life

ใน 1 วัน สตอรี่กว่า 500 ล้านเรื่องถูกอัพโหลดลงบน Instagram

ข้อความข้างต้นดูสมเหตุสมผลดี เมื่อประกอบกับผลการศึกษาที่ระบุว่า ‘เดี๋ยวนี้คนวัยหนุ่มสาวใช้โซเชียลมีเดียถึงวันละ 20 ชั่วโมง’

หากเราทำนายสถิตินี้ได้เมื่อหลายปีที่แล้ว ในวันที่เรายังสนุกสนานกับโลกอะนาล็อกที่จับต้องได้ นั่นคงเป็นตัวเลขที่ชวนให้ตกใจไม่น้อย

เส้นแบ่งระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนเริ่มเลือนลางลง โลกกลมๆ เชื่อมต่อด้วยอินเตอร์เน็ตจนกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน ทุกอย่างถูกย้ายเข้าไปอยู่ในนั้น ทั้งบทสนทนา ข่าวสาร ผู้คน และวิถีชีวิตของเรา เราไม่ต้องวิ่งไปเล่นเกมที่บ้านเพื่อนในละแวกบ้านเหมือนในอดีต ปัจจุบันแค่นอนอยู่ในห้องเราก็เจอกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับปี 2020 ที่สตอรี่จำนวนมากมายขนาดนั้นจะถูกอัพโหลดลงบนอินสตาแกรม เพราะชีวิตเราแทบทุกกระเบียดนิ้วที่เคยแสดงอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง กำลังถูกย้ายเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ด้วยนั่นเอง 

ในยุคที่โซเชียลมีเดียไม่ใช่แค่กิจกรรม แต่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจริงๆ 

มนุษย์เราเปลี่ยนไปแบบไหนกันบ้าง ? 

โลกเสมือนที่ส่งผลจริงกับจิตใจ

โซเชียลมีเดียส่งผลกับสุขภาพจิตอย่างไม่ต้องสงสัย ผลการศึกษาต่างระบุว่า ‘คนที่ไม่ค่อยใช้โซเชียลมีเดีย และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตจริงจะมีสุขภาพจิตที่ดี’ แต่หากหมกมุ่นและจมจ่อมอยู่กับแอพลิเคชันต่างๆ มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน หรือในระยะเวลาที่มากจนเกินไป อาจเป็นไปได้ว่าโซเชียลมีเดียกำลังจะทำร้ายสุขภาพจิตของเราอย่างไม่ทันได้รู้ตัว  

มนุษย์ผู้หลงรักโซเชียลมีอยู่ 2 ประเภท คือ นักส่องตัวยง (The Passive Use of Social Media) ผู้ไม่ค่อยโพสต์อะไร แต่จะใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเสพเรื่องราวต่างๆ บนหน้าไทม์ไลน์ อีกประเภท คือ นักโพสต์มือฉมัง (The Active Use of Social Media) สายสร้างคอนเทนท์ ผู้มีเรื่องราวแชร์กับเพื่อนๆ บนโซเชียลเสมอ

การเป็น ‘นักส่องตัวยง’ ส่งผลกับสุขภาพจิตอย่างไร ? การเฝ้ามองชีวิตของผู้คนผ่านจอมือถืออย่างเงียบๆ อยู่ทุกวัน อาจทำให้เราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นโดยอัตโนมัติ อาจเผลอคิดไปว่าตัวเองด้อยค่าและนับถือตนเองน้อยลง อาจนำมาสู่การเพ้อฝันถึงชีวิตที่สวยหรู เกินจริง และพยายามแสดงออกในแบบที่สังคมยอมรับ 

สำหรับเหล่ายูสเซอร์ที่เป็น ‘นักโพสต์มือฉมัง’ นั้น มักจะประสบกับภาวะ ‘Fishing for Likes’ ซึ่งทำให้เราพยายามเค้นเอาช่วงเวลาแสนสนุกของชีวิตมาเผยแพร่ตลอดเวลา เพื่อแลกมาซึ่งยอดไลก์ และนั่นทำให้เราโหยหาการยอมรับจากสังคม 

งานวิจัยบางชิ้นระบุว่า เมื่อเราพยายามอย่างหนักหน่วงเพื่อแสดงว่าชีวิตเรามีควาสุขแค่ไหน นั่นจะบั่นทอนสุขภาพจิตลงไปเรื่อยๆ และสามารถนำไปสู่ความเกลียดชังตนเองได้ในที่สุด 

