คุณคือคนขับรถรางที่กำลังมุ่งหน้าสู่ทางแยก
ภาพตรงหน้าทำให้คุณกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะรางแรกมีชายคนหนึ่งกำลังก้าวข้ามไป และอีกรางเป็นคนงานก่อสร้างอีก 5 ชีวิต ไม่มีใครรับรู้ว่ารถรางกำลังพุ่งไปทางพวกเขา ไม่มีทางไหนเลยที่จะไม่เกิดโศกนาฏกรรม เมื่อจำเป็นต้องสับราง แล้วคุณจะทำอย่างไร?
นี่คือ Trolley Problem ปัญหาคลาสสิกที่มักถูกยกมาวิพากษ์วิจารณ์เพื่อท้าทายหลักจริยธรรม แม้โศกนาฏกรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นแค่ในตำราปรัชญา ทว่าหากลองสังเกตดูแล้ว เราทุกคนอาจเคยรับบทเป็นคนขับรถรางที่ต้องเผชิญกับภาวะ Dilemma – เหตุการณ์ที่ทำให้กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นนี้มาบ้างสักครั้ง (อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://becommon.co/culture/thought-dilemma/)
เราควรตัดสินใจอย่างไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามัน ‘ถูกต้อง’
เหลือเชื่อที่เราเติบโตกันมากับสมุดทำความดี แล้วจดสิ่งทุกอย่างลงไปในนั้นอย่างไร้ข้อกังขา โดยที่ไม่มีโอกาสได้ใคร่ครวญเลยว่า ‘ความดี’ ที่ว่านั้นเป็นความจริงแท้ของจักรวาลหรือเป็นเพียงสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าดี ณ ช่วงเวลาหนึ่ง
แต่เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ท้าทายที่ชวนตั้งคำถามถึง ‘จริยธรรม (Ethics)’ หรือ การทำดีที่มีมิติมากกว่าช่วยแม่ล้างจานแล้วล่ะก็ เราคงสับสนไม่น้อยและต้องมาหาคำตอบอีกครั้งว่าความดีที่คิดว่ารู้จักมาตลอดนั้นคืออะไร
ข่าวดีคือทุกยุคก็สงสัยเหมือนๆ กัน หากลองค้นหานิยามของความดีในกูเกิล คุณจะพบว่านักปรัชญาในอดีตทิ้งคำตอบไว้ให้เรามากมาย แม้โลกจะค่อยๆ เปลี่ยนไป แต่ตำราเล่มเก่ายังคงมีลมหายใจมาจนวันนี้ เพราะสิ่งที่ยังเหมือนเดิมคือธรรมชาติของมนุษย์
จริยธรรม (Ethics) คือ หลักศีลธรรมที่ใช้ควบคุมหรือมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคล (Oxford Learner’s Dictionary)
นักปรัชญาพยายามค้นหาเสมอว่าอะไรควรเป็นสิ่งที่กำหนดความดีของคนในสังคม ยุคแรกๆ ปรัชญาถือกำเนิดขึ้นในรูปของศาสนา ความดีสูงสุดคือพระเจ้า ดังนั้นการทำตามประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าคือสิ่งที่ถูกต้อง แต่จะทำอย่างไรเมื่อโลกนี้มีหลายศาสนา? อิสลามบอกว่ากินหมูเป็นบาป แต่ในศาสนาพุทธไม่ได้บอกแบบนั้น นั่นเป็นข้อขัดแย้งที่ทำให้เห็นว่าศาสนาไม่สามารถเป็นเกณฑ์ตัดสินด้านจริยธรรมของมนุษย์โลกได้ และเราจำเป็นต้องหาเกณฑ์อันเป็นหลักสากลสำหรับทุกคน
หลังจากนั้น แนวคิดเหตุผลนิยม (Rigorism) ของ อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) ก็ถือกำเนิดขึ้น เขาเป็นนักปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับกฏเกณฑ์และเหตุผลมาเป็นอันดับหนึ่ง จึงตัดสินความถูกต้องโดยพิจารณาจากการกระทำนั้นต้องสอดคล้องกับมโนธรรม (conscience) ของมนุษย์ คานต์เชื่อว่าเราทุกคนสามารถรับรู้มโนธรรมนั้นด้วยตัวเอง เราจะรู้ว่าอะไรดีไม่ดี ความดีเป็นสิ่งตายตัวเช่นเดียวกับคำว่าแมวในภาษาเยอรมันที่ต้องเป็นเพศหญิงเสมอ ไม่ว่าจะในบริบทไหนการกระทำที่ดีจะมีคุณค่าในตัวเองเสมอ
แนวคิดของคานต์ถูกวิจารณ์โดยนักปรัชญาที่มองความสุขของมนุษย์เป็นที่ตั้ง นักปรัชญากลุ่มนี้เชื่อว่ามโนธรรมนั้นไม่ได้สำคัญเท่ากับ ‘ความสุข’ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ เพราะความสุขเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็แสวงหาเหมือนกัน ความถูกต้องจึงต้องมีรากฐานมาจากความสุขที่เกิดขึ้นกับมนุษย์
