life

การแก้ปัญหาหรือคิดจากประสบการณ์เดิมๆ นั้นเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าจะทำงานให้เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์อันมีชีวิตชีวานั้นกลับเป็นเรื่องยาก

ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เรื่องของ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ยังคงเป็นปริศนา ที่ยังคงหาคำตอบไม่ได้ว่าจะออกมาเมื่อไหร่ สิ่งนี้ไม่สามารถหามาได้ด้วยความพยายามอย่างหนัก แต่กลับเล่นตลกโดยคิดจะโผล่ก็โผล่มาเสียดื้อๆ อย่างนั้น

แต่ถ้าวันไหนที่จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่กลับหมดมุก คิดอะไรไม่ออก เราจะทำอย่างไร หากไม่สามารถเอานิ้วแตะลิ้น จิ้มลงบนหัว แล้วนั่งใช้หมองก็คิดออกได้เหมือนอิ๊กคิวซัง เราเลยขอชวนมาลองทำตามวิธีง่ายๆ ที่ช่วยเรียกให้ไอเดียดีๆ ออกมาเยือน  

 

1.

อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สร้างสรรค์ 

ไมฮาลี เช็คเซ็นมีฮาล (Mihaly Csikszentmihalyi) นักจิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology) ชี้ให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมมีบทบาทไม่น้อยเลยสำหรับการเกิดความคิดสร้างสรรค์ ให้พาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้ เช่น ฟังเพลงจังหวะสนุกๆ เปิดไฟให้แสงสว่างเพียงพอ จัดโต๊ะ จัดห้องให้น่าอยู่ อาจมีสิ่งของกระจุกกระจิกตกแต่ง ซึ่งงานวิจัยระบุว่าความรกในระดับที่พอดีจะช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้มากกว่าโต๊ะทำงานที่เป็นระเบียบ และราบเรียบ

แม้กระทั่งสีของผนังห้องก็มีผลต่อการคิดของเรา โดยสีน้ำเงินและสีเขียวซึ่งเป็นสีของผืนหญ้าและมหาสมุทรจะช่วยกระตุ้นไอเดียดีๆ ในตัวมนุษย์มากกว่าสีอื่นๆ ทำให้คนเรารู้สึกปลอดภัย ใจเย็น และคิดอะไรออกได้ง่ายกว่า 

 

2.

ฝันกลางวัน 

ปล่อยให้ตัวเอง ฝันกลางวัน (Daydream) หรือ เหม่อลอยบ้างก็ได้ เพราะนั่นอาจทำให้ไอเดียดีๆ หลั่งไหลออกมาอย่างไม่ทันรู้ตัว โดยปกติแล้วเมื่อไหร่ที่คนเราเริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย จิตใจก็จะเริ่มล่องลอยและเผลอนึกไปถึงสิ่งอื่นๆ ที่น่าสนใจกว่าสิ่งตรงหน้า ดังนั้นถ้ากำลังเบื่อหน่ายกับการคิดไม่ออก ทางออกก็คือหยุดคิด แล้วไปทำอย่างอื่น

ระหว่างนั้นจิตใต้สำนึกของเรากำลังทำงานอย่างเงียบๆ คอยเก็บสะสมความคิดใหม่ๆ ที่อาจช่วยให้เราแก้ไขปัญหาที่แก้ไม่ตกก่อนหน้านี้ได้ ลองออกไปเดินเล่น รดน้ำต้นไม้ อาบน้ำ หรือทำอะไรเพลินๆ ปล่อยใจให้ล่องลอย ฝันกลางวันถึงเรื่องนั้น เรื่องนี้ อาจทำให้คิดอะไรดีๆ ออกก็ได้ 

 

3.

ตั้งแง่กับความคิดเดิมๆ  

เมื่อต้องการแก้ไขปัญหาสักอย่าง คนเรามักคิดถึงวิธีดั้งเดิม โดยอ้างอิงจากประสบการณ์เก่าๆ เป็นอันดับแรก นั่นเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดซึ่งอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ได้เร็ว แต่อาจจืดชืดและน่าเบื่อ หากนั่นเป็นงานที่ต้องการความสร้างสรรค์ ลองตั้งแง่กับความคิดเก่าๆ พยายามต่อต้าน กบฎต่อสิ่งเดิมๆ นั่นอาจช่วยกระตุ้นให้เราเฟ้นหาเส้นทางเพื่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนก็ได้ 

 

4.

สร้างระยะห่างทางจิตวิทยา

การสร้างระยะห่างทางจิตวิทยา (Psychological distance) ในบริบทของการเฟ้นหาความคิดสร้างสรรค์คือการจินตนาการเพื่อแยกตัวเราออกจากปัญหาตรงหน้า หากคิดเรื่องไหนไม่ตกให้พยายามพาตัวเองออกมาจากปัญหาเหล่านี้ เช่น ลองนึกภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า ลองนึกภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าปัญหาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเรา แต่ส่งผลกับคนอื่น หรือ ลองจินตาการว่าหากปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร การพาตัวเราออdห่างจากสิ่งที่คิดไม่ตกอาจทำให้ได้มุมมองใหม่ๆ และความคิดสร้างสรรค์ได้ 

 

 5.

คิดตอนที่อารมณ์ดี 

ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวเนื่องกับอารมณ์อย่างเลี่ยงไม่ได้ งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าอารมณ์เชิงบวกจะช่วยให้เราคิดอะไรดีๆ ออกเสมอ หากกำลังเหน็ดเหนื่อยและโกรธกับการเค้นไอเดียที่ทำเท่าไหร่ก็ไม่ออกมาสักที ลองหากิจกรรมสนุกๆ แก้เครียดที่ทำให้อารมณ์ดีขึ้น พอสดชื่นและกระปรี้กระเปร่าแล้วค่อยมาคิดกันใหม่อีกครั้งก็ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า มีแค่อารมณ์ด้านบวกเท่านั้นที่เป็นต้นตอของความคิดสร้างสรรค์ บางครั้งอารมณ์ด้านลบ เบื่อ เหงา เศร้า ก็อาจทำให้เกิดไอเดียดีๆ สำหรับงานบางประเภทเช่นกัน  

 

อ้างอิง