life

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘อาบป่า’ หลายคนมักนึกถึงบรรยากาศป่าแบบญี่ปุ่น เพราะเป็นต้นกำเนิดของการบำบัดร่างกายและจิตใจด้วยวิธีนี้

แต่จริงๆ แล้วการอาบป่าสามารถอาบที่ป่าไหนก็ได้ จะป่ายุโรป ป่าในไทย และแม้แต่ป่าในอินเดีย จุดหมายที่เราอยากแนะนำในคราวนี้

ทำไมต้องอินเดีย ? เพราะเราอยากแนะนำให้คนไทยได้รู้จักอินเดียในมุมที่ต่างออกไป ไม่ได้มีแต่ภาพจำอย่างเสียงแตรรถ ฝุ่นควัน ผู้คน หรือสตรีทฟู้ดสุดหฤหรรษ์ที่เรียกเสียงหัวเราะได้เท่านั้น

อินเดียยังมีธรรมชาติแสนสงบและสวยงามชวนตะลึงกระจายอยู่ทั่วทุกภาค โดยเฉพาะคนรักป่าที่ควรหาโอกาสไปเยือนอินเดียตอนเหนือให้ได้สักครั้งในชีวิต

Barot
ลำน้ำอูลห์ไหลตัดผ่านหุบเขาบาร็อท
(Photo: Mowgli)

นอกจากแคชเมียร์ และเลห์-ลาดักที่นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมไปเยือน ขอแนะนำให้เขยิบออกมาอีกนิด ณ รัฐหิมาจัลประเทศ ที่ไม่ว่าจะจิ้มไปยังเมืองไหนในแผนที่ของรัฐขนาดย่อมแห่งนี้ เป็นต้องเจอสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ เพราะดินแดนแถบนี้รุ่มรวยด้วยภูมิประเทศเขียวขจี ที่มองไปทางไหนก็เจอแต่ทิวเขาสูงชวนให้อยากออกไปแตะขอบฟ้าเหลือกำลัง

สำหรับทริปอาบป่าคราวนี้ แนะนำให้จิ้มไปยัง ราชกุนธา (Rajgundha) หมู่บ้านเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าสนแห่งหุบเขาบาร็อท (Barot) ในเมืองมานดี (Mandi) รัฐหิมาจัลประเทศ

ความดิบของราชกุนธา คือ เป็นหมู่บ้านที่ต้องเดินเท้าเข้าไปเท่านั้น เพราะถนนดินประจำหมู่บ้านยังไม่อนุญาตให้รถยนต์สัญจรเข้าไปได้ และสัญญาณ wi-fi ก็แทบไม่มี เหมาะแก่การลี้ภัยทางจิตวิญญาณเป็นที่สุด

Barot
สะพานข้ามลำน้ำอูลห์ที่ Bara Garan
(Photo: Mowgli)

รู้จักราชกุนธาและหุบเขาบาร็อท

หมู่บ้านราชกุนธาตั้งอยู่ในเขตหุบเขาบาร็อท ซึ่งถือว่าไม่ใกล้ไม่ไกลจาก ธรรมศาลา อยู่ห่างไปแค่ร้อยกว่ากิโลเมตรหรือใช้เวลานั่งรถเกือบๆ 4 ชั่วโมง ดังนั้น บรรยากาศจึงมีความคล้ายคลึงกัน ทั้งในแง่ภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยทิวเขาเขียวขจี ที่ในหน้าหนาวก็จะปกคลุมด้วยหิมะบนยอดเขาราวกับภูผากำลังสวมหมวกใบสีขาวน่าเอ็นดู รวมถึงบ้านเรือนของผู้คนที่ส่วนหนึ่งเป็นชาวทิเบตอพยพ จึงมีวัดและอารามแบบทิเบตแทรกตัวเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน

โดยปกติแล้ว นักท่องเที่ยวที่เลือกมาเยือนบาร็อทมักพ่วงอีกสองเมืองแฝดอย่าง Bir-Billing (บีร์บิลลิ่ง) ไว้ในตารางท่องเที่ยวด้วยเสมอ เพราะจัดอยู่ในโซนเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ที่หลงใหลการเดินป่าเดินเขาสามารถออกแบบเส้นทางเทรคกิ้งเป็นสามเหลี่ยม Bir – Billing – Barot ไว้สำรวจป่าเขาแบบใกล้ชิดโดยใช้กำลังขาของตนล้วนๆ ได้

