เคยไปเที่ยว ‘บึงกาฬ’ กันหรือยัง ?
ถ้ายัง เราอยากชวนไปเที่ยวจังหวัดน้องใหม่ของไทยที่เนื้อหอมขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจหลายแห่ง ถือเป็นเมืองม้ามืดแห่งดินแดนอีสานเหนือที่ใครไปก็ต้องตกหลุมรัก
บึงกาฬ แยกตัวออกมาจากจังหวัดหนองคาย เมื่อ พ.ศ. 2554 หรือถ้าจะสืบสาวไปไกลกว่านั้น บึงกาฬก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดนครพนมมาก่อน ดังนั้น ทริปท่องเที่ยวจังหวัดบึงกาฬจึงสามารถออกแบบการเดินทางให้ครอบคลุมอีสานเหนือได้ 4-5 จังหวัด ไม่ว่าจะเป็นอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และสกลนคร ขึ้นอยู่กับการวางแผนการเดินทางว่าจะเดินทางเข้าและออกจากบึงกาฬทางจังหวัดไหน และด้วยวิธีใด
สำหรับทริปของเรา เลือกเดินทางจากกรุงเทพฯ ด้วยรถไฟตู้นอนแสนสะดวกสบาย โดยม้าเหล็กค่อยๆ เคลื่อนออกจากชุมทางกรุงเทพอภิวัฒน์ตอนหัวค่ำ รู้ตัวอีกทีก็ตื่นมาเจอแสงแรกที่ตัวเมืองอุดรธานีในเวลาที่พระเริ่มออกบิณฑบาตพอดี จัดแจงหามื้อเช้าประจำถิ่นรับประทานรองท้อง อาทิ ข้าวเปียก บั๋นหมี่ และอีกสารพัดเมนูสไตล์เวียดนาม ก่อนออกเดินทางต่อด้วยการเช่ารถตู้ใช้เส้นทางผ่านจังหวัดหนองคาย แวะสักการะพระธาตุบังพวน และหลวงพ่อพระใส พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหนองคาย
จากนั้นมุ่งหน้าไปยังจุดหมายปลายทางอย่างบึงกาฬ เพื่อทำความรู้จักความอัศจรรย์ทางธรรมชาติที่ผสมผสานกับศรัทธาอย่างกลมกลืนของสถานที่ท่องเที่ยวอย่าง “หินสามวาฬ ภูทอก และถ้ำนาคา” ก่อนจะเดินทางกลับทางจังหวัดนครพนม
และจากประสบการณ์สัมผัสเสน่ห์ของแดนอีสานเหนือในช่วงหน้าฝนแบบนี้ คำเดียวที่เราขอมอบให้ทริปนี้ ก็คือ “บึงกาฬน่ารัก !” ส่วนจะน่ารักด้วยเหตุผลอะไรบ้าง ลองอ่านบทความนี้ก่อนออกเดินทางไปสัมผัสมนต์ขลังแห่งบึงกาฬด้วยตัวเอง
ทักทายครอบครัว ‘หินสามวาฬ’
ที่แหวกว่ายในผืนป่าภูสิงห์
ออกสตาร์ทกันที่ “หินสามวาฬ” หินขนาดยักษ์ 3 ก้อนที่เรียงตัวอยู่ติดหน้าผาสูงบนภูสิงห์ โดยเมื่อมองจากระยะไกลหรือมุมมองแบบ Bird’s Eye View จะเห็นว่าหินสามก้อนนี้ดูคล้ายฝูงวาฬพ่อ แม่ ลูก ที่แหวกว่ายในผืนป่าเขียวขจี และครอบครัวนี้มีอายุถึงกว่า 75 ล้านปี !
แต่จริงๆ แล้วแรกเริ่มเดิมทีครอบครัววาฬไม่ได้แทรกตัวอยู่ในผืนป่าแบบนี้ เพราะเมื่อ 75 ล้านปีที่แล้ว พื้นที่บริเวณนี้เป็นทะเลทรายกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา กาลเวลาและการรวมตัวของเม็ดทรายที่ค่อยๆ ประสานตัวกันเรื่อยๆ ทำให้เกิดเป็นชั้นหินทรายคล้ายกับเค้กที่วางซ้อนกัน 6 ชั้น ก่อนจะค่อยๆ ผ่านกระบวนการต่างๆ ทางธรณีวิทยาตลอดหลายล้านปี เกิดการแตกที่มีลักษณะเป็นแนวยาวหลายแนวขนานกัน ยิ่งเมื่อเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก จากรอยแตกก็กลายเป็นร่องลึกและกว้างขึ้นเรื่อยๆ รูปทรงที่เคยเป็นเหลี่ยมมุมก็ค่อยๆ กัดกร่อนผุพังทลายกลายเป็นสันโค้งทรงมนดูคล้ายปลาวาฬ 3 ตัวหันออกหน้าผาสูง กลายเป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัดที่ 77 ของไทยในปัจจุบัน
