life

เชื่อว่าหลายคนที่เคยมีประสบการณ์นั่งรถไฟเที่ยวกลางคืนจากกรุงเทพฯ ปลายทางเชียงใหม่ จะต้องรู้สึกตื่นเต้นในยามเช้าตรู่ เมื่อได้ยินเสียงประกาศว่า “สถานีหน้า สถานีขุนตาน”

สิ้นเสียงประกาศไม่เท่าไร ทุกอย่างรอบตัวก็ดับมืดลง เมื่อขบวนรถไฟกำลังลอดเข้าสู่อุโมงค์ขุนตาน อุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ด้วยความยาว 1,352 เมตร ที่นานพอจะทำให้ผู้โดยสารยิ่งรู้สึกตื่นเต้นเมื่อพ้นจากความมืดมิดเพื่อมาเจอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ พร้อมๆ กับที่ขบวนรถจอดแวะ ณ สถานีรถไฟเล็กๆ อย่างขุนตาน

ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เรามักทิ้งความตื่นเต้นในโมเมนต์เล็กๆ นั้นไว้เบื้องหลัง ปล่อยให้ขุนตานเป็นแค่ทางผ่าน แล้วเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางอย่างเชียงใหม่

… โดยไม่เคยรู้เลยว่า เราสามารถลงที่สถานีขุนตาน แล้วเดินป่าไปสู่ยอดดอยขุนตาลได้แบบม้วนเดียวจบ ไม่ต้องต่อรถ จ้างลูกหาบ หรือสรรหาวิธีขึ้นเขาต่างๆ ให้วุ่นวาย

เพราะนอกจากอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเขตจังหวัดลำพูนและลำปาง จะเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งเดียวในประเทศไทยที่เดินทางไปด้วยรถไฟได้แล้ว ยังเป็นเส้นทางป่าที่เดินเพลิน เดินสนุก และเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่แฝงไว้ด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การหาโอกาสไปเยือนสักครั้ง

khuntan

ทำความรู้จักดอยขุนตาลแห่งทิวเขาขุนตาน

บรรยากาศยามเช้าตรู่ที่สถานีรถไฟเล็กๆ อย่างสถานีขุนตานเต็มไปด้วยรายละเอียดแห่งความเรียบง่าย ตัวสถานีเองเป็นอาคารหลังเล็ก ประดับภาพถ่ายเก่าแก่อายุร่วมศตวรรษ เป็นภาพเมื่อครั้งเริ่มมีการก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาน สะพานทาชมภู และสะพานคอมโพสิต ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของทางรถไฟสายเหนือ

รอบๆ สถานีมีร้านค้าของชาวบ้านท้องถิ่นไม่กี่ร้าน เพียงพอจะให้นักท่องเที่ยวได้สั่งก๋วยเตี๋ยว โจ๊ก กาแฟ หมูปิ้ง อาหารตามสั่ง ฯลฯ กินเพื่อรองท้องยามเช้า และเติมพลังให้พอมีเรี่ยวแรง ก่อนออกเดินเท้าสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 1.3 กิโลเมตร

ใครที่มาครั้งแรกแล้วออกจะงงๆ ว่าจะต้องเดินไปทางทิศไหน ขอให้เริ่มต้นด้วยการหันหน้าประจันกับอุโมงค์ขุนตาน แล้วแลไปทางซ้ายมือ จะเห็นซุ้มประตูทางเข้าอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลตั้งเด่นเป็นสง่า พร้อมสองเจ้าหน้าที่ (หุ่น) บุรุษและสตรียืนประนมมือไหว้ให้การต้อนรับแข็งขัน

khuntan
ปากทางเข้าอุทยานฯ ริมทางรถไฟ

ก่อนจะเดินขึ้นบันไดไปสู่ที่ทำการอุทยานฯ หลายคนที่ช่างสังเกตอาจเกิดความข้องใจทางภาษาว่า ทำไมเดี๋ยวก็สะกดว่า ขุนตาน เดี๋ยวก็ขุนตาล 

คำตอบของเรื่องนี้วิกิพีเดียกล่าวว่า เดิมสถานที่ในบริเวณทิวเขานี้ทั้งหมดสะกดว่า ขุนตาน โดย ตาน ในภาษาล้านนา แปลว่า การให้ทาน ขุนตานจึงหมายถึง ขุนผู้โอยทาน หรือ เจ้าเมืองผู้ใจบุญสุนทาน นอกจากนี้ ขุนตานยังเป็นพระนามเดิมของพระยาเบิก อดีตเจ้าผู้ครองนครลำปาง ซึ่งได้มีการตั้งศาลเจ้าพ่อขุนตานให้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ไม่ไกลจากปากอุโมงค์ขุนตาน 