ในศตวรรษที่ 18 เมื่อศาสนาคริสต์เริ่มสั่นคลอน พระเจ้าไม่ได้เป็นที่ยึดเหนี่ยวได้เหมือนเดิม เพื่อให้คนมีจุดยึดเหนี่ยวอยู่ร่วมกันในสังคมได้ เจเรมี เบนธัม (Jeremy Bentham) นักปรัชญาชาวอังกฤษ จึงเสนอให้ใช้ ‘ความสุข’ เป็นสิ่งที่ยึดโยงทุกคนไว้ด้วยกันเพราะรู้สึกถึงมันได้อย่างเป็นสากล มีรากฐานมาจากแนวคิด สุขนิยม (Hedonism) ของ เอพิคิวรัส (Epicurus) ที่เชื่อว่าการแสวงหาความสุขคือเป้าหมายของการเกิดเป็นมนุษย์
นั่นเป็นที่มาของ แนวคิดประโยชน์นิยม (Utilitarianism) แนวคิดที่อธิบายว่าสิ่งที่ถูกต้องคือสิ่งที่จะทำประโยชน์ซึ่งสร้างความสุขให้กับคนหมู่มาก ยิ่งสุขมากก็ยิ่งดีมาก โดยจะไม่มองว่าการกระทำนั้นจะดีหรือเลว ถ้าเป็นการกระทำที่นำความสุขมาให้คนส่วนใหญ่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี
รถรางที่คุณควบคุมมาถึงทางแยกอีกครั้ง สำหรับคานต์แล้วไม่ว่าจะสับรางแบบไหนคุณก็ทำผิดอยู่วันยังค่ำ แต่หากมองด้วยสายตาของประโยชน์นิยม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคุณต้องสับรางไปในทางที่มีคนแค่คนเดียว แล้วรักษาอีก 5 ชีวิตเอาไว้ เพราะกระทำที่ถูกต้องนั้นคือการรักษาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เอาไว้ แม้จะต้องมีคนสูญเสียใครไปสักคนก็ตาม
แนวคิดแบบเข้มข้นนี้ คือ #ประโยชน์นิยมแบบกระทำการ (Act Utilitarianism) อันเป็นต้นตอของการบริหารตามหลักรัฐศาสตร์ ที่ผู้นำจำเป็นต้องบริหารให้เกิดผลประโยชน์กับคนส่วนใหญ่มากที่สุด โดยไม่พิจารณาว่าจะด้วยวิธีไหน ถ้าคนส่วนใหญ่ลืมตาอ้าปากได้ นั่นคือสิ่งที่ควรทำ เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 คณะปฏิวัติถอนรากถอนโคน ไม่ให้อำนาจไหนอยู่เหนือประชาชนโดยการประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เพื่อให้ประเทศเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยและทำให้ประชาชนมีความสุขสบายในภายหลัง
หากมองเหตุการณ์นี้ด้วยแนวคิดประโยชน์นิยม นั่นคือการกระทำที่ดี เพราะการตัดตอนอำนาจหนึ่งเดียวเพื่อกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนนั้นทำให้ประเทศพัฒนาขึ้น แต่อีกแง่หนึ่ง ดูเหมือนว่ามันกลับผิดหลักมนุษยธรรม เพราะเราทุกคนล้วนมีสิทธิจะมีชีวิตอยู่ จึงไม่มีใครสมควรถูกเข่นฆ่าเพื่อประโยชน์ของใคร
การตัดสินแบบสุดขั้วตามทัศนะของเบนธัมถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง และเป็นเหตุที่ทำให้เกิดแนวคิด #ประโยชน์นิยมแบบหลักการ (Rule Utilitarianism) โดย จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ตามมา มิลล์ชวนเรากลับมามองเจตนาของการกระทำควบคู่ไปด้วย โดยสิ่งที่ถูกต้องสำหรับมิลล์นั้น นอกจากจะทำให้เกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่แล้ว ยังต้องไม่ขัดกับหลักกฏเกณฑ์ของสังคมด้วย
นี่เป็นแนวคิดอันเป็นรากฐานของการตัดสินโดยใช้หลักนิติศาสตร์ แม้จะมีการพิจารณาการกระทำในแบบของคานต์ แต่ที่ต้องทำแบบนั้นไม่ใช่เพราะมิลล์เชื่อในหลักมโนธรรมเต็มร้อย แต่เขามองว่า การคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์โดยมองข้ามกฎเกณฑ์สากลอาจส่งผลกระทบต่อความคิด ความเชื่อของคนหมู่มากในภายภาคหน้าได้ เช่น…
ในวันที่ทุกคนติดเชื้อโควิด-19 มีผู้ป่วยอาการโคม่าพร้อมกัน 2 คน คนแรกเป็นหนึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศมากมาย อีกคนเป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง แต่โรงพยาบาลมีเตียงเหลือเพียง 1 ที่ แล้วพวกเขาควรจะรับใครเข้ารักษา?
