©ulture

แสงสี ดอกไม้บาน และภาพสามมิติบอกเล่าเรื่องราวของอดีตหลังผ่านพ้นสงครามสงครามโลกครั้งที่ 2 ในย่านเจริญกรุงถูกสะท้อนไปมาในห้องกระจกอันตระการตา ราวกับจะพาเราหลุดเข้าไปในโลกเสมือน ล่องลอยอยู่ในห้วงฝัน ผ่านภาพเคลื่อนไหว แสง สี และเสียง คือส่วนหนึ่งของ ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต – Living Museum & Art Festival’ ภายใต้แนวคิด ‘Heritage Alive’ ของ ‘เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์’ ซึ่งเพิ่งกลับมาเปิดใหม่อย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อ 15 ตุลาคม 2563 

ด้วยหวังจะปลุกชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้กลายมาเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้การท่องเที่ยวภายในประเทศทั้งจากชาวไทยและต่างชาติซบเซามาเกือบตลอด พ.ศ. 2563 ผ่านเส้นทางแห่งความทรงจำ 36 จุด บอกเล่าเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในสถานที่ตั้งของเอเชียทีค ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติของไทย

และหนึ่งในจุดที่โดดเด่นที่สุดก็คือ ห้องกระจกในนาม ‘หลุมหลบภัยสามมิติ’ ที่ได้ทีมงานนักออกแบบการสื่อสารรุ่นใหม่อย่าง Yellaban Creative Media Studio มาร่วมสร้างสรรค์ ภายใต้การนำของ จาซมี เจ๊ะแต Creative Director และผู้ก่อตั้ง รวมถึงนักออกแบบอีกคนอย่าง ภวินท์ ภุมรินทร์ Senior Motion Designer ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการเนรมิตภาพอันงดงามด้วยเทคนิค Motion Graphics และ Projection Mapping รวมถึงการผสานเทคนิค Augmented Reality เพื่อสร้างภาพเสมือนซ้อนทับกับพื้นที่จริง เช่น เรือขนสินค้าที่จะลอยอยู่บนผืนน้ำเจ้าพระยาเมื่อเรามองผ่านสมาร์ตโฟนด้วยแอพพลิเคชั่น The Asiatiqes ซึ่ง Yellaban ก็เป็นผู้ออกแบบเช่นกัน

พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

จาซมี เริ่มเล่าให้ฟังถึงแนวคิดออกแบบที่ Yellaban Creative Media Studio ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ Living Museum & Art Festival ของ เอเชียทีค ที่เพิ่งเปิดตัวไปหลังหยุดทำการชั่วคราวเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ว่า

“โจทย์ก็คือจะทำอย่างไรให้คนไทยได้เข้ามาท่องเที่ยว ถ่ายรูป และใช้บริการของเอเชียทีค เลยกลายเป็นที่มาของ Living Museum เจาะกลุ่มเป้าหมายของคนที่ชอบออกไปถ่ายรูป ชอบดูงานสร้างสรรค์ ซึ่งเอเชียทีคก็มีทั้งพื้นที่ ของเก่า โบราณสถาน และประวัติศาสตร์ที่นำมาเล่าได้ เราเลยเริ่มตีโจทย์จากสิ่งเหล่านั้นว่าจะทำให้มีชีวิตและให้คนมีส่วนร่วมได้อย่างไร”

โดย Yellaban ได้นำศิลปะและงานออกมาแบบมาแก้ปัญหาโจทย์ในข้อนี้ ด้วยการสร้างสรรค์เนื้องานต่างๆ ที่เข้าถึงคนได้มากขึ้น เชิญชวนให้คนมาเล่น และมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน

ภวินท์ ภุมรินทร์ ยกตัวอย่างให้ฟัง ผ่านรถรางเก่าจาก ร.ศ. 113 ที่ซ่อนตัวอยู่ในเอเชียทีค ซึ่งถูกนำมาเล่าใหม่ผ่านการฉายภาพแบบ Projection Mapping ลงไปบนพื้นผิวว่า “รถรางเป็นเหมือนไทม์แมชีนที่ทำให้คนกลับไปเห็นบ้านเมืองและวิถีชีวิตสมัยนั้น” 

