life

ใครที่หลงใหลการไปเที่ยวทะเลและเกาะแก่งต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ชอบดำน้ำ คงรู้ดีว่าเสน่ห์ของการได้ชาร์จพลังชีวิตด้วยความมหัศจรรย์ของโลกใต้ทะเลนั้นถือเป็นความพิเศษแค่ไหน

นั่นเพราะเกาะเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ และสะสมชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ที่พบเฉพาะถิ่นมากที่สุดนั่นเอง

และด้วยเสน่ห์เฉพาะตัวทำให้เกาะต่าง ๆ เป็นจุดหมายปลายทางเพื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาดที่มีความสำคัญ ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ภาคชุมชน เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีรายได้และเติบโตจากระดับฐานราก และเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ

แต่ปัจจุบัน ‘ภาวะโลกรวน’ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงโรคอุบัติใหม่ ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทุกแห่งหนบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะ ‘เกาะ’ ที่ถูกจัดให้เป็นพื้นที่วิกฤติทางความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความเปราะบาง และมีความเสี่ยงต่อภาวะคุกคามสูง

koh tao symposium

การร่วมมือกันเพื่อดูแลปกป้องเกาะท่องเที่ยวของไทยจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในนามปฏิญญาเกาะเต่า’ โดยเกิดจากความร่วมมือของกรมการท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า เทศบาลตำบลเกาะเต่า ร่วมกับประชาคมชาวเกาะ จำนวน 21 เกาะ และองค์กรภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ จำนวนกว่า 23 องค์กร โดยได้มีการประกาศปฏิญญาเกาะเต่าขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ซึ่งตรงกับวันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) โดยการประกาศปฎิญญาเกาะเต่าครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 9 มิถุนายน 2566 ณ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

koh tao symposium

นายนันธวัช เจริญวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงการประกาศปฏิญญาเกาะเต่าในวันมหาสมุทรโลก ที่ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีในการการเปิดมิติใหม่ของการพัฒนาและการจัดการเกาะท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม ตามกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ที่มีการส่งมอบบ้านปลาให้ชาวประมง เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เสมือนเป็นการปักหมุดแสดงการปกป้องทรัพยากรทางทะเล เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลและวิถีชีวิตของชุมชนชาวเกาะ ในวันที่ระดับน้ำทะเลกำลังเปลี่ยนไป

koh tao symposium

นอกจากนี้ นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ได้กล่าวถึงเป้าประสงค์ของปฏิญญาเกาะเต่าในแง่การบรรลุตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการท่องเที่ยว และเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG: เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่มีวิสัยทัศน์ให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยคำนึงถึงการสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนในระดับสากลที่สำคัญ

เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กรอบความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกคุนหมิง-มอนทรีออล ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 โครงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน One Planet ปฏิญญากลาสโกว์: ความมุ่งมั่นต่อทศวรรษของการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของภาคการท่องเที่ยว และการจัดกิจกรรมเนื่องในวันมหาสมุทรโลกในวันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี การประกาศความมุ่งมั่นของประชาคมชาวเกาะครั้งนี้จึงถือเป็นบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย

koh tao symposium

ทั้งนี้ นายณรงค์ฤทธิ์ ทองนวล กำนันตำบลเกาะเต่า กล่าวถึงสาระสำคัญของปฏิญญาเกาะเต่า 10 ข้อ ไว้ดังนี้

  1. จัดทำแผนและดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
  2. ดำเนินการตามมาตรฐานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับชาติและระดับสากล
  3. ดำเนินการวัดและเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเกาะ
  4. ดำเนินการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในภาคการท่องเที่ยวเกาะ ซึ่งรวมถึงการขนส่ง สาธารณูปโภค ที่พัก กิจกรรม อาหารและเครื่องดื่ม และการจัดการขยะ ให้เป็นรูปธรรม
  5. ดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการท่องเที่ยวเกาะ ตามข้อกำหนดขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และหน่วยงานในระดับสากลที่เกี่ยวข้อง
  6. สนับสนุนหรือดำเนินโครงการคุ้มครองและฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยเฉพาะการส่งเสริมแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution) สำหรับการท่องเที่ยวเกาะ
  7. ดำเนินการจัดการขยะและของเสียบนเกาะโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
  8. ดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวเกาะที่ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
  9. ส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเกาะ ทั้งในด้านการแบ่งปันข้อมูล การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดำเนินงานร่วมกัน การแบ่งปันผลประโยชน์ การคุ้มครองกลุ่มเปราะบางและชุมชนท้องถิ่น
  10. ส่งเสริมการดำเนินงานที่สนับสนุนด้านการเงินอย่างยั่งยืน และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

นอกจาก ‘ปฏิญญาเกาะเต่า’ จะเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของภาครัฐและประชาคมชาวเกาะ จำนวน 21 เกาะ ซึ่งประกอบด้วย เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก เกาะทะลุ เกาะพิทักษ์ เกาะพะลวย เกาะพยาม เกาะภูเก็ต เกาะราชา เกาะลันตา เกาะคอเขา เกาะพระทอง เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย เกาะหลีเป๊ะ เกาะพีพี เกาะปู เกาะจัม เกาะลิบง เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า แล้ว

หน่วยงานเอกชนอย่าง กลุ่มเดนท์สุ และบริษัทในเครือฯ ยังได้ร่วมผนึกพลังในฐานะที่ปรึกษาแผนยุทธศาสตร์และพันธมิตรสื่อ พร้อมเป็นตัวกลางเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย และเป็นกระบอกเสียงให้ผู้คนในสังคมเกิดความตระหนักรู้ในการร่วมปกป้องทะเล และพร้อมผลักดันวาระแห่งชาติสู่เป้าหมายในการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้สำเร็จ

koh tao symposium

โอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การตลาดและนวัตกรรม กลุ่มเดนท์สุ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ไว้ว่า

“เดนท์สุ พร้อมร่วมผนึกกำลังผู้นำทางความคิด ช่วยจุดประกายสำนึกปณิธานการท่องเที่ยวด้วยความรับผิดชอบ พุ่งเป้าการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างเป็นรูปธรรม ปลุกสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติให้สามารถดำรงอยู่ตลอดไป

“ทั้งนี้ การสร้างคุณค่าและการตระหนักรู้เพื่อการพัฒนาความยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังของพันธมิตรระบบนิเวศธุรกิจทุกภาคส่วน ที่เดนท์สุ เราให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความยั่งยืน 3 มิติ ได้แก่ รู้รักษ์โลก (PLANET) ปลุกสำนึกผู้คน (PEOPLE) และเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร (PARTNERING) ที่จะสามารถผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์วาระแห่งชาติ หรือ Net Zero Emissions พร้อมยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยสู่การเป็น Sustainable Tourism Destination ผสานรวมเข้ากับแนวคิด BCG Economy โมเดลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้สำเร็จครอบคลุมทุกมิติ”

ดังนั้น ปฏิญญาเกาะเต่าจึงเป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่ไม่ได้แค่เป็นการร่วมดูแลเกาะแก่งและทะเลไทยเท่านั้น หากเป็นการเริ่มต้นลงมือดูแลโลกใบนี้ร่วมกัน