life

โจ๋น้อยใจมือถือพังไม่ได้เครื่องใหม่โดดบึงดับเด็กสาว 15 ผูกคอตาย น้อยใจไม่ได้มือถือใหม่ ฯลฯ 

พาดหัวข่าวทั้ง 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน และยิ่งวันจะยิ่งเกิดกรณีคล้ายๆ กันนี้มากขึ้นเรื่อยๆ 

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตหลังทำการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 183,974 คน ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ตั้งแต่วันที่ 1 ..2563 – 30 .. 2564 พบว่าวัยรุ่นมีความเครียดสูง 28% เสี่ยงซึมเศร้า 32% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 22% 

สาเหตุของการที่เด็กวัยรุ่นมีความเครียดสูงขึ้น เข้าสังคมลดลง ติดจอและเกมออนไลน์มากขึ้น จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายในบางราย ส่วนหนึ่งเกิดจากสถานการณ์ของโรคระบาดที่ทำให้เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนหนังสือออนไลน์อยู่กับบ้าน จนชีวิตต้องผูกติดอยู่กับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ทนานขึ้นต่อวัน ทำให้เด็กบางคนเกิดภาวะ โรคกลัวการขาดมือถือ หรือโนโมโฟเบีย (Nomophobia) ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม 

nomophobia

และที่จริงแล้วโรคกลัวการขาดมือถือไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเด็กหรือวัยรุ่นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคนในวัยใดก็ตาม หากเสพติดหน้าจอมากเกินไปก็สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะติดมือถือจนถึงขั้นป่วยเป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งได้เช่นกัน 

ว่าแต่ ติดแค่ไหนถึงจะเข้าข่าย โนโมโฟเบีย ถ้าหยิบมือถือมาเช็คข้อความทันทีที่ลืมตาตื่นนอน หรือหลับไปทั้งๆ ที่ยังดูซีรีส์ค้างอยู่ จะถือว่าเสพติดมือถือรึเปล่า 

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายว่า นิยามทางการแพทย์ของโนโมโฟเบียนั้นไม่ใช่โรค แต่เป็นกลุ่มอาการ โดยเกิดจากการสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนในสังคม เมื่อสมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ทำให้เกิดคำเรียกเฉพาะคำนี้ขึ้น 

Nomo ย่อมาจากคำว่า No Mobile Phone หรือการไม่มีมือถือ ส่วน Phobia เป็นอาการวิตกกังวลอย่างมากต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งชนิดเกินกว่าเหตุ จึงเรียกรวมกันให้สั้นลงว่า Nomophobia  

การที่คนส่วนใหญ่เช็คข้อความทางมือถือตลอดเวลาถือเป็นพฤติกรรมปกติที่ไม่เข้าข่ายอาการโฟเบีย แต่จะดีกว่านั้น หากสามารถลดจำนวนชั่วโมงในการจ้องหน้าจอต่อวันลงได้ เพราะหากไม่ควบคุมวินัยในการใช้งานสมาร์ทโฟน อาจนำไปสู่การหมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวบนหน้าจอมากเกินไป จนไม่สามารถทำงานหรือภารกิจตรงหน้าให้เสร็จสิ้นได้ หากไม่ได้ไถหน้าจอไปเรื่อยๆ เสียก่อน 

หนักเข้าอาจจะถึงขั้นเกิดอาการหวาดกลัวเมื่อต้องใช้ชีวิตโดยไม่มีหรือไม่ได้ใช้มือถือ เช่น ลืมพกมือถือติดตัว แบตหมด อยู่ในที่อับสัญญาณ ฯลฯ อาการที่สังเกตได้คือ มักรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวายใจ เครียด เหงื่อออก ตัวสั่น ไปจนถึงคลื่นไส้ 

NOMOPHOBIA

เราจึงอยากชวนสังเกตอาการตัวเองและคนใกล้ชิดว่าเสพติดมือถือจนเข้าข่าย ‘โฟเบีย’ หรือยัง และควรป้องกันไม่ให้เกิดอาการดังกล่าว ด้วยการจำกัดเวลาในการใช้มือถือ เช่น ลดเวลาเล่นเกม ลดความถี่ในการใช้งานโซเชียลมีเดีย ปิดการแจ้งเตือนแอปพลิเคชั่นที่ไม่จำเป็น พูดคุยกับคนรอบข้างให้มากขึ้น ทำกิจกรรมอื่นเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของตนเอง 

และกระบวนการสำคัญที่สุด คือ การปรับความคิด จัดลำดับความสำคัญในชีวิตให้เป็น ทุกเรื่องบนหน้าจอไม่ได้สำคัญไปเสียทั้งหมด หากไม่ได้อ่านบางข่าว หรือรู้เรื่องราวช้ากว่าใคร ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตต่างไปจากเดินสักเท่าไร 

เพราะหากเกิดเรื่องด่วนหรือคอขาดบาดตายจริงๆ ยังมีอีกหนึ่งฟังก์ชันของสมาร์ทโฟนที่คนในยุคนี้แทบจะหลงลืมไปแล้ว นั่นคือ การยกหูโทรหากันโดยตรง  ที่สามารถทำได้ทันที

อ้างอิง 

  • ไทยรัฐฉบับพิมพ์.วัยรุ่นเครียดสูงซึมเศร้าฆ่าตัวตาย พิษโควิดกระทบการเรียนครอบครัว.https://bit.ly/31N7H6m 
  • RamaChannel. โนโมโฟเบีย” โรคกลัวการขาดมือถือ.https://bit.ly/3ocuiAN