ถ้าช่วงนี้รู้สึกว่าการใช้โซเชียลมีเดียเริ่มกลายเป็นเหมือนของหวานที่หยุดลิ้มลองไม่ได้ การแจ้งเตือนกลายมาเป็นความตื่นเต้นเดียวในชีวิต ลองสำรวจดูว่าจิตใจของกำลังส่งเสียงแปลกๆ อยู่ไหม ลองมาทำ digital detox ล้างพิษที่เกิดจากโซเชียลมีเดีย ห่างจากสังคมออนไลน์สักพัก เพื่อชุบชูให้จิตใจของเรากลับมาฟูฟ่องอีกครั้ง   

Digital Detox 

วันแรกที่ยกเลิกแพ็กเกจมือถือ เราแทบจินตนาการไม่ออกว่าจะใช้ชีวิตนอกบ้านโดยปราศจากอินเตอร์เน็ตอย่างไร ทั้งการเดินทางที่ต้องวางแผนล่วงหน้า การนัดหมายกับเพื่อนที่ต้องระบุสถานที่และเวลาแน่นอน เพราะไม่สามารถอัพเดทแบบเรียลไทม์ได้ ในช่วงแรกๆ อะไรก็ดูจะวุ่นวายไปหมด แต่ไม่น่าเชื่อว่าผ่านมาครึ่งปีแล้วที่ใช้ชีวิตนอกบ้านแบบไร้อินเตอร์เน็ต นั่นทำให้เห็นว่าเรากลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้ เพียงแค่อาศัยเวลาปรับตัว

เช่นเดียวกับการทำดิจิตอลดีท็อกซ์ในวันแรกๆ ที่คิดว่าจะเลิกใช้โซเชียลมีเดีย เราอาจนึกไม่ออกว่าจะทำแบบนั้นได้อย่างไร แต่เชื่อว่าไม่นาน หากลองได้ล้างพิษจากการโหยหาโซเชียลหมดไปแล้ว จะค้นพบว่าการกลับไปใช้ชีวิตแบบอะนาล็อกให้มากขึ้นนั้น ไม่ได้ยากเย็นสักเท่าไหร่เลย 

มีหลากหลายวิธีสำหรับการทำดิจิตอลดีท็อกซ์ อาจลองเริ่มจากวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้เราเล่นสมาร์ทโฟนให้น้อยลง นั่นก็เป็นสัญญาณที่ดีที่จะช่วยฟื้นฟูจิตใจได้แล้ว 

  • ปิดแจ้งเตือน 

ปิดแจ้งเตือนจากแอพลิเคชันที่ไ่ม่จำเป็น เพราะการแจ้งเตือนที่ขึ้นมาทักทายบนหน้าจอจะเป็นการล่อลวงให้เรากดเข้าไปเล่นโซเชียลมีเดียโดยที่ไม่จำเป็น ลองใช้วิธีสะสมแจ้งเตือนทั้งหมดเอาไว้แล้วค่อยเช็คพร้อมๆ กันในครั้งเดียว 

  • จำกัดเวลา

จำกัดเวลาสำหรับการใช้โซเชียลให้กับตัวเอง เช่น จะไม่จับมือถือหลังสามทุ่ม ก่อนนอน หรือระหว่างกินข้าว หากทำตามช่วงเวลาสั้นๆ ได้อย่างเคร่งครัดแล้ว ลองเพิ่มระยะเวลาเป็น 1 วัน หรือ 1 อาทิตย์ และเลือกวัน เวลาให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ตัวเอง 

  • จำกัดพื้นที่

สร้างพื้นที่ปลอดสมาร์ทโฟนในบ้าน เช่น บนโต๊ะอาหารหรือห้องนอน ในประเทศอังกฤษ สถานบันเทิงบางแห่งออกกฎ ‘ปลอดสมาร์ทโฟน แล็บท้อป และแท็บเล็ต’ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนพูดคุยกัน

  • หากิจกรรมอย่างอื่นทำ 

หากลองสังเกตตัวเองดีๆ เราจะพบว่าบางครั้งเราเล่นโซเชียลมีเดียอย่างไร้จุดหมายเพื่อเติมเต็มเวลาว่าง ลองหากิจกรรมอย่างอื่นมาแทนการจับสมาร์ทโฟน จะเป็นหนึ่งหนทางที่ช่วยให้เราห่างจากโซเชียลมีเดียได้ดียิ่งขึ้น แต่หากต้องการจะเข้าไปใช้โซเชียลมีเดีย เราต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า เป้าหมายของการใช้งานครั้งนี้คืออะไร เช่น เปิดเพื่อตอบคอมเมนท์ เพื่ออ่านข่าวเรื่องที่อยากรู้ หรือเพื่อพูดคุยกับเพื่อน นั่นจะทำให้เราใช้งานได้อย่างตรงจุด และไม่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อทำให้เวลาของแต่ละวันผ่านไปอย่างไร้ความหมาย 