การเดินทางทางไปเยือนหินสามวาฬถือว่าสะดวกสบายและสนุกสนาน เริ่มต้นด้วยการลงทะเบียน ณ ที่ทำการภูสิงห์ ชำระเงินค่าโดยสารรถกระบะของเจ้าหน้าที่ (คันละ 500 บาท โดยสารได้ไม่เกิน 10 คน) และแนะนำเป็นอย่างยิ่งว่ ควรใช้บริการถ่ายโดรน (ราคากลุ่มละ 1,000 บาท หากนำโดรนมาเองต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเอาโดรนขึ้นบิน) เพื่อเก็บภาพความประทับใจคู่กับครอบครัววาฬทั้งในรูปแบบวิดีโอและภาพนิ่ง ที่ขอบอกว่าคุ้มค่าเกินราคา เพราะเจ้าหน้าที่โดรนพร้อมที่จะกำกับท่าทางให้ทุกคนในทริปได้ใกล้ชิดสนิทกับครอบครัววาฬในทุกอิริยาบถ
เมื่อพร้อมแล้วก็ปีนป่ายขึ้นไปนั่งบนรถกระบะของเจ้าหน้าที่อุทยาน โดยนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มจะมีมัคคุเทศก์ตัวน้อยรับหน้าที่ผู้นำทัวร์ บอกเล่าเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับจุดท่องเที่ยวหลายแห่งในอุทยานฯ แห่งนี้ โดยตลอดสองทางที่รถค่อยๆ ลัดเลาะเลี้ยวลดขึ้นไปบนภูสิงห์นั้นร่มรื่นด้วยป่าไผ่ รวมทั้งผืนผาที่แปลกตาทั้งรูปทรงและลวดลายบนพื้นผิว สร้างบรรยากาศสนุกตื่นเต้นตลอดทาง
บนภูสิงห์แห่งนี้เต็มไปด้วยประติมากรรมทางธรรมชาติสวยแปลกตา ประเดิมด้วย ลานธรรม ลานหญ้ากว้างใหญ่ที่มีหินรูปคล้ายสิงห์ขนาดมหึมานอนหมอบอยู่ หรือถ้ามองจากอีกด้านก็จะเห็นเหมือนพระปางไสยาสน์แลดูสงบงดงาม จากนั้นใช้เส้นทางผ่าน กำแพงภูสิงห์ ซึ่งเป็นกำแพงหินใหญ่ตระการตา แล้วไปแวะ จุดชมวิวถ้ำฤาษี ซึ่งนอกจากจะเป็นลานหินกว้างใหญ่สำหรับชมทิวทัศน์ที่มองไกลไปถึงแม่น้ำโขงแล้ว ยังเป็นพิกัดกระโดดขี่ไม้กวาดถ่ายรูปที่เป็นช็อตในฝันของหลายๆ คน
จากนั้นก็มาถึงไฮไลท์อย่าง หินสามวาฬ ซึ่งจากจุดนี้น้องไกด์จิ๋วจะแยกตัวไปที่วาฬแม่ เพื่อถ่ายภาพระยะไกลให้นักท่องเที่ยวที่ถูกกวาดต้อนไปยังวาฬพ่อ โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กระชับเครื่องควบคุมโดรนไว้ในมือ และเริ่มต้นแนะนำท่าทางต่างๆ ให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มได้โบกไม้โบกมือ ส่งจูบ แอ็กท่าต่างๆ ที่ชอบใจ ไปพร้อมๆ กับการได้ตื่นตะลึงกับทิวทัศน์มุมสูงที่มองเห็นได้ไกลสุดลูกหูลูกตา
ขากลับแวะชมประติมากรรมธรรมชาติอีกสองแห่ง คือ หินช้าง ที่มีลักษณะคล้ายรูปช้างสมชื่อ ต่อด้วยประตูภูสิงห์ ช่องผาเส้นสายสวยแปลกตาที่หลายคนไม่พลาดการถ่ายรูปด้วยแอ็กติ้งสนุกๆ เก็บไว้เป็นความทรงจำ
หลายคนแนะนำให้ไปเยือนหินสามวาฬตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้น แต่จริงๆ แล้วไปเวลาไหนก็ได้สัมผัสความงามของธรรมชาติที่สวยแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลา ที่แน่ๆ คือ ทุกคนจะได้ย้อนวัยโดยทั่วกัน เพราะทั้งเจ้าหน้าที่โดรนและมัคคุเทศก์น้อยจะชวนคุณถ่ายรูปเสียจนเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
หินสามวาฬ
พิกัด : https://maps.app.goo.gl/Wkqf4Xg9rz1Zjj278
เปิดทำการ : ทุกวัน เวลา 05.00-17.00 น.
