life

หนึ่งในอาการเศร้าที่รุนแรงที่สุด คืออาการเศร้าจากการสูญเสีย 

ในโลกนี้ไม่มีใครหนีการสูญเสียพ้น วันใดวันหนึ่งเราก็ต้องเผชิญหน้ากับมัน การสูญเสียจึงมาคู่กับ ‘ความเศร้า’ เสมอ และความรู้สึกเศร้านี้เองที่ทำให้พฤติกรรมของเราเปลี่ยนไป

ไม่ว่าจะสูญเสียคนในครอบครัว แฟน เพื่อน หรือสัตว์เลี้ยง การสูญเสียล้วนทำให้เราเกิดความรู้สึกเจ็บปวด เศร้าโศก และเสียใจอย่างรุนแรง (เลิกกับแฟน แมวหายก็นับเป็นความสูญเสียเหมือนกัน)

เมื่อคนคนหนึ่งสูญเสียคนสำคัญไป ให้ระลึกไว้ว่า เขาไม่ได้สูญเสียแค่ตัวบุคคล แต่มีสิ่งอื่นที่สูญหายไปด้วย เช่น สูญเสียสามี สิ่งที่หายไปไม่ใช่แค่ตัวสามี แต่ความรู้สึกปลอดภัยทั้งทางร่างกาย จิตใจ การเงิน และอีกมากมายก็หายไปด้วย และมันส่งผลกระทบกับชีวิตเขาได้มากเกินกว่าเราจะจินตนาการ

Photo: https://www.bbc.co.uk/programmes/b01n1qyq

โคลิน พาร์คส์ (Colin Parkes) จิตแพทย์ชาวอังกฤษ เขียนไว้ในรายงานผลการศึกษาของเขาว่า ในการสูญเสียหนึ่งครั้ง ความรู้สึกที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ‘ความเศร้า’ แต่ความจริงแล้วยังมีหลายความรู้สึกอื่นๆ ปะปนอยู่ด้วยแล้วแต่คนแล้วแต่กรณี เช่น โกรธ กังวล กลัว เครียด สิ้นหวัง

‘ใจสลาย’ เป็นอีกหนึ่งสภาวะที่เกิดขึ้นได้จากความสูญเสีย ภาษาอังกฤษเรียกว่า broken hearted คำนี้ถูกใช้ครั้งแรกในประโยค ‘bind up the broken hearted’ ของพระคัมภีร์ไบเบิล (The Bible) โดยอิสยาห์ (Isaiah) โหรชาวอิสราเอล นับจากนั้นจึงถูกใช้เรื่อยมา ซึ่งคอนเซ็ปต์ของคำนี้คือ ความโศกเศร้าสามารถทำให้ใจสลายได้ 

Photo: Prophet Isaiah (c.1508-1512) Michelangelo and his assistants for the Sistine Chapel in the Vatican

ในปี 1835 เบนจามิน รัช (Benjamin Rush) แพทย์ชาวอเมริกันเขียนอธิบายถึงสิ่งที่พบระหว่างผ่าศพในหนังสือของเขาว่า คนที่มีความเศร้าจากการสูญเสียหลายคน เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ในหัวใจจะมีเลือดคั่งอยู่ รวมถึงหัวใจห้องบนและล่างจะบวมและฉีกขาด 

Photo: https://npg.si.edu/blog/dr-benjamin-rushs-portrait-thomas-sully

เวลาต่อมาคณะแพทย์ของโรงพยาบาล Strong Memorial Hospital ในเมืองรอเชสเตอร์ (Rochester) รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้ตั้งสมมุติฐานว่า ความรู้สึกสิ้นหวัง (hopelessness) ไม่มีใครช่วยได้ (helplessness) เป็นตัวก่อให้เกิดความเจ็บป่วย ซึ่งพบได้มากในคนที่เพิ่งสูญเสียคนสำคัญในชีวิตไป

