life

ทักษะสำคัญของนักจิตบำบัดที่ทุกคนควรมีและใช้เป็น คือ ‘การฟัง’

หลายคนอาจสงสัยขึ้นมาทันทีว่า เมื่อหูยังปกติดี ฟังไม่เป็นก็แย่แล้ว เพราะเราพูดคุยกันอยู่ทุกวัน ฟังทุกอย่างรอบตัว ทั้งเวลาเพื่อนเม้าธ์ เจ้านายด่า แม่บ่น แม้กระทั่งคนอื่นคุยกันเราก็ยังแอบฟัง

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น คือ ขณะฟัง ได้ยินสิ่งที่เขาไม่ได้พูดออกมาตรงๆ หรือเปล่า ซึ่งแนวคิดและวิธีการของนักจิตบำบัดที่คนทั่วไปนำปรับใช้ในชีวิตประจำวันกันได้ คือ หลักการของคาร์ล โรเจอร์ส (Carl Rogers) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้วางรากฐานการทำจิตบำบัดสมัยใหม่เกือบทุกแขนง และยังเป็นคนที่ทำให้ empathy กลายเป็นคำฮิตติดชาร์ตในวงการจิตวิทยา

คาร์ล โรเจอร์ส

โรเจอร์สไม่ได้มองว่านักบำบัดเป็นกูรูผู้อยู่เหนือกว่า หรือเก่งกว่าผู้มารับบริการ ดังนั้น ปัญหาของใคร คนนั้นต้องแก้ไขเอง นักบำบัดจะทำหน้าที่รับฟังปัญหา แล้วช่วยค้นหาทางออกที่ดีที่สุดให้ แต่จะไม่แนะนำหรือบังคับว่าต้องทำอะไร หรือเลือกทางไหน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการฟัง

วิธีและขั้นตอนการฟังให้ได้ยินสิ่งที่เขาไม่ได้พูด มีดังนี้

1. ฟังอย่างตั้งใจ

ให้ความสนใจกับคนที่มาคุยด้วยอย่างเต็มที่ มองหน้าเวลาคุย พยักหน้ารับตามจังหวะให้เป็นธรรมชาติ

แต่ถ้าหากเขาพูดในเวลาที่เราไม่พร้อมฟัง ควรบอกเขาอย่างตรงไปตรงมาว่ายังไม่สะดวก และเสนอเวลาที่เราสะดวกให้เขารู้ เพราะการฟังทั้งที่เราไม่พร้อม เช่น ฟังแล้วทำงานอื่นไปด้วย นอกจากจะฟังได้ไม่เต็มที่ คนพูดอาจรู้สึกว่าไม่ได้รับความสนใจหรือให้ความสำคัญกับปัญหาที่เขาเจอ ผลลัพธ์ของการฟังอย่างไม่ตั้งใจอาจจบลงด้วยความรู้สึกแย่มากกว่าดี

Photo: Two Friends, Carl Schweninger der Jüngere via https://www.flickr.com/photos/gandalfsgallery/11944429196/

2. ฟังอย่างเป็นกลางไม่ตัดสิน

เปิดใจฟัง ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ฟังเขาพูดให้จบ ไม่พูดแทรก และพยายามทำความเข้าใจในจุดที่เขายืนอยู่ ถึงแม้ท้ายที่สุดเราอาจจะไม่ได้เข้าใจทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็แสดงออกว่าเราพยายามอย่างเต็มที่เพื่อทำความเข้าใจ อาจใช้การตั้งคำถามช่วย

เช่น เขาพูดว่า ‘เมื่อวานตั้งใจกลับบ้านช้า ช้าไปนิดเดียวเอง แต่ลืมบอกแม่ไว้ก่อน กลับถึงบ้านเจอแม่ด่ายับเลย โคตรเซ็ง คนอายุใกล้ๆ กันไม่เห็นมีใครต้องคอยบอกแม่แบบนี้ อายุตั้งเท่าไรแล้วยังต้องคอยรายงานอีก น่าเบื่อ’

เราอย่าไปตัดสินว่า ‘ก็กลับบ้านดึกเอง รู้อยู่แล้วว่าจะโดนด่า ยังกลับช้าอีก’ หรือ ‘โตป่านนี้แล้ว แม่ยังไม่ปล่อยอีก’ ที่สำคัญต้องไม่บอกว่าเรื่องนี้ใครถูกใครผิด เพราะเราไม่ได้รู้ทุกอย่างของปัญหา ซึ่งในกรณีนี้คือบ้านของเขา

ข้อควรระวัง เราในฐานะคนฟัง ก็คือมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ย่อมมีเรื่องที่รับไม่ได้ ทำใจเป็นกลางไม่ได้ เช่น ถ้าเพื่อนมาปรึกษาว่า ‘ท้อง ตอนนี้เครียดมาก ต้องการเอาออก’ ถ้ารับไม่ได้กับเรื่องนี้ ให้หาวิธีบอกว่าเราไม่สะดวก อย่าตัดสินว่า ‘กล้าทำได้ยังไง ชีวิตเด็กทั้งคนนะ’ เพราะเราไม่ได้รู้ทุกแง่มุมที่เกี่ยวกับตัวเขา ควรแนะนำคนที่ให้คำปรึกษาได้ดีกว่า

