life

The Writer’ Room

No.16 

ห้องเรียบๆ ในกระท่อมหลังเล็กของ เฮนรี เดวิด ธอโร  

นักสังเกตการณ์ผู้กลับมาจดบันทึกทุกครั้ง 

หลังจากวันที่ได้ทำความรู้จักกับป่าหลังบ้านมากกว่าที่เคย 

เฮนรี เดวิด ธอโร (Photo : https://bit.ly/3fAQtw4)

หากเอาบันทึกทั้งหมดจากปลายปากกาของ เฮนรี เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau) มารวมกัน มันจะมีความยาวกว่า ล้านคำ ใครหลายคนบอกว่าเขาเป็นนักเขียนผู้ทรงอิทธิพลของยุคสมัย แต่สำหรับธอโรแล้วเขาไม่เคยเอ่ยสักครั้งว่าตนเองเป็นใคร เขาไม่ใช่คนของศาสนาไหน ของรัฐใด เขาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเป็นปัจเจกชนผู้เป็นเจ้าของอิสรภาพอย่างแท้จริง 

‘…เหตุใดมนุษย์จึงไม่อาจอยู่ให้ห่างไกลกันที่สุด เพื่อว่าแต่ละคนจะได้เป็นคนเต็มคนโดยสมบูรณ์…’ ราล์ฟ วาลโด อีเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) เพื่อนสนิทของธอโรกล่าวถึงชีวิตอันสันโดษของธอโร ที่ในสมัยนั้นเป็นเรื่องยากจะเข้าใจ

เฮนรี เดวิ ธอโร เกิดในปี 1817 ที่ ที่เมืองคองคอร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เขาเป็นลูกชายคนที่สามในบรรดาพี่น้อง คน ของครอบครัวที่ทำกิจการโรงงานผลิตดินสอไม้ ธุรกิจของพวกเขาไม่ได้ทำเงินมากนัก ด้วยฐานะที่ยากจน ธอโรจึงเป็นคนเดียวในบ้านที่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย ในปี 1833 เขาเข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ด โดยมีป้าคอยส่งเสีย ที่นั่นเขาเลือกเรียนวิชาธรรมชาติวิทยา กายวิภาคศาสตร์ โลหวิทยา รวมไปถึงเรียนภาษาสเปน อิตาลี ฝรั่งเศสและเยอรมัน  

ครอบครัวธอโร (Photo : https://app.emaze.com/1266695/henry-david-thoreau#5)

ธอโรเป็นเด็กหนุ่มที่เคร่งขรึมและรักสันโดษ เขาจริงจังกับทุกเรื่องจนได้ฉายาว่า ‘ผู้พิพากษา’ อีกทั้งยังถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ ว่าเป็นมนุษย์เย็นชาและไม่น่าคบ แม้ธอโรจะแปลกแยกจากเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่เขากลับพบว่าตัวเองช่างกลมกลืนกับป่าและสัตว์น้อยใหญ่ เขาชอบเดิน และมักใช้เวลาแต่ละวันสำรวจป่าในละแวกบ้านไปเรื่อยๆ นอกจากจดจำด้วยโสตประสาทเขายังชอบวาดภาพพืชพรรณเก็บไว้ในสมุด และจดบันทึกทุกเรื่องตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

หลังเรียนจบ บัณฑิตคนอื่นๆ ต่างก็เร่งหางานทำ ธอโรเองก็คิดไม่ตกเช่นเดียวกัน ท้ายที่สุดความกบฎอันเป็นธรรมชาติของธอโรกำลังทำให้เขาเลือกชีวิตที่แตกต่างและกลายมาเป็นบุคคลที่โลกจดจำเฉกเช่นทุกวันนี้ 

แม้จะชอบเขียน แต่ธอโรไม่ได้เป็นนักเขียนอาชีพแต่อย่างใด เขาลองเปิดโรงเรียนเล็กๆ ในบ้าน จากนั้นก็ติดสอยห้อยตาม จอห์น ธอโร จูเนียร์ (John Thoreau Jr.) ผู้เป็นพี่ชายไปเป็นครูที่โรงเรียนมัธยมคองคอร์ด ชีวิตของเขาราบรื่นอยู่ได้ไม่นาน จอห์นก็เกิดอุบัติเหตุโดนมีดโกนบาดจนเชื้อบาดทะยักลุกลาม และเสียชีวิตลงในที่สุด เมื่อพี่ชายอันเป็นที่รักจากไป ความโศกเศร้าก็เริ่มกัดกินหัวใจของธอโร 