ทั้งนี้ Yellaban ไม่ได้เพียงสร้างภาพที่สวยงามขึ้นมาจากจินตนาการ แต่ยังมีการรีเสิร์ชประวัติศาสตร์อย่างละเอียด เพื่อสร้างภาพสามมิติแบบ Augmented Reality ของสิ่งต่างๆ เช่น เรือโบราณ หรือปั่นจั่นยักษ์ ซ้อนทับกับพื้นที่ในยุคปัจจุบันได้อย่างสมจริง โดยภวินท์ได้แสดงทัศนะถึงสิ่งสำคัญที่นักออกแบบทุกคนควรยึดถือว่า แท้จริงแล้วมันก็คือ ‘คอนเทนต์’ 

“ทุกอย่างมันขึ้นอยู่ที่คอนเทนต์ สุดท้ายคอนเทนต์จะนำไปสู่วิธีการนำเสนอเอง ว่าเราจะใช้เครื่องมือไหนถึงจะสื่อสารออกมาได้อย่างเหมาะสม คอนเทนต์จึงเป็นส่วนที่ควรแข็งแรงที่สุด”

โดยจาซมี เสริมว่า “ความรู้เรื่องการใช้งานโปรแกรม หรือทักษะทางด้านศิลปะทุกคนจะรู้เท่าๆ กันหมด สุดท้ายแล้วโปรแกรมมันเป็นแค่เครื่องมือที่ใช้ตอบโจทย์กับเนื้อหา ดังนั้น การออกแบบคือการประยุกต์ เรารู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ รู้ทิศทางของการออกแบบที่ควรเป็น ส่วนเทคโนโลยีจะเป็นส่วนเสริมให้แก่เนื้อหานั้นๆ”

จากโรงรถเล็กๆ สู่การออกแบบสื่อสารในพื้นที่แห่งจินตนาการขนาดใหญ่

จาซมี เจ๊ะแต เริ่มก่อตั้ง Yellaban Creative Media Studio ขึ้นมาหลังจากที่เขาเรียนจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อราว 9 ปีก่อน โดยไม่เคยผ่านการทำงานประจำแต่อย่างใด 

“จุดที่ทำให้มาทำบริษัทของตัวเองคือ ตอนเรียนจบ เรารู้สึกว่าเราไม่อยากไปทำงานประจำ เข้างานเช้าเลิกเย็นในระบบองค์กรขนาดใหญ่ เราเลยคิดว่ามันคงจะดีที่จะได้ออกแบบบริษัทให้เป็นแบบที่เราอยากให้เป็นจริงๆ เลยรวบรวมคนที่อยากใช้ชีวิตแบบเรามาทำงานด้วยกัน ตอนแรกทำในโรงรถที่บ้านแถวรังสิตด้วยซ้ำ”

จาก 2 คน สมาชิกกลายเป็น 3 เป็น 4 เป็น 7 และเป็น 23 คนในปัจจุบัน จากโรงรถสู่การขยับขยายที่ตั้งบริษัทสู่กลางเมือง โดยเขาเล่าให้ฟังถึงแนวคิดในการเริ่มต้นของคนที่ไม่ได้มีประสบการณ์การบริหารมาก่อนว่า “เราเรียนจบออกแบบ ไม่ได้จบบริหาร เลยเริ่มต้นจากการไม่ได้คิดอะไรเลย แค่รู้สึกว่าเราอยากเป็นอยากอยู่แบบไหน ก็ดูแลคนให้เขาอยู่แบบนั้น พอตอนนี้บริษัทมันเติบโตขึ้น ในส่วนของเรามันจะมีทั้งงานหน้าบ้านและหลังบ้าน หลังบ้านคือการดูแลชีวิตของคนในทีม เราอยากให้คนทำงานแล้วเหมือนอยู่บ้าน เรารู้สึกว่าถ้าบรรยากาศในบ้านดี เราก็จะทำงานสร้างสรรค์ได้ดี บวกกับเขาจะต้องมีชีวิตและปลายทางของอนาคตที่ดีด้วย”

