©ulture

“สิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์ไม่ได้อยู่ในอดีตหรืออนาคต: แต่มันอยู่ตรงนี้ ณ ปัจจุบัน ในความทรงจำของเรา ในความคาดหวังของเรา เรากระสันอยากได้นิรันดร์กาล เราทรมานต่อการล่วงผ่านของเวลา เราเป็นทุกข์เพราะกาลเวลา เวลาคือความทุกข์”คาร์โล โรเวลลี (Carlo Rovelli)

“เวลาคือสิ่งเที่ยงแท้”

“เวลามีลักษณะสัมพัทธ์”

“เวลาถูกประดิษฐ์โดยบริษัทนาฬิกาเพื่อจะขายนาฬิกา”

คุณอาจเคยเห็น meme เกี่ยวกับเวลาที่มีฐานคิดแตกต่างกันสุดขั้วเช่นนี้ผ่านตามาบ้าง ประโยคแรกมาจากแนวคิดของ ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton) นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษผู้เชื่อว่า เวลาเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของจักรวาล เป็นพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ต่างๆ ดำเนินอยู่ในนั้น ส่วนประโยคที่สองมาจากทฤษฎีทางฟิสิกส์อันโด่งดังชื่อ ‘สัมพัทธภาพทั่วไป’ (The Theory of General Relativity) ของนักฟิสิกส์ที่คนทั่วโลกน่าจะคุ้นชื่อที่สุดอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ซึ่งอาจพอสรุปเป็นใจความได้ว่า เวลาเปลี่ยนผันรวดเร็วหรือเชื่องช้าตามผลต่างของ ‘ความโน้มถ่วง’ (Gravity) และ ‘ความเร็วสัมพัทธ์’ (Relative Velocity) แปลอีกทีโดยยกตัวอย่างคือ ผลที่แตกต่างกันของทั้งสองปัจจัยข้างต้น จะทำให้นาฬิกาบนสถานีอวกาศนอกโลกเดินช้ากว่านาฬิกาบนโลกเล็กน้อย เวลาจึงไม่ใช่สิ่งเที่ยงแท้ตายตัว แต่เป็นสิ่งที่สามารถบิดดัดเปลี่ยนแปลงได้

ส่วนประโยคสุดท้าย แม้มันจะเป็นประโยคที่เลือกนำมาวางหลังสุดเพื่อใช้ตบมุกอย่างเสียดสีและตลกร้าย แต่มันก็เป็นสาร ซึ่งสกัดมาจากแนวคิดของ คาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) นักสังคมนิยมคนสำคัญ ผู้วิพากษ์ระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ที่นักคิดสายสังคมนิยมมองว่ามันทำให้เกิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำมหาศาลระหว่างคนรวยและคนจน แม้กระทั่งเวลาที่ดูจะเป็นของฟรี ก็ถูกทำให้เป็นสินค้าที่มีราคาขึ้นมาได้

The Persistence of Memory (La persistencia de la memoria) [1931] โดย Salvador Dalí
เวลาดำรงอยู่รอบตัวเรา และเหตุผลที่นักคิดมากมายสนใจเรื่องเวลา อาจเพราะมันคือปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิผลต่อทั้งการใช้ชีวิต ตัวตนของเรา มุมมองต่อโลก รวมถึงทิศทางของสังคมมนุษย์อย่างไม่อาจแยกขาด 

 

เวลาเป็นสิ่งยืดหยุ่น

เวลาเป็นสิ่งที่ถูกตีความและถูกรับรู้ด้วยมุมมองอันหลากหลายที่สุดในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ วงการวิทยาศาสตร์และปรัชญายังต้องทำงานเพื่อศึกษาเรื่องเวลาต่อไปอย่างหนัก แม้กระทั่งเรื่องที่ว่า เวลา ‘ดำรงอยู่’ จริงๆ หรือเป็นเพียง ‘สิ่งลวงตา’ ก็ยังคงเป็นประเด็นถกเถียง