Barot

Barot
วัดทิเบตในเมืองบีร์
(Photo: Mowgli)

หรือใครที่ชอบกิจกรรมเอ็กซ์ตรีมอย่างการกระโดดร่มพาราไกลดิ้ง (Paragliding) ต้องหลงรักบีร์-บิลลิ่งแน่นอน เพราะที่นี่ถือเป็นจุดกระโดดร่มที่สูงที่สุดในอินเดีย โดยจุดกระโดดร่มจะอยู่บนยอดเขาบิลลิ่ง แล้วมาแลนดิ้งบนลานสนามหญ้าใจกลางเมืองบีร์ ซึ่งเป็นจุดพักผ่อนหย่อนใจที่ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวนิยมมาแฮงเอาท์ชมอาทิตย์อัสดงอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

บรรยากาศในบีร์น่าจะถูกใจคนไทย เพราะเต็มไปด้วยร้านค้าและคาเฟ่สมัยใหม่มากมายตั้งเรียงรายสลับกับวัดแบบทิเบตที่มีเยอะไม่แพ้กัน การเดินเที่ยวในบีร์จึงมีโอกาสกระทบไหล่เหล่าคาเฟ่ฮอปเปอร์และลามะนุ่งห่มจีวรแดง มากกว่าจะเจอบรรดานักเดินเขาที่ไปหลบกันอยู่แถวบาร็อทเสียหมด

Barot
ผู้คนมาพักผ่อนหย่อนใจยามเย็น ณ ลานแลนดิ้งพาราไกลดิ้งใจกลางเมืองบีร์

สำหรับบาร็อทนั้นเหมาะกับคนที่ต้องการไปอาบป่าเพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตวิญญาณอย่างแท้จริง ด้วยทำเลที่ซ่อนอยู่ในหุบเขาเขียวขจี โดยมี ลำน้ำอูลห์ (Uhl river) ไหลตัดผ่าน จึงครบเครื่ององค์ประกอบของการอาบป่า ที่เน้นการใช้ผัสสะทั้งห้าในการใกล้ชิดเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ได้แก่ การมองเห็น ได้กลิ่น ได้ยิน สัมผัส และรับรส

Barot
ลำน้ำอูลห์ไหลเชี่ยว
(Photo: Mowgli)

ตามตำราอาบป่าหรือชิรินโยกุเน้นการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์ในการเข้าถึงพลังงานของธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่การมองเห็นรูปร่างลักษณะเส้นสายต่างๆ ของทัศนียภาพภายในป่า เช่น การได้ชื่นชมความงามของใบไม้เปลี่ยนสี ไปพร้อมๆ กับการได้กลิ่นของป่าจากบรรดาต้นไม้และดอกไม้ โดยเฉพาะกลิ่นฉุนของไฟตอนไซต์ (phytoncide) น้ำมันหอมระเหยจากต้นไม้ประเภทสน ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์กำจัดมะเร็งได้ดี

จากนั้นใช้หูในการฟังสรรพเสียงแห่งป่า ทั้งเสียงนก แมลง เสียงลม เสียงใบไม้กระทบกัน เสียงน้ำไหล ฯลฯ และปล่อยตัวปล่อยใจในการสัมผัสหรือโอบกอดต้นไม้เพื่อรับพลังธรรมชาติอย่างใกล้ชิด สุดท้ายคือ อย่ากลัวที่จะรับรสชาติของผลไม้ในป่า เพื่อสัมผัสรสธรรมชาติแท้จริงที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งใดๆ

Barot

Barot
แวะสัมผัส ดมกลิ่น และได้ยินเสียงธรรมชาติรอบตัว หัวใจของการอาบป่า
(Photo: Mowgli)