นิตยสาร The Dial (Photo : https://bit.ly/3vgMRG4)

เขาลาออกจากโรงเรียน แล้วหันมาเขียนกวีและความเรียงลงใน The Dial นิตยสารราย เดือนที่อีมอร์สันและกลุ่มเพื่อนร่วมปลุกปั้นขึ้นมา งานชิ้นแรกของเขาคือบทกวีชื่อ Symphaty และความเรียง เรื่อง Aulus Persius Flaccus เขาเขียนต่อมาอย่างต่อเนื่อง 16 ฉบับ จนมีผลงานรวมทั้งหมด 31 เรื่อง ระหว่างนี้ธอโรได้กลับมาช่วยกิจการดินสอไม้ของครอบครัว เขาคิดค้นคิดค้นไส้ดินสอแบบใหม่และเครื่องเจาะใส่ไส้ดินสอโดยไม่ให้ไม้แตกขึ้นมา นวัตกรรมชิ้นนี้เป็นที่กล่าวขานในหมู่นักเคมี จนได้รับประกาศนียบัตรการันตีว่าดินสอของเขามีคุณภาพดีไม่แพ้ดินสอจากลอนดอน  

เขาเป็นทายาทรุ่นสองไฟแรงที่ค่อยๆ พาธุรกิจของครอบครัวทะยานขึ้นเรื่อยๆ แต่ธอโรก็ได้สร้างความผิดหวังให้กับคนรอบข้างด้วยการวางมือจากกิจการกระทันหัน โดยเขาทิ้งท้ายไว้เพียงว่า “ทำไมจะต้องทำด้วย ฉันจะไม่ทำซ้ำในสิ่งซึ่งได้ทำมาแล้วครั้งหนึ่ง”  

เขาหันหลังให้กับสิ่งที่สังคมเรียกว่าประสบความสำเร็จ หันหลังให้กับชีวิตที่ใครบอกว่ารุ่งโรจน์ เพราะธอโรรู้ดีว่านี่ไม่ใช่ ‘การงาน’ ที่แท้จริงสำหรับเขา

 

“ข้าพเจ้าไปสู่ป่าก็ด้วยเหตุที่ข้าพเจ้าปรารถนาจะใช้ชีวิตอย่างลุ่มลึก 

เพื่อเผชิญกับสิ่งอันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สุดของชีวิตเท่านั้น” 

วอลเดน (1854)

 

ธอโรเฝ้าฝันถึงการใช้ชีวิตอย่างปลีกวิเวกมาตลอด เมื่อมีคนถามว่าเขาตั้งใจจะทำสิ่งใดที่นั่น เขาตอบกลับเพียงว่า “…การได้ไปอยู่ที่นั่นไม่นับว่าเป็นการทำงานอย่างเพียงพอแล้วหรือ เพียงแค่ได้เฝ้าดูฤดูกาลรุดหน้าแปรผันไป…” 

ปี 1845 ธอโรตัดสินใจหันหลังให้กับสังคมแล้วไปปลูกกระท่อมหลังเล็กริมบึงวอลเดน บนที่ดินของอีเมอร์สัน และใช้เวลาอยู่ที่นั่นเพื่อเฝ้าสังเกตและทำความเข้าใจธรรมชาติ ทั้งธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งและชีวิตของตัวเขาเอง   

บึงวอลเดน (Photo : https://psmag.com/environment/can-walden-pond-be-saved)

กระท่อมขนาดกะทัดรัดของเขาสร้างขึ้นในราคาเพียง 28 เหรียญ ภายในห้องมีข้าวของจำเป็นเพียงไม่กี่อย่างและเฟอร์นิเจอร์ไม่กี่ชิ้นที่เขาทำขึ้นเอง มีเตียงหลังเล็กสำหรับนอนคนเดียวตั้งติดผนังด้านขวา เตาผิงอยู่เยื้องเลยหัวเตียงไป มีกาน้ำร้อน เหยือกใส่น้ำ และถ้วยชามอีกจำนวนหนึ่ง  

กระท่อมของเขาไม่มีผ้าม่านเพราะธอโรชอบแสงธรรมชาติของพระอาทิตย์และพระจันทร์ที่ส่องลงบนพื้นห้อง เขาไม่ล็อกกลอนประตูแม้กระท่อมนี้จะตั้งอยู่ปลีกวิเวกริมบึงใหญ่ เพราะเขาเชื่อว่าป่าเป็นเสมือนเพื่อนบ้านที่ดี ที่จะคอยสอดส่องดูแลเขาอยู่เสมอ

