อมไม่ได้ศรัทธาในสิ่งเดียวกัน เราจึงไม่สามารถตัดสินได้ว่าศรัทธาของใครดีกว่าของใคร

ในสังคมที่ผู้คนศรัทธาบางสิ่งอย่างแรงกล้าและเริ่มทำให้ความศรัทธามีฐานะเป็นเกณฑ์การตัดสินทางจริยธรรม อาจเป็นชนวนทำให้เกิดความร้าวฉานขึ้นได้ เพราะใครก็ตามที่ไม่ได้เชื่อในสิ่งเดียวกันอาจถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไปโดยปริยาย ในขณะเดียวกัน สังคมที่ให้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่นั้น ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่าเราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อ-ความศรัทธา หรือศาสนาของคนอื่นๆ ได้มากน้อยแค่ไหน?

(Photo : www.facebook.com/madamchoops)

‘กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง’ หรือ ICCPR ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ’ ร่วมกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ข้อ 19 ระบุไว้ว่า (1) บุคคลมีสิทธิ์ในการแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และ (2) บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงออก มีเสรีภาพในการแสวงหา รับ และส่งต่อข้อมูลและแนวคิดทุกประเภทได้อย่างไร้พรมแดน ไม่ว่าจะโดยปากเปล่า ลายลักษณ์อักษร สิ่งพิมพ์ งานศิลปะหรือสื่ออื่นๆ ที่เขาเลือก

การปั้นขนมอาลัวเป็นพระเครื่อง แน่นอนว่าอาจทำให้ใครบางคนต้องเจ็บปวดเพราะรู้สึกโดนดูถูกความศรัทธา อย่างไรก็ตามนั่นยังถือว่าเป็นสิทธิ์ในการแสดงออกที่มนุษย์พึงมี เพราะไม่ได้เป็นการทำร้ายและละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของใคร เหตุผลดังกล่าวเป็นตัวชี้ว่าพลเมืองคนหนึ่งนั้นมีเสรีภาพได้มากแค่ไหน

จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill)

จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) นักปรัชญาเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษระบุไว้ใน หลักการภัยของการกระทำ (Harm Principle) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของทฤษฎีการเมืองที่รู้จักในชื่อ ‘เสรีนิยม’ (liberalism) และเป็นพื้นฐานของการร่างกฎหมายหลายฉบับในโลกสมัยใหม่ว่า “…จุดประสงค์เดียวที่รัฐสามารถใช้อำนาจจำกัดการกระทำของพลเมืองคนหนึ่งคนใดในสังคมอารยชนได้อย่างชอบธรรมคือการป้องกันภัยที่คนผู้นั้นอาจก่อกับบุคคลอื่น” นั่นหมายความว่าคนเรามีเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ตราบใดที่ไม่เป็นการทำร้ายบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ดูเหมือนว่าสิ่งที่สังคมกำลังมองหาจากเหตุการณ์ขนมอาลัวคงไม่ใช่การสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่อาจมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่การเป็นการหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในโลกที่มี 4,300 ศาสนา มีความเชื่อ ความศรัทธาอีกนับไม่ถ้วน โดยที่เราทุกคนยังมีเสรีภาพในฐานะพลเมืองคนหนึ่งอย่างเต็มที่

อ้างอิง