ถ้าเป็นประโยชน์นิยมแบบแรกแน่นอนว่าต้องเลือกนักวิทยาศาสตร์เพราะหากเขารอดชีวิต ก็จะทำประโยชน์ให้คนได้อีกเป็นจำนวนมาก แต่ประโยชน์นิยมแบบหลักการไม่คิดแบบนั้น เพราะเราคนทุกคนควรได้รับการรักษาในฐานะการเป็นมนุษย์คนหนึ่งอย่างเท่าเทียมกัน การกระทำนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเพราะในภายภาคหน้าอาจสร้างบรรทัดฐานใหม่ๆ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติที่จะนำความทุกข์อันใหญ่หลวงมาสู่ทุกคนได้
หากคุณเป็นหมอ คุณจะเลือกแบบไหน?
แน่นอนว่าความขัดแย้งในแนวคิดเดียวกันก็ยังคงถูกถกเถียงอยู่ตลอด และตัวแนวคิดประโยชน์นิยมโดยรวมก็ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์มาจนวันนี้อย่างที่วงการปรัชญาเป็นมาเสมอ โดยมีตัวอย่างข้อโต้แย้งจากคนที่เห็นต่างออกไปเช่น
#ไม่เห็นคุณค่าของคน – เป็นไปได้ไหมที่เราจะมองแต่ประโยชน์แล้วมองข้ามความเป็นมนุษย์ไป หากคนบนรถรางที่ยืนอยู่คนเดียวนั้นเป็นคนในครอบครัว แนวคิดนี้กำลังผลักให้มนุษย์กลายเป็นคนไร้หัวใจที่มองข้ามสำนึกของตัวเองเกินไป
#มีคนถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง – เมื่อสนับสนุนให้แลกความทุกข์ของคนส่วนน้อยกับประโยชน์สุขของคนหมู่มาก จึงทำให้เกิดการวิจารณ์ว่าการละเลยสิทธิของคนส่วนน้อยนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วหรือ เพราะความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันนั้นไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม
ประเด็นข้างต้นยังเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมาทุกวันนี้ ข่าวดีที่เราบอกไว้ข้างต้นคือมีนักปรัชญานิยามกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เราไว้หมดแล้ว แต่ข่าวที่เกือบจะร้ายคือมันอาจใช้ไม่ได้กับทุกสถานการณ์ พวกเขาเพียงกรุยทางเอาไว้และไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องเดินไปต่อด้วยเจตจำนงของตัวเองเสมอ
คุณอาจพบว่าตัวเองกลับไปเป็นคนขับรถรางที่เผชิญกับแยกนั้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางครั้งคุณสับรางไปฝั่งซ้าย บางครั้งคุณสับรางไปฝั่งขวา และผลการตัดสินมันอาจไม่เหมือนกันเลยสักครั้งเดียว
อ้างอิง
- ปัญญา เสนาเวียง.การประยุกต์ใช้จริยศาสตร์ประโยชน์นิยม เพื่อปฏิรูปสังคมอินเดียของราชาราม โมหัน รอย.(2560).https://bit.ly/3ayXtYL
- เกษฎา ผาทองและคณะ.ประโยชน์นิยม : แนวคิดสู่ปรากฏการณ์ทางการเมืองไทย.(2562)
- Stanford Encyclopedia of Philosophy.The History of Utilitarianism.https://stanford.io/2PdI8W0