©ulture

จงคิดเสมอว่าเธอเองก็มีส่วนผิด ทุกๆ ครั้งที่มีเหตุการณ์เขย่าขวัญน่าสะพรึงกลัว ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในที่ห่างไกลจากตัวเธอ 

ข้อความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทเกริ่นนำจากละครวิทยุชุด ความฝัน (Träume) ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ NWDR ของประเทศเยอรมนีเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 เมษายน .. 1951 

ละครวิทยุชุดนี้มีทั้งหมด 5 เรื่อง แต่ละเรื่องว่าด้วยความฝันที่เกิดขึ้นในต่างถิ่นต่างทวีปทั่วโลก 

ทุกเรื่องเป็นฝันร้าย 

ผู้ประพันธ์ไม่ละเลยจะตอกย้ำแนวคิดข้างต้นในทุกบททุกตอนว่า เราทุกคนล้วนมีเอี่ยวในทุกปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลก เข้าตำรา เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว หรือ ‘Butterfly effect’ 

ฝันร้ายทั้ง 5 เรื่องในละครวิทยุชุดนี้จึงได้ทำหน้าที่ทำนายฝันและกระตุ้นเตือนสำนึกของผู้คนมานานกว่า 70 ปี 

สมกับความเชื่อของคนโบราณที่สั่งสมมาจนถึงปัจจุบันว่า ความฝันอาจเป็นลางบอกเหตุ ซึ่งอันที่จริงเป็นกุศโลบายในการเตือนมนุษย์ให้ฉุกคิดพิจารณาถึงความจริงที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อหาหนทางปรับปรุงหรือแก้ไขปัญหา

ละครวิทยุชุด ความฝัน (Träume) ประพันธ์โดย กุนเทอร์ ไอช์ (Günter Eich) กวีและนักเขียนบทละครวิทยุชาวเยอรมัน มีเนื้อหาว่าด้วยความฝันของผู้คนที่อาศัยอยู่ใน 5 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ เยอรมนี จีน ออสเตรเลีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา โดยระบุเอาไว้ว่าฉากหลังของความฝันทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นระหว่าง .. 1947 – 1950

The Butterfly Effect
กุนเทอร์ ไอช์ (Günter EichPhoto: https://www.leipziger-medienstiftung.de/en/medienpreis-en/g%C3%BCnter-eich-preis-en/

นักวิเคราะห์วรรณกรรมจึงกล่าวกันว่า ความฝันทั้งห้าเรื่องสะท้อนถึงบรรยากาศของประชาคมโลกในยุคนั้น หลังจากที่ผู้คนเพิ่งมีความสุขหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เศรษฐกิจเริ่มมั่นคง ใครๆ ต่างก็ตั้งความหวังไว้ว่าสันติภาพจะคงอยู่ตลอดไป 

แต่เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งและการต่อสู้ด้านอำนาจทางการเมืองระหว่างค่ายโลกเสรีกับค่ายคอมมิวนิสต์ระลอกใหม่ ที่นำไปสู่ภาวะสงครามเย็นอันยืดเยื้อยาวนาน ชาวโลกจึงรู้สึกถึงการถูกคุกคามอีกครั้ง 

หลากหลายปัญหาที่สามัญชนตาดำๆ ต้องเผชิญจึงถูกบอกเล่าโดยกุนเธอร์ในรูปแบบของละครวิทยุ ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคนั้น โดยกวีเอกอย่างเขาจงใจสะท้อนปัญหาของผู้คนผ่านฝันร้ายที่เหนือจริง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมานั้น ‘ดาร์ค’ เสียจนผู้ฟังในยุคนั้นรับไม่ได้ 

โดยเฉพาะความฝันลำดับที่ 2 ที่ว่าด้วยความฝันของหญิงชาวจีนวัย 50 ปีผู้หนึ่ง ที่ฝันเห็นสามีภรรยาชาวจีนกำลังพาลูกชายวัย 6 ขวบไปขายให้กับเศรษฐีผู้ร่ำรวย เพราะเศรษฐีกำลังป่วยหนัก และต้องรักษาตามวิธีการของแพทย์แผนใหม่ นั่นคือ การดื่มเลือดสดๆ ของเด็ก

the butterfly effect
ภาพประกอบความฝันเรื่องที่ 2 จากหนังสือพระราชนิพนธ์แปล ความฝัน

ด้วยความสั้นกระชับของละครวิทยุเยอรมัน มีตัวละครเพียง 4-5 ตัว ดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนาเฉียบคม ตรงไปตรงมา ไม่เยิ้นเย้อ 

ดังนั้น เนื้อหาที่ปูบรรยากาศอึดอัดมาตลอดทั้งเรื่อง ย่อมทำให้บรรดาผู้ฟังที่กำลังเอาหูแนบทรานซิสเตอร์แทบจะหยุดหายใจด้วยความตกตะลึงในตอนจบสุดหลอน ส่งผลให้ละครวิทยุเรื่องนี้ถูกโจษขานในชั่วข้ามคืน และเผชิญกระแสต่อต้านอย่างหนัก 