โต๊ะทำงานของเขาตั้งอยู่อีกฟากของเตียง และมีเก้าอี้อีก ตัว ที่ธอโรบันทึกไว้ในหนังสือเรื่องวอลเดนว่า ‘ฉันมีเก้าอี้สามตัวในบ้าน หนึ่งตัวสำหรับความสันโดษ สองตัวสำหรับมิตรภาพ สามตัวสำหรับสมาคม’ 

แบบจำลองกระท่อมของธอโร (Photo : https://literaryamerica.net/authors/henry-david-thoreau/)

เขาไม่ได้มาอยู่ที่นี่เพราะชิงชังสังคมแต่อย่างใด เพียงแต่นี่เป็นหนึ่งในการทดลองเพื่อพิสูจน์ว่ามนุษย์สามารถใช้ชีวิตแบบมัธยัสถ์ได้อย่างสง่างาม โดยที่ความร่ำรวยของเขาหมายถึงการมีปัจจัย เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตในแต่ละวัน 

ธอโรแบ่งการงานเพื่อเลี้ยงชีพและการงานที่ตอบสนองจิตวิญญาณออกจากกันอย่างชัดเจน เขาทำงานได้แทบทุกอย่างเพื่อให้มีเงินเพียงพอสำหรับซื้อสิ่งของที่จำเป็น ธอโรเป็นทั้งคนทำดินสอ นักต่อเรือ นักทาบกิ่งต้นไม้ หรือสุดแล้วแต่ว่าใครจะจ้างให้เขาทำอะไร อย่างไรก็ตามธอโรไม่ได้เรียกสิ่งนั้นว่างาน เพราะงานที่ให้คำตอบกับจิตวิญญาณของเขาได้ คือ การสำรวจธรรมชาติและจดลงบนสมุดบันทึก 

เขาเริ่มเขียนหนังสือเรื่อง A Week on the Concord and Merrimack Rivers ในปีแรกที่มาปลีกตัวมาอาศัยในกระท่อม หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกเรื่องราวเมื่อครั้งที่เขาและพี่ชายได้ไปล่องเรือสำรวจแม่น้ำเมอร์ริแม็กด้วยกันในปี 1839 หลังจากนั้น เมื่อย่างเข้าสู่ปีที่สอง เขาก็เริ่มเขียนบันทึกชีวิตริมบึงวอลเดนจนเสร็จสมบูรณ์ในอีก ปีให้หลัง 

งานเขียนของธอโรไม่ได้รับความนิยมนัก หนังสือเล่มแรกขายได้เพียง 220 เล่ม ส่วนที่เหลือค้างสต็อกราวๆ 700 เล่มถูกสำนักพิมพ์ส่งกลับมากองไว้ที่หน้าประตูบ้านของเขา แม้แต่เรื่องวอลเดนที่ภายหลังกลายมาเป็นวรรณกรรมสุดคลาสสิกยังต้องใช้เวลาถึง ปี กว่าผู้อ่านจะให้ความสนใจ  

กระท่อมของธอโร (Photo : https://today.uconn.edu/2020/04/op-ed-walden-can-tell-us-social-distancing)

ปลายเดือนกรกฏาคม ในปี 1846 ธอโรถูกจับด้วยข้อหาหนีจ่ายภาษีมาเป็นเวลา ปี เขาติดคุกอยู่ คืน ก่อนที่ป้าของเขาจะมาตามจ่ายเงินย้อนหลังให้ทั้งหมดและประกันตัวเขาออกมา ตั้งแต่ที่เริ่มปลดแอกตัวเองออกจากพันธนาการของสังคม ธอโรก็ไม่ยอมจ่ายภาษีให้รัฐแม้แต่บาทเดียวเพราะเชื่อว่ารัฐบริหารเงินก้อนนั้นอย่างไร้ประโยชน์และไม่เป็นธรรม เหตุการณ์ครั้งนั้น รวมถึงความคับแค้นใจเรื่องการค้าทาสและทำสงคราม เป็นแรงฮึดที่ทำให้ธอโรเขียนความเรียงเรื่อง ‘ความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลกับรัฐ (On the Relation of the Individual to the State)’ ที่เชื่อว่าพลเมืองทุกชีวิตมีสิทธิที่จะต่อต้านรัฐบาลอันไม่ชอบธรรม ความเรียงนี้ถูกนำกลับมาตีพิมพ์อีกครั้งในปี 1866 โดยใช้ชื่อว่า Civil Disobedience  

