life

‘เราควรดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว’

เป็นกฎของการดื่มน้ำที่เรามักจะได้ยินอยู่เสมอๆ แม้จะดูเข้าใจได้ง่าย แต่ประโยคข้างต้นกลับทิ้งคำถามไว้เบื้องหลังมากมายว่า ทำไมต้องวันละ 8 แก้ว? ต้องเป็นแก้วแบบไหน? และการดื่มน้ำในปริมาณที่ว่าจะดีต่อร่างกายอย่างไร?

หลังจากที่ ซาราห์ สมิธ (Sarah Smith) หญิงชาวอังกฤษ วัย 42 ปี ทดลองดื่มน้ำ 3 ลิตรเป็นเวลา 4 สัปดาห์ และถ่ายภาพใบหน้าของเธอเปรียบเทียบก่อนและหลังการทดลอง ผลปรากฏว่าหน้าของเธอดูอ่อนเยาว์ลงอย่างสังเกตเห็นได้ชัดเจน เทรนด์การดื่มน้ำวันละหลายๆ ลิตรจึงเริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง

(Photo : www.dailymail.co.uk)

ต่อเนื่องมายังปัจจุบัน ในทวิตเตอร์เองก็เริ่มมีการทำชาเลนจ์ดื่มน้ำวันละ 2-3 ลิตรเพื่อให้ผิวพรรณดูดีขึ้น บ้างก็บอกว่าผิวเรียบเนียนขึ้น บ้างก็บอกว่ายังช่วยลดน้ำหนัก บ้างก็บอกว่าช่วยให้ปลอดจากโรคมะเร็ง นั่นทำให้เกิดคำถามที่ว่า ‘เราควรดื่มน้ำเยอะๆ ในปริมาณอย่างที่ว่ามาจริงหรือ?’

ในปี 1945 US Food and Nutrition Board of the National Research Council แนะนำให้คนเราดื่มน้ำตามปริมาณแคลอรีที่ต้องการต่อวัน โดยจะทราบตัวเลขที่ชัดเจนได้จากน้ำหนักตัว โดยผู้หญิงจะต้องการน้ำประมาณ 2 ลิตร (ใช้พลังงานประมาณ 2,000 แคลอรี/วัน) ส่วนผู้ชายจะต้องการน้ำประมาณ 2.5 ลิตร (ใช้พลังงานประมาณ 2,500 แคลอรี/วัน) โดยน้ำที่เข้าสู่ร่างกายไม่ใช่น้ำเปล่าที่เป็นน้ำดื่มเท่านั้น แต่ยังหมายถึงน้ำจากอาหารที่เรากินเข้าไป เช่น ผักและผลไม้ ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามตัวเลขเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นมาเป็นเกณฑ์คร่าวๆ เท่านั้นเพราะความต้องการน้ำของคนเรานั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ การใช้พลังงานของแต่ละคน

ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการน้ำวันละ 8 แก้ว

“คนเราต้องการน้ำแบบเดียวกับที่เราต้องการพลังงาน โดยจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและระดับของการออกกำลังกาย” โรเซ็นเบิร์ก (Rosenburg) นักวิทยาศาสตร์จาก Neuroscience and Ageing Laboratory ที่มหาวิทยาลัยทัฟฟ์ ในรัฐแมสซาชูเซตส์กล่าว

น้ำเป็นส่วนประกอบ 2 ใน 3 ของร่างกาย ทำหน้าที่สำคัญคือพาสารอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกายและดูแลเรื่องการขับของเสีย ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย หล่อลื่น ลดแรงกระแทกในข้อต่อ และเป็นส่วนสำคัญของปฏิกิริยาเคมีต่างๆ เราสูญเสียน้ำอยู่ตลอดเวลาในรูปแบบเหงื่อ ปัสสาวะและการหายใจ จึงจำเป็นต้องดื่มน้ำเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ (dehydration) ที่จะทำให้ร่างกายแปรปรวนและเสียชีวิตในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ระบุว่า ‘คนเราไม่ต้องดื่มน้ำมากไปกว่าที่ร่างกายต้องการ และเมื่อร่างกายต้องการมันจะส่งสัญญาณขึ้นมาเอง’