ทว่า ยิ่งถูกต่อต้านมากแค่ไหน คนที่พลาดโอกาสฟังก็ยิ่งอยากรู้เรื่องราวของความฝันทั้งห้ามากขึ้นเท่านั้น ไม่ต่างอะไรกับคนยุคปัจจุบันที่เสพติดดราม่าจากข่าวสารไม่เว้นแต่ละวัน 

ท้ายที่สุด บทละครวิทยุอื้อฉาวชุดนี้จึงได้รับการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มในปี 1953 โดยสำนักพิมพ์ Suhrkamp  

และกว่าที่ฝันร้ายทั้ง 5 เรื่อง จะเดินทางข้ามทวีปมาให้คนไทยได้รู้จักก็ใช้เวลานานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยผู้ที่เล็งเห็นถึงคุณค่าในวรรณกรรมประเภทบทละครวิทยุ ที่หาอ่านได้ยากยิ่งในยุคสมัยปัจจุบัน ก็คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชนิพนธ์แปลบทละครวิทยุชุด ‘ความฝัน’ เอาไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ และหลังจากนั้นก็ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอยู่เรื่อยๆ 

โดยเฉพาะในการตีพิมพ์ครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 12) ประจำปี .. 2564 ซึ่งถือเป็นปีที่ความฝันของกุนเทอร์ทำหน้าที่พยากรณ์ชะตากรรมที่มนุษยชาติต้องประสบไว้อย่างแม่นยำ

the butterfly effect
หนังสือพระราชนิพนธ์แปล ”ความฝัน” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 12

เมื่อโลกถูกกระหน่ำซัดด้วยสถานการณ์โรคระบาด สงครามความขัดแย้ง ระบบนิเวศน์ที่ผุพัง ค่านิยมสารพันที่ถูกส่งต่อโดยไม่ผ่านการกลั่นกรองในโลกโซเชียล ฯลฯ 

หัวใจหลักของละครวิทยุชุดนี้ที่ว่าด้วยประเด็น ทุกวิกฤติไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาสากล จึงทำงานโดยอัตโนมัติ 

กุนเธอร์สะกิดให้ผู้ฟังในยุคนั้นและผู้อ่านในยุคนี้ได้ครุ่นคิดว่า ในเมื่อโลกแห่งความจริงเต็มไปด้วยเรื่องราวอันโหดร้าย ไฉนเลยจึงมีคนอีกมากมายยังนอนหลับฝันดีได้ลงคอ 

ฉันอิจฉาทุกๆ คนที่สามารถลืมได้ ทุกๆ คนที่นอนได้อย่างสงบและไม่ฝัน” หนึ่งในบางวรรคจากบทเกริ่นนำที่เป็นดั่งความในใจที่กุนเทอร์จงใจกระแทกใส่หน้าคนช่างฝัน ที่มักทำเป็นหลับหูหลับตาเมื่อต้องเผชิญโลกแห่งความจริง 

ยกตัวอย่างความฝันเรื่องแรกเพิ่มอีกสักตอน เพราะซ้อนทับกับบางสถานการณ์  ปัจจุบัน 

ฝันแรกเล่าถึงบทสนทนาของคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกขังเอาไว้ในตู้รถไฟมืดมิด ซึ่งกำลังแล่นไปเรื่อยๆ คนกลุ่มนั้น ได้แก่ พ่อเฒ่า แม่เฒ่า หลาน ผู้หญิง และเด็กหญิง 

ทุกคนในตู้รถไฟขบวนนี้ต่างก็ไม่รู้ตัวว่าอยู่ในรถไฟที่กำลังแล่นไม่หยุดมานานแค่ไหน ไม่รู้ว่าปัจจุบันเป็นวันที่เท่าไร เดือนไหน ปีอะไร จะมีก็แต่คำบอกเล่าของพ่อเฒ่าแม่เฒ่าที่อ้างว่าเคยใช้ชีวิตปกติในโลกภายนอกมาก่อน จึงรำลึกความหลังด้วยการพูดถึงทุ่งหญ้า ดอกไม้สีเหลือง การรีดนมแพะ ชุดสูทสีน้ำเงินเข้ม 

ซ้ำยังเล่าถึงเหตุการณ์ในค่ำคืนหนึ่ง เมื่อชาย 4 คนบุกมารวบตัวพวกเขาไปจากเตียงตอนตี 4  

ความหลังของสองคนเฒ่าถูกลูกหลานในตู้รถไฟขัดคอขึ้นเป็นระยะ พวกเขาไม่เชื่อ และเห็นว่าเป็นเพียงจินตนาการเลอะเทอะของคนแก่หลงๆ ลืมๆ เพราะตั้งแต่จำความได้พวกเขาก็อยู่ในตู้มืดๆ ที่แล่นไปข้างหน้าไม่หยุดแห่งนี้เสียแล้ว

the butterfly effect
ภาพประกอบความฝันเรื่องแรกจากหนังสือพระราชนิพนธ์แปล ความฝัน

ทันใดนั้น ก็มีลำแสงลอดเข้ามาผ่านรูเล็กๆ บนตู้ขบวน เมื่อหลานมองลอดรูออกไปก็ได้แต่หวาดกลัวสิ่งที่เห็น เมื่อพ่อเฒ่าแม่เฒ่ามองออกไปบ้าง กลับเห็นคนตัวใหญ่ราวกับยักษ์ พานทำให้ทั้งคู่หวาดกลัว ไม่กล้ามอง และยุติการฝันถึงโลกภายนอกในที่สุด 