  • งดใช้อย่างเต็มรูปแบบ

วิธีนี้อาจดูสุดโต่งไปสักนิด นั่นคือ การปิดแอคเคาท์ทั้งหมด แล้วเลิกใช้อย่างเต็มรูปแบบเป็นเวลาตั้งแต่ 7 วันไปจนถึง 1 ปีเลยทีเดียว วิธีนี้เริ่มจากการบอกกล่าวคนรอบข้างให้รับรู้ว่าเราจะเลิกใช้โซเชียลมีเดีย และบอกช่องทางการติดต่อในกรณีฉุกเฉิน จากนั้นปิดแอคเคาท์ทั้งหมด หากใครที่กลัวว่าไม่สามารถห้ามตัวเองไม่ให้เล่นได้ ลองใช้แอพลิเคชันที่ช่วยบล็อกโซเชียลมีเดียของเรา อย่าง Freedom และ Cold Turkey

เมื่อปิดแอคเคาท์ทั้งหมดแล้ว เราจะพบว่าเรามีเวลาล้นเหลือจากที่เคยเล่นโซเชียลมีเดีย เพื่อไม่ให้เป็นการว่างเกินไป จึงควรวางแผนไว้ด้วยว่าจะทำกิจกรรมอะไรระหว่างนั้น เช่น อ่านหนังสือ เรียนคอร์สออนไลน์ หรือฟังพอดแคสต์ที่สนใจ มีกิจกรรมมากมายที่ทำให้เราห่างจากโซเชียลมีเดีย และอาจมากจนแทบจะทำไม่หมดในหนึ่งวันเสียด้วยซ้ำ 

รับมือกับ FOMO หรือ Fear of Missing Out 

เมื่อข่าวสารบ้านเมืองและสังคมของพวกเราย้ายเข้าไปอยู่บนแพล็ตฟอร์มออนไลน์แทบทั้งหมด จึงเป็นไปได้ยากที่คนคนหนึ่งจะเลิกใช้โซเชียลมีเดียอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะยังคงต้องการติดตามเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางเหล่านี้ 

เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้คนเราตัดสินใจลด ละ เลิกโซเชียลมีเดียได้ยาก คือ FOMO หรือ Fear of Missing Out ซึ่งคือ ความกลัวและกระวนกระวายใจว่าตัวเองจะพลาดเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์นั่นเอง นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องไถหน้าฟีดอยู่ตลอดทั้งวัน เพื่อดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

หากทำอาชีพนักข่าว นักเขียน นักการตลาด หรือสื่อมวลชน การทำ digital detox อาจเป็นไปได้ยากสักหน่อย เพราะการรับรู้เรื่องราวของสังคมยังจำเป็นต่ออาชีพการงาน แต่หากไม่จำเป็นต้องติดตามความเคลื่อนไหวเหล่านี้มากนัก เรายังมีหนทางสำหรับการเลิกใช้โซเชียลโดยไม่ต้องกลัวว่าจะพลาดอะไรไปได้ เพราะหากพิจารณาดีๆ แล้ว หลายๆ เรื่องที่เลื่อนผ่านหน้าไทม์ไลน์ของเราแต่ละวันนั้นไม่ได้สำคัญกับเรามากนัก และหากเรื่องไหนเป็นประเด็นใหญ่จริงๆ แน่นอนว่าเราจะได้ยินมันจากคนใกล้ชิดอย่างเพื่อนๆ และครอบครัวอย่างแน่นอน 

วิธีปิดแอคเคาท์และงดเล่นอย่างถาวร อาจเหมาะกับคนที่จิตใจแข็งแกร่งและไม่ต้องใช้ประโยชน์จากการติดตามข่าวสารมากนัก เชื่อว่าหลายๆ คนยังมองเห็นว่าโซเชียลมีเดียยังจำเป็นกับชีวิต แน่นอนว่านั่นเป็นสังคมหนึ่งของพวกเรา 

ลองทำดิจิตอลดีท็อกซ์แบบง่ายๆ ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง แน่นอนว่าแค่ปิดแจ้งเตือนหรือจำกัดเวลาให้วางมือถือ แล้วอยู่กับตัวเองสักพัก นั่นก็ถือว่าเป็นการดีท็อกซ์เพื่อชุบชูใจให้กลับมาสดใสขึ้นอีกครั้งแล้ว 

 

อ้างอิง