จึงต้องสารภาพว่าการเขียนอธิบายเรื่องเวลาให้ชัดเจนภายในบทความสั้นๆ นั้นยากยิ่ง เมื่อผู้เขียนเองก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้เข้าใจเรื่องคอนเซ็ปต์ของเวลาที่แสนซับซ้อนทั้งหมดอย่างท่องแท้

Public Domain, from the British Library’s collections, 2013

แต่นอกจากกฎทางฟิสิกส์ หรือปรัชญา เราก็อาจเคยเผชิญหน้ากับ ‘ช่วงเวลาอันบิดเบี้ยว’ ที่แปรผันไปตามความรู้สึกภายในของเรากันมาบ้าง เมื่อบางขณะ เข็มนาฬิกาที่ผ่านไปเพียงแค่ไม่กี่นาที กลับให้ความรู้สึกว่าเวลาช่างผ่านไปเชื่องช้าชั่วกัลป์ และในบางครั้ง ในเหตุการณ์หนึ่งที่กินระยะเวลาเป็นปีๆ มันก็กลับให้ความรู้สึกรวดเร็วเพียงกระพริบตา ราวเวลาบินได้อย่างสำนวนที่ว่า ‘time flies’

ในวรรณกรรมเยาวชนสุดอมตะเรื่อง Alice’s Adventures in Wonderland มีฉากหนึ่งที่อลิซถามตัวละครกระต่ายขาวว่า “ชั่วนิรันดร์นั้นยาวนานเท่าไร?”

“บางครั้งก็แค่วินาทีเดียว” กระต่ายขาวตอบ

คาร์โล โรเวลลี นักฟิสิกส์ และนักจักรวาลวิทยาชาวอิตาลี ผู้เขียนหนังสือขายดีอย่าง The Order of Time เคยเล่าประสบการณ์การใช้สารเสพติด LSD ที่ส่งผลต่อระบบประสาทโดยตรง ซึ่งมอบมุมมองต่อเวลาที่แตกต่างออกไปจากสามัญสำนึกไว้ในบทสัมภาษณ์ของ The Guardian ว่า “มันคือประสบการณ์ที่พิเศษทรงปัญญาลึกล้ำที่แตะสัมผัสผม ท่ามกลางปรากฎการณ์แปลกประหลาด มันคือความรู้สึกที่ว่า ‘เวลากำลังหยุดนิ่ง’ มีสิ่งต่างๆ มากมายเกิดขึ้นในหัวของผม ขณะนาฬิกากลับไม่ได้เดินไปข้างหน้า การไหลของเวลาไม่ได้กำลังผ่านเลยไป มันคือการล้มล้างโครงสร้างของความจริงอย่างเบ็ดเสร็จ”

มโนทัศน์เรื่องเวลาในการรับรู้ของปัจเจกรูปแบบนี้ จึงอธิบายเวลาในฐานะสิ่งที่มีลักษณะยืดหยุ่น (elastic) และในด้านประสาทวิทยาแล้ว มันก็เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองของเราด้วย

The Order of Time

 

เวลาคือความทุกข์

“เวลาคือความทุกข์” ข้อความนี้ก็เป็นคำอธิบายของคาร์โล โรเวลลีอีกเช่นกัน

“ผมคิดว่าสิ่งที่เราเรียกว่า ‘การไหลของเวลา’ (flowing of time) ควรจะถูกทำความเข้าใจผ่านการศึกษาโครงสร้างของสมองมากกว่าการศึกษากฎของฟิสิกส์ วิวัฒนาการทำให้สมองของเรากลายเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนด้วย ‘ความทรงจำ’ เพื่อเหตุผลในการคาดเดาอนาคต …ดังนั้น การทำความเข้าใจการไหลของเวลาจึงเป็นบางอย่างที่เกี่ยวกับประสาทวิทยามากกว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานของฟิสิกส์”