แม้จะเป็นการพาตัวเองเข้าไปอยู่ในป่าดงพงพีเหมือนกัน แต่การอาบป่าแตกต่างจากการเดินเขาแบบเทร็คกิ้ง เพราะการอาบป่าให้ความสำคัญกับการตั้งสติและรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวแบบไม่ต้องไขว่คว้าเป้าหมาย หรือต้องใช้พละกำลังอะไรมากมาย การอาบป่าก็คือการไปเดินเล่นในป่าพร้อมๆ กับเปิดรับประสาทสัมผัสทั้งห้าเพื่อติดต่อกับธรรมชาติโดยตรงอย่างเพลิดเพลิน

ด้วยคุณสมบัตินี้เองทำให้หมู่บ้านราชกุนธาเหมาะแก่การไปอาบป่าเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้เป็นเส้นทางเทร็คกิ้งยอดนิยมที่ต้องปีนป่ายไปพิชิตยอดเขาใดๆ และทำเลที่ตั้งเองก็ถูกโอบล้อมด้วยป่าสนรอบด้าน ราวกับป่ากำลังกอดเราไว้แน่นๆ ยังไงยังงั้น

Barot
ทิวทัศน์จากหน้าต่างห้องพัก
(Photo: Mowgli)

สำรวจเส้นทางอาบป่ารอบหมู่บ้าน

ก่อนที่จะพาตัวเองไปอยู่ในวงล้อมของป่าสนในหมู่บ้านราชกุนธาต้องออกแรงเดินเล็กน้อย เพราะอย่างที่เกริ่นไปว่ารถยนต์ไม่สามารถไปจอดส่งนักเดินทางถึงหน้าโรงแรมได้ รถทุกคันที่มาส่งนักท่องเที่ยวจะหยุดอยู่แค่ Bara Garan จากนั้นนักอาบป่าจะต้องแบกสัมภาระขึ้นหลัง เดินข้ามสะพานเล็กๆ ที่ทอดข้ามแม่น้ำอูลห์ แล้วมุ่งหน้าขึ้นเขาเป็นระยะทาง 6 กิโลเมตรบนถนนดินที่ชาวบ้านใช้สัญจร ใช้เวลา 2 ชั่วโมงโดยประมาณก็จะเข้าเขตหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ ที่มีประชากรมนุษย์รวมกันน้อยกว่าจำนวนวัว แกะ แพะ ลา หรือล่อที่พวกเขาเลี้ยงไว้เสียอีก

Barot
Bara Garan จุดเริ่มต้นในการออกเดินเท้าขึ้นเขาไปหมู่บ้านราชกุนธา
Barot
ถนนเส้นเดียวในหมู่บ้านกำลังอยู่ในช่วงซ่อม-สร้าง

นักเดินทางส่วนใหญ่นิยมพักแบบโฮมสเตย์หรือกางเต็นท์ และอีกส่วนเช็คอินเข้าพักในโฮสเทลที่เปิดให้บริการเพียงแห่งเดียวอย่าง Zostel โฮสเทลเชนดังขวัญใจนักเดินทางแบกเป้สัญชาติอินเดีย เพราะโซสเท็ลนิยมเลือกไปปักหลักให้บริการตามเมืองเล็กน่าเที่ยวทั่วประเทศ ทำให้คนรักการท่องเที่ยวมีโอกาสได้ผจญภัยไปสำรวจให้ทั่วอินเดียในราคาประหยัด พร้อมผูกมิตรกับเพื่อนร่วมทางรสนิยมเดียวกันไปในตัว

Barot
หลังคาสีแดงเล็กๆ ลิบๆ กลางภาพคือ Zostel Barot ที่มองเห็นจากบนเขาอีกลูก

Zostel Barot ถือเป็นโรงแรมลำดับที่ 8 ของเครือโซสเท็ลที่ตั้งอยู่ในรัฐหิมาจัลประเทศ เอกลักษณ์คือพิกัดที่ตั้งซึ่งโดดเด่นเป็นสง่าเพียงหนึ่งเดียวกลางหุบเขา ชนิดที่สามารถมองเห็นหลังคาสีแดงของ Zostel Barot ตั้งแต่ยังนั่งโขยกเขยกอยู่ในรถที่กำลังแล่นเลียบเหวอยู่บนเขาอีกลูก