สมองของมนุษย์ตรวจจับรู้ได้ว่าเราต้องการน้ำตอนไหน และจะแสดงออกมาในรูปแบบของความกระหาย ที่พาให้เราไปเสาะหาน้ำมาดื่มเพื่อให้เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตต่อ สำหรับผลลัพธ์ของการดื่มน้ำในปริมาณที่มากกว่าร่างกายต้องการนั้นยังไม่มีหลักฐานใดๆ มารองรับแม้กระทั่งเรื่องผิวพรรณ

ดื่มน้ำแล้วผิวสวยจริงหรือ

รอนนี่ โวล์ฟ (Ronni Wolf) แพทย์ผิวหนังจากศูนย์การแพทย์ Kaplan ในอิสราเอลเล่าว่า มีรายงานเพียงชิ้นเดียวเท่านั้นที่ศึกษาผลของการดื่มน้ำต่อผิวหนัง ในระยะยาว และผลสรุปก็ออกมาว่า ไม่ว่าจะดื่มน้ำประเภทไหน ในปริมาณเท่าใด ก็ไม่ได้ส่งผลต่อริ้วรอยหรือความเรียบเนียนของผิวเลย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าน้ำจะไม่มีผลกับผิวพรรณเลยแม้แต่น้อย สิ่งที่แน่นอนคือการดื่มน้ำแบบพอเหมาะพอดีจะไม่ทำให้ร่างกายขาดน้ำ และจะทำให้ร่างกายของเราสมดุลไปทุกส่วน รวมไปถึงผิวพรรณของเราด้วย ใต้ผิวหนังของเราประกอบด้วยน้ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อร่างกายขาดน้ำจะทำให้ผิวหนังแห้งเหี่ยว ไม่อวบอิ่ม สังเกตได้จากการลองบีบดูแล้วจะคืนรูปช้ากว่าปกติ

น้ำจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ผิวชุ่มชื้นขึ้นเท่านั้น ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อเรื่องริ้วรอยและความเรียบเนียนยังมีอีกมากมาย เช่น แสงแดดหรือฝุ่นควัน

ดื่มน้ำมากช่วยลดน้ำหนักจริงหรือ

บาร์บาร่า โรลส์ (Barbara Rolls) ศาสตราจารย์ด้านเวชบำบัดวิกฤตที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนกล่าวว่า “การลดน้ำหนักอาจสัมพันธ์กับการดื่มน้ำ เนื่องจากถูกใช้แทนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลก็เป็นได้”

เธอเสริมอีกว่า “การกินน้ำก่อนมื้ออาหารเพื่อจะลดน้ำหนักนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับสักเท่าไหร่นัก เพราะไม่นานนักกระเพาะก็จะระบายน้ำเปล่าออกไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้ากินอาหารที่มีน้ำเยอะๆ เช่นซุป จะทำให้อยู่ท้องมากกว่า”

 

ดื่มน้ำมากไป

การดื่มน้ำช่วยให้ร่างกายจากปลอดภัยจากภาวะขาดน้ำ นั่นจะช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้นและทำให้ร่างกายพร้อมแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างราบรื่น แต่หากฝืนดื่มน้ำมากเกินกว่าที่ปริมาณร่างกายต้องการ ผลที่ตามมาคืออาจทำให้โซเดียมในเลือดเจือจางลงได้ จึงอาจทำให้เกิดภาวะปอดบวมเนื่องจากร่างกายพยายามจะปรับระดับโซเดียมในเลือดให้สมดุล

ไม่ว่าจะทั้งเรื่องผิวพรรณหรือการลดน้ำหนัก การดื่มน้ำมากๆ อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะยังไม่มีงานศึกษาใดชี้ชัด และการดื่มน้ำมากๆ อาจส่งผลเสียกับร่างกายมากกว่าที่คิด

 

อ้างอิง