ค่าบริการ : คนไทย 20 บาท | ชาวต่างชาติ 100 บาท
ค่าบริการยานพาหนะ : รถโดยสารไม่เกิน 12 ที่นั่ง 60 บาท | รถโดยสารไม่เกิน 24 ที่นั่ง 100 บาท | รถโดยสารที่มี 25 ที่นั่งขึ้นไป 150 บาท
Facebook: ป่านันทนาการหินสามวาฬ จังหวัดบึงกาฬ
เดินดุ่มสู่สวรรค์ชั้นเจ็ดที่ ‘ภูทอก’
ไม่ไกลจากหินสามวาฬเป็นที่ตั้งของ วัดภูทอก หรือ วัดเจติยาคีรีวิหาร สถานที่ปฏิบัติธรรมที่ตั้งอยู่บนภูสูงโดดเด่น สมกับความหมายของคำว่า “ภูทอก” ในภาษาอีสานที่แปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว โดยขณะที่นั่งรถมาแล้วมองวิวข้างทาง ก็เดาได้ไม่ยากว่าภูเขาสีแดงลูกเดียวโดดๆ ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลนั้นคือ ภูทอก เพราะสามารถมองเห็นสะพานไม้เวียนรอบหินผาสูงลิบตาน่าหวาดเสียวได้แต่ไกล
จริงๆ แล้วภูทอกมี 2 ลูก คือ ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย โดยภูทอกใหญ่นั้นอยู่ห่างออกไปและยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชม ดังนั้น ภูทอกที่ทุกคนมีโอกาสได้ไปสัมผัสคือ ภูทอกน้อย ซึ่งในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าทึบที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย จนกระทั่ง พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต นั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ภูวัว และเกิดนิมิตรเห็นปราสาทสองหลังที่สวยงามวิจิตร หลังหนึ่งเล็ก หลังหนึ่งใหญ่โตมาก ตั้งอยู่ทางด้านภูทอกน้อยและภูทอกใหญ่ เมื่อถอนจิตออกมาแล้ว ท่านจึงเดินทางไปยังภูทอกน้อย และสำรวจดูเขาตามชั้นต่างๆ เห็นเป็นโตรก ซอกถ้ำ และหินผาอันสูงชัน จึงเห็นว่าเป็นภูมิประเทศที่เหมาะสมในการจะบูรณะให้เป็นสถานที่ที่พระเณรได้บำเพ็ญภาวนาต่อไป ท่านจึงตกลงใจเข้าบูรณะและตั้งเป็นวัดขึ้น โดยท่านเคยเล่าประวัติในช่วงดังกล่าวไว้ดังนี้
“ข้าพเจ้า (หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ) เริ่มมาอยู่ที่ภูทอกนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2512 มาอยู่ครั้งแรกมากับท่านพระครูศิริธรรมวัฒน์ (หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม) เจ้าอาวาสวัดสามัคคีอุปถัมภ์ อำเภอบึงกาฬ ในปัจจุบัน กับผ้าขาวน้อยคนหนึ่ง มาอยู่ตอนแรกอาศัยถ้ำตีนเขา ที่เป็นโรงฉันต่อโรงครัวสมัยนี้ บริเวณโดยรอบเป็นป่าทึบ รกชัฏ มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ มีช้าง มีเสือ มีหมี มีงูใหญ่เลื้อยไปมาอยู่ตามถ้ำ อากาศทึบมาก อาหารการขบฉันก็ตามเกิดตามมี อยู่ในลักษณะที่ขาดแคลนมาก ตอนแรกๆ ได้ให้ญาติโยมถากถางป่าพอให้เป็นที่ปักกลด ในฤดูแล้งได้ปลูกเสนาสนะเป็นลักษณะกระท่อมเล็กๆ 4 หลัง มุงด้วยหญ้า ฝาใบตอง ปูด้วยฟาก ในพรรษาแรกมีพระจำพรรษาด้วยกัน 3 รูปผ้าขาวน้อย 1 คน ในพรรษานี้ได้พาญาติโยมทำบันไดขึ้นเขาใช้เวลาทำอยู่ 2 เดือน กับ 10 วัน จึงสำเร็จตั้งแต่เริ่มแรกทีเดียว”
ต่อมาใน พ.ศ. 2514 พระอาจารย์จวนดำริจะสร้างสะพานรอบเขาภูทอกตามหน้าผา โดยได้ปรึกษากับทั้งสถาปนิกชาวอเมริกันและช่างชาวไทย ซึ่งให้ความเห็นตรงกันว่า สามารถทำได้ โดยต้องทำนั่งร้านเป็นจุดๆ จนรอบเขาก่อน ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการสร้างเป็นตัวเลขถึงเจ็ดหลักในสมัยนั้น ในขณะที่พระอาจารย์จวนเสนอแนวคิดว่า ไม่จำเป็นต้องสร้างนั่งร้าน อาศัยไม้ 2 ลำมัดใส่เสาที่ปักไว้ให้แน่น แล้วนั่งเจาะหินใส่เสาเรื่อยๆ ก็น่าจะพอทำได้แล้ว
ทั้งนายช่างฝรั่งและนายช่างไทยยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า
“ทำไม่ได้ อันตรายมาก เดี๋ยวตกมาตายกันหมด”