ทีมงาน Yellaban และผลงานของพวกเขา / Photo: Yellaban Creative Media Studio

โดยจุดเด่นของ Yellaban หากย้อนไปเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน คืองาน Motion Design ในอีเวนต์ หรือแฟชั่นโชว์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของวงการออกแบบในสมัยนั้น ที่ขยับจากรูปแบบเดิมๆ จากการมีแค่ backdrop ให้ถ่ายรูป สู่ภาพเคลื่อนไหวน่าตื่นตาที่ดึงความสนใจของคนได้อีกระดับ

“เรามองว่าเราเข้าใจลูกค้าด้วย คือการทำแอนิเมชั่นหรือภาพเคลื่อนไหวมันมีมาตั้งนานแล้ว เพียงแค่มันยังอยู่ในจอสี่เหลี่ยม แต่ไม่ค่อยมีใครเอาลงสู่พื้นที่จริง เช่น รูปแบบจอที่โค้ง หรือการซอยภาพเคลื่อนไหวลงสู่วัสดุหลายๆ เหลี่ยม หรือวัสดุแปลกๆ อื่นๆ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่างานออกแบบภาพเคลื่อนไหวสามารถตกแต่งและเติมสีสันให้แก่สถานที่นั้นๆ ได้ 

“แต่สิ่งสำคัญจริงๆ คือ เวลาลูกค้าเข้ามาหาเรา เขาต้องการตัวช่วย ต้องการคำแนะนำ ดังนั้นเราเองในฐานะคนแนะนำที่มีความรู้ในด้านนี้ ต้องบอกเขาให้ได้ว่าวิธีการไหนถึงจะดีและเหมาะกับสินค้าของเขาที่สุด ซึ่งจะเห็นว่างานของ Yellaban จะไม่ซ้ำกันเลย โดยไม่ได้จำกัดเทคนิคในการนำเสนอด้วย”

การสื่อสารแบบนักออกแบบ และการบริหารจัดการแบบนักสร้างสรรค์

“ข้อดีของการเรียนออกแบบสื่อสารคือ การเรียนรู้วิธีการที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจสิ่งที่เราพยายามจะสื่อ งานออกแบบมีไว้เพื่อแก้ปัญหา เราเข้าใจว่าคนที่จัดงานอีเวนต์ หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ จุดประสงค์เดียวก็คือ การใช้งานออกแบบเข้ามาช่วยให้สิ่งนั้นๆ ขายได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจว่า เขาอยากขายใคร ขายแบบไหน ใครเป็นคนดู มันก็จะทำให้เราออกแบบได้ตรงกับโจทย์ของเขา และเข้าถึงคนที่รับสารได้”

นั่นคือหลักการที่ จาซมี ยึดมั่นในการสร้างสรรค์งานออกแบบภายใต้ Yellaban Creative Media Studio โดยเสริมว่า สิ่งที่นักออกแบบควรเป็น คือการวิ่งตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วให้ทัน โดยจำเป็นต้องสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานอย่างสม่ำเสมอ

“การเป็นนักออกแบบคือ ห้ามแก่ ห้ามป่วย ห้ามตายระหว่างทำงาน เพราะนั่นคือเรื่องของความรับผิดชอบ ย้อนกลับมาที่นิสัยส่วนตัว เราคิดว่าเราเป็นคนชอบความใหม่ ชอบอัพเดท มันเลยทำให้เราเกาะติดกระแสอยู่ตลอด และข้อดีอีกอย่างคือเรามีคนหลากหลายเจเนอเรชั่นอยู่ในบริษัท และการที่เราเปิดรับความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ๆ มีการสื่อสารระหว่างกันตลอด มันก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ โดยใช้ประสบการณ์ของเราไปคลุมอีกที”

โดยเขาชี้เห็นเห็นถึงความไม่เข้าใจในการสื่อสารระหว่างกันของคนทำงานสร้างสรรค์ ตัวกลางอย่างเออีและลูกค้า ที่กลายเป็นภาพจำและมุกตลกชวนหัวของคนทำงานออกแบบเสมอมาว่า มาจากการขาดความรู้และความเห็นอกเห็นใจระหว่างกัน