Barot
Zostel Barot โรงแรมเดียวดายใจกลางหุบเขา

เก็บข้าวเก็บของในห้องพักเป็นที่เรียบร้อยก็ได้เวลาไปอาบป่าในหลายพิกัดรอบๆ หมู่บ้าน โดยเส้นทางของที่นี่มีให้เลือกหลายระดับตั้งแต่ง่าย (ไฮกิ้งสบายๆ ครึ่งวันจบ) ไปจนถึงยาก (ไต่เขาสูง หรือเดินเขาทางไกลกินเวลา 5 วัน) ซึ่งแน่นอนว่าทริปอาบป่าแบบเพลินใจเน้นเส้นทางเดินสบาย ไม่หอบจนตัวโยน

Barot
เดินเล่นในไร่ผักกาด
(Photo: Mowgli)

เริ่มจากการเดินสำรวจหมู่บ้านในละแวกใกล้เคียงที่อยู่ห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินไป-กลับไม่เกิน 2 ชั่วโมง แทบทุกบ้านของที่นี่มักเลี้ยงสัตว์และปลูกผักกาดแบบขั้นบันได ซึ่งสามารถหาทางลงไปเดินเลียบไร่ผักกาดของชาวบ้านใจดีที่นี่ได้ แค่อย่าไปย่ำพืชผักเสียหายก็พอ

Barot
เส้นทางเดินไปสู่ปาลาจัก
(Photo: Mowgli)
Barot
บรรยากาศปาลาจักคั่นกลางด้วยลำน้ำอูลห์ (Photo: Mowgli)

อีกเส้นทางแนะนำมีชื่อเรียกว่า Palachak ถือเป็นป่าหลังหมู่บ้านที่เดินสบาย หนทางไม่ลาดชันจนเกินไป สองข้างทางตลอด 9 กิโลเมตรเรียงรายด้วยป่าสนเขียวขจี ที่พร้อมจะมอบเซอร์ไพรส์ของทิวทัศน์งามชวนตะลึงในทุกหัวโค้ง ตลอดเส้นทางเป็นการเดินเลียบลำน้ำอูลห์ไหลเชี่ยวไปจนถึงจุดหมายปลายทาง

Barot
แม่อุ๊ยก่อฟืนจุดไฟต้มการัมจัยให้กิน
(Photo: Mowgli)

ปาลาจักมีลักษณะเป็นลานหญ้ากลางป่าใหญ่ มีบ้านดินแปลงร่างเป็นคาเฟ่สำหรับเติมพลังให้นักเดินทาง โดยมีแม่อุ๊ยก่อฟืน ตั้งเตา ต้มการัมจัยให้จิบเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย ใครหิวมากกว่านั้นสามารถรีเควสต์แม็กกี้ (มาม่าอินเดีย) ร้อนๆ มากินสักถ้วยให้อยู่ท้อง ก่อนออกเดินเท้ากลับตามเส้นทางเดิม ใช้เวลาเดินแบบไม่รีบร้อนทั้งขาไปและขากลับประมาณ 6 ชั่วโมง

Barot
ระหว่างทางสู่ปาลาจัก

หรือใครอยากเดินไปเยี่ยมชมบรรยากาศจุดกระโดดร่มพาราไกลดิ้งบนยอดบิลลิ่ง ก็สามารถใช้ เส้นทาง Rajgundha – Billing เดินไปเรื่อยๆ บนถนนดินเส้นเดียวกับที่ตัดผ่านหมู่บ้าน ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง (ระยะทาง 12 กิโลเมตร) ก็จะถึงจุดชมวิวเมืองบีร์ (ฺBir) จากมุมสูงที่สวยไปอีกแบบ

สำหรับขาลุยที่ต้องการเสียเหงื่อมากกว่าการมาอาบป่า แนะนำ เส้นทาง Hanuman Garh ที่จากข้อมูลระบุว่าระยะทางไป-กลับจาก Zostel คือ 6 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินเท้านานถึง 6 ชั่วโมง เพราะต้องอาศัยทักษะในการปีนเขาสูงชัน ความยากลำบากทุลักทุเลทำให้ใช้เวลานานในการเดินทาง แต่ก็คุ้มค่า เพราะรางวัลสำหรับผู้พิชิต Hanuman Garh สำเร็จ คือ ทิวทัศน์ของหุบเขาบาร็อทแบบพาโนรามา ที่ต่อให้ภาพถ่ายจะสวยแค่ไหนก็ไม่ตราตรึงใจเท่าการได้มองด้วยสายตาตนเอง