เมื่อเป็นดังนั้น พระอาจารย์จวนจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากทดลองสร้างสะพานด้วยตนเอง
“ใกล้จะเข้าพรรษา ข้าพเจ้าได้ทดสอบดูวิธีที่จะทำสะพานไปตามหน้าผาตามทฤษฎีของข้าพเจ้าให้พระเณรและชาวบ้านดู และก็ได้ทราบแน่ว่าทฤษฎีของข้าพเจ้าทำได้แน่ๆ เว้นเสียแต่ประมาท ต้องคนกล้าหาญและมีเชาว์ด้วยจึงจะทำได้ ครั้งแรกก็มีคนสมัครทำด้วยเพียง 2-3 คน พอทำได้สองส่วนยังอีกส่วนหนึ่งจะเสร็จ เห็นว่าทำวิธีนี้ไม่มีอันตรายเกิดขึ้น จึงมีคนสมัครทำเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะแล้วที่หน้าผาชัน ๆ โดยมากแล้วจะเป็นพระเณรเข้าทำจนสำเร็จเป็นสะพานรอบเขาไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้น ทำไปด้วยความสนุกสบายไม่มีเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ดูหน้าตากล้าหาญ ยิ้มแย้มแจ่มใสใจผ่องเพราะทำอยู่บนอากาศ ลมพัดเย็นเฉื่อยๆ ไม่เหนื่อย ไม่ร้อน พักผ่อนภาวนาไปพร้อม”
สะพานไม้เวียนรอบภูทอกเกิดขึ้นจากแรงสามัคคีของทั้งฆราวาสและพระเณร ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วฆราวาสรับหน้าที่เจาะหิน น้อยคนที่จะมีจิตใจเข้มแข็งพอในการช่วยสร้างสะพานในช่วงที่เป็นผาชัน ซึ่งชาวบ้านมักกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “พอมองดูในที่ที่จะทำสะพานไป มันเกิดขนลุกขนพอง เกิดกลัวตัวสั่น หัวหด ใจหวิว ตัวสั่นไปหมดเลยเหมือนจะจับไข้หรือเหมือนผีเข้าเจ้าทรงเอาเข้าจริงๆ”
ดังนั้น สะพานไม้ที่เรามีโอกาสได้เดินเวียนโดยรอบชั้น 5 และชั้น 6 ของภูทอกในวันนี้ จึงเกิดจากฝีมือของพระเณรเป็นส่วนใหญ่ ด้วยจิตที่มีสมาธิอย่างแน่วแน่จึงทำให้ทุกรูปก้าวข้ามความกลัวทั้งหลาย และสร้างสะพานไม้ที่แข็งแรงมั่นคงยิ่งกว่าการก่อสร้างทฤษฎีวิศวกรรมในโลกสมัยใหม่เสียอีก
พระอาจารย์จวนได้กล่าวเพิ่มเติมไว้ในประวัติว่า “เมื่อทำสะพานชั้นกลางสำเร็จแล้วก็ทำให้เกิดประโยชน์ได้หลายประการ อาทิเช่น เป็นสถานที่ที่ทำวิเวกทำความพากเพียรเผากิเลสไม่จำกัดเพศใช้ได้ทั้งพระเณรเถรชี เพราะมีที่หลบซ่อนเร้นแดดร้อน ลมพัดได้อย่างสบาย มีที่หลบซ่อนไปเป็นแห่งๆ จะใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนอารมณ์ก็เหมาะสมจะใช้เป็นสถานที่เที่ยวทัศนาจรดูลมชมวิวตามธรรมชาติ ลมพัดเย็นสบายหายเหนื่อย แม้เมื่อยมาที่นี่แล้วก็หาย ไม่ต้องใช้พัดลมไปให้ยุ่งยากเปิดปิด ใช้แอร์ธรรมชาติอากาศเย็นสบายหายกังวล อากาศธรรมชาติที่บริสุทธิ์ย่อมเป็นยาโอสถเอกขนานหนึ่ง
“ตามแนวเขาชั้นที่ 5 คือชั้นกลาง มีที่พักหลบร้อนหลบหนาวตากอากาศได้มากกว่า 20 แห่ง มีอากาศปลอดโปร่งกว่าชั้นที่ 4 เพราะสูงขึ้นไปอีก วัดโดยรอบได้ 27 เส้น มีทิวทัศน์แจ่มจรัสชัดเจนเย็นตาเย็นใจแก่ผู้ทัศนา เดินไปมาสะดวกไม่มีอันตราย เว้นแต่คนบ้าไม่มีสติรักษาตัว อวดดีให้คนยกย่องว่าคนเด่น กระโดดลงตรงไหนก็ตาม เช่นนี้แล้วไม่ต้องถามถึง ต้องตายแน่ๆ เพราะสะพานนี้ได้ให้นามว่า สะพานนรกสวรรค์ เพราะถ้าใครข้ามไปพ้น รักษาตนให้ดี ประคองตนด้วยการภาวนา พุทโธๆ สุคโตๆ ต้องเป็นผู้ไปดี สุขสนุกสบายเหมือนเดินอยู่ในสวรรค์ แต่ถ้าใครไม่ดี คลุกคลีคะนอง ไม่มีสติค่อยประคองรักษา ไม่ภาวนา พุทโธๆ สุคโตๆ เป็นผู้มีสติโลเลไปมาไม่สงบเสงี่ยมเรียบร้อย อวดเด่นอยากให้เห็นความกล้าหาญ เดินพลุกพล่านไม่ระวังจะต้องตกนรกที่ว่านั้นแน่นอน”
ดังนั้น บริเวณปากทางขึ้นภูทอกจึงมีป้ายดึงสติ กำกับให้ผู้มาเยือนงดส่งเสียงดัง งดขีดเขียนบนที่ทุกแห่ง ห้ามทิ้งขยะบนเขา และโปรดแต่งกายสุภาพเรียบร้อย ทำตามได้ดังนี้จึงจะสามารถเดินผ่านประตูสวรรค์เข้าสู่ภูทอกชั้นที่ 1 ก่อนจะเดินขึ้นบันไดไม้ไปเรื่อยๆ สู่ชั้นที่ 2 ที่มีสถานีวิทยุชุมชนของวัดอยู่ทางด้านขวามือ