“เรื่องนี้ไม่สมควรจะเกิด เราคิดว่ารากของปัญหาคือ การไม่มีความรู้ความเข้าใจระหว่างกัน เพราะครีเอทีฟก็ไม่ได้เรียนการตลาด ส่วนคนการตลาดเองก็ไม่ได้เรียนดีไซน์ สมมติถ้าครีเอทีฟเรียนรู้กระบวนการขายสักหน่อย มันก็จะเกิดการแชร์ไอเดียกัน และเราจะเข้าใจกันมากขึ้น อย่างเราเป็นนักออกแบบ เราต้องทำความเข้าใจลูกค้าก่อน เราคิดว่าการขัดลูกค้าอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ แต่ต้องชี้ให้เห็นว่ามันมีวิธีการอื่นๆ ที่ดีกว่าในการสื่อสาร ที่อาจไม่ตรงกับความเชื่อเดิมของลูกค้า เมื่อเกิดการพูดคุยและอธิบายกันมากขึ้น เขาก็จะเปิดใจ รับฟังข้อเสนอของเรา งานส่วนใหญ่งานของเราที่ทำให้ลูกค้า จึงยังคงตัวตนของ Yellaban ไว้ได้ระดับหนึ่ง โดยที่ลูกค้าก็ขายของได้ เราก็ได้โชว์งานของเราไปด้วย”

 

การเมืองดีการสร้างสรรค์จะดีได้อย่างไร

แม้จะมีหน้าที่สร้างความงดงามและสื่อสารสิ่งต่างๆ ขึ้นมาจากความว่างเปล่า แต่นักออกแบบก็คือหน่วยหนึ่งของสังคม และภาพฝันถึงสังคมที่จะดีขึ้นก็คือสิ่งที่ Yellaban อยากเห็น และอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่พาสังคมก้าวไปข้างหน้าเช่นกัน

“ผมคิดว่าวงการออกแบบเป็นตัวชี้วัดหนึ่งถึงคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ” ภวินท์อธิบาย “คือในประเทศที่การเมืองดี การออกแบบจะอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน โดยไม่จำเป็นต้องยัดเยียด ให้คนแสดง หรือต้องไปตามงานเก๋ๆ เป็นครั้งคราวปีละครั้ง เพราะงานออกแบบจะอยู่ในทุกที่ อยู่ในร้านอาหาร ร้านกาแฟ และการออกแบบก็จะอยู่ในความเข้าใจของคนในสังคมนั้นๆ ด้วย“

ส่วนจาซมี ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “เรามองว่าถ้าทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุดท้ายเขาจะไม่มองแค่ตัวเอง เราจะไม่ต้องกังวลกับชีวิตของตัวเองมากเกินไป และเราจะมีเวลาไปเสพไปมองอย่างอื่น เมื่อคนเริ่มมีเวลาออกไปมองสิ่งต่างๆ เยอะ งานออกแบบก็ต้องเข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการของคน และถ้าการเมืองดี อุตสาหกรรมและระบบต่างๆ ก็ควรจะเท่าเทียม ซึ่งมันจะทำให้คุณภาพของสินค้าต่างๆ ดีเท่ากันไปด้วย เมื่อสินค้าดีเท่ากันหมด สิ่งที่คนจะวัดต่อไปก็คือความสวยงามของการออกแบบบรรจุภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าทุกอย่างเกี่ยวโยงกับเรื่องการทำให้การเมืองมีคุณภาพดีทั้งหมด”

Don’t Teach Me How to Live

  • คือโปรเจ็กต์ซีนส่วนตัวของ Yellaban Creative Media Studio เล่าถึงประเด็น New Normal ในลักษณะเสียดสี ตลกร้าย ชวนให้ขบขัน ผ่านงานภาพถ่าย และกราฟิกที่ถูกประยุกต์ให้ร่วมสมัย เพื่อบ่งบอกว่ายุคสมัยต่างๆ ไม่ได้มีรูปแบบอะไรที่ตายตัวตลอดไป เช่นเดียวกันกับพฤติกรรมของมนุษย์ ทุกอย่างในชีวิตประจำวันคือเรื่องปกติ ใครสนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.facebook.com/Yellaban