ส่วนการสะกด ขุนตาล ด้วย ล ลิง นั้น ปรากฏอยู่ในแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร ทางราชการเลยยึดการสะกดว่า ขุนตาล ในชื่อสถานที่ที่ตั้งขึ้นในภายหลัง เช่น อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ยอดดอยขุนตาล เป็นต้น

ส่วนสถานที่ที่สร้างขึ้นก่อนหน้า อย่างศูนย์บริการทางหลวงขุนตาน อุโมงค์ขุนตาน สถานีรถไฟขุนตาน ศาลเจ้าพ่อขุนตาน หมู่บ้านขุนตาน และทิวเขาขุนตาน ยังคงใช้ น สะกดตามเดิม

khuntan

ไม่ว่าจะสะกดว่าขุนตานหรือขุนตาล ขุนเขาแห่งนี้ก็พร้อมจะมอบประสบการณ์เที่ยวป่าแบบครบรสแก่นักท่องเที่ยวทุกแบบ จะแคมปิ้งสายลุย เน้นพิชิตยอดเขา ตื่นเช้าก่อนพระอาทิตย์ จะนอนบ้านพักสบายๆ เดินชมนกชมไม้ไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติเพลินๆ หรือจะขับรถมาแวะเดินเที่ยวถ่ายภาพเช็คอินแบบชิลๆ ทิวเขาแห่งนี้ก็ยินดีต้อนรับทุกท่านโดยเท่าเทียม

ถ้าจะให้คิดคำขวัญเฉพาะกิจสำหรับขุนตาน เราว่า 4 เหตุผลนี้คือนิยามที่เหมาะเจาะกับความกลมกล่อมของขุนเขาน่ารักแห่งนี้ – เดินทางสะดวก ที่พักสบาย บุกป่าไม่ยาก คนรักประวัติศาสตร์ต้องชอบ

1.

เดินทางสะดวก

ลงรถไฟปุ๊บ เดินขึ้นดอยได้ทันที

อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่าหนึ่งในการเดินทางไปเที่ยวดอยขุนตาลที่สะดวกที่สุด คือ การนั่งรถไฟ โดยหากออกเดินทางจากกรุงเทพฯ แนะนำให้เดินทางกับขบวนรถด่วนพิเศษ 13 ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 19.35 น. นอนหลับสบายๆ หนึ่งตื่นมาถึงขุนตานเวลา 7.00 น. พอดี

หรือถ้าใครอยากออกเดินทางจากเชียงใหม่ ไม่ต้องจองตั๋วล่วงหน้า ให้ไปซื้อตั๋วที่สถานีตอนก่อนจะเดินทางได้เลย มีขบวนเหมาะๆ ให้เลือก 2 เที่ยว คือ รถเร็ว 102 ออกจากเชียงใหม่เวลา 6.30 น. หรือรถด่วนพิเศษ 8 ออกจากเชียงใหม่เวลา 8.45 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงก็ถึงสถานีขุนตาน ตรวจสอบเวลาเดินทางได้ที่ www.railway.co.th

หรือถ้าใครจะขับรถไปก็สะดวกสบายไม่แพ้กัน เพราะสามารถขับเข้าไปในเขตอุทยานฯ แล้วไปจอดรถบริเวณหน้าบ้านพักหรือบริเวณจุดเริ่มต้นในการเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ย.4 ได้แบบไม่ต้องเมื่อยน่อง

khuntan
ถนนสองเลนแบ่งเขตสองจังหวัด

แต่ก่อนจะไปถึงเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ย.4 หนึ่งในจุดเช็คอินที่นักท่องเที่ยวทุกรายไม่พลาดที่จะหยุดชักภาพไว้เป็นที่ระลึก คือ บนพื้นถนนบริเวณหน้าที่ทำการอุทยานฯ ที่แบ่งเขตจังหวัดลำพูนกับลำปางไว้อย่างเด่นชัด ตามทำเลที่ตั้งของอุทยานห่งชาติดอยขุนตาลที่มีความพิเศษคือ ตั้งอยู่ในอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และอำเภอห้างฉัตร อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เป็นกิมมิคให้นักเดินทางรู้สึกเหมือนได้กำไรสองต่อ เพราะมาที่เดียวเหมือนได้เที่ยวสองจังหวัด

khuntan
ทิวทัศน์จากจุดชมวิวไม่ไกลร้านสวัสดิการ

2.