จากนั้น ชั้นที่ 3 จะเป็นสะพานเวียนรอบเขา มีลักษณะเป็นป่าเขามืดครึ้ม มีโขดหินและลานหินแลดูเงียบสงบ สุดทางจะมีทางแยก หากไปทางซ้ายจะเป็นทางลัดผ่านชั้นที่ 4 ไปสู่ชั้นที่ 5 ได้เลย แต่ทางค่อนข้างชัน และต้องผ่านซอกหินที่มีลักษณะเหมือนอุโมงค์ ส่วนทางขวามือเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ 4 แล้ววกขึ้นชั้นที่ 5 ซึ่งจะอ้อมกว่า แต่เดินง่ายกว่า โดยมีลักษณะเป็นสะพานลอยไต่เวียนรอบเขา และชั้นนี้ถือเป็นที่พักของแม่ชี จึงควรเดินด้วยความสำรวมและไม่ส่งเสียงดัง
ชั้นที่ 5 มีศาลากลางและกุฏิสำหรับพระสงฆ์ และเป็นที่เก็บร่างที่ละสังขารแล้วของพระอาจารย์จวน ตามช่องทางเดินมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ เช่น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำฤาษี ฯลฯ และจากชั้นนี้จะมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินไปสู่ พุทธวิหาร ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพระธาตุอินทร์แขวนในประเทศพม่า พุทธวิหารแห่งนี้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นสถานที่ที่พระอริยสงฆ์หลายองค์มาพักผ่อนและละสังขารที่นี่ ซึ่งเมื่อมองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ความอัศจรรย์ของพุทธวิหารคือ เป็นหินที่แยกตัวออกจากหินก้อนใหญ่แล้วไม่ตกลงมา เพราะตั้งอยู่ได้ฉากกับพื้นโลกพอดี และในอดีตก่อนที่จะมีสะพานไม้เชื่อมต่อ คนธรรมดาไม่อาจข้ามไปยังพุทธวิหารได้ เพราะมีหุบเหวขวางกั้น เฉพาะพระอรหันต์และผู้ทรงอภิญญาเท่านั้นที่สามารถเดินบนอากาศหรือเหาะข้ามมาเพื่อปลีกวิเวก สถานที่แห่งนี้จึงมีชื่อเรียกว่า พุทธวิหาร ซึ่งแปลว่า สถานที่พักผ่อนของท่านผู้บรรลุแล้ว
จากนั้นก็ได้เวลาเดินดุ่มสู่ชั้นที่ 6 ซึ่งเป็นชั้นสุดท้ายของบันไดเวียนรอบเขา ความยาว 400 เมตร ที่ต้องเรียกขานว่าเป็นกิริยา ‘เดินดุ่ม’ อันหมายถึง อาการก้มหน้าก้มตาเดินไปเรื่อยๆ โดยไม่ดูอะไรหรือแวะเวียน เพราะบรรยากาศบนสะพานไม้รอบชั้น 6 ชวนให้เกิดอาการเช่นนั้น – หรือมากกว่านั้น – เพราะครั้นจะก้มหน้าดูแต่แผ่นไม้ข้างใต้เท้าอย่างเดียวก็หวาดเสียว เนื่องจากเห็นความสูงลิบๆ ตามร่องไม้ชวนให้ใจหวิว จึงต้องก้าวให้มั่นในทุกย่าง สลับกับการมองทางข้างหน้า และมองออกไปไกลๆ เพื่อบรรเทาอาการเสียวไส้ที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ
เมื่อสิ้นสุดการเดินรอบชั้นที่ 6 ยิ่งทำให้เข้าใจถึงปณิธานของพระอาจารย์จวนในการมีจิตมุ่งมั่นทำบันไดเป็นชั้นๆ เพื่อขึ้นไปสู่ยอดภูทอก ตลอดจนสะพานไม้เวียนรอบเขา เปรียบเสมือนเส้นทางธรรมไปสู่มรรคผลหรือการหลุดพ้นอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ยังมีบันไดขึ้นไปสู่ชั้นที่ 7 ซึ่งเป็นพื้นที่ป่า โดยในวันที่พวกเราเดินทางไปเยือนเป็นเวลาเย็นมากแล้ว จึงไม่ได้ขึ้นไป อีกทั้งคนขับรถตู้ได้เตือนเอาไว้ว่า ขึ้นถึงชั้นที่ 6 ก็เพียงพอแล้ว หากขึ้นไปถึงชั้น 7 แล้วหลงป่า หาทางลงไม่ได้ จะต้องนิมนต์พระสงฆ์ให้ขึ้นไปตามหา ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์แบบนั้นอยู่บ่อยๆ
ใครอยากเห็นบรรยากาศบนภูทอกชั้น 7 ว่าเป็นอย่างไร สามารถตามคัลแลนและพี่จองแห่งช่อง 컬렌 Cullen HateBerry ไปเที่ยวได้โดยไม่ต้องเสี่ยงหลงป่าด้วยตัวเอง
วัดภูทอก
ที่อยู่ : บ้านคำแคน ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ
พิกัด : https://goo.gl/maps/eb13fwajE5dZnTdx6
เปิดให้เข้าชม : 08.30-17.00 น.