แม้ว่าหนังสือและความเรียงของธอโรจะไม่ได้โดดเด่นในตอนแรก แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนอเมริกันผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่ง เพราะหลังจากนั้นมีผู้คนมากมายที่ได้แรงบันดาลใจจากธอโร เช่น มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) และ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) ที่ได้สานต่อแนวคิดเรื่องการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience) อันเป็นที่มาของปรากฏการณ์การเรียกร้องความยุติธรรมเพื่อเพื่อนมนุษย์ในภายหลัง 

งานเขียนของธอโรมีอิทธิพลต่อนักคิดรุ่นหลังอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นการชวนให้ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของรัฐ อีกทั้งวิถีของเขายังชวนให้ได้กลับไปไตร่ตรองถึงคุณค่าที่แท้จริงของการมีชีวิตและช่วยปลอบประโลมจิตวิญญาณที่เจ็บปวดจากการถูกกักขังอิสรภาพ นั่นอาจเป็นสิ่งที่ทำให้หนังสือของธอโรยังคงทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร 

ธอโรใช้บั้นปลายไปกับการท่องเที่ยว แสดงปาฐกถาและเขียนหนังสือ ธอโรจบชีวิตลงในวัย 40 ปี เขาป่วยเป็นวัณโรค และเลือกจะเยียวยาตัวเองด้วยธรรมชาติจนวินาทีสุดท้าย ตั้งแต่วันแรกที่เขาเริ่มเขียนจนวันที่หมดลมหายใจ บันทึกของเขามีความยาวถึง ล้านตัวอักษร 

 

หนังสือและความเรียง โดย เฮนรี เดวิด ธอโร 

A Week on the Concord and Merrimack Rivers (1849) 

บันทึกการเดินทางของเฮนรี เดวิด ธอโร และจอห์น จูเนียร์ ผู้เป็นพี่ชาย ที่เริ่มตั้งแต่คลองเล็กๆ ในเมืองคองคอร์ด รัฐแมทซาชูเซทส์ ล่องไปตามแม่น้ำเมอริแม็กจนกระทั่งไปโผล่ที่รัฐนิวแฮมเชียร์ นี่เป็นบันทึกการสำรวจที่เต็มไปด้วยความทรงจำของธอโรและพี่ชาย 

Walden (1854) 

บันทึกการทดลองใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในกระท่อมริมบึงวอลเดนเป็นเวลา ปี เดือน วัน นอกจากจะแจกแจงวิธีการใช้ชีวิตโดยเป็นอิสระจากสังคมและรัฐในแบบฉบับของธอโรแล้ว นี่ยังเป็นหนังสือที่รวบรวมการสังเกตการณ์ทางธรรมชาติทั้งป่ากว้างและสัตว์น้อยใหญ่เอาไว้อีกด้วย  

Civil Disobedience (1866 ) 

ธอโรเขียนบทความเรื่อง On the relation of the individual to the State ในปี 1848 และสิ่งนี้ได้รับการตีพิมพ์ในชื่อ Civil Disobedience ในอีก 18 ปีให้หลัง เป็นหลังสื่อที่ว่าด้วยเรื่องของความสัมพันธ์ของปัจเจกชนกับรัฐ ที่แสดงให้เห็นว่าปัจเจกชนมีสิทธิ์ที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอันไม่ชอบธรรมของรัฐบาล เราเรียกสิ่งนี้ว่า อารยะขัดขืน (Civil Disobedience) ธอโรเขียนเรื่องนี้เพราะไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาล เรื่องการค้าทาส และทำสงครามกับเม็กซิโกเพื่อขยายดินแดน

 

อ้างอิง 

  • Ralph Waldo Emerson. The Portable Emerson by Carl Bode. (1983)
  • Fen Montaigne. On Thoreau’s 200th Birthday, a New Biography Pictures Him as a Man of Principlehttps://nyti.ms/3u3UVIU 
  • Danny Heitman. Not Exactly a Hermit: Henry David Thoreau. https://bit.ly/3ypDsy9 
  • Rafia Zakaria. In Thoreau’s footsteps: my journey to Walden for the bicentennial of the original de-cluttererhttps://bit.ly/2STTCzp 
  • Suzanne Raga. 11 Facts About Henry David Thoreauhttps://bit.ly/3oIWUBH