life

ความสัมพันธ์มีวิวัฒนาการ มันทั้งสามารถเปลี่ยนแปลงและเติบโต ทว่าบางคราวก็เสื่อมถอยผุพังได้พอๆ กัน และบ่อยครั้งที่ไม่ว่าจะกับคนรัก ครอบครัว หน้าที่การงาน หรือกระทั่งความสัมพันธ์กับสังคมและประเทศชาติที่เราอาศัยอยู่ เราอาจไม่รู้ตัว ว่าตนกำลังติดหล่มอยู่ใน ‘ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ’ (toxic relationship)

 

อะไรคือความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ?

ดร. โทมัส แอล คอรี่ (Thomas L. Cory) นักจิตวิทยาคลินิก เขียนอธิบายถึง toxic relationship ไว้ในนิตยสาร Health Scope ว่า “ขณะที่ความสัมพันธ์ที่ดีมักมอบการเคารพในตัวเองและพลังงานทางอารมณ์ให้แก่เรา ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษจะทำลายความนับถือในตัวเอง และทำให้เรารู้สึกอ่อนล้าหมดแรง ความสัมพันธ์ที่สุขภาพดี คือการใส่ใจ เคารพ และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน…  ความสัมพันธ์ที่ดีคือความสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ซึ่งเราจะเป็นตัวเองได้โดยปราศจากความกลัว มันคือสถานที่ที่คุณรู้สึกสบายใจและวางใจ ในทางตรงกันข้ามความสัมพันธ์ที่เป็นพิษก่อเกิดจากความรู้สึกไม่มั่นคง การเอาแต่ใจตัวเอง การครอบงำ และการควบคุม”

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษนั้นไม่ใช่สิ่งที่เมื่อสังเกตเห็น เราจะหันหลังเดินจากไปได้ง่ายๆ เพราะเมื่อความสัมพันธ์เหล่านั้นยิ่งขึ้นๆ ลงๆ เหมือนรถไฟเหาะเท่าไหร่ สมองของเราก็ยิ่งจะตกหลุมพรางได้โดยง่ายเท่านั้น เพราะผลวิจัยมากมายต่างยืนยัน ว่าสมองของมนุษย์มักพาเราวิ่งเข้าหา ‘รางวัลที่ไม่สามารถคาดเดาได้’ มากกว่าสิ่งที่แน่นอนตายตัวเสมอ

ในการทดลองของจิตแพทย์ชื่อ เกรกอรี เบิร์นส์ (Gregory Berns) ซึ่งได้นำผู้เข้าร่วมทดลองเข้าเครื่องสแกน fMRI เพื่อวิเคราะห์การหลั่งสารโดพามีนในสมอง ซึ่งสัมพันธ์กับ ‘รางวัลที่คาดเดาได้’ และ ‘รางวัลที่คาดเดาไม่ได้’ เขาพบว่า แม้โดพามีนจะหลั่งในช่วงที่พวกเขารับรางวัลที่ไม่อาจคาดเดาได้ก็จริง ทว่าผู้เข้าร่วมทดลองกลับไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด ว่าเมื่อไหร่กันแน่ที่มันเกิดขึ้น นี่เองที่เป็นเหตุผล ว่าทำไมเพื่อนของเราบางคน แม้จะตัดสินใจหันหลังให้คนรักในความสัมพันธ์ที่ดูจะเป็นพิษมาแล้ว แต่ไม่ทันไรก็ดันกลับไปสู่วังวนเหล่านั้นอีกครั้งแล้วครั้งเล่า

มองแบบคนนอกความสัมพันธ์ เราก็รู้ว่าการได้รับรางวัลที่ไม่แน่ไม่นอน ซึ่งทำให้สารโดพามีนหลั่งใหลเพียงชั่วครั้งชั่วคราวนั้นไม่ยุติธรรมนักกับสภาวะทางอารมณ์ และสุขภาพใจในระยะยาว

นอกไปจากนั้น ก็มีหลายครั้งเช่นกันที่เราไม่ได้ตระหนักว่า อาจเป็นเราเองนั่นแหละที่เป็นคนเทยาพิษลงในความสัมพันธ์ของตัวเอง เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นความสัมพันธ์ มันจึงเป็นเรื่องที่มีฝ่ายส่งและฝ่ายรับอยู่เสมอ ดร. โทมัส แอล คอรี่ บอกว่า “จงตระหนักไว้ให้ดีว่าความสัมพันธ์ที่เป็นพิษจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคนสองคนอยู่ในความสัมพันธ์นี้ ดังนั้นการกระทำของเราจึงสำคัญไม่แพ้กัน”

ซึ่งเช็กลิสต์ที่เป็นข้อความกว้างๆ ที่ becommon รวบรวมมาจากการสังเคราะห์ผ่านบทความเชิงจิตวิทยาหลายๆ บทความนี้ จึงอาจช่วยตรวจสอบได้ในขั้นต้น ว่าเรากำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่แข็งหรือไม่ ไม่ว่าจะกับคนรัก ครอบครัว เพื่อนฝูง สังคม หรือแม้แต่เราเป็นคนรักที่คู่ควร และไม่ได้เป็นฝ่ายแพร่พิษร้ายใส่ความสัมพันธ์ของตัวเองอย่างไม่รู้ตัวอยู่หรือเปล่า

 

อ้างอิง