อัศจรรย์แห่ง ‘ถ้ำนาคา’
ประตูสู่เมืองลับแล และพิกัดเบิกทรัพย์จากเมืองบาดาล
เดินทางสู่จุดหมายสุดท้ายของทริปอย่าง ‘ถ้ำนาคา’ ที่ต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจในการเดินไต่บันไดขึ้นไปสู่ยอดเขาเป็นระยะทางไป-กลับ 4,500 เมตร ใช้เวลาราว 4-5 ชั่วโมง เพื่อสัมผัสความอัศจรรย์แห่งธรรมชาติที่เมื่อผสานกับตำนานเรื่องเล่าประจำถิ่น จึงเกิดเป็นความพิเศษของสถานที่แห่งนี้ที่ถูกใจทั้งสายมูและนักผจญไพร
เราเชื่อว่าต่อให้เป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องพญานาคเลยแม้แต่น้อย เมื่อได้มาเห็นลวดลายเกล็ดงูบนลานหินผาขนาดใหญ่ และหินอีกหลายก้อนที่ไม่เพียงมีลักษณะคล้ายส่วนหัวของงู แต่ยังมองดูเหมือนขนดงูยักษ์นอนสงบนิ่งอยู่ใจกลางป่าไม่มีผิด
คงต้องมีสักแว่บความคิดสะกิดใจว่า ‘ถ้ำนาคา’ คือดินแดนพิเศษที่เปี่ยมด้วยมนต์ขลังลึกลับอันยากจะอธิบาย
หากจะว่ากันตามหลักวิทยาศาสตร์ ลวดลายคล้ายเกล็ดงูบนหินทั่วอาณาเขตถ้ำนาคาเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่เรียกว่าหมอนหินซ้อน หรือ Sun Crack ที่เกิดจากการแตกของผิวหน้าของหินจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างกลางวันและกลางคืนอย่างรวดเร็ว ทำให้หินเกิดการขยายตัวและหดตัวสลับไปมา จนแตกเป็นรูปหลายเหลี่ยม
ต่อมามีการผุพังและกัดเซาะโดยน้ำและอากาศในแนวดิ่ง จนหินเกิดเป็นลักษณะเหมือนหมอนที่วางซ้อนกันเป็นชั้น ขนานไปกับแนวชั้นหิน ส่งผลให้พื้นผิวของหินมีลวดลายคล้ายเกล็ดงู ยิ่งเมื่อประกอบกับการโค้งตัวของหิน ทำให้รูปร่างของหินผาในแถบนี้มีหน้าตาคล้ายสัตว์ในตำนานหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นงูใหญ่หรือพญานาค งูจงอาง ช้าง สิงห์ เต่า ไปจนถึงหนุมาน!
ส่วนถ้าว่ากันตามตำนานก็มีหลากหลายเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับถ้ำนาคา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของพญานาคที่ถูกสาปเป็นหิน ตำนานดินแดนแห่งเมืองพญานาคราช (เมืองบาดาล) ตำนานดินแดนประสูติของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ที่มีจุดเริ่มต้นจาก ‘รังกา’ เผือก อันเป็นที่มาของชื่อภูลังกา ตำนานดินแดนสนามรบกิเลส (พระธุดงค์กรรมฐาน) เรื่องเล่าเกี่ยวกับเมืองลับแลหรือเมืองหลวงของชาวบังบด รวมถึงสถานะของการเป็นดินแดนสมุนไพรที่เกี่ยวกันกับตำนานรามเกียรติ์ ตอน พระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ อีกด้วย
หนึ่งในตำนานน่าสนใจ เพราะมีความเชื่อมโยงกับการที่บึงกาฬกลายเป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวขวัญใจสายมูในปัจจุบัน อ้างถึงความเชื่อแต่โบราณที่เล่ากันว่า เจ้าปู่อือลือราชาถูกสาปให้เป็นพญานาคเฝ้าถ้ำแห่งนี้ชั่วนิจนิรันดร์ และจะพ้นคำสาปก็ต่อเมื่อบังเกิดเมืองขึ้นใหม่ ซึ่งก็หมายถึงการที่พื้นที่นี้เคยขึ้นกับจังหวัดหนองคายในอดีต แต่ปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัดใหม่คือ บึงกาฬ นั่นเอง
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนรักการเดินป่าใกล้ชิดธรรมชาติแบบวิทยาศาสตร์สุดๆ หรือคนที่เป็นลูกหลานพญานาคที่ตั้งใจมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ที่นี่ ต่างก็สามารถสนุกกับทริปนี้ได้อย่างสะดวกใจ เพราะเป็นการท่องเที่ยวที่ผสานทั้งสองมิติไว้อย่างกลมกลืน