ครั้งหนึ่ง แพทย์ได้ตรวจคนไข้และพบเซลล์ผิดปกติ จึงขอนำตัวอย่างเซลล์ไปเข้าห้องตรวจ ซึ่ง ณ ตอนนั้น ยังไม่มีใครรู้ผล แม้กระทั่งตัวแพทย์เอง แต่แพทย์คนนี้ใช้วิธีสัมภาษณ์คนไข้เกี่ยวกับเหตุการณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นในชีวิตช่วงนั้น หากพบว่าคนไข้มีความรู้สึกสิ้นหวังกับอะไรบางอย่าง เขาจะคาดการณ์ว่าเซลล์ที่พบนั้นเป็นเซลล์มะเร็ง

ผลคือแพทย์คนนี้คาดการณ์ถูกต้อง 71% (ในรายงานไม่ได้บอกว่าแพทย์สัมภาษณ์ทั้งหมดกี่คน)

เมื่อเริ่มมีผลการศึกษาวิจัยพิมพ์ออกมามากขึ้น วงการแพทย์ก็ยิ่งให้ความสนใจ และศึกษาถึงเรื่องนี้กันอย่างจริงจังเพื่อขยายผลต่อไป ทำให้เกิดการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของอาการเศร้าจากการสูญเสียและการตายมากขึ้น

ผลการศึกษาที่น่าสนใจ คือ การศึกษาของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) ประเทศออสเตรเลีย โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างแม่หม้ายชาวอเมริกัน 132 คน และชาวออสเตรเลีย 221 คน เป็นเวลา 13 เดือนหลังจากเผชิญกับการสูญเสียสามี คู่กับกลุ่มควบคุมซึ่งเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว

ผลคือ กลุ่มแม่หม้าย 28% รายงานว่าตัวเองสุขภาพแย่ลง ส่วนกลุ่มควบคุมอยู่ที่ 4.5%

ยังมีอีกการศึกษาหนึ่งโดยโรงเรียนแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) สำรวจแบบเดียวกันกับกลุ่มแม่หม้ายในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา แต่ควบคุมอายุ ฐานะครอบครัว และขนาดครอบครัวระหว่างกลุ่มตัวอย่างกับกลุ่มควบคุมให้เหมือนกันมากที่สุด ผลการสำรวจออกมาในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้การศึกษาในปี 1963 ของไมเคิล ยัง (Michael Young) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ก็พบว่า 40% ของกลุ่มพ่อหม้ายแม่หม้าย 4,486 คน เสียชีวิตภายใน 6 เดือนแรกหลังจากสูญเสียคู่รักไป เขาจึงรวบรวมกลุ่มอาการหลักๆ ที่กลุ่มพ่อหม้ายและแม่หม้ายรายงานไว้ดังนี้

  • ซึมเศร้า (depress) 
  • ประหม่า (nervousness) 
  • สติแตก (mental breakdown) 
  • ตื่นตระหนก (panic) 
  • มีปัญหาการตัดสินใจ(difficulty in decision making)
  • หวาดกลัว (fear)
  • มีความคิดประหลาด (peculiar thoughts)
  • ฝันร้าย (nightmares)
  • นอนไม่หลับ (insomnia)
  • สั่น (trembling)
  • เบื่ออาหาร (loss of appetite)
  • น้ำหนักลง (loss of weight)
  • ทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม (loss of working capacity)
  • อ่อนเพลีย (fatigue)

หมายความว่ากายสัมพันธ์กับใจอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ ความรู้สึกที่เกิดจากการสูญเสียหากจัดการไม่ได้ ก็จะส่งผลต่อร่างกายและการดำเนินชีวิตในที่สุด

ยังมีอีกการศึกษาอีกมากที่ชี้ชัดว่า คนที่เผชิญหน้ากับสูญเสียจนทำให้เกิดอาการเศร้า มีความเสี่ยงมากกว่าที่สุขภาพจะแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญจนป่วยเป็นโรคต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาต่อมา

หากเจอใครบางคนที่สูญเสียสิ่งที่รักไป ซึ่งเรารู้สึกว่าดูท่าแล้วอาการน่าเป็นห่วง โคลิน พาร์คส์จึงแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวเบื้องต้นไว้ดังนี้

