life

ท่านพุทธทาสเคยกล่าวในทำนองว่า ธรรมะคือธรรมชาติ และสิ่งที่เป็นธรรมชาติล้วนเปลี่ยนแปลง

เมื่อปลายปี 2561 มีคนยกมือขึ้นถาม พระอาจารย์ชยสาโร หลังจากท่านแสดงธรรมในวาระ 100 ปีชาตกาล หลวงพ่อชา สุภัทโท ที่จัดขึ้น ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

คำถามนั้นเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลง และสะท้อนความกลัวของยุคสมัยที่อยู่ในใจใครหลายคน

ชยสาโรภิกขุ ชยสาโร พระอาจารย์

เขาถามว่า…

“โลกวันนี้เปลี่ยนเร็วมาก หลายคนกังวลถึงอนาคตของอาชีพการงานที่กำลังทำอยู่ กลัวตกงานบ้าง กลัวไม่มีงานทำบ้าง มองไปในอนาคตก็ดูเหมือนจะมีแต่ความกลัวและความไม่รู้ เมื่อโลกเป็นแบบนี้ เราควรจะวางตัว วางใจ และวางชีวิตอย่างไร?”

คำถามแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในเวทีสัมมนาทางธุรกิจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอนาคต คนก็ถามกัน แต่ที่แปลกคือมาถามพระ

พระอาจารย์ชยสาโรตรึกตรองไม่นาน ก็ไขคำตอบ

คำตอบของท่านคมคายและน่าสนใจไม่น้อย

ชยสาโรภิกขุ ชยสาโร พระอาจารย์

ท่านตอบว่า…

ในแต่ละยุคสมัย เราทุกคนก็ต้องมีความกลัวความหวาดหวั่นเป็นเรื่องธรรมดา

อย่างรุ่นอาตมาตอนสมัยยังเด็ก ผู้คนก็กลัวสงครามนิวเคลียร์มาก กลัวคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ว่าเฉพาะยุคใหม่ แต่ในปัจจุบันก็ถือว่าเป็นกรณีพิเศษ เพราะมนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อม จนถึงจุดที่ยากจะแก้ไขได้แล้ว อันนี้ข้อหนึ่ง แต่ข้อสองก็คือความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะของเอไอ อาจเป็นไปได้ว่าอาชีพต่างๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก็จะไม่อยู่แล้ว…”

ถึงตรงนี้ พระอาจารย์ชยสาโรยกตัวอย่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ แอลฟาโกะ (Alpha Go) ที่สามารถชนะนักหมากล้อมอันดับหนึ่งของโลก ก่อนจะมีการพัฒนาเวอร์ชั่นใหม่ที่เก่งกว่าเวอร์ชั่นเดิม โดยไม่ต้องอาศัยข้อมูลการเล่นของมนุษย์ แต่เรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านระบบอัลกอริทึม

“มีคำถามที่ผู้เขียนหนังสือ (เกี่ยวกับแอลฟาโกะ) ถามว่า แล้วคุณคิดไหม กูเกิ้ลใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงพัฒนาคอมพิวเตอร์ถึงขั้นนี้ได้ คำตอบคือ หนึ่งเดือน

“อาตมาคิดว่าไม่ใช่แค่ทุกสิ่งกำลังเปลี่ยนแปลง แต่ความเร็ว อัตราความเปลี่ยนแปลงมันเร็วขึ้นๆ ถ้าถามว่าเราจะเตรียมตัวอย่างไร

“พระพุทธองค์บอกว่าสิ่งทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นให้เราถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด ดังนั้นความพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”

ชยสาโรภิกขุ ชยสาโร พระอาจารย์

พระอาจารย์ชยสาโรยกตัวอย่างสั้นๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมจากความทรงจำว่า

“ตอนที่อาตมาบวชใหม่ๆ ยังจำได้ หลวงพ่อสุเมโธ ท่านเล่าว่า ตอนที่ไปอยู่อังกฤษใหม่ๆ จะมีชาวต่างชาติเข้ามาลองภูมิบ้าง ท้าทายบ้าง แล้วมีผู้ถามท่านว่า ท่านเนี่ยไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงอย่างเด็ดขาด แล้วสมมติฆาตกรจะไปฆ่าโยมแม่ท่าน ท่านจะทำอย่างไร

หลวงพ่อสุเมโธ
หลวงพ่อสุเมโธ

“หลวงพ่อสุเมโธก็ตอบว่า ขณะนี้อาตมาพูดไม่ได้ แต่อาตมาเชื่อว่าถ้าในขณะนั้นอาตมามีสติ อาตมาจะตัดสินใจทางที่ดีที่สุดในเวลานั้น

“ดังนั้นการรับมือกับอนาคตจึงไม่ใช่ว่า เราจะต้องวางแผนล่วงหน้า หรือต้องพยายามคิดไปไกลว่าถ้าอนาคตจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นอย่างนี้ เราจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันทำไม่ได้หรอก เพราะว่ามันจะเปลี่ยนในทางที่ไม่มีใครพยากรณ์ได้

“แต่ที่รู้ได้คือ ถ้าเราตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท เราจะมีความพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

“ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้น จะอยู่ในรูปแบบไหนก็ตาม”

ชยสาโรภิกขุ ชยสาโร พระอาจารย์

‘ไม่กลัวผิดพลาด มันจึงได้เร็ว’ เรียนรู้แบบพระอาจารย์ชยสาโร

นอกจากการตอบคำถาม เนื้อหาการแสดงธรรมวันนั้น พระอาจารย์ชยสาโรได้พูดถึงการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต

โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรง ว่าพระฝรั่งอย่างท่านเรียนรู้ภาษาไทยได้อย่างไร?

แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ แต่ก็สะท้อนวิธีคิดในการเรียนรู้ และมีแง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคตได้เป็นอย่างดี

ชยสาโรภิกขุ ชยสาโร พระอาจารย์

“พระพุทธองค์ตรัสว่า ‘รู้เท่าทัน’ คำนี้ภาษาไทยแท้นะ มีความลึกซึ้งมาก ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ต้องต่อต้าน ไม่ต้องกลัว แต่รู้เท่าทัน เรียนรู้ศักยภาพของมนุษย์เรา ซึ่งมีสูง

“แต่ถ้าเราพิจารณาว่าทำไมคนส่วนใหญ่ไม่เข้าถึงสิ่งที่ควรเข้าถึง สาเหตุสำคัญเท่าที่อาตมามองเห็น คือกลัวลำบาก บางทีจะทำ “ทำได้ไหม?” ทำไมไม่ได้ กลัวลำบาก กลัวผิดพลาด กลัวขายหน้า แค่นี้นะจะทำให้การปฏิบัติการพัฒนาตนหยุดชะงักเลย

“อย่างอาตมา ตอนมาเมืองไทย ตอนนั้นอายุยี่สิบปี แล้วก็เรียนภาษาไทยแบบธรรมชาติ ไม่มีอาจารย์ ไม่มีหนังสือ แต่เรียนได้เร็ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาตมาได้ภาษาไทยเร็วก็มีหลายประการ หนึ่งก็คือตั้งใจจะใช้ชีวิตในผ้าเหลืองในเมืองไทย แล้วก็เป็นคนที่มีพรสวรรค์ทางภาษาบ้างอยู่แล้ว อายุยังน้อย แล้วก็ที่ดลบันดาลใจมากก็คือครูบาอาจารย์ของเรา หลวงพ่อชา ท่านไม่พูดภาษาอังกฤษ เราก็นั่งฟังเทศน์ท่าน กัณฐ์ละสองชั่วโมงสามชั่วโมง ฟังไม่เข้าใจก็เสียดาย เดือนแรกๆ นี่ก็ฟังได้แค่คำเดียว “อ๊ดทน อ๊ดทน” ไปถามพระฝรั่งว่า เอ๊ะ อ๊ดทนแปลว่าอะไร รู้สึกท่านพูดบ่อยนะ แต่นอกจากนั้น ปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งคือ ไม่กลัวผิดพลาด

หลวงพ่อชา
หลวงพ่อชา

“อาตมาเห็นพระฝรั่งด้วยกันหลายท่าน ความสามารถความตั้งใจก็มี แต่ท่านออกเสียงผิดแล้วคนหัวเราะ เพื่อนพระไทยหัวเราะกัน ทนไม่ได้ ส่วนอาตมา ท่านก็หัวเราะ เราก็หัวเราะไปด้วย มันก็น่าขำเหมือนกัน ไม่กลัวคนหัวเราะ ไม่กลัวผิดพลาด มันจึงได้เร็ว ฉะนั้นแค่ไม่อยากให้ใครหัวเราะเรา อาจจะเป็นเหตุที่ทำให้เราเข้าไม่ถึงสิ่งที่ควรเข้าถึง…ใช่ไหม?

ชยสาโรภิกขุ ชยสาโร พระอาจารย์

“แต่ความผิดพลาด ถ้าเรามีอายุมากขึ้น แล้วเราลองทบทวนประสบการณ์ในอดีต อาตมาว่าเกือบทุกคนก็ต้องยอมรับว่า ได้เรียนรู้อะไรหลายสิ่งหลายอย่างจากความผิดพลาด บางทีมากกว่าการสมหวังหรือประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ เมื่อเราผิดพลาดก็ถือว่าเป็นการได้ข้อมูล ว่าต้องปรับปรุง ต้องแก้ไขตรงไหนบ้าง มันก็ดี เป็นข้อมูลที่ดี ฉะนั้นในเรื่องของภาษา …เราเป็นพระฝรั่งที่พูดใหม่ๆ ต้องทน ต้องอดทน แล้วค่อยๆ เรียนรู้

“ในชีวิตเราก็เหมือนกัน บางสิ่งบางอย่างที่กลัวจะทำไม่ได้ กลัวจะทำไม่เก่ง กลัวว่าคนอื่นจะหัวเราะ ช่างมัน ทำไปเถอะ เรียนรู้จากประสบการณ์

“อาตมาว่าคนเหล่านี้จะเข้าถึงความเป็นมนุษย์โดยแท้ ด้วยความมีคุณธรรมข้อหนึ่งสำคัญมาก มีความใคร่ต่อการศึกษา รักการศึกษา รักการฝึกตน

ชยสาโรภิกขุ ชยสาโร พระอาจารย์

“แล้วในการศึกษาของเรานั้น ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า ‘ศึกษา’ ว่าไม่ใช่เล่าเรียนอย่างเดียว เล่าเรียนก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือการทดลอง พิสูจน์ สิ่งที่เราเรียนแล้วว่า จริงหรือไม่จริง ใช่หรือไม่ใช่ ได้หรือไม่ได้

“ที่เราพูดกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ที่จริงก็ควรจะขยายความนิดหน่อย หรือว่ามีเงื่อนไขนิดหน่อยว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึกตน

“ฝึกตนที่ว่าคือ ต้องพยายามศึกษา”.

ชยสาโรภิกขุ ชยสาโร พระอาจารย์

*หมายเหตุ: เรียบเรียงจาก การแสดงธรรม โดย พระอาจารย์ชยสาโร ในวาระ 100 ปีชาตกาล พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) วันอังคารที่ 11 ธันวาคม 2561 ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