ที่พักสบาย

นอนเต็นท์ก็ดี หรือจะนอนเตียงก็มีบริการ

การออกแบบตารางท่องเที่ยวดอยขุนตาลสามารถทำได้แบบฟรีสไตล์ ใครอยากมาเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับก็สามารถทำได้สบายๆ เพราะสามารถเลือกเดินศึกษาธรรมชาติได้ตามเส้นทางที่เหมาะสมกับพละกำลังและความพึงใจของแต่ละคน 

ส่วนนักท่องเที่ยวที่เลือกมาค้างคืนที่นี่ก็แบ่งเป็น 2 แบบ คือ คนที่เลือกนอนที่บ้านพักของอุทยานฯ (ราคาคืนละ 500 บาท) แลกกับความสะดวกสบายอย่างมีน้ำฝักบัวอุ่นๆ ให้อาบ มีผ้านวมนุ่มๆ ไว้ห่มกาย แต่อาจพลาดกิจกรรมชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ ย.4 เพราะระยะทางเดินจากบ้านพักไปยัง ย.4 ค่อนข้างไกล (นอกจากจะยอมตื่นตี 3 เพื่อเริ่มออกเดิน – เจ้าหน้าที่อุทยานฯ หมายเหตุให้ทราบ)

khuntan
นักท่องเที่ยวที่สมัครใจกางเต็นท์นอนพากันเดินแบกสัมภาระขึ้นไปยังจุดกางเต็นท์ลานสน ย.2

ดังนั้น นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะแบกเป้พร้อมสัมภาระอย่างเต็นท์ ถุงนอน และอุปกรณ์ในการจุดไฟหุงหาอาหาร เพื่อเข้าพักยังจุดกางเต็นท์ที่ทางอุทยานฯ มีไว้บริการ 4 จุด ได้แก่ ลานชมดาว ลานค้างแรม 2 ลานค้างแรม 1 และลานสน ย.2 

ใครที่อยากตื่นเช้าไปรับแสงแรกของวันบนยอดสูงสุดของดอยขุนตาล ควรพักแรมที่ลานสน ย.2 (อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 3.5 กิโลเมตร) เพราะเป็นทำเลที่เหมาะแก่การเดินเท้าระยะทาง 4 กิโลเมตรไปสู่ ย.4 ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,373 เมตร 

ติดต่อสำรองบ้านพักและจุดกางเต็นท์ได้ที่ http://dnp.go.th หรือโทร 0-2562-0760 

khuntan
บรรยากาศยามเย็นบริเวณลานสน ย.2

3.

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ย.1 – ย.4

ที่ ย. ไม่ได้แปลว่า ยาก

อ่านมาถึงตรงนี้คงมีหลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า อะไรคือ ย.1 – ย.4 

ย. ย่อมาจาก จุดยุทธศาสตร์ เพราะดอยขุนตาลถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะผันสถานะมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวขวัญใจนักเดินป่าในปัจจุบัน โดยทางอุทยานฯ ได้แบ่งระยะทางทั้งหมด 5,500 เมตรสู่ยอดดอยขุนตาลออกเป็น 4 ย.

khuntan

เส้นทางเริ่มต้นจาก ย. 1 ถึง ย.2 จัดว่าเดินสบาย ไม่ลำบาก และนักท่องเที่ยวส่วนมากที่มาเช้าเย็นกลับมักเลือกเดินศึกษาเส้นทางธรรมชาติในระยะทาง 1,500 เมตรนี้ ที่มีการทำเส้นทางเดินทั้งเป็นบันไดและพื้นไม้ในระดับความชันที่ไม่เหนื่อยหอบ พอให้ได้สัมผัสบรรยากาศอาบป่าเบาๆ

khuntan

khuntan

หรือจริงๆ แล้วใครที่ไม่อยากเดินบนเส้นทาง ย. ต่างๆ แต่อยากสัมผัสธรรมชาติแบบไวๆ ก็สามารถเลือกเดินศึกษาธรรมชาติได้ตลอดเส้นทางเลียบถนนนับตั้งแต่ปากทางเข้าที่ทำการอุทยานฯ เรื่อยมา โดยหากเดินบนถนนมาเรื่อยๆ จะสังเกตเห็นป้าย “ทางเดินเท้า” ปักอยู่ข้างทาง เส้นทางเหล่านั้นนอกจากจะเป็นทางลัดช่วยตัดโค้งไม่ต้องเดินอ้อมให้ไกลแล้ว ยังได้สัมผัสบรรยากาศป่าริมทาง ที่มีพรรณไม้ต่างๆ ให้ชื่นชม ทั้งไม้ดอก ไม้ใบ ไปจนถึงโขดหินรูปร่างแปลกตา 