ยังมีอีกหลายเส้นทางและทิวทัศน์รอบหุบเขาบาร็อทที่พร้อมเสิร์ฟแด่นักอาบป่า เช่น ทะเลสาบ น้ำตก บ่อน้ำแร่ แคมป์ปิ้งริมธารน้ำแข็ง ฯลฯ สิ่งที่ต้องเตรียมไปมีแค่เวลาที่มากพอ กำลังกาย และแรงใจที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเท่านั้นเอง

Barot
สูดน้ำมันหอมระเหยไฟตอนไซต์ให้เต็มปอด

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเดินทาง

  • ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดในการเดินทางไปเยือนบาร็อทอยู่ระหว่างเดือนเมษายนไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม กินช่วงเวลาตั้งแต่ฤดูร้อนจนถึงมรสุม อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 17 องศาเซลเซียส เย็นสบายกำลังดี ไม่หนาวจัดจนเกินไป หรือหากบังเอิญเจอฝนก็ยิ่งดี เพราะด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ของธรรมชาติใจกลาง ทำให้การตากละอองฝนที่นี่ดูเหมือนจะยิ่งดีต่อสุขภาพ พิสูจน์มาด้วยตัวเองแล้วว่าตากฝนต่อเนื่อง 3 วันก็ไม่เป็นหวัดหรือจับไข้แต่อย่างใด
  • ไม่แนะนำให้ไปเยือนบาร็อทช่วงหน้าหนาว (ธันวาคมถึงกลางกุมภาพันธ์) เพราะมีหิมะตกหนักเกินไปจนทำให้หมดสนุก หรือหิมะอาจตกหนักจนปิดเส้นทางได้ หากต้องการลุยหิมะที่บาร็อทจริงๆ แนะนำให้เดินทางช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงมีนาคม ทั่วทั้งหุบเขาบาร็อทจะเต็มไปด้วยหิมะขาวโพลน เป็นฉากหลังในการถ่ายรูปชั้นดี ก่อนเข้าสู่ฤดูร้อนหิมะละลายในเดือนถัดไป

Barot

การเดินทางไปหมู่บ้านราชกุนธา

  1. นั่งรถบัสไปลงแมนดี แล้วเดินไปยัง The Himalayan Essence Cafe ซึ่งเป็นจุดขึ้นรถบัสหรือแท็กซี่ เพื่อเดินทางไปยัง Bara Garan (ระยะทาง 55 กม. ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงครึ่ง) จากนั้นก็เริ่มแบกสัมภาระขึ้นหลังเดินบนสะพานข้ามแม่น้ำอูลห์ แล้วเดินเท้าต่ออีกประมาณ 2 ชั่วโมงก็จะถึง Zostel
  2. หากเช่ารถหรือมอเตอร์ไซค์ขับมาเอง ก็ใช้เส้นทาง Mandi – Barot – Bara Garan แล้วหาที่จอดรถข้างแม่น้ำอูลห์ เพื่อแบกสัมภาระขึ้นหลังออกเดินเท้า 2 ชั่วโมงเช่นกัน

Barot

สิ่งที่ควรพกติดกระเป๋าไปด้วย

  1. ยาต่างๆ ที่จำเป็น เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้ท้องอืด พลาสเตอร์ปิดแผล ฯลฯ เนื่องจากเป็นหมู่บ้านกลางหุบเขาที่ไม่มีร้านขายยาไว้บริการ จึงควรเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ
  2. เสื้อกันหนาวและแจ็กเก็ตกันลม แม้จะเป็นฤดูร้อนก็ต้องพกไป เพราะอากาศเย็นตลอดทั้งปี
  3. กระบอกน้ำดื่ม สำหรับเติมน้ำดื่มจากโรงแรมพกติดตัวไว้ดื่ม เพื่อลดการใช้พลาสติก
  4. อุปกรณ์เดินป่าตามระดับความสามารถที่คุณคาดการณ์ว่าจะต้องใช้

อ้างอิง