คำว่า ‘ศิลปะบำบัด’ ในสหราชอาณาจักร แบ่งออกเป็น 2 คำ คือ Art Therapy และ Art Psychotherapy ซึ่งมีความแตกต่างกัน เพื่อให้เข้าใจที่มาและความหมายจึงต้องย้อนกลับไปยังจุดกำเนิดของศิลปะบำบัด
ช่วงปี 1940s เอเดรียน ฮิลล์ (Adrian Hill) ศิลปินชาวอังกฤษได้สร้างคำว่า Art Therapy ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อนิยามวิธีการนำศิลปะมาประยุกต์ใช้ในการรักษาโรค ตามหลักฐานที่บันทึกไว้ เขาคือคนแรกในอังกฤษที่ค้นพบพลังในการบำบัดของศิลปะระหว่างการรักษาวัณโรคของเขาเองและผู้ป่วยคนอื่นๆ
ต่อมาฮิลล์ได้มีโอกาสเข้าไปสอนศิลปะให้คนไข้วัณโรคในโรงพยาบาล และสังเกตเห็นผลลัพธ์บางอย่างจากการสร้างงานศิลป์ ซึ่งทำให้อาการคนไข้ดีขึ้น เขาบอกว่า “…การสร้างงานศิลป์ช่วยปลดปล่อยพลังงานสร้างสรรค์ของคนไข้ที่ถูกกักตัวไว้… และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคร้ายให้ผู้ป่วย” (Art therapy helps releasing the creative energy of the frequently inhibited patients…and build up a strong defence against his misfortunes) แหล่งข้อมูลบางแห่งอ้างว่า เขาเริ่มสังเกตเห็นพลังแฝงของศิลปะตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ปี 1910s) จากการพบว่าทหารมีอาการดีขึ้นจากวัณโรคด้วยการสร้างงานศิลปะ
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ฝั่งสหรัฐอเมริกาก็มีนักจิตวิทยาชื่อ มาร์กาเร็ต นุมเบิร์ก (Margaret Naumburg) เธอได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) และคาร์ล จุง (Carl Jung) ที่เชื่อเรื่องความหมายสากลของสัญลักษณ์ (Symbol) เธอเห็นด้วยว่าสัญลักษณ์สื่อความหมายลึกซึ้ง แต่เห็นต่างตรงที่ความหมายของสัญลักษณ์ไม่มีความเป็นสากล (Universal) เพราะขึ้นอยู่กับผู้สร้างสรรค์ต่างหาก
นุมเบิร์กจึงเป็นคนในแรกในสหรัฐอมเริกาที่เริ่มใช้ศิลปะในการทำจิตบำบัด เธอเริ่มศึกษาวิจัยการใช้ศิลปะบำบัด และเริ่มใช้คำว่า Art Therapy เพื่ออธิบายวิธีการที่เธอเลือกใช้รักษาคนไข้ เธอบอกว่าศิลปะบำบัด คือ การปลดปล่อยจิตใต้สำนึกผ่านการแสดงออกผ่านศิลปะอย่างเป็นธรรมชาติ และการรักษาแนวทางนี้ขึ้นอยู่กับ Transference ระหว่างคนไข้กับนักบำบัด (ความหมายของ Transference อย่างสั้นที่สุด คือ ความรู้สึกของคนไข้ต่อผู้บำบัดที่เชื่อมโยงกับบุคคลอื่น เช่น คนไข้อาจจะรู้สึกว่านักบำบัดเหมือนพ่อ แม่ เพื่อน หรือคนนู้นคนนี้ ทำให้เกิดการตอบสนองต่อนักบำบัดในลักษณะเดียวกับบุคคลที่ไปเชื่อมโยงด้วย) และการเข้าใจการตีความเชิงสัญลักษณ์ผลงานของคนไข้ ทั้งสองอย่างนี้จะทำให้เกิด ภาษาเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Speech)
จากความหมายที่ถูกนิยามขึ้นมาในยุคแรกเริ่ม จะเห็นได้ว่ายังมีความแตกต่างกันอยู่ และสิ่งสำคัญที่ควรจะเข้าใจก่อน คือ ทุกวันนี้ศิลปะบำบัดได้พัฒนาไปในทั้ง 2 ทางพร้อมๆ กัน ทั้งทางของ Art Therapy และ Art Psychotherapy
Art Therapy ของฮิลล์ น่าจะเป็นความเข้าใจของคนทั่วไปต่อการทำศิลปะบำบัด เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อพูดถึงศิลปะบำบัด คนก็จะบอกทำนองว่า อ๋อ ไปวาดรูปกับหมอหรอ ระบายสีแก้เครียดหรอ ถ้าตีความตามตัวหนังสือ ก็ใช่ เพราะความหมายของฮิลล์ คือ Art as a Therapy ศิลปะมีคุณสมบัติที่เป็นยาในตัวมันเอง วาดรูป ระบายสี ปั้นดิน ล้วนส่งผลดีต่ออารมณ์และด้านอื่นๆ ของคนทำ โดยที่ไม่ได้เน้นกระบวนการระหว่างคนไข้กับนักบำบัด
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น หลายคนเคยเห็นเวลาใครลงรูปในโซเชียลมีเดียพร้อมใส่แคปชั่นว่า Sea Therapy, Food Therapy, Shopping Therapy นั่นเป็นเพราะว่า ทะเล การกินอาหารอร่อยๆ หรือการช็อปปิ้งนั้นดีต่อใจ ช่วยบำบัดอารมณ์เราได้ อารมณ์เดียวกันกับ Art Therapy นั่นเอง แต่ไม่ได้บอกว่ามีพลังเยียวยาแบบเดียวกับศิลปะ แค่ยกตัวอย่างให้เข้าใจได่ง่ายขึ้น
ส่วน Art Psychotherapy ของนุมเบิร์ก (ที่ผู้เขียนกำลังเรียนอยู่) บอกว่า นักบำบัดจะต้องทำงานกับความสัมพันธ์ที่เป็นสามเหลี่ยมระหว่าง คนไข้-นักบำบัด, คนไข้-ผลงานศิลปะ และนักบำบัด-ผลงานศิลปะ ซึ่งนักบำบัดสามารถโฟกัสที่ความสัมพันธ์ใดก็ได้ในแต่ละ session
ทั้งหมดที่เล่ามา เป็นจุดกำเนิดของศิลปะบำบัดในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอิทธิพลไปทั่วโลกในยุคต่อมา แม้ว่าปัจจุบันนิยามของ Art Therapy จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อย และยังมีศิลปะบำบัดแนวทางอื่นๆ เกิดขึ้นตามมาอีก โดยตอนต่อไปจะบอกเล่าถึงความหมายของ Art Psychotherapy แบบลงรายละเอียด
เผยแพร่ครั้งแรก: เพจ He, art, psychotherapy ณ วันที่ 5 มกราคม 2563
อ้างอิง
- Tessa Dalley, Art as Therapy (London: Tavistock Publications, 1984)
- David Edwards, Art Therapy (Thousand Oaks: SAGE Publications, 2004)
- Julie Altman. Margaret Naumburg. https://bit.ly/3j3GC2G
- London Art Therapy Centre. Adrian Hill, Tuberculosis and Art Therapy. https://bit.ly/2ZomsJ3
Quick Facts
- ในชีวิตประจำวัน ชาวอังกฤษนิยมใช้แต่คำว่า Art Therapy เพราะว่าเป็นคำที่สั้นกว่า ส่วนคำยาวๆ อย่าง Art Psychotherapy จะใช้ในหนังสือ การเรียนการสอน และแวดวงวิชาการ