เรียกว่ายังไม่ต้องเดินลึกเข้าไปถึงเขตป่า ป่าก็มาโอบล้อมอยู่รอบตัวเรา เพียงแค่กล้าที่จะก้าวเท้าเข้าไปสัมผัส

khuntan

khuntan
ทางเดินเท้าที่พบได้บริเวณริมหัวโค้งบนถนนในอุทยานฯ

สำหรับนักเดินทางที่ต้องการค้างแรมในป่าก็จะแยกเดินขึ้นไปกางเต็นท์และเก็บสัมภาระบนลานสน ย.2 จากนั้นจะเดินลงไปชมบรรยากาศน้ำตกตาดเหมย ที่อยู่ห่างไปอีก 1,500 เมตร หรือจะลุยต่อไปยัง ย. ถัดไปก็แล้วแต่การวางแผน

khuntan

khuntan

khuntan

เพราะเส้นทางหลังจาก ย.2 เป็นต้นไปถือเป็นการเดินป่าอย่างสมบูรณ์ ท่ามกลางทิวสนและดงกล้วยป่าที่ขึ้นอยู่ดาษดื่นตลอดเส้นทาง นักท่องเที่ยวสามารถเดินศึกษาธรรมชาติไปตามเส้นทางได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเจ้าหน้าที่ เพราะเส้นทางสะดวก ชัดเจน ไม่ต้องปีนป่าย ระดับความชันอยู่ในเกณฑ์ไม่เหนื่อยหอบ เลือกรองเท้าผ้าใบที่สวมใส่สบายสักคู่ก็เพียงพอที่จะสำรวจดอยขุนตาลได้จนทั่ว

khuntan

khuntan

khuntan

เพียงแค่ระยะทางจากย. 2 ไปจนถึง ย.3 ค่อนข้างจะไกลถึง 3,000 เมตร และหลังจากนั้นเส้นทางจะชันขึ้นเรื่อยๆ พอให้เกิดความรู้สึกว่าหัวใจย้ายมาเต้นอยู่ข้างๆ รูหู ตลอดระยะทาง 1,000 เมตรจาก ย.3 ผ่านพ้นเนินวัดใจสู่เส้นชัยอย่าง ย.4 ที่เป็นจุดชมวิวพื้นที่ไม่ใหญ่ มุมมองกว้างไกล ระบุว่าฝั่งซ้ายคือลำพูนและขวาคือลำปาง ความพิเศษของเขตชมวิวที่กินอาณาเขตถึงสองจังหวัดทางภาคเหนือในประเทศไทย

khuntan

khuntan
ทิวทัศน์ป่าลำพูน-ลำปางเมื่อมองจาก ย.4 จุดสูงสุดของยอดดอยขุนตาล

 4.

เรียนรู้ประวัติศาสตร์รายทางแบบเต็มอิ่ม

นอกจากผืนป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์แล้ว อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลยังเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยร่องรอยทางประวัติศาสตร์ โดยถ้านับตั้งแต่สถานีรถไฟขุนตาน ก็จะมีจิ๊กซอทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นให้คนที่ชอบศึกษาเรื่องราวของสถานที่ได้สนุกกับการเดินชมแลนมาร์คต่างๆ เช่น ศาลเจ้าพ่อขุนตาน บ่อน้ำบาดาลเก่า อาคารสถานีรถไฟขุนตานหลังเดิม สถูปกระดูกของมิสเตอร์อีมิลล์ ไอเซ่น โฮเฟอร์ วิศวกรชาวเยอรมันผู้คุมงานก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาน ฯลฯ

khuntan
บ้านพักของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

และเมื่อเข้าสู่เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ย. ต่างๆ ก็ยิ่งมีแลนด์มาร์คต่างๆ อีกหลายแห่งที่ทำหน้าที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ไปในตัว ไล่มาตั้งแต่บ้านพักสีเหลืองหลังโตอายุเกินร้อยปีบนเส้นทาง ย.1 ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยสร้างไว้เพื่อเป็นที่ประทับพักแรมของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เมื่อครั้งเสด็จมาเป็นแม่งานในการสร้างอุโมงค์ขุนตาล