อย่างไรก็ตาม สามัญสำนึกบอกเราว่า เวลาเคลื่อนไปข้างหน้าเสมอ และโดยทั่วไปแล้ว ก็ดูเหมือนเวลาจะเดินไปข้างหน้าจริงๆ (แม้จะเคลื่อนไหวด้วยอัตราความเร็วที่แตกต่างไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นในเชิงสัมพัทธ์ หรือในระดับจิตใจ) ซึ่งนั่นคือตัวการหนึ่งที่ทำให้เราทุกข์ทรมาน เพราะท้ายที่สุด ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ด้วยการล่วงเลยของเวลา เราจะสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เรายึดมั่นเอาไว้ ไม่ว่ามันจะอยู่ในอดีต หรืออนาคตในที่สุด

คาร์โล โรเวลลี

คาร์โล โรเวลลี เขียนไว้ใน The Order of Time อธิบายถึงประเด็นนี้ว่า “เพราะทุกสิ่งที่เริ่มต้นจะต้องไปสู่จุดสิ้นสุด สิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์ไม่ได้อยู่ในอดีตหรืออนาคต: แต่มันอยู่ตรงนี้ ณ ปัจจุบัน ในความทรงจำของเรา ในความคาดหวังของเรา เรากระสันอยากได้นิรันดร์กาล เราทรมานต่อการล่วงผ่านของเวลา เราเป็นทุกข์เพราะกาลเวลา” ก่อนจะปิดท้ายย่อหน้านี้ว่า “เวลาคือความทุกข์”

 

ฉกฉวยวันเวลา

ไม่ว่าจะมองเวลาในลักษณะใด Pain Point ที่ดูเหมือนผู้คนจะประสบพบเจอร่วมกันมากสุด นั่นก็คือ เวลาเป็นกระแสที่ไหลไปข้างหน้าอย่างไม่อาจย้อนกลับ 

ในปี 1989 มีหนังเรื่องหนึ่งชื่อ Dead Poets Society เข้าฉาย ซึ่งด้วยเนื้อหาอันยอดเยี่ยมที่ว่าด้วยครูหัวขบถนาม จอห์น คีตติง (แสดงโดย โรบิน วิลเลียมส์ [Robin Williams]) ก็ทำให้มันถูกนำกลับมาฉายซ้ำเสมอ ประหนึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอมตะและอยู่เหนือกาลเวลา

Dead Poets Society (1989)

ในหนังมีฉากที่ครูผู้นี้มอบหมายให้ลูกศิษย์คนหนึ่งอ่านออกเสียงบทกวีของ โรเบิร์ต เฮอร์ริก (Robert Herrick) ทหารม้าชาวอังกฤษผู้มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 17 ความว่า

“เก็บเกี่ยวกุหลาบงามขณะยังทำได้

กาลเวลากำลังโบยบินผ่านเลยไป

และดอกไม้งามที่กำลังแย้มบานในวันนี้

พรุ่งนี้ก็จะร่วงโรยตายดับไปตามเวลา”

ก่อนจะอธิบายให้ลูกศิษย์ฟังว่าในภาษาลาตินสิ่งนั้นเรียกว่า “carpe diem” หรือที่แปลได้ว่า ‘ฉกฉวยวันเวลา’ และถามนักเรียนอีกว่าเหตุใดกวีจึงเขียนข้อความเหล่านั้น 

นักเรียนคนหนึ่งชิงตอบ “เพราะเขารีบ”

ก่อนที่คุณครูคีตติงจะเฉลยต่อเหล่านักเรียนหนุ่ม ผู้ใช้ชีวิตมาบนโลกได้เพียงไม่กี่ปี และอาจยังไม่ตระหนักถึงกระแสของเวลาที่กำลังล่วงเลยผ่านไป

“เพราะเราคืออาหารของหนอนต่างหากพ่อหนุ่ม เพราะไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ พวกเราทุกคนในห้องนี้ถึงวันหนึ่งก็จะหยุดหายใจ ตัวเย็นเฉียบ และตายจากไป”