  1. ช่วยตัดสินใจในเรื่องง่ายๆ เช่น การลางาน ยกเลิกนัดหรือแผนต่างๆ ที่เคยวางไว้
  2. บอกเขาว่าต้องทำอะไรต่อ เช่น กรณีที่เขายังช็อค บอกเขาว่าจะทำธุระให้ อย่างจองวัด แจ้งญาติ แจ้งที่ทำงาน เคลียร์ตารางงาน หรืออะไรก็ตามที่เราช่วยทำให้ได้
  3. ช่วยเรียบเรียงความคิดของเขา เป็นผู้ฟังที่ดี ทำให้เขาสงบลง
  4. คอยสังเกตและติดตามการกินอยู่ของเขา เช่น กินข้าวได้มากน้อยแค่ไหน นอนหลับไหม แต่ละวันทำอะไรบ้าง
  5. ต้องคอยดูอย่างระวัง อย่าล้ำเส้นเขาจนเกินไป
  6. จัดการสิ่งที่จะทำให้เกิดอารมณ์ทางลบออกไปเท่าที่ทำได้ 
  7. แสดงออกถึงความเข้าใจ เราต้องมั่นคงและนิ่งพอจะรองรับอารมณ์ของเขา
  8. อย่าแสดงออกถึงความน่าสงสาร เวทนา หากรู้ตัวว่าทำไม่ได้ ให้เลี่ยงการสื่อสาร อยู่เงียบๆ ไม่ต้องพูดเยอะ
  9. หากรู้สึกว่าเกินกำลัง ไม่สามารถทำได้ หาทางพาเขาไปพบแพทย์หรือนักจิตวิทยา

ในทางกลับกัน หากเราเองเป็นผู้สูญเสีย ก็อย่ารีรอที่จะขอความช่วยเหลือจากทั้งผู้เชี่ยวชาญหรือคนใกล้ตัว บอกคนรอบข้างและคนสนิทให้เขาเข้าใจว่าเรากำลังเผชิญกับอะไรอยู่

แต่มีข้อสังเกตข้อหนึ่ง เรามักเผลอตัดสินว่าการสูญเสียแบบไหนคือหนัก แบบไหนคือเบา เช่น ถ้าใครบอกว่าพ่อเสีย แม่เสีย เราจะทะนุถนอมเขาอย่างดี แต่บางกรณีถ้าใครบอกว่าเลิกกับแฟน เพื่อนเลิกคบ หมาตาย แมวหาย เรากลับให้ความสำคัญน้อยกว่า

ข้อสังเกตนี้ไม่ได้ต้องการชี้ชัดว่าอะไรสำคัญกว่าอะไรหรืออะไรสำคัญเท่ากัน แต่ต้องการย้ำเตือนว่า การสูญเสียคือการสูญเสีย ให้คนที่สูญเสียเขาบอกเองว่า สิ่งที่เสียไปมันสำคัญกับเขาแค่ไหน เช่น ‘ถ้าหมาหนูตาย หนูคิดว่าหนูจะฆ่าตัวตายตาม ครอบครัวหนูไม่มีใครเข้าใจหนูเท่ามัน’

ดังนั้น เมื่อใครบางคนเผชิญการสูญเสีย จึงจำเป็นต้องคอยถนอมใจกัน ฟังกันให้มากๆ ประคับประคองกันให้เรื่องหนักๆ ที่คนหนึ่งคนกำลังเผชิญไม่หนักจนเกินไป เพราะความเศร้าไม่ใช่คนที่ฆ่าเรา แต่ความเศร้าคือมาเฟียที่จ้างมือปืนชื่อความอ่อนแอและความเจ็บป่วยมายิงเราอีกที

อ้างอิง 

  • Colin Murray Parkes. Bereavement: Studies of Grief in Adult Life. 2nd Edition. (London : Penguin, 1991)

เผยแพร่ครั้งแรก: เพจ he, art, psychotherapy ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2563