khuntan
แผ่นป้ายแสดงข้อมูลบริเวณก้อนหินลายพระหัตถ์ ร.9

ระหว่างเส้นทาง ย.1 สู่ ย.2 มีจุดให้แวะพักเหนื่อยบริเวณหินก้อนยักษ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงลงลายพระหัตถ์ลงบนหินก้อนนี้เมื่อครั้งเสด็จประพาสดอยขุนตาล 2 ครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2512 และ 2516 ปัจจุบัน รอยจารึกลางเลือนไปมาก ใครอยากมาเห็นลายพระหัตถ์ไม่ควรรอช้าในการตีตั๋วมาเยือนขุนตาน

และเมื่อเดินมาถึง ย.2 สามารถเดินไปเยี่ยมชมอดีตบ้านพักของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีที่ซื้อพื้นที่บริเวณนี้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อทำสวนลิ้นจี่ และไว้ใช้เป็นบ้านพักตากอากาศสำหรับเขียนหนังสือ

khuntan
ศาลาริมทางระหว่างทางไป ย.3
khuntan
ร้านก๋วยเตี๋ยวใกล้ๆ ลานสน ย.2

สูงขึ้นไปเหนือระดับน้ำทะเล 1,225 เมตร เป็นพื้นที่ของ ย.3 ที่คณะมิชชินนารีอเมริกันคริสตจักรได้มาสร้างบ้านพักในบริเวณนี้ เมื่อครั้งที่ทางรถไฟสายเหนือของไทยสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ. 2465 เพื่อเป็นบ้านพักตากอากาศในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ปัจจุบันบ้านพักดังกล่าวอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยพายัพ 

สำหรับจุดชมวิวที่สูงที่สุดบนยอดดอยขุนตาล ณ ย.4 เดิมมีสถานะเป็นจุดยุทธศาสตร์สูงสุดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้ใช้เป็นบริเวณสำหรับส่องกล้องจังหวัดลำพูนและลำปางได้ชัดเจน

khuntan

ในการเดินสำรวจธรรมชาติ ย.1 – ย. 4 นั้นสามารถจบได้ภายใน 1 วันเช่นกัน โดยหากเริ่มเดินจาก ย.1 เวลา 11 โมงเช้า ละเลียดบรรยากาศชมนกชมไม้ แวะกินก๋วยเตี๋ยวตรง ย.2 และนั่งรับลมบน ย.4 นานนับชั่วโมง ก็ยังสามารถเดินลงมายังปากทางได้ในเวลาไม่เกิน 6 โมงเย็น

ดอยขุนตาลจึงเป็นป่าไกลเมืองที่เข้าถึงได้ง่าย จุดหมายในการชาร์จพลังชีวิตแบบทันใจสำหรับใครที่ไม่อยากลาพักร้อนหลายวัน

khuntan

อ้างอิง

ที่สุดแห่งขุนตาน

  • อุโมงค์ขุนตานกำลังจะเสียแชมป์อุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดยจะมีสถานะเป็นอุโมงค์ที่ยาวเป็นอันดับที่ 3 รองจากอันดัน 1 คือ อุโมงค์ระหว่างสถานีมาบกะเบา-มวกเหล็กใหม่ (ความยาว 5.7 กิโลเมตร) และอุโมงค์ระหว่างสถานีคลองขนานจิตร-คลองไผ่ (ความยาว 1.4 กิโลเมตร) ยาวเป็นอันดับ 2
  • สถานีขุนตานเป็นสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่สูงที่สุดในประเทศไทย (578 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ดังนั้น รถไฟทุกขบวนต้องหยุดที่สถานีนี้ เพื่อทดสอบห้ามล้อให้แน่ใจว่าลงจากเขาได้โดยเบรกไม่แตก
  • อุโมงค์ขุนตานใช้เวลาก่อสร้าง 11 ปี และเป็นอุโมงค์เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่เหนือปากอุโมงค์มีตราครุฑพ่าห์ประดิษฐาน โดยอยู่เหนือตัวเลข ๒๔๖๑ ซึ่งเป็นปีที่อุโมงค์แล้วเสร็จสมบูรณ์
  • อุโมงค์ขุนตานและการเดินรถไฟสายเหนือตลอดถึงเชียงใหม่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2464 (นับตามปีปัจจุบันคือ 2465)