life

หากเช้าวันนี้คุณตื่นขึ้นมาแล้วลุกไปแปรงฟันตาปกติ แต่ทำไมตอนบ้วนปากมีน้ำไหลออกจากมุมปากข้างหนึ่งแบบผิดสังเกต 

แถมตอนกินข้าวก็เคี้ยวได้ไม่ถนัด ตาข้างนึงก็เหมือนจะลืมไม่ขึ้น พอไปส่องกระจกเท่านั้นถึงกับทำอะไรไม่ถูก เพราะหน้าเบี้ยวไปข้างหนึ่งแล้ว! 

คนส่วนใหญ่เมื่อพบอาการแบบนี้กับตัวเองหรือคนใกล้ชิดมักตื่นตระหนก และเหมารวมว่าอาการปากเบี้ยว หมายถึง การเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เท่านั้น 

แต่เราอยากชวนคุณมาสังเกตอาการปากเบี้ยวนี้กันอีกรอบ ด้วยการทดสอบแบบไวๆ โดยให้ผู้ป่วยลองยักคิ้วและหลับตาให้สนิทในด้านเดียวกับที่มุมปากตก หากยักคิ้วและหลับตาให้สนิทได้ พร้อมกับมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกร่วมด้วย ให้รีบโทร 1669 หรือเดินทางไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด เพราะนี่เป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองอักเสบ ที่ต้องรักษาอย่างทันท่วงที 

bell's palsy

สำหรับผู้ป่วยมีอาการปากเบี้ยว แต่แขนขายังมีแรงปกติ สันนิษฐานว่าเป็นโรคอัมพาตเบลล์ ซึ่งทดสอบได้โดยการยักคิ้ว ปิดตา และยิ้มกว้าง 

ลองยักคิ้วขึ้นทั้ง 2 ข้าง หากไม่มีอาการเบลล์ คิ้วต้องสูงเท่ากัน หรือต่างกันเพียงเล็กน้อย 

ปิดตาทั้ง 2 ข้าง ตาทั้งคู่ต้องปิดสนิทถึงจะไม่มีอาการเบลล์ 

และเมื่อยิ้มกว้าง ยิ้มทั้งสองข้างต้องเท่ากัน หากทดสอบทั้ง 3 ปฏิกิริยาแล้วพบว่าข้างใดข้างหนึ่งเบี้ยวไป สันนิษฐานว่าผู้ป่วยน่าจะเป็นโรค Bell’s palsy ที่ก็ควรรีบพบแพทย์เช่นกัน (แต่ไม่ถึงกับต้องเรียกใช้บริการรถฉุกเฉิน) 

Bell’s palsy หรือจะเรียกว่าโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก โรคประสาทคู่ที่ 7 อักเสบ หรือโรคอัมพาตเบลล์ก็ได้ เป็นโรคที่เกิดจากภาวะที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ที่มีหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าถูกทำลายและสูญเสียการทำงาน เนื่องจากติดเชื้อไวรัส ที่พบบ่อยคือ เชื้อเริม (Herpes simplex virus) หรืองูสวัด (Herpes zoster) ที่แฝงอยู่ในปมประสาท หากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำจะทำให้เกิดโรคนี้ได้ 

bell's palsy

อาการของโรค

มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และรุนแรงภายใน 48 ชั่วโมง โดยมักมีสัญญาณเตือนล่วงหน้าด้วยอาการปวดบริเวณหลังใบหู ตามมาด้วยอาการกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีกอ่อนแรง ทำให้ยักคิ้วไม่ได้ หนังตาและมุมปากตก ปิดตาไม่สนิท โดยแต่ละคนจะเป็นมากน้อยแตกต่างกันไป บ้างอาจได้ยินเสียงดังในหูและสูญเสียการรับรสชาติที่ปลายลิ้นด้านที่มีอาการ 

อาการดังกล่าวจะปรากฏชัดเจนใน 1-2 วัน โดยส่วนใหญ่จะเริ่มดีขึ้นใน 3 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการครั้งแรก และใช้เวลา 3-6 เดือนถึงจะค่อยๆ หายสนิท 

การรักษา

แพทย์จะให้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อลดอาการบวมและการอักเสบของเส้นประสาท ซึ่งช่วยให้อาการดีเร็วขึ้น โดยหากมีอาการแล้วรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาใน 2-3 วันแรก จะช่วยให้อาการดีขึ้นเร็วกว่าเดิม 

เนื่องจากอาการของโรคอัมพาตเบลล์ส่งผลให้ตาข้างหนึ่งปิดไม่สนิท อาจทำให้เกิดแผลที่กระจกตาได้ จึงควรใช้น้ำตาเทียมหยอดตาระหว่างวัน และใช้ยาสำหรับป้ายตาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและปิดตาให้สนิทในตอนกลางคืน 

แม้ข้อมูลทางการแพทย์จะยืนยันว่าโรคนี้สามารถหายได้เอง แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่หายเร็วขึ้นมักทำกายภาพบำบัดใบหน้า นวดใบหน้า เข้ารับการกระตุ้นไฟฟ้าบริเวณใบหน้า หรือฝังเข็มเพื่อกระตุ้นเส้นประสาทและเลือดลมร่วมด้วย 

และแม้จะพบมากในผู้สูงอายุ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในวัยทำงาน วัยเรียน แม้แต่เด็กๆ ก็มีโอกาสเป็นโรคอัมพาตเบลล์ได้ เนื่องจากความเครียดหรือร่างกายอ่อนแอจนทำให้ภูมิคุ้มกันตก เป็นเหตุให้ไวรัสเข้าจู่โจมและเล่นงานระบบประสาทของร่างกายได้ 

ดังนั้น จึงควรรักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง พยายามขจัดความเครียดและความกังวลทิ้งไป เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อโรคภัยต่างๆ อย่างแข็งแกร่ง 

อ้างอิง 

  • โรงพยาบาลเพชรเวช.โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy) ความผิดปกติทางเส้นประสาทที่ไม่ควรปล่อยผ่าน.https://bit.ly/3pwCEny 
  • ศูนย์ศรีพัฒน์.เส้นประสาทสมองที่ 7 อักเสบ (Bell’s Palsy) ตื่นมาแล้วหน้าเบี้ยว หลับตาไม่สนิท น้ำลายไหลออกจากมุมปาก ทำยังไงดี. https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-78