life

‘การแก้แค้น’ เป็นกลไกตอบสนองทางความคิดและพฤติกรรมที่สืบเนื่องมาจากวิวัฒนาการในอดีต เพราะการเป็นผู้ล่าเพื่อล้างแค้น ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์มีชีวิตรอดมาถึงทุกวันนี้

แต่สำหรับโลกสมัยใหม่ การเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น (unconscious revenge) กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิต เพราะทำให้จิตใจกระวนกระวายตลอดเวลา จนไม่อาจหาความสงบสุขที่แท้จริงในชีวิตได้

 

การจัดการความรู้สึกไม่ให้เกิดความเคียดแค้นสั่งสมไว้ภายในใจ จึงกลายเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งมีแนวทางง่ายๆ ดังนี้ 

เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจตัวเองอย่างตรงไปตรงมา หมายความว่า ในทุกๆ วัน มีโอกาสที่เราจะรู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยเฉพาะการกระทำรุนแรงของผู้อื่น ซึ่งตั้งใจสร้างผลกระทบทางลบมาถึงตัวเรา แนะนำให้พยายามสังเกตการแสดงออกทางร่างกายของตัวเอง เช่น เกร็งกล้ามเนื้อ หายใจแรง บ่นพึมพำ มีทีท่าฉุนเฉียว เพราะทั้งหมดเป็นสัญญาณเตือน ทำให้เรารู้จักรับมือและเริ่มหาวิธีผ่อนคลายอารมณ์ไม่ดีเหล่านี้ 

สำหรับคนที่รู้สึกว่า อารมณ์และความรู้สึกเป็นสิ่งจับต้องไม่ได้ ให้ใช้วิธีเขียนระบายความในใจลงกระดาษหรือสมุดประจำตัว เพราะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าใจตัวเองมากขึ้นได้เหมือนกัน

จากนั้น ให้ผ่อนคลายความคับแค้นใจ โดยค่อยๆ ระบายออกด้วยวิธีสร้างสรรค์ เช่น แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนใกล้ชิด หรือหากิจกรรมสนุกทำ อย่างการออกกำลังกาย เพราะเป็นวิธีช่วยกระตุ้นร่างกายให้หลั่งฮอร์โมนคลายความเครียด

สุดท้าย หาทางยุติปัญหานี้ให้เร็วที่สุด โดยเรียนรู้ที่จะให้อภัยผู้อื่น เพราะการคิดแก้แค้นไม่เกิดประโยชน์ใดๆ นอกจากเป็นผลเสียต่อสุขภาพจิตแล้ว ยังทำให้ใจผูกติดอยู่กับความหวั่นวิตกไม่จบสิ้น แต่การให้อภัยใครสักคนก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ทันทีทันใด อาจต้องอาศัยระยะเวลาค่อยๆ ซ่อมแซมความรู้สึกของตนเองไปทีละเล็กทีละน้อย 

 

อ้างอิง