วลี ‘carpe diem’ หรือ ‘ฉกฉวยวันเวลา’ ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรให้พอสืบค้นย้อนกลับไปได้ไกลสุดในบทกวีของ ฮอเรซ (Horace) กวีชาวโรมันผู้มีชีวิตอยู่ช่วงหนึ่งทศวรรษก่อนคริสตกาล ซึ่งแม้แต่คาร์โล โรเวลลี นักฟิสิกส์ผู้กล่าวว่าเวลาคือความทุกข์ แถมยังบอกว่า ในเรื่องของเวลาแล้วมันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าอดีตหรืออนาคต (อ่านเพิ่มเติมใน The Order of Time—แปลเป็นไทยโดย โตมร ศุขปรีชา ในชื่อ ‘ความลี้ลับของเวลา’ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Salt) ก็ยังนำบทกวีของฮอเรซในหลายๆ ท่อนมาเป็น epigraph หรือบทกล่าวนำในแต่ละบทของหนังสือ ราวกับว่าแม้จะพูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์อันซับซ้อนของเวลาขนาดไหน เขาก็อยากวางพื้นฐานของมันไว้บนความรู้สึกและอารมณ์ของมนุษย์ โดยแสดงความคิดเห็นถึงบทกวีของฮอเรซว่า “มันมอบความรู้สึกของการโดยหาอดีต—แต่ไม่ใช่ความเจ็บปวด ไม่ใช่ความทรมาน มันคือความรู้สึกของการ ‘จงใช้ชีวิตอย่างเข้มข้น’”

ฮอเรซ

เวลาอาจจะเป็นความทุกข์ก็จริง แต่เมื่อเวลาเป็นสิ่งยืดหยุ่น ก็ใช่ว่าเราจะฉกฉวยวันเวลาเอาไว้ไม่ได้เสียทีเดียว โดยในทางประสาทวิทยา แม้จะดูเป็นคำแนะนำแบบ self-help อยู่สักหน่อย แต่นักเขียนและนักประสาทวิทยาผู้โด่งดังอย่าง เดวิด อีเกิลแมน (David Eagleman) ก็บอกว่า วิธี ‘ฉกฉวยวันเวลา’ ที่ดีที่สุดคือการ ‘เรียนรู้สิ่งใหม่’ อยู่เสมอ

“ความคุ้นเคยต่อโลกที่มากขึ้น จะส่งผลให้สมองบันทึกข้อมูลน้อยลง และเวลาก็จะดูเหมือนผ่านไปอย่างรวดเร็ว” อีเกิลแมนกล่าว “เวลามีลักษณะคล้ายยาง มันจะยืดออกเมื่อคุณกระตุ้นสมองของคุณด้วยชุดข้อมูลใหม่ๆ แต่เมื่อคุณพูดว่า ‘โอ้ ฉันเข้าใจแล้ว ทุกสิ่งเป็นไปตามที่คาดไว้เด๊ะๆ’ มันก็จะหดตัวลง”

เดวิด อีเกิลแมน

นั่นละ “carpe diem — ฉกฉวยวันเวลา” ทว่านี่ไม่ใช่เสียงกระซิบของครูหนุ่มจอห์น คีตติง แต่เป็นสิ่งที่เราควรบอกตัวเองในทุกขณะของเวลาที่กำลังผ่านเลยไป

 

อ้างอิง

  • Written by Tom Schulman, Directed by Peter Weir. Dead Poets Society (1989). 
  • Carlo Rovelli. The Order of Time.
  • Belle Beth Cooper. The Science of Time Perception: Stop It Slipping Away by Doing New Things. https://bit.ly/2PG7kV2
  • Stephen Johnson. ‘Time is elastic’: Why time passes faster atop a mountain than at sea level. https://bit.ly/3m4RrDI
  • BIG THINK. Time: Do the past, present, and future exist all at once?. https://bit.ly/3maRJZJ
  • Charlotte Higgins. ’There is no such thing as past or future’: physicist Carlo Rovelli on changing how we think about time. https://bit.ly/2PNBzcU