3. ทวน

ทวนสิ่งที่เขาพูดเป็นระยะ ทวนสั้นๆ ไม่ต้องถึงขั้นพูดซ้ำๆ ไม่ต้องทวนทุกสิ่งอย่าง แต่ทวนเพื่อให้เราไม่หลุดประเด็น และให้เขารู้ว่าเราตั้งใจฟังอยู่ อย่างกรณีตัวอย่างที่กลับบ้านช้าแล้วโดนแม่ดุ ให้เราพูดทวนว่า ‘โดนแม่ด่าหูชาเลย’

ข้อควรระวัง อย่าทวนเหมือนเราเป็นหุ่นยนต์ พยายามใช้คำที่มีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงกับสิ่งที่เขาพูด ไม่ต้องทวนทุกประโยค จับจังหวะ และเว้นจังหวะให้ดี เน้นความเป็นธรรมชาติในแบบของเราเอง ทวนเป็นระยะให้ไหลลื่นไปตามบรรยากาศของการพูดคุย ถ้าทวนทุกประโยค อาจทำให้คนฟังรู้สึกไม่สบายใจได้

Photo: The Discourse, Sir Lawrence Alma-Tadema via https://www.wikiart.org/en/sir-lawrence-alma-tadema/the-discourse

4. สะท้อน

นอกจากฟังสิ่งที่เขาพูด ให้ฟังน้ำเสียง ดูสีหน้า ท่าทาง จับอารมณ์ที่เขาแสดงออกมาระหว่างพูดคุย คอยสะท้อนสิ่งต่างๆ ที่เรารับรู้ได้ อย่างกรณีแม่ด่าเพราะกลับบ้านช้า เราสะท้อนได้ว่า ‘เซ็งน่าดูเลย’ หรือ ‘คงอึดอัดน่าดู’ หรือ ‘ฟังดูน่าหงุดหงิดนะ’ 

บางความคิดความรู้สึกที่เขาไม่ได้ถูกพูดออกมา แต่ถ้าเราตั้งใจฟังจะจับได้ไม่ยาก อย่างประโยคที่เขาพูดว่า ‘เมื่อวานตั้งใจกลับบ้านช้า ช้าไปนิดเดียวเอง แต่ลืมบอกแม่ไว้ก่อน กลับถึงบ้านเจอแม่ด่ายับเลย โคตรเซ็ง คนอายุใกล้ๆ กันไม่เห็นมีใครต้องคอยบอกแม่แบบนี้ อายุตั้งเท่าไรแล้วยังต้องคอยรายงานอีก น่าเบื่อ’ หากสังเกตร่วมกับน้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง ภาษากาย เราจะรับรู้ได้ถึงความเบื่อหน่าย ความรู้สึกอึดอัดเพราะไม่มีอิสรภาพ หรือแม้กระทั่งรู้สึกว่าแม่ไม่ไว้ใจ

ข้อควรรระวัง ทักษะนี้ต้องค่อนข้างอ่อนไหวต่อความรู้สึก ถ้าจับความรู้สึกไม่ได้ หรือไม่แน่ใจให้ฟังต่อไป ห้ามเดา หรือคิดเอาเอง 

5. สรุป

สรุปสิ่งที่เขาพูดยาวๆ ให้สั้น การสรุปจะทำหน้าที่คล้ายๆ การทวน คือ ทำให้รู้ว่าเราตั้งใจฟัง และตรวจสอบความเข้าใจตัวเองว่าเราเข้าใจตรงกับสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อหรือเปล่า

แต่ในฐานะคนธรรมดาที่มีเงื่อนไขมาครอบ เช่น ระยะเวลา ความเหนื่อยจากงาน ความสนิทสนม หากอยากจะเสนอทางออกให้ใคร ต้องระมัดระวังการใช้ภาษา เพราะอาจทำให้คนฟังรู้สึกว่ากำลังถูกยัดเยียดหรือเราไม่เข้าใจเขา

เช่นคำพูดที่ใช้สรุป ควรเป็นประโยคที่แสดงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจทำนองว่า ‘เออ พอฟังแล้ว เรานึกออกอยู่วิธีนะ ลองคุยกับแม่ดูไหม หรือลองคุยกับพ่อให้ช่วยพูดกับแม่ให้หน่อย คิดว่าวิธีนี้เป็นไงบ้าง’ ไม่ใช่ ‘ก็ไปคุยกับแม่ดิ ไม่คุยกันแล้วเมื่อไหร่เรื่องจะจบ ครั้งต่อไปถ้ากลับบ้านช้าก็จะโดนด่าอีก’ 

Photo: Talking It Over, Enoch Wood Perry Jr. via http://www.metmuseum.org/art/collection/search/11758

การฟังอย่างตั้งใจตามขั้นตอนเหล่านี้ จะช่วยให้เราได้ยินสิ่งที่เขาไม่ได้พูด เพราะการฟังคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจกัน แต่ต้องไม่ควรลืมด้วยว่า การไม่ตัดสินจะทำให้เราได้ยินอะไรมากขึ้นแน่นอน

เผยแพร่ครั้งแรก: เพจ He, art, psychotherapy ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2563