สัญลักษณ์จากเรื่องเล่าในความฝันเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศในสังคมเผด็จการ ที่มักมีบุคคลในเครื่องแบบจู่โจมบุกจับประชาชนอยู่เสมอ 

ฝ่ายประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบอบสังคมแบบนั้นมานานจนชาชิน รวมถึงคนรุ่นใหม่ๆ ที่เกิดมาก็เจอสภาพสังคมแบบนั้นแล้ว ย่อมเคยชินและไม่คิดว่าสิ่งที่เผชิญอยู่เป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด 

คำอธิบายเสริมท้ายบทโดยกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตีความว่า กุนเทอร์พยายามชี้ให้เห็นความน่าเศร้าของระบอบเผด็จการว่าทำให้มนุษย์กลายเป็นพืชผัก 

ขนาดผู้ที่เคยอยู่โลกภายนอกมาแล้วก็ยังรู้สึกว่าเสรีภาพไม่ได้เป็นสภาพที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขาอย่างแท้จริง เพราะยังคงมีผู้ทรงอำนาจใหญ่โตเหมือนยักษ์มารคอยข่มขู่และน่ากลัวยิ่งกว่าเดิม 

ความฝันที่กุนเทอร์เปรียบเปรยสภาพสังคมเมื่อ 70 ปีก่อนเอาไว้ ยังคงเป็นความจริงที่ดำเนินต่อไปในหลายประเทศ เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมาร์  ปัจจุบัน 

ส่วนสัญลักษณ์อย่างการกินเลือดเด็กจากความฝันเรื่องที่สอง ก็เป็นการประชดประชันสังคมว่าคนเราสามารถกินเลือดกินเนื้อกันเองได้เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ทั้งยังสื่อถึงโลกปัจจุบันที่เน้นแต่วัตถุ จนทำให้การค้ามนุษย์กลายเป็นธุรกิจมืดที่ยังคงมีอยู่ในทุกยุคสมัย

the butterfly effect

ฝันร้าย’ อีก 3 เรื่องที่เหลือยังสะท้อนปัญหาสังคมหลากหลายแง่มุมไว้อย่างแยบคาย อาทิ ปัญหาผู้ลี้ภัยในหลายๆ ประเทศ การแสวงหาความสุขและความสำเร็จจากอุดมการณ์ในการทำงาน ภัยสงคราม ภัยจากการทำลายความสมดุลของธรรมชาติ ฯลฯ 

ด้วยความที่กุนเธอร์ใช้ฉากและตัวละครที่มีความเป็นนานาชาติ ทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงความใกล้ตัวของแต่ละปัญหาที่อาจเกิดขึ้นใน ‘บ้าน’ ของตัวเองได้เช่นกัน 

เพราะการกระทำทุกอย่างของมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของโลกสามารถส่งผลกระทบต่อกันและกันได้ ไม่มีมนุษย์คนไหนอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่ข้องเกี่ยวกับใคร หรือไม่ต้องรับรู้รับผิดชอบต่ออะไรเลย 

ท้ายที่สุด กุนเธอร์สรุปข้อคิดที่สะท้อนไว้ในความฝันทั้ง 5 เรื่องผ่านกวีนิพนธ์ ที่มีเนื้อหาในตอนหนึ่งกล่าวว่า 

“…เอาเถอะ มันเป็นเรื่องของศาล ไม่ใช่เรื่องของเรา เราทำอะไรไม่ได้ หากว่าใครบางคนจะยากเข็ญกว่าอีกคน อะไรมันจะมาในอนาคต ให้ลูกหลานเราเป็นคนต่อสู้จัดการเอาเอง…”

เขาคงไม่ได้คาดหวังจะปล่อยให้เป็นภาระของลูกหลานในการสะสางปัญหาหมักหมม สมดังที่ประพันธ์ไว้ 

เพราะในบรรทัดสุดท้าย กุนเธอร์ทิ้งท้ายไว้เป็นการบ้านถึงคนรุ่นใหม่ในวันนี้ และคนรุ่นใหม่รุ่นต่อๆ ไปได้ขบคิดและจัดการกับความฝันในโลกจริงของตน 

จงเป็นคนที่ไม่ยอมอะไรง่ายๆ จงเป็นทราย อย่าเป็นน้ำมันหล่อลื่นกลไกของโลก!” 

อ้างอิง 

  • กุนเทอร์ ไอช์ ผู้เขียนสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้แปล.ความฝัน.นานมีบุ๊คส์, 2564.