สำหรับการเดินทางขึ้นไปยังถ้ำนาคา เริ่มต้นจากบริเวณสำนักสงฆ์ฐิติสาราราม (วัดตาดวิมานทิพย์) เส้นทางเดินสะดวกสบาย เพราะมีการสร้างบันไดพร้อมราวจับอย่างแน่นหนาไว้ตลอดทาง และระดับการเดินป่าเส้นนี้ก็ไม่ยากและไม่ง่ายจนเกินไป ด้วยความที่พื้นที่ป่าไม่สูงชันนัก มีความร่มรื่น ชุ่มชื้น เย็นสบาย ไม่มีทากคอยกวนใจ และยังมีการแบ่งระยะทางไว้เป็นช่วงๆ จากจุด A ถึง L ทำให้รู้สึกมีเป้าหมายในการค่อยๆ เดินไปทีละสเต็ป
โดยเฉพาะเมื่อมีไกด์ท้องถิ่นคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราวตำนานต่างๆ เกี่ยวกับถ้ำนาคาเท่านั้น ไกด์ทุกคนมาพร้อมแนะนำในการชวนพักเหนื่อยในจังหวะที่เหมาะสม และย้ำเตือนให้นักเดินทางไม่ทิ้งขยะ ไม่เอามือสัมผัสกับก้อนหิน เพื่อรักษาธรรมชาติให้คงสภาพเดิมไว้ได้มากที่สุด รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ที่ทำให้เรารู้สึกว่า ‘บึงกาฬน่ารัก’ เพราะเจ้าบ้านใส่ใจดูแลทั้งแขกผู้มาเยือนและรักษาบ้านของตัวเองให้ยังคงความสวยบริสุทธิ์ไปอีกนานแสนนาน
ตลอดระยะทางของการสาวเท้าขึ้นบันไดที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ผ่านการลอดอุโมงค์เต่า แวะถ่ายภาพกับหินเห็ดรูปทรงน่ารัก การพยายามมองให้ออกว่าหินลิงที่ไกด์ชี้ให้ดูนั้นละม้ายใบหน้าของหนุมานแค่ไหน เฮฮากับการแทรกตัวไปในหินหนีบ และหอบแฮ่กเมื่อต้องจับราวบันไดให้มั่นแล้วค่อยๆ เดินขึ้นบันไดแดงอันสูงชัน คงมีหลายคนคิดในใจว่า ใครเป็นคนค้นพบภูลังกาแห่งนี้ และยุคที่ยังไม่มีบันไดอำนวยความสะดวก เขาคนนั้นสามารถบุกป่าฝ่าดงพลางสบตากับหินรูปร่างแปลกๆ ขึ้นไปสู่ยอดภูได้อย่างไร
ไม่ต่างอะไรจากภูทอก บุคคลที่สามารถพบสถานที่พิเศษแบบนี้ได้ย่อมต้องเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อยู่ในศีลในธรรม และถือวิปัสสนากรรมฐานอย่างเคร่งครัด ท่านผู้นั้นก็คือ หลวงปู่วัง ฐิติสาโร ที่มักเดินวิเวกหาที่สงบตามป่าเขาลำเนาไพรในถิ่นอีสาน เพื่อปฏิบัติกรรมฐานให้จิตสงบนิ่ง
หลวงปู่วังเคยธุดงค์มายังภูลังกา ณ บ้านโพธิ์หมากแข้งแล้วหลายครั้ง แต่ในปี พ.ศ. 2488 เป็นครั้งที่ท่านได้ค้นพบถ้ำแห่งหนึ่งบนภูลังกา ซึ่งกว้างพออยู่อาศัยได้ ถ้ำแห่งนี้แบ่งเป็น 2 ตอน ตรงกลางมีก้อนหินตัดคั่นไว้เป็นห้อง และแสงอาทิตย์สามารถส่องถึงภายในถ้ำได้ตลอดเวลา
หลวงปู่วังตั้งชื่อให้ถ้ำแห่งนี้ว่า ถ้ำชัยมงคล ซึ่งท่านได้ใช้เป็นสถานที่ในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานเรื่อยมา จนกระทั่งละสังขารลงในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2496 โดยอัฐิธาตุของหลวงปู่วังได้ถูกเก็บบรรจุอยู่ในเจดีย์บนยอดภูลังกานั่นเอง
ปัจจุบัน ถ้ำชัยมงคลถูกผนวกอยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวถ้ำนาคา โดยเป็นจุดเบิกทรัพย์ที่ตามความเชื่อแล้วเชื่อกันว่าสามารถขอทรัพย์สินเงินทองจากเมืองบาดาลได้ เช่นเดียวกับอีกหลายจุดสักการะสำคัญๆ บริเวณถ้ำนาคา ไม่ว่าจะเป็นหัวใจนาคา หัวนาคาที่ 1, 2 และ 3 ไปจนถึงประตูสู่เมืองบังบดหรือเมืองลับแล ที่แต่ละจุดสามารถขอพรจากพญานาคได้ตามศรัทธาแห่งหัวใจ
นอกเหนือไปจากตำนานความลี้ลับต่างๆ รวมถึงพิกัดขอพรหลากหลายที่ทำให้บรรยากาศการมาเยือนถ้ำนาคาเต็มไปด้วยอรรถรส ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าภูลังกาที่ผสมผสานทั้งป่าดิบเขา ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าแดง ทั้งยังเป็นต้นน้ำลำธาร แหล่งกำเนิดของลำห้วยหลากสาย ทำให้ตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยพรรณไม้แปลกตาน่ามอง และที่นี่ยังเป็นแหล่งสมุนไพรว่านนานาชนิด ใครที่ชอบเรื่องราวของต้นไม้ดอกไม้ ไม่ควรพลาดการมาเยือนภูลังกาสักครั้งในชีวิต โดยเฉพาะระหว่างเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม จะเป็นช่วงที่มีดอกไม้ กล้วยไม้ป่า และรองเท้านารีบานสะพรั่งสวยงาม
เรามีโอกาสทำความรู้จักภูลังกาเพียงส่วนเดียว คือ ถ้ำนาคาเท่านั้น ใครที่มีเวลามากกว่านี้สามารถเดินทางไปเที่ยว ถ้ำนาคี ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูลังกาฝั่งจังหวัดนครพนม เพื่อเติมเต็มเรื่องราวของนาคาและนาคีให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
และสำหรับใครที่ศรัทธาพญานาค ควรหาโอกาสไปเยือน วัดถ้ำชัยมงคล (ซึ่งเดิมใช้เป็นเส้นทางหลักในการเดินขึ้นถ้ำนาคา ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้เส้นทางวัดตาดวิมานทิพย์) เพื่อสักการะปู่โพธิ์ดำและย่าคำ พญานาคสีดำและสีขาวที่ปกปักรักษาภูลังกา และเป็นผู้ดูแลสถานที่ของครูบาอาจารย์สายกรรมฐาน
กล่าวกันว่า ใครจะมาขอเบิกทรัพย์ สามารถขอเบิกจากองค์ย่าคำได้โดยไม่ต้องขึ้นไปถึงถ้ำนาคา ส่วนการขอพรในด้านการเลื่อนยศตำแหน่ง หน้าที่ บริวาร และเรื่องสุขภาพ เชิญอธิษฐานจิตสบตาขอจากปู่โพธิ์ดำได้โดยสะดวกใจ
ปิดท้ายด้วยการซื้อของฝากสุดคิวท์ติดมือกลับมาด้วยอย่าง นาคกี้ กระปุกออมสินรูปทรงพญานาคมี 7 สีให้เลือกสรรตรงกับวันเกิดของแต่ละบุคคล
นาคกี้ถือกำเนิดมาจากลายเส้นที่วาดโดย นฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ หล่อแบบโดยพระอาจารย์แห่ง วัดศรีสามัคคีธรรม แล้วส่งต่อให้เหล่าสามเณรเป็นผู้ผลิตทุกชิ้นทุกขั้นตอน รายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายนาคกี้ จะเป็นค่าภัตตาหารเพล ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเทอมสำหรับสามเณรที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา
เชื่อหรือยังว่า ‘บึงกาฬ’ น่ารักจริงๆ
คำแนะนำในการขึ้นถ้ำนาคา
- ควรเริ่มเดินขึ้นถ้ำนาคาในช่วงเช้า ตั้งแต่เวลา 7.00 – 12.00 น. เพื่อจะได้มีเวลาเที่ยวชมทุกจุดให้ทั่ว ซึ่งใช้เวลาราว 5 ชั่วโมง โดยทางอุทยานฯ กำหนดให้ลงจากเขา ถึงพื้นล่างก่อนเวลา 17.00 น.
- ควรเตรียมน้ำดื่มใส่กระเป๋า รวมทั้งยาดม หรือของใช้ส่วนตัวให้พร้อม
- ห้ามนำห้ามนำกระดาษทิชชู หลอดดูดน้ำ ถุงพลาสติก กล่องโฟม ดอกไม้ธูปเทียนเครื่องเซ่นไหว้ ขึ้นเขาโดยเด็ดขาด หากมีขยะให้นำติดตัวกลับลงมาทุกชิ้น
ข้อควรระวัง
ผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคไขข้อ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม และเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ไม่แนะนำให้ขึ้นถ้ำนาคา
ค่าธรรมเนียมในการเที่ยวชมถ้ำนาคา
- ผู้ใหญ่ 30 บาทต่อคน (ค่าธรรมเนียม 20 บาท และค่าประกันชีวิต 10 บาท)
- เด็ก 20 บาทต่อคน (ค่าธรรมเนียม 10 บาท และค่าประกันชีวิต 10 บาท)
- ค่ามัดจำขยะ 100 บาท/กลุ่ม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูลังกา โทร. 0 4253 0766
อ้างอิง
- เจ๊ดา วิภาวดี.เจ้าเชื่อเรื่องพญานาคบ่ “ถ้ำนาคา” ตำนานเล่าขานพลังศรัทธานักเที่ยวสายมู.https://bit.ly/4ezBK1c
- กรมทรพยากรธรณี.จริงๆ ใจฟู ดูหินสามวาฬ ตามรอยทริปบึงกาฬ : หินสามวาฬเกิดขึ้นได้อย่างไร ?.https://bit.ly/4gCfNR5
- อาจารย์ยอด.พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ [พระ].https://bit.ly/3TEiZSq
- เฉลิมชัย จารุพัฒนเดช (ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน).‘ภูทอก’ เขตพระภาวนา ‘มรณานุสติ’ ธรรมสถานหลวงปู่จวน วางรากฐาน.https://bit.ly/47BFGwi
- ประตูสู่ธรรม.อัศจรรย์ภูทอก (วัดเจติยาคีรีวิหาร หรือวัดภูทอก).https://bit.ly/3TFOziu
- ตามรอยนาคราช.พญานาคผู้สาปปู่อือลือแห่งภูลังกา ณ วัดถ้ำชัยมงคล จ.บึงกาฬ.https://